ลำดับเจ้าอาวาส
พระอารามนี้มีเจ้าอาวาสครองวัดสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายรูป แต่ไม่สามารถสืบค้นได้ สมัยกรุงศรีอยุธยาไม่มีพระจำพรรษา เพราอุปจารวัดได้ถูกรวมเข้าเป็นเขตพระราชวัง ๑๕ ปี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ได้มีเจ้าอาวาสครองวัดจำนวน ๑๓ รูป มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
๑. พระพุทธโฆษาจารย์ (ศรี เปรียญเอก) (๒๘ ปี, พ.ศ.๒๓๒๕ – พ.ศ.๒๓๕๒)
ชาติภูมิไม่ปรากฏ เดิมพระมหาศรี เปรียญเอก อยู่วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนาธุระมาแต่เดิม เมื่อรัชกาลที่ ๑ โปรดให้พระราชโอรสคือพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฉิม กรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ ๒) ทรงบูรณะวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) แล้ว ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระเทพโมลี” แล้วโปรดให้ย้ายมาครองพระอารามนี้ ภายหลังได้พระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ “พระพุทธโฆษาจารย์”
๒. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) (๒๒ ปี, พ.ศ.๒๓๕๓ – พ.ศ.๒๓๗๔)
ชาติภูมิไม่ปรากฏ ลำดับสมณศักดิ์แต่เดิมไม่ทราบได้ ทราบแต่ว่า ได้รับสถาปนาเป็นที่ “พระพุทธโฆษาจารย์” ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ต่อมา รัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” พระมหาเถระรัตตัญญู ทรงภูมิปัญญาและภูมิธรรม มีจริยาวัตรงดงาม ผู้มีปฏิปทาน่าเลื่อมใสของพระเจ้าแผ่นดินและประชาชนทั้งปวง กอปรทั้งเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเบื้องต้นแด่พระเจ้าแผ่นดินถึง ๓ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวช เจ้าประคุณสมเด็จยังเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์อีกด้วย ดังนั้น เมื่อมรณภาพแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้หล่อรูปไว้ในหอพระเจ้า (หอสมเด็จ) เสมอกันกับพระรูปสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก) ซึ่งเป็นพระอุปัธยาจารย์ เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาเวลาเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน
๓. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม ป.ธ.๙) (๑๙ ปี, พ.ศ.๒๓๗๕ – พ.ศ.๒๓๙๓)
ชาติภูมิเป็นชาวบ้านบางจาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๔๕ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๖ อุปสมบทที่จังหวัดเพชรบุรี แล้วมาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ พระนคร ถึงรัชกาลที่ ๒ สอบได้เปรียญ ๙ ประโยค ได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระราชาคณะที่ “พระรัตนมุนี” อยู่วัดพระเชตุพนฯ ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๖๙ ได้รับการทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระเทพโมลี” ต่อมา ถึงปีมะโรง พ.ศ.๒๓๗๕ ตรงกับวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ “พระพุทธโฆษาจารย์” แล้วโปรดให้อาราธนามาครองวัดโมลีโลกยาราม มีสำเนาประกาศที่ทรงตั้ง ดังนี้
“ศิริยศยุภมัศดุ อดีตกาลพระพุทธศักราช ชไมยสหัสสสังวัจฉร ไตรสตาธฤก ปัญจสัตตติสังวัจฉร ปัตยุบันกาล นาคสังวัจฉร ผคุณมาศ สุกขปักษ์ เอกาทศมีดฤดี ศุกรวาร ปริเฉทกาลอุกกฤษฏ์ สมเด็จบรมธรรมมฤกพระมหาราชาธิราชเจ้า ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์ อนันตคุณวิบุลยปรีชาอันมหาประเสริฐ ทรงพระราชศรัทธา มีพระราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสพระราชูทิศถาปนาให้เลื่อนพระเทพโมลีขึ้นเป็น “พระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลย์ สุนทรนายก ติปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดโมลีโลกสุธารามาวาศ วรวิหาร พระอารามหลวง ให้จฤกกาลอวยผลพระชนมายุศมศิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิมลทฤฆายุศม ในพระพุทธศาสนา เทอญ”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” เมื่อปีกุน พ.ศ.๒๓๙๔ พร้อมกับทรงตั้งสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตำแหน่งเจ้าคณะกลาง เพราะคณะเหนือมีสมเด็จพระอริยวงศ์ เป็นเจ้าคณะอยู่แล้ว และโปรดให้อาราธนามาครองวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (พ.ศ.๒๓๙๔-พ.ศ.๒๔๐๐) มีสำเนาที่ทรงตั้ง ดังนี้
“ให้เลื่อนพระพุทธโฆษาจารย์ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลย์ สุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลย์คัมภีรญาณ สุนทรมัชฌิมคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี สถิตในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรวิหาร พระอารามหลวง มีนิตยภัตรเดือนละ ๕ ตำลึง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัด นิตยภัตรเดือนละ ๒ ตำลึง ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระครูสังฆกรรมประสิทธิ์ ๑ พระครูวิจิตรสาลวัน ๑ พระครูสังฆสิทธิกร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑”
ตำนานสุขาภิยาจนคาถา
อัจฉริยภาพด้านภาษาบาลีของเจ้าประคุณสมเด็จ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม ป.๙) เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระพุทธโฆษาจารย์” ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีเหตุเป็นอริกับพระวชิรญาณภิกขุ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เมื่อยังทรงผนวชถึง ๒ คราว คือ
คราวหนึ่ง เมื่อพระวชิรญาณภิกขุเข้าแปลหนังสือต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันแรกทรงแปลอรรถกถาธรรมบท รุ่งขึ้นทรงแปลมังคลัตถทีปนี พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวงด้วย ในการแปลพระปริยัติธรรมครั้งนั้น พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ได้สอบถามข้อความที่แปล เนื่องจากเห็นว่าทรงแปลไม่ถูกต้องไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะให้พระวชิรญาณภิกสอบตกเสียให้ได้ กระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งประทับนั่งฟังการแปลอยู่ด้วย รู้สึกขัดพระราชหฤทัย จนต้องโปรดให้หยุดการแปลหรือหยุดการสอบ เรื่องนี้จึงเป็นที่เล่าลือกันตลอดมา
อีกเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า ปลายรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะแล้ว มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมที่พระอุโบสถวัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เป็นคณะกรรมการผู้สอบครั้งนั้น นักเรียนผู้เข้าสอบแปลคือ พระมหาผ่อง (อยู่วัดประยุรวงศ์ในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระธรรมภาณพิลาศ (ผ่อง ป.ธ.๘) พ.ศ.๒๔๒๑-๒๔๓๑ รวม ๑๐ ปี แต่เดิมนั้นเป็นชาวเมืองเพชรบุรี เกิดในรัชกาลที่ ๒ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๗๒ พ.ศ.๒๓๕๓ ในรัชกาลที่ ๒ เมื่ออายุ ๑๐ ปี ไปเรียนอักขรสมัยอยู่ในสำนักพระอาจารย์ ที่วัดคงคาราม เพชรบุรี แล้วบวชเป็นสามเณรเข้ามาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ แล้วย้ายไปอยู่วัดกัลยาณมิตร ต่อมา ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดจันทาราม ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระโพธิวงศาจารย์” แล้วย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ ต่อมามีความผิดเนื่องจากไปงานพระราชพิธีฉัตรมงคลไม่ทันจึงถูกลดชั้นสมณศักดิ์เป็น พระราชธรรมภาณพิลาศ ย้ายมาครองวัดประยุรวงศาวาส) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เกิดมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องการแปลหนังสือจนถึงกับเป็นเหตุบาดหมางกันขึ้นอีกครั้ง
ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) มีความหวาดหวั่นต่อพระราชอาญาเป็นกำลัง เกรงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพยาบาท เตรียมจะหลบเลี่ยงออกไปอยู่เมืองเพชรบุรีบ้านเกิด แต่เมื่อถึงคราวเลื่อนสมณศักดิ์พระราชาคณะผู้ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งว่า พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) นี้ หนังสือดี ซึ่งหมายความว่า มีความรู้ทางภาษาบาลีดี ให้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๔ ซึ่งเป็นปีที่ทรงครองราชสมบัติ ซึ่งในคราวนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยมหาสมุณมาภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชด้วย แล้วโปรดให้มาครองวัดมหาธาตุ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) มีความยินดีรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ไม่ทรงพยาบาท จึงได้แต่งคาถาถวายพระพรเป็นภาษาบาลีบทหนึ่งสนองพระเดชพระคุณ ชื่อว่า “สุขาภิยาจนคาถา”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าคาถานั้นไพเราะ แต่งดีมีอรรถรสทางภาษาและความหมาย จึงโปรดให้พระสงฆ์สวดในพระบรมมหาราชวังเป็นประจำ ซึ่งยังถือเป็นประเพณีสวดสืบมาจนทุกวันนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ถึงมรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ ในรัชกาลที่ ๔ สิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี
๔. พระธรรมไตรโลก (รอด ป.ธ.๔) (๑๖ ปี, พ.ศ.๒๓๙๔ – พ.ศ.๒๔๐๙)
ประวัติเดิมไม่สามารถจะสืบได้ ทราบแต่ว่าในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระกระวีวงศ์” อยู่วัดโมลีโลกย์สุธาราม ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระเทพกระวี” ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ “พระธรรมไตรโลก” ซึ่งเป็นปีที่พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ท่านครองวัดโมลีโลกย์ต่อจากเจ้าประคุณสมเด็จที่ได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดให้ไปครองวัดมหาธาตุ ท่านถึงมรณภาพในรัชกาลที่ ๔ เมื่อราวปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙
๕. พระธรรมเจดีย์ (อยู่ ป.ธ.๔) (๒๐ ปี, พ.ศ.๒๔๑๐ – พ.ศ.๒๔๒๙)
ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๑๗๗ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๕๘ ชาติภูมิเป็นชาวเมืองแกลง จังหวัดระยอง อุปสมบทใน สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมในพระนคร ในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมลีโลกย์ และได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมได้เปรียญ ๔ ประโยค เป็นพระเถระที่เก่งภาษาบาลีมากจน เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัว เป็นศิษย์เอกของเจ้าประคุณสมเด็จรูปหนึ่ง
ได้ยินว่า เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ พระเปรียญที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดมากมี ๔ รูป ด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นลูกศิษย์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เรียกนามเป็นคำคล้องจองกันว่า “ชา ชู อยู่ เย็น”
พระมหาชา เป็นเปรียญ ๘ ประโยค อยู่วัดมหาธาตุ ลาสิกขาออกมารับราชการ ในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นนายหัสบำเรอหุ้มแพร ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น หลวงศรีสังขกร พระพิพากษานานาประเทศกิจ พระยาจ่าแสนบดี และพระยาพฤฒาธิบดีในกระทรวงมหาดไทยตามลำดับ
พระมหาชู เป็นเปรียญ ๘ ประโยค อยู่วัดโมลีโลกย์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระนิกรมมุนี” แล้วไปอยู่วัดนาคกลาง ลาสิกขาออกมารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชาภิรมย์สังกัดกรมราชบัณฑิต ชำนาญเทศน์มหาชาติมากหาผู้เสมอมิได้ โปรดให้เป็นพระอาจารย์ฝึกหัดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายเทศน์มหาชาติเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร ต่อมา ก็ได้ฝึกหัดพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกหลายพระองค์ ในรัชกาลที่ ๕ โปรดพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอัธยา สังกัดกรมลูกขุน ณ ศาลหลวง แล้วได้เลื่อนเป็นพระราชครูพิราม
พระมหาเย็น เป็นเปรียญ ๘ ประโยค อยู่วัดมหาธาตุ ลาสิกขาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ดั้บรัชกาลจางวางในสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ สมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอัธยา แล้วได้เลื่อนเป็นหลวงเทพราชธาดา สังกัดกรมลูกขุน ณ ศาลหลวง
พระมหาอยู่ เมื่อรัชกาลที่ ๔ โปรดพระราชทานสถาปนาพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ป.๙ ขึ้น เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และโปรดให้ไปครองวัดมหาธาตุ ก็ติดตามไปอยู่ด้วยจนเจ้าประคุณสมเด็จมรณภาพแล้ว จึงกลับมาอยู่วัดโมลีโลกย์ ต่อมาได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระอมรเมธาจารย์” เมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๔๐๘ และโปรดให้ไปครองวัดนาคกลาง ต่อมา ถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกย์ว่างลง (พระธรรมไตรโลก (รอด) มรณภาพ) จึงโปรดให้กลับไปครองวัดโมลีโลกย์ ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระเทพมุนี” เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒ แล้วโปรดให้เลื่อนเป็น “พระธรรมเจดีย์” เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๒๔ ถึงมรณภาพในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันอังคาร เดือนหก ขึ้น ๒ ค่ำ ปีจอ อัฎศก เวลาบ่ายสองโมงเศษ พ.ศ.๒๔๒๙ สิริรวมอายุ ๗๒ ปี
๖. พระราชานุพัทธมุนี (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร, ป.๕) (๗ ปี ,พ.ศ.๒๔๓๐-พ.ศ.๒๔๓๖)
เป็นบุตรหม่อมเจ้าถึกผู้เป็นพระโอรสในสมเด็จพระประพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เกิดที่บ้านบางอ้อ จังหวัดนครนายก เพราะบิดาไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันจันทร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๑๙ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๐๐ ได้ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพกับบิดาแต่ยังเยาว์วัย เรียนอักษรสมัยในสำนักบิดา แล้วเริ่มเรียนภาษาบาลีในสำนักอาจารย์จีน พออายุได้ ๗ ขวบ บิดาพาไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์ หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต เสนีย์วงศ์) ผู้เป็นโอรสในกรมหลวงเสนีย์บริรักษ์ (พระองค์เข้าแดง) แต่ครั้งยังเป็นเปรียญอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม (วัดบางหว้าใหญ่) ได้เรียนพระปริยัติธรรมเบื้องต้นในสำนักหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต) บ้าง พระอมรเมธาจารย์ (เกษ) แต่เมื่อยังเป็นเปรียญบ้าง หม่อมเจ้าชุมแสง ผู้เป็นลุงบ้าง และพระโหราธิบดี (ชุม) บ้าง นอกจากนั้น ได้เล่าเรียนจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) บ้าง สมเด็จพระวันรัต (แดง) บ้าง และอาจารย์อื่นๆ อีกหลายท่าน
สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ ในปีนั้นเองได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค เมื่อยังเป็นสามเณรอายุเพียง ๑๔ ปี เท่านั้น กล่าวกันว่าในการสอบครั้งนี้ ถึงปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ ยังเป็นสามเณร ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งที่ ๒ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ แปลได้อีกประโยค ๑ รวมเป็น ๔ ประโยค
ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๑ อายุครบอุปสมบท ทรงพระกรุณาโปรดให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต เสนีย์วงศ์) เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้ฉายาว่า ญาณฉนฺโท ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งที่ ๓ ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ แปลได้อีก ๑ ประโยค รวมเป็นเปรียญ ๕ ประโยค
ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระราชาคณะมีพระราชทินนามพิเศษว่า “พระราชานุพัทธมุนี” โปรดให้อาราธนาไปครองวัดโมลีโลกย์ เดิมได้รับพระราชทานตาลปัตรแฉกหักทองขวางอย่างพระราชาคณะชั้นสามัญ ต่อมา ถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมเจดีย์ไปครองวัดพระเชตุพนฯ แล้ว จึงโปรดให้อาราธนากลับมาครองวัดระฆังโฆสิตาราม พระราชทานตาลปัตรพื้นแพรปักเลื่อมอย่างตาลปัตรหม่อมเจ้าซึ่งหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์ทรงครองอยู่ก่อนนั้นให้ถือเป็นเกียรติยศต่อมา อีกทั้งพระราชทานนิตยภัตเพิ่มขึ้นเสมอพระราชาคณะชั้นเทพด้วย ในปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๘ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๔ พ.ศ. ๒๔๓๘ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระเทพเมธี” ต่อมา ในปีขาล เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๑ พ.ศ. ๒๔๔๕ ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนเป็น “พระธรรมไตรโลกาจารย์”
สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชคณะเจ้าคณะรอง ชั้นสุพรรณบัฏที่ “พระพิมลธรรม” ในวันที่ ๒๕ มกราคม ปีจอ พ.ศ.๒๔๕๓ ติ่ทรงพระราชดำริว่า พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นเชื้อพระราชวงศ์ ได้ผนวชในพระพุทธศาสนามาหลายพรรษากาล มีความแตกฉานในพระปริยัติธรรม สอบไล่ได้เป็นเปรียญตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ครั้นเมื่ออายุครบกำหนดอุปสมบทแล้ว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วได้เข้าแปลประโยคอีกครั้งหนึ่ง มั่นคงในสมณปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เป็นพระราชาคณะที่ พระราชานุพัทธมุนี แล้วโปรดให้ไปครองวัดโมลีโลกย์ ๗ พรรษา จนตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ย้ายมาครองวัดระฆังฯ ซึ่งเป็นที่สถิตเดิม พระราชทานพัดแฉกพื้นแพร ภายหลังได้เลื่อนตำแหน่งชั้นเทพและชั้นธรรมตามลำดับ นับว่าได้ทรงพระเมตตามาก พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นผู้ชำนาญทางเทศนา มีโวหารกังวาลดีเป็นที่น่าฟัง ทั้งมีเสียงอันดี ขัดตำนานอ่านประกาศไพเราะน่านิยม เมื่อได้รับพระราชทานอาราธนาบัตรเป็นเจ้าคณะมณฑลตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ก็ได้ปฏิบัติจัดการตามตำแหน่งหน้าที่เรียบร้อยสม่ำเสมอ นับได้ว่ากระทำคุณประโยชน์ในทางทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและการศึกษา อีกทั้งได้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์กุลบุตรเป็นอันมาก เป็นที่นิยมนับถือแห่งศาสนิกชนบริษัท ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต อนึ่ง เป็นราชวงศ์ผู้ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่อันมีน้อยตัวหาได้ยาก จึงสมควรเพิ่มสมณศักดิ์ให้สูงยิ่งขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนพระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นพระราชาคณะตำแหน่งเจ้าคณะรอง มีนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า
“พระพิมลธรรม มหันตคุณ วิบุลยปรีชาญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังการวิภูษิต อุดรทิศคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี สังฆนายก สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร พระอารามหลวง เจ้าคณะรองฝ่ายเหนือ มีนิตยภัตราคาเดือนละ ๓๒ บาท มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฒนกวีคุณ วิบุลยธรรมคณิศร อุดรสังฆนายกธุรวาห มีนิตยภัตราคาเดือนละ ๘ บาท ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระครูสรวิไชย ๑ พระครูไกรสรวิลาส ๑ พระครูธรรมบาล ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๘ รูป” ต่อมาถึง เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ มีพระราชพิธีทรงตั้งและสถาปนาพระราชาคณะผู้ใหญ่ ๑๕ รูป ในการนี้พระพิมลธรรมได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลยสุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี มหาสังฆนายก ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ เจ้าประคุณสมเด็จมีความเชี่ยวชาญด้านการเทศน์มหาชาติชาดก ๑๓ กัณฑ์และเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษามคธโดยเฉพาะการแต่งโคลงสี่สุภาพดังจะเห็นได้จากผลงานอมตะคำโคลงรามเกียรติ์ของท่านที่จากรึกไว้ตามเสาระเบียงพระวิหารคต ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าประคุณถึงมรณภาพเมื่อปีมะเส็ง วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๑ เวลา ๑๘.๓๕ น. สิริรวมอายุได้ ๗๑ ปี พรรษา ๕๐ ได้รับพระราชทานโกศมณฑปเป็นพิเศษสำหรับงานพระราชทานเพลิงศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง
๗. พระวิเชียรธรรมคุณาธาร (โสตถิ์ ป.๓) (๑๗ ปี, พ.ศ.๒๔๓๗-พ.ศ.๒๔๕๓)
ชาติภูมิไม่ปรากฏ มรณภาพเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ร.ศ. ๑๒๙ พ.ศ. ๒๔๕๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๕
๘. พระสนิทสมณคุณ (เงิน) (๓ ปี, พ.ศ.๒๔๕๔-พ.ศ.๒๔๕๖)
ท่านมีนามเดิมว่า เงิน ฉายา ธมฺมปญฺโญ มีชาติภูมิอยู่จังหวัดพระตะบอง ซึ่งจังหวัดนี้แต่เดิมอยู่ในความปกครองของประเทศสยาม เกิดวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ บิดาชื่ออินทร์ มารดาชื่ออิ่ม เป็นสหชาตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานทักษิณานุปทานในงานเฉลิมพระชนม์พรรษาครบรอบมาทุกคราว ท่านอุปสมบทที่วัดนะรา โดยมีพระธรรมวงศาจารย์ (คุง) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระสนิทสมณคุณ เริ่มเรียนอักขระสมัยในสำนักพระธรรมโกษา วัดนรา ในเมืองพระตระบอง แต่อายุ ๘ ปี ครั้งอายุ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระธรรมวงศา เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ ในรัชกาลที่ ๕ ได้อุปสมบทที่วัดอรุณราชวราราม โดยมี พระธรรมเจดีย์ (ทอง) วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปริยัติบัณฑิตย์ (ครุฑ) วัดกัลยาณมิตร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสาธุศีลสังวร (พึ่ง) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับอุปการะของเจ้าคุณพระไอยิกามา ในเวลาเล่าเรียนได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนัก พระธรรมปรีชา (ทิม) หลวงราชาภิรมย์ (ต่าย) และอาจารย์คง แล้วเข้าแปลพระปริยัติธรรม ที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้ง ๑ แปลได้ ๒ ประโยค แต่ตกประโยค ๓ จึงหาได้เป็นเปรียญไม่ ครั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม ๑๑ พรรษาแล้วต่อมา พระยาคธาธรธรณินทร์ ว่าราชการเมืองพระตะบอง ได้ชักชวนให้ไปอยู่เมืองพระตะบองด้วยกัน ท่านจึงตกลงไปอยู่เมืองพระตะบองแล้วไปจำพรรษาอยู่วัดอินทราธิบดีหลายพรรษา
ครั้นเมื่อปีเถาะ จ.ศ. ๑๒๕๓ พ.ศ. ๒๔๓๔ ร.ศ. ๑๑๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น “พระครูปัญญาคทาวุธ” ตำแหน่งเจ้าคณะเมืองพระตะบอง กลับออกไปอยู่เมืองพระตะบอง แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะที่ พระปัญญาคทาวุธ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๔๐
เมื่อจัดการคณะสงฆ์มณฑลบูรพาโปรดให้ พระอุดรคณารักษ์ (ชุ่ม) วัดพระเชตุพนฯ เป็นเจ้าคณะมณฑล จึงโปรดให้ พระปัญญาคทาวุธ เป็น พระสนิทสมณคุณ ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑล ครั้นเมื่อกรุงสยามทำหนังสือสัญญากับฝรั่งเศสคืนเมืองพระตะบอง เสียมราฐให้แก่กรุงกัมพูชา จึงอพยพเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ณ วัดพระเชตุพนฯ ได้รับนิตยภัตเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ ๑๒ บาท จวบจนปี พ.ศ. ๒๔๕๔ สมัยรัชกาลที่ ๖ โปรดให้มาครองวัดโมลีโลกยาราม
พระสนิทสมณคุณ ได้ศึกษาวิชาแพทย์มาแต่เดิม จึงมีชื่อเสียงในทางแพทย์มาตั้งแต่ก่อนเป็นพระครู แต่ยังไม่ทราบกันแพร่หลายนัก จนเมื่อมาครองวัดโมลีโลกยาราม ชื่อเสียงจึงโด่งดังด้วยปรากฏว่าสามารถจะรักษาโรคซึ่งหมออื่นทั้งหมอฝรั่งและหมอไทยทิ้งเสียแล้ว ให้กลับหายได้หลายราย ก็มีผู้นับถือในทางแพทย์มากขึ้นโดยลำดับ มีผู้นิมนต์ไปรักษาไข้เสมอมิได้ขาด ปัจจัยค่ารักษาโรคที่มีผู้ศรัทธาบูชาคุณถวายมา แม้นจะมากน้อยเท่าใด ก็มิได้สะสมไว้ใช้สอยเป็นส่วนตน มีแต่ขวนขวายในการปฏิสังขรณ์วัดโมลีโลกยาราม สิ่งใดที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ให้กลับคืนดีได้แทบทั่วทั้งพระอาราม จึงเป็นเหตุให้มีผู้เลื่อมใสในความประพฤติของท่านมากยิ่งขึ้น
พระสนิทสมณคุณ ป่วยเป็นโรคภายในเรื้อรังมานาน แต่ยังมีความอุตสาหะไปรักษาผู้อื่นเสมอ ๆ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ นี้ อาการหนักขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อเดือนพฤษภาคม อาการทรุดลงโดยลำดับ ได้ถึงมรณภาพเมื่อวันอาทิตย์ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ สิริอายุได้ ๖๘ ปี ตามความในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๓๗ หน้า ๖๗๕ ว่า “พระสนิทสมณคุณ (งิน) เจ้าอาวาสวัดโมลีโลก อายุ ๖๘ ปี อาพาธเปนโรคชรา ถึงมรณภาพ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๓”
๙. พระประสิทธิศีลคุณ (จ้อย ป.๔) (๓๖ ปี, พ.ศ.๒๔๕๗-พ.ศ.๒๔๙๒)
เกิดในรัชกาลที่ ๕ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน พ.ศ.๒๔๑๘ ร.ศ.๙๔ ที่ตำบลบ้านบุญลือ อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ บิดาชื่อหร่าย มารดาชื่อเต่า อุปสมบทที่วัดขวิด อำเภอน้ำซึม จังหวัดอุทัยธานี พระครูธรรมวินิจฉัน (นุ่น) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วมาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนักวัดมหาธาตุ ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเปรียญ ๔ ประโยค ถึง พ.ศ.๒๔๕๗ ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระประสิทธิศีลคุณ” ภายหลังโปรดให้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๔ (บางแห่งว่า พ.ศ. ๒๔๕๗) ถึง พ.ศ. ๒๔๙๒
๑๐. พระครูสังวรโมลี (ชาลี อุตฺตโร ป.ธ.๓) (๒๒ ปี, พ.ศ.๒๔๙๓-พ.ศ.๒๕๑๔)
เกิดในรัชกาลที่ ๖ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗ บ้านหนองฮี อ.สือ อำเภอพนา (ปทุมราชวงศา) จังหวัดอุบลราชธานี (อำนาจเจริญ) บิดาชื่อ ภู มารดาชื่อ เหม เป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๔
๑๑. พระรัตนมุนี (โสม ปญฺญาวุฑฺโฒ ป.ธ.๗) (๒๕ ปี , พ.ศ.๒๕๑๕ – พ.ศ.๒๕๓๙)
เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ บ้านขามป้อม อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี มารดาชื่อสงค์ อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ที่บ้านขามป้อม เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และเป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ มรณภาพลงเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๓๙ ด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน สิริรวมอายุได้ ๗๓ ปี จากนั้นได้ตั้งพระศรีปริยัติยาภรณ์ (ฉลาด ปริญฺญาโณ ป.ธ.๙) เป็นผู้รักษาการแทนจนกระทั่งมรณะภาพ พระรัตนมุนี เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม รูปแรกของ ท่านได้อุตสาหะจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมจนมีผู้สอบบาลี นักธรรม ได้มากพอสมควร จนได้รับแต่งตั้งเป็นสำนักเรียนในปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ จากนั้นท่านก็ได้จัดการเรียนการสอนอย่างเข้มแข็งมาตามลำดับจนมีผู้สอบได้ทุก ๆ ปี กระทั่งอาพาธทำให้สำนักเรียนอ่อนกำลังลงตามลำดับ ท่านได้ก่อสร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรม บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะสงฆ์และซ่อมพระอุโบสถ
๑๒. พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.๘)(๑๕ ปี, พ.ศ.๒๕๔๐ – พ.ศ.๒๕๕๔)
เกิดเมื่อปีระกา ตรงกับวันจันทร์ ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นบุตรของนายคำมา ธรรมวรางกูร (เพียสีนุย) และนางคำ ธรรมวรางกูร ณ บ้านหนองบัว หมู่ที่ ๙ ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๖ ณ วัดอินทรแบก อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีพระวิสุทธิธรรมาจารย์ (ทรัพย์) วัดใหม่กรงทอง อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามว่างลง ท่านได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสโดยไปครองวัดโมลีโลกยาราม เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๐ พร้อมพระภิกษุจำนวน ๑๓ รูป และสามเณรจำนวน ๖ รูป รวมเป็น ๑๔ รูป
ท่านมีความชำนาญด้านกฎหมายคณะสงฆ์ ด้านงานสารบรรณ ด้านสังฆกรรม และที่โดนเด่นที่สุด คือ ด้านกวีนิพนธ์ อาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นนักกวีพระสงฆ์ที่โดดเด่นที่สุดในยุคนี้ทีเดียว นอกจากนั้น ได้ปฏิบัติหน้าที่ทางการคณะสงฆ์หลายอย่าง เช่น เป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๐ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๐ เป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญ เป็นเจ้าคณะภาค ๑๐ ถึง ๕ สมัย เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๖ ถึง ๔ สมัย เป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม รูปที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในด้านสาธารณูปการ ถือว่าพลิกฟื้นเสนาสนะสงฆ์ เขตพุทธาวาส และอาณาบริเวณของวัดโมลีโลกยารามที่ทรุดโทรมอย่างหนัก เฉพาะในปีพ.ศ.๒๕๔๗-พ.ศ.๒๕๕๑ ได้เริ่มบูรณเสนาสนะสงฆ์ รวมทั้งเขตพุทธาวาสอย่างจริงจังทำให้มีเสนาสนะที่อยู่อาศัยสำหรับพระภิกษุสามเณรอย่างเพียงพอ นอกจากนั้น ท่านได้สร้างศูนย์การคณะสงฆ์ภาค ๑๐ ทั้งในส่วนอาณาบริเวณ อาคารหอประชุม เป็นต้น เพื่อใช้เป็นประโยชน์แก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนาภาค ๑๐ นับเป็นศูนย์การคณะสงฆ์ระดับภาคแห่งแรกอย่างเป็นทางการ
ในด้านการศาสนศึกษา ในยุคนี้นับได้ว่าพลิกฟื้นสำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามจากการที่มีผู้สอบบาลีได้เพียง ๒-๓ รูป เท่านั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อได้รับการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ได้มากขึ้นถึง ๘๑ รูป ในปีก่อนที่มรณภาพ (๒๕๕๓) ทำให้สำนักเรียนที่ทรุดโทรมแห่งนี้โดดเด่นขึ้นเป็นสำนักเรียนดีเด่น มีผู้สอบบาลีได้มากที่สุดในกรุงเทพมหานครหลายสมัย มีพระภิกษุสามเณรได้รับทุนเล่าเรียนหลวงในโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย มากกว่า๓๐ รูป นับได้ว่า ท่านมีผลงานที่ยิ่งใหญ่ฝากไว้แก่อนุชน ทั้งด้านการศาสนศึกษา การปกครอง การสาธารณูปการ การเผยแผ่ รวมทั้งบทกวีนิพนธ์ที่เป็นอมตะอีกมากมาย
ในด้านสมณศักดิ์ ท่านได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระศรีสุธรรมมุนี” เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ “พระราชเมธี” เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ “พระเทพปริยัติสุธี” เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ “พระธรรมปริยัติโสภณ” เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ และในปี พ.ศ.๒๕๕๓ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ เป็นกรณีพิเศษ ที่ “พระพรหมกวี” พระพรหมกวีได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี ๕๘ พรรษา
๑๓. พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.๙) (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ปัจจุบัน)
ชื่อ สุทัศน์ นามสกุล ไชยะภา เกิดวันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๖ เดือน มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๔ บิดา ชื่อ นายสา ไชยะภา มารดา ชื่อ นางจันทร์ ไชยะภา ณ บ้านเลขที่ ๑๕๒ หมู่ที่ ๕ บ้านราษฎร์นิยม ตำบลโคกตูม อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
วิทยฐานะ ป.ธ.๙, น.ธ.เอก, ป.วค. (ประกาศนียบัตรประโยควิชาชีพครู), พธ.บ. (ปรัชญา), ศษ.บ. (บริหารการศึกษา), อ.ม. (ศาสนาเปรียบเทียบ). ค.ม. (บริหารการศึกษา) pH.D (cULTURAL sCIENCE)
ประวัติพระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ วรทสฺสี)
เฉพาะพระราชานุพัทธมุนี (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๖ ที่ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” เมื่อไปครองวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๘ ปีพุทธศักราช ๒๔๖๘
Views: 121