กาพย์ เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีมาในคัมภีร์กาพย์ ๒ คัมภีร์ คือ คัมภีร์กาพย์สารวิลาสินี และคัมภีร์กาพย์คันถะ นักปราชญ์ได้กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งกาพย์ภาษาบาลีไว้อย่างชัดเจน พร้อมกับแต่งกาพย์ตัวอย่างเป็นภาษาบาลีไว้ แต่ไม่ปรากฏชัดว่า แต่งขึ้นที่ไหน เมื่อไร เพียงมีผู้สันนิษฐานว่า คงแต่งขึ้นในอินเดีย ลังกา หรือลานนาไทย ตัวอย่างกาพย์ภาษาบาลีนั้น เพราะพริ้งอยู่ไม่น้อย ต่อมาไทยได้นำมาดัดแปลงเป็นแบบแต่งกาพย์ภาษาไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา และมีกาพย์พิเศษนอกจากในคัมภีร์ทั้ง ๒ นั้นเป็นกาพย์เสริม การนำมานั้น ได้คงชื่อกาพย์ไว้อย่างเดิม
เมื่อตรวจพิเคราะห์กาพย์เหล่านี้แล้ว เห็นว่ากาพย์บางชนิดมีลักษณะโครงสร้างเหมือนกับโครง ๔ ต่างแต่ไม่บังคับวรรณยุกต์ บางชนิดคล้ายกับกลอน ต่างแต่ไม่บังคับเสียงสูงต่ำหรือสามัญไว้ บางชนิดคล้ายกับฉันท์และใช้ร่วมกันได้ ต่างแต่ไม่บังคับครุหลุ กาพย์ทุกชนิดมีฉันทลักษณะและวิธีแต่งไว้โดยเฉพาะ ทั้งที่มีในคัมภีร์และนอกคัมภีร์ และการแต่งกาพย์นั้น ถ้าแต่งยาวเป็นเรื่องราว คงให้ส่งสัมผัสและรับสัมผัสกันไปจนตลอด โดยเฉพาะฉันทลักษณะนั้น กำหนดเพียงจำนวนคำ การวางสัมผัส ไม่บังคับครุและลหุแบบฉันท์ ไม่บังคับวรรณยุกต์แบบโคลง ทั้งไม่บังคับเสียงสูงต่ำแบบกลอน การกำหนดคำในแผนผังจะใช้ 0 0 0 เป็นเครื่องนับจำนวนคำพูด แต่คำพูดในกาพย์นั้นใช้คำสัมผัสได้ แม้ที่กำหนดสัมผัสภายใน กาพย์บทเดียวกัน ก็ใช้เสียงสระธรรมดา จะลงวรรณยุกต์หรือไม่ก็ได้ แต่การแต่ง เมื่อจบลงบทหนึ่ง จะแต่งต่อไปและรับสัมผัสต่อไปจนตลอดเรื่อง กาพย์และฉันท์ส่งและรับสัมผัสกันได้ โดยยึดหลักดังนี้
๑) กาพย์ชนิดที่บทหนึ่งมี ๔ บาท ๆ ละ ๒ วรรค รวม ๒๘-๓๐ คำ ต้องส่งสัมผัสด้วยคำสุดท้ายของบาทที่ ๔ และต้องรับสัมผัสจากบทอื่น ด้วยคำที่ ๑,๒,๓ ของบาทแรก คำใดคำหนึ่งดู กาพย์วิชชุมาลี ในหน้า ๑๘ และกาพย์ทีฆปักข์ ในหน้า ๓๙ เป็นตัวอย่าง
๒) กาพย์ชนิดที่บทหนึ่งมี ๔ บาท ๆ ละ ๒ วรรค หรือไม่แบ่งวรรค รวม ๔๐ คำขึ้นไป ต้องส่งสัมผัสด้วยคำสุดท้ายของกาพย์นั้น และต้องรับสัมผัสด้วยคำสุดท้ายของบาทแรก ดู กาพย์วชิรปันตี ในหน้า ๒๗ กาพย์กากคติ ในหน้า ๓๗ และกาพย์ทัณฑิกา ในหน้า ๔๓ เป็นตัวอย่าง
๓) กาพย์ชนิดที่บทหนึ่งมี ๓ วรรค ต้องส่งด้วยคำสุดท้ายของบทนั้น และรับด้วยคำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ และวรรคที่ ๒ ดู กาพย์ฉบัง ๑๖ ในหน้า ๔๕ เป็นตัวอย่าง
๔) กาพย์สุรางคนางค์ ส่งด้วยคำสุดท้ายของบทนั้น ๆ และรับด้วยคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ดู กาพย์สุรางคนางค์ เป็นตัวอย่าง
Views: 75