พระราชเมธี บรรยายเสริมในบางประเด็นและบรรยายหมวด ๕ ต่อไป
กระผมขอชี้แจงเพิ่มเติมในหมวด ๔ นี้อีกครับ เพราะเห็นว่าเป็นหมวดที่สำคัญ โดยจะเก็บความตามลำดับ ตั้งแต่ชื่อหมวดเป็นลำดับไป
คำว่า นิคหกรรม ในชื่อหมวดนั้น หมายถึงการลงโทษแก่พระภิกษุผู้ละเมิดพระธรรมวินัยซึ่งเรียกกันว่า ปรับอาบัติ ว่าโดยโทษมี ๓ คือ โทษอย่างหนัก ๑ โทษอย่างกลาง ๑ โทษอย่างเบา ๑ อาบัติที่มีโทษอย่างหนักคืออาบัติปาราชิก ต้องเข้าแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ในพระวินัยเรียกว่า อเตกิจฉา ในมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ เรียกว่า นิคหกรรมให้สึก อาบัติที่มีโทษอย่างกลาง ได้แก่อาบัติสังฆาทิเสส ต้องเข้าแล้วต้องประพฤติวุฎฐานวิธีจึงพ้นจากโทษ อาบัติที่มีโทษอย่างเบา ได้แก่อาบัติที่เหลือ ต้องเข้าแล้ว ต้องทำคืนด้วยเทสนาวิธี ทั้งสองอย่างนี้ ในพระวินัยเรียกว่า สเตกิจฉา ในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ เรียกว่า นิคหกรรมไม่ถึงให้สึก และนอกจากนี้ นิคหกรรมตามพระธรรมวินัย เช่น อุกเขปนียกรรม นิสยกรรม ตัชชนียกรรม ปัพพาชนียกรรม อุเขปนียกรรม ได้แก่ การลงโทษยกวัตรมิให้อยู่ร่วมสมโภคบริโภคกับพระภิกษุอื่น นิสยกรรม ได้แก่ การลงโทษถอดยศ คือถอดจากความเป็นใหญ่ เช่น เคยมีสามเณรอุปัฎฐาก ก็ห้าม เคยให้นิสัยแก่พระนวกะ ก็ห้าม
ทั้งสอง คำว่า สละสมณเพศ หมายถึงการบังคับให้สละสมณเพศ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ตามความในมาตรา ๒๗-๒๘-๒๙-๓๐ ซึ่งผู้ปกครองสงฆ์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักร มีอำนาจในการบังคับตามที่ระบุไว้ในมาตรานั้น ๆ กระผมขอให้รายละเอียดเป็นแนวปฎิบัตินะครับ การบังคับให้สละสมณเพศตามมาตรา ๒๗ ฐานขัดคำวินิจฉัยของคณะผู้พิจารณาซึ่งถึงที่สุดแล้ว มหาเถรสมาคมวินิจฉัย เพราะเหตุนี้จึงต้องเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด เป็นผู้บังคับให้สละสมณเพศ การบังคับตามมาตรา ๒๘ นั้นก็ตกเป็นภาระผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด ในสองมาตรานี้ ถ้าฝ่ายนั้นไม่ยินยอมผู้บังคับต้องขออารักขาเป็นการด่วน ส่วนการบังคับตามความในมาตรา ๒๙-๓๐ นั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักร มิใช่อำนาจหน้าที่ของผู้ปกครองคณะสงฆ์ ข้อนี้พระสังฆาธิการต้องระวังนะครับ ขออย่าได้ใช้อำนาจบังคับให้พระภิกษุสละสมณเพศตามมาตรา ๒๙-๓๐ นะครับ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่เขาขอความช่วยเหลือ เราต้องช่วยแนะนำในทางที่ชอบ ถ้าเขายอมปฏิบัติตามก็เป็นการดี อย่าได้ใช้อำนาจบีบบังคับเป็นอันขาด
ในตัวบทมาตรา ๒๔ คุณมนูได้ให้รายละเอียดพอควรแล้ว แต่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญจึงขอนำมาเสริมอีก โดยขอแยกพิจารณาเป็น ๒ คือ หลักเกณฑ์ และหลักนิคหกรรม
หลักเกณฑ์
(๑) พระภิกษุต้องรับนิคหกรรมต่อเมื่อล่วงละเมิดพระธรรมวินัย
(๒) มิให้ลงนิคหกรรมแก่ผู้มิได้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย
โดยความ ได้แก่ ให้ลงโทษแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดและห้ามมิให้ลงโทษแก่ผู้มิได้กระทำความผิด
หลักนิคหกรรม
(๑) นิคหกรรมนั้นต้องเป็นนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย
(๒) ห้ามมิให้ลงนิคหกรรมอื่นนอกจากนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย
หมายความว่า การลงนิคหกรรมนั้น ต้องสั่งลงโทษตามพระธรรมวินัยเท่านั้น เช่น ตัดสินเป็นอาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ หรือลงอุกเขปนียกรรม และการลงโทษนั้น ต้อเป็นไปตามความผิด ละเมิดทุติยปาราชิก จะลงปัพพาชนียกรรมขับไล่ออกจากวัด อย่างคุณมนูยกตัวอย่างนั้นมิได้ จะยกเอาโทษทางจริยาพระสังฆาธิการหรือโทษอื่นมาลงมิได้เลย
ในมาตรา ๒๕ เป็นมาตรา ที่ออกมาช่วยมาตรา ๒๔ นั่นเอง เพราะในมาตรา ๒๔ กำหนดหลัการลงโทษไว้ ๒ คือ
(๑) ให้ลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดและมิให้ลงโทษแก่ผู้มิได้กระทำความผิด
(๒) ให้ลงนิคหกรรมตามพระธรรมวินัยและห้ามลงนิคหกรรมอื่น
ในมาตรา ๒๔ กำหนดหลักเท่านั้น ถ้าไม่มีวิธีปฏิบัติก็ไม่มีวิธีบังคับให้เป็นไปตามนั้นได้ มาตรานี้ก็จะไม่มีประโยชน์ดังทางราชอาณาจักร มีประมวลกฎหมายอาญากำหนดโทษแก่บุคคลผู้ละเมิดกฎหมายไว้ แต่ต้องมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาหลักของกฎหมายแล้ว มี ๒ คือ กฎหมายฝ่ายสารบัญญัติ ได้แก่กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ? ๑ กฎหมายฝ่ายวิธีสบัญญัติ ได้แก่กฎหมายกำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อให้กฎหมายฝ่ายสารบัญญัติเกิดผล ๑ มาตรา ๒๔ เป็นกฎหมายฝ่ายสารบัญญัติ มาตรา ๒๕ เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ ให้อำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฎิบัติเพื่อเฟ้นหาผู้ประพฤติผิดพระธรรมวินัย เพื่อเฟ้นวิธีลงโทษถูกต้องออกมาช่วยมาตรา ๒๔ โดยกำหนดให้มีเงื่อนไขอยู่ ๔ คือ
ออกอย่างใดจึงจะให้การปฏิบัติการเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม นี้คือเงื่อนไข
ว่าโดยการศึกษา กฎ ๑๑ นี้ ลำบากแก่ผู้ศึกษาอยู่ แต่ว่าโดยการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติได้จริง ก็ถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม กว่าการวินิจฉัยอธิกรณ์ตามกฎหมาย ๒๔๘๔
กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๑ ท่านมุ่งหลักเกณฑ์เพื่อให้การปฏิบัติ
๑. เป็นไปโดยถูกต้อง
๒. เป็นไปโดยสะดวก
๓. เป็นไปโดยรวดเร็ว
๔. เป็นไปโดยความเป็นธรรม
ขอได้นำไปเทียบกับสังฆาณัติให้ใช้ระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์พุทธศักราช ๒๔๘๖ ถ้าเทียบดูแล้ว จะเหมาะกว่าฉบับโน้น เมื่อคราวอบรมกฎมหาเถรสามคม ฉบับที่ ๑๑ วัดสามพระยา มีเจ้าคณะจังหวัดหลายรูปพูดกันว่า ทำไมจึงตรากฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๑ มาตั้ง ๖๕ ข้อ ยากเหลือเกิน เรียนยากไม่ไหว ไม่เหมือนสังฆาณัติที่ออกตามกฎหมาย ๒๔๘๔ ฉบับนั้น เรียนสบาย ท่านพูดกันมากนะครับ ผมเองเกิดความรำคาญเลยพูดตัดบทว่า หลวงพ่อครับ จำผิดแล้วกระมัง ครับ สังฆาณัติให้ใช้ประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ พุทธศักราช ๒๔๘๖ นั้น ตัวสังฆาณัติน้อยจริง เพียง ๖ มาตรา แต่ประมวลระเบีบบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ มีถึง ๑๗๕ มาตรา สังฆาณัติระเบียบการแต่งตั้งคณะวินัยธรอีก ๑๙ มาตรา กติกาสงฆ์กำหนดระเบียบการแต่งตั้งพระธรรมธร อีก ๑๘ มาตรา ซึ่งล้วนแต่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องอธิกรณ์ทั้งนั้น ทำให้เงียบไปได้ อันนี้ครับ ของเดิมนั้นมาก รวมแล้ว ๒๐๐ กว่ามาตรา และรายละเอียดมีลักษณะคล้ายกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเลยครับ แต่ทำไมท่านเจ้าคณะจังหวัดจึงไม่ว่ามันยาก ก็เพราะบทบัญญัติเหล่านั้น ท่านมิได้เรียนกันเลย เพราะฝ่ายปกครองมีหน้าที่คล้ายตำรวจ ทำการรับแจ้งความและสอบปากคำบ้างเท่านั้น ส่วนผู้ปฏิบัติคือคณะพระวินัยธรและพระธรรมธร พวกนี้เขาเรียนกัน เพราะท่านไม่ได้เรียนจึงสบาย แล้วเฉพาะวิธีปฏิบัติ แบบใหม่สบายกว่าแบบเก่าเยอะครับ เมื่อผมบวชใหม่ ๆ เคยทราบว่ามีอธิกรณ์เรื้อรัง ๒-๓ ปี แล้วยังไม่เสร็จครับ ทางจังหวัดบ้านผม จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดฉะเชิงเทรา รวม ๓ จังหวัด มีคณะวินัยธรคณะหนึ่ง จังหวัดเล็ก ๆ ต้องหลายจังหวัด จึงเป็นคณะหนึ่งอย่างจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดร จังหวัดใหญ่ อาจจังหวัดเดียวเป็นคณะหนึ่ง ทางบ้านเมืองเขามีศาลทุกจังหวัด แต่ทางคณะสงฆ์สมัยนั้น ๒-๓ จังหวัด มีคณะวินัยธรคณะเดียว เมื่ออธิกรณ์เกิดขึ้น พระวินัยธรอยู่ไกลกัน ทำการไม่สะดวก เมื่อตรวจกฎหมาย ๒๕๐๕ อธิกรณ์ค้างอยู่ในชั้นต้นเยอะอยู่ครับ แต่แบบที่ใช้อยู่นี้ทำได้เร็วครับ เพราะอยู่สายปกครอง สมัยพุทธกาลก็อยู่สายปกครองครับ พระองค์ทรงวินิจฉัยเองเป็นส่วนมาก แบบใหม่นี้ อยู่กับฝ่ายปกครอง การปฏิบัติจึงสะดวกรวดเร็ว ที่ไม่สะดวกคงมีอยู่อันเดียว คือเรียนยาก ถ้าเรียนเข้าใจดีแล้ว ใช้ไม่ยากหรอกครับ ผมจะยกตัวอย่าง สมมติว่า พระครู ก. เป็นเจ้าอาวาส พระลูกวัดเอาสตรีมานอนด้วย ท่านนำชาวบ้านและพระภิกษุสามเณรไปล้อมจับ ท่านบันทึกเหตุการณ์ว่าท่านเห็นเองโดยประจักษ์ สั่งลงนิคหกรรมให้สึกและบังคับให้ลงชื่อรับทราบ เขาก็ลงให้ ในลักษณะนี้ จะบังคับเขาให้สึกเดี๋ยวนั้น ถ้ารู้ทันเขาไม่ยอมสึก ถึงจะเป็นจริงก็ตาม เขามีสิทธิอุทธรณ์ภายใน ๓๐ วัน แต่ถ้าเรียนวิธีปฏิบัติเข้าใจดี กระทำได้สะดวกต้องใช้วิธีอื่น คือตั้งให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นฟ้อง หรือยื่นคำกล่าวหาแล้วสอบถามเดี๋ยวนั้น ให้เขาสารภาพสมตามคำฟ้อง หรือคำกล่าวหา แล้วจึงสั่งการ ถ้าเช่นนี้ บังคับให้สึกเดี๋ยวนั้นได้ กฎ ๑๑ นี้ ต้องเรียนให้เข้าใจดีตั้งแต่ ข้อ ๑๒-๑๖ เพราะเป็นวิธีปฏิบัติเบื้องต้น
เงื่อนไขที่สอง บังคับว่า ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายที่มหาเถรสมาคมกำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
หมายความว่า มหาเถรสมาคจะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติใด ๆ ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายทั้งนั้น
เงื่อนไขที่สาม ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจกำหนดผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมชั้น
ใด ๆ ได้
หมายความว่า มหาเถรสมาคมจะกำหนดให้ผู้ใดมีอำนาจลงนิคหกรรม หรือจะกำหนดกี่ชั้นก็ได้
เงื่อนไขที่สี่ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจกำหนดให้การวินิจฉัยลงนิคหกรรมเป็นอันยุติชั้นใด ๆ ได้
หมายความว่า ให้อำนาจการกำหนดให้ กรณีที่เกิดแก่พระภิกษุระดับใด จะให้ยุติลงในชั้นใด เมื่อมหาเถรสมาคมกำหนดให้ยุติลงชั้นใดแล้ว ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ผู้ใดจะโต้แย้งมิได้
ในหมวดนี้ ที่ต้องเพิ่มเติมอีก คือมาตรา ๒๖ ซึ่งมีความว่า พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุด ให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับทราบคำวินิจฉัยนั้น
คำว่า ถึงที่สุด ในมาตรานี้ จำต้องอธิบายให้ท่านทั้งหลายเข้าใจเป็นกรณี ๆ โดยจะจับความในกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๑ มาแยกบรรยาย คือ
กรณีมีผู้ฟ้อง เช่น พระลูกวัดถูกโจทก์ฟ้องต่อเจ้าอาวาสในฐานะเป็นผู้พิจารณา โดยทำหนังสือฟ้องตามความในข้อ ๑๒ แห่งกฎ ๑๑ เจ้าอาวาสในฐานะผู้พิจารณารับเรื่องราวแล้วเรียกพระภิกษุนั้นมาสอบถามและจดคำให้การไว้ ถ้าพระภิกษุนั้นสารภาพสมตามคำฟ้องของโจทก์ ผู้พิจารณามีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมตามคำฟ้องของโจทก์ได้ เช่นคำฟ้องว่า พระภิกษุร่วมเพศกับสีกา ก็สั่งลงนิคหกรรมให้สึกได้ เมื่อสั่งแล้ว ให้จำเลยลงชื่อรับทราบ คำสั่งนั้น ย่อมถึงที่สุดทันที จำเลยจะอุทธรณ์มิได้
กรณีผู้กล่าวหา ถ้าคนที่ยื่นเรื่องราวนั้น ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้เสียหาย เขาไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ แต่มีสิทธิเป็นผู้ถูกกล่าวหา เขาได้ยื่นหนังสือกล่าวหาพระภิกษุตามความในข้อ ๑๕ แห่งกฎ ๑๑ เจ้าอาวาสในฐานะผู้พิจารณารับคำกล่าวหา เรียกพระภิกษุนั้นมาสอบถามและจดคำให้การไว้ ถ้าเขาสารภาพสมตามคำกล่าวหา ก็สั่งลงนิคหกรรมได้ และเมื่อสั่งแล้ว ให้พระภิกษุนั้นลงนามรับทราบ ถ้าเขาไม่ยอมลงนามรับทราบ ต้องอ่านให้ฟัง แล้วบันทึกต่อท้ายลงนามกำกับ และให้มีพยานลงนามร่วมไม่น้อยกว่า ๒ คน คำสั่งในกรณีเช่นนี้ ก็ถึงที่สุดทันที
กรณีมีผู้แจ้งความผิด ได้แก่เมื่อเจ้าคณะพระสังฆาธิการผู้ปกครองสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้ไม่มีอำนาจลงนิคหกรรมได้เห็นพระภิกษุกระทำความผิด ได้แจ้งความผิดนั้น ต่อเจ้าอาวาสในฐานะผู้พิจารณา เมื่อผู้พิจารณารับเรื่องราวแล้ว เรียกมาสอบถามและจดคำให้การไว้ พระภิกษุรูปนั้นรับสารภาพสมตามคำแจ้งความผิดก็สั่งลงนิคหกรรมได้ และคำสั่งนั้นถึงที่สุดทันที
กรณีเห็นพฤติการณ์แห่งความผิด ได้แก่ในกรณีที่เจ้าอาวาสในฐานะผู้พิจารณา เห็นพฤติการณ์ของพระลูกวัด อันน่าจะต้องศีลวิบัติ เกิดความสงสัย ได้บันทึกพฤติการณ์นั้น เรียกมาสอบถามและจดคำให้การ พระภิกษุนั้นยอมรับสารภาพสมตามข้อสงสัยนั้น ผู้พิจารณาสั่งลงนิกคกรรมตามที่สังสัยได้ และคำสั่งนั้น ย่อมถึงที่สุดทันที
ทั้ง ๔ กรณีนี้ เป็นถึงที่สุดในชั้นผู้พิจารณา อันเป็นชั้นผู้ปกครอง หากฝ่าฝืน ย่อมมีความผิดตามความในมาตรา ๒๖ ด้วยเหมือนกัน
ในลักษณะต่อไป เป็นอันถึงที่สุดในชั้นคณะผู้พิจารณาซึ่งสืบเนืองมาจากกรณีที่พระภิกษุถูกฟ้อง ถูกกล่าวหา ถูกแจ้งความผิด หรือถูกตั้งข้อสงสัย แล้วปฏิเสธหรือภาคเสธ และกรณีผู้พิจารณาเห็นการกระทำความผิดอย่างประจักษ์ชัด สั่งลงนิคกรรฒ แต่ผู้ถูกสั่งลงโทษไม่ยอมปฏิบัติ ขอแยกโดยลักษณะ
ในกรณีที่พระภิกษุผู้ถูกฟ้อง ถูกกล่าวหา ถูกแจ้งความผิดหรือถูกตั้งข้อสงสัย ผู้พิจารณาเรียกมาสอบถามและจดคำให้การแต่พระภิกษุนั้น ให้การปฏิเสธข้อหาหรือให้การภาคเสธ ผู้พิจารณาจะสั่งลงนิคหกรรมมิได้ ทั้งจะสั่งยุติกรณีก็มิได้ ต้องส่งเรื่องราวต่อหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น เพื่อดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องและพิจารณาวินิจฉัย ถ้าวินิจฉัยว่า เป็นอาบัติปาราชิก อ่านให้ฟังและจำเลยลงนามรับทราบแล้ว อันนี้ ยังไม่ถึงที่สุดเพราะลักษณะเช่นนี้ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ภายใน ๓๐ วัน เขามีสิทธิ์อุทธรณ์ จะนับหนึ่งชั่วโมง ยังไม่ได้นะครับถ้าเขายอมรับนิคหกรรม โดยไม่อุทธรณ์ ก็ย่อมไม่เกี่ยวกับมาตรา ๒๖ เพราะมาตรา ๒๖ กำหนดโทษอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนเท่านั้น
ส่วนในกรณีที่คณะผู้พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ เช่นเจ้าอาวาสในฐานผู้พิจารณา เห็นพระลูกวัดเอาสตรีไปนอนด้วย นำพระภิกษุสามเณรและประชาชนล้อมกฏี พังประตูเข้าไป ก็เห็นชัดว่าต้องแน่นอนว่าได้ร่วมเพศกันแล้ว สั่งลงนิคหกรรมตามที่เห็นประจักษ์นั้น คำสั่งในกรณีเช่นนี้ ก็ยังไม่ถึงที่สุด เพราะเขามีสิทธิอุทธรณ์ภายใน ๓๐ วัน อันลักษณะอย่างนี้ ต้องระวังให้มาก ต้องกระทำเรื่องโดยพระภิกษุอื่นเป็นโจทก์หรือสามเณรหรือคฤหัสถ์กล่าวหา เมื่อเจ้าอาวาสในฐานะผู้พิจารณารับเรื่อง แล้วต้องสอบถามและจดคำให้การเดี๋ยวนั้น พยายามให้สารภาพสมตามคำฟ้องหรือคำกล่าวหา แล้วสั่งลงนิคหกรรมตามนั้น ถ้าอย่างนี้ คำสั่งถึงที่สุดทันที ผู้พิจารณาต้องฉลาดครับ ต้องหาทางตัดไฟต้นลม ถ้าผู้พิจารณาบันทึกว่า ได้เห็นเองโดยประจักษ์จึงสั่งลงนิคหกรรมตามที่เห็นตามความในข้อ ๑๖ (๒) ข. ให้พระภิกษุนั้นมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้ ในการอุทธรณ์ให้เวลาถึง ๓๐ วัน
ในสองกรณีที่ยกมานี้ ถ้ามีการอุทธรณ์ ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันรับทราบคำวินิจฉัยหรือวันให้รับทราบคำสั่ง และเมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วและยืนตามชั้นต้น ได้อ่านให้ฟังแล้ว คำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้น ก็ยังไม่ถึงที่สุด เพราะจำเลยยังให้สิทธิฎีกาภายใน ๓๐ วัน ถ้าชั้นฎีกาวินิจฉัยยืนตามชั้นต้น และเมื่อได้อ่านให้โจทก์และจำเลยฟังแล้วย่อมถึงที่สุดทันที และนับชั่วโมงหนึ่ง สองชั่วโมงได้ทันที ถ้าไม่สึกภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง ใช้มาตรา ๔๒ บังคับให้รับโทษอาญาได้
นี้นะครับ ชั้นต้นต้องเข้าใจครับ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น คณะผู้พิจารณาชั้นต้นพิจารณาวินิจฉัยแล้ว จะถือว่าต้องอาบัติอันติมวัตถุแล้ว จะต้องสึกภายใน ๒๔ ชั่วโมง อย่างนี้ไม่ได้นะครับ วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ก็ต้องให้โอกาสแก่เขา เพื่อยื่นอุทธรณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีความเป็นธรรม เพราะบางทีชั้นต้นอาจวินิจฉัยผิดพลาด จึงต้องให้โอกาสอุทธรณ์ เพื่อชั้นสูงจะได้พิจารณา ส่วน ๔ กรณีข้างต้น คือกรณีที่เขายอมรับสมตามคำฟ้อง สมตามคำกล่าวหา สมตามคำแจ้งความผิด และสมตามที่ตั้งข้อสงสัยนั้น เป็นกรณีที่คำสั่งถึงที่สุดทันที จะให้โอกาสเขาอุทธรณ์มิได้นะครับ อนึ่ง ขอพูดถึงการอ่านคำวินิจฉัยเพื่อเป็นแนวปฏิบัติการอ่านคำวินิจฉัยแต่ละชั้นนั้น มิใช่เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะอ่านนะครับ ผู้อ่านคำวินิจฉัยคือคณะผู้พิจารณา จะเป็นชั้นต้นหรือชั้นใดก็ได้ โดยจัดเป็นรูปคณะแบบศาล คือจัดกระบวนการของคณะผู้พิจารณาขึ้นมาอ่าน เช่น จัดให้มีโต๊ะเก้าอี้หัวหน้าคณะผู้พิจารณาและผู้พิจารณาให้สง่าผ่าเผย ต้องแจ้งให้โจทก์จำเลยได้ทราบว่า อ่านคำวินิจฉัยในคณะผู้พิจารณาชั้นใด เมื่ออ่านให้ฟังเสร็จแล้ว ให้เขาเซ็นรับทราบ ถ้าไม่เซ็นให้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการไม่ยอมเซ็นไว้ คณะผู้พิจารณาลงนามกำกับ และให้พยานรับทราบไม่น้อยกว่า ๒ คน ไม่ว่ากรณีใดๆ อย่างน้อยอย่าให้ต่ากว่า ๒ คน ถ้าเป็นชั้นฎีกา พออ่านจบนับชั่วโมงได้
มาตราต่อไปนะครับ มาตรา ๒๙ ขอถวายอีกหน่อย เพราะมาตรานี้ มีวิธีปฏิบัติอันเกี่ยวพันถึงเจ้าอาวาสอยู่ มาตรา ๒๙ ถ้าพระภิกษุถูกจับฐานเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เพราะคดีนั้นโดยหลักใหญ่ ๆ มี ๒ คือ คดีอาญา กับ คดีแพ่ง คดีอาญานั้นเขามีหลักเกณฑ์ปฏิบัติ ถ้าต้องข้อหาเข้าแล้ว จะต้องถูกจับกุม โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ เป็นผู้จำกุมและสอบสวน เจ้าหน้าที่อัยการเป็นผู้ฟ้อง ศาลเป็นผู้ตัดสิน ในระยะดำเนินการนี้เขามีอำนาจปล่อยตัวโดยมีประกัน หรือปล่อยตัวชั่วคราว ถ้าคดีเล็กๆ น้อย ปล่อยให้มีประกัน เมื่อได้วางหลักทรัพย์ประกันถูกต้องแล้ว ก็รับตัวกลับบ้านได้ ถ้าคดีใหญ่คดีสำคัญ เขาจะไม่ยอมให้ประกันตัว หรือบางคดีห้ามเยี่ยมด้วยซ้ำ ถึงจะไม่ให้ประกัน แต่ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับพระภิกษุตามมาตรา ๒๙ นี้ เขาเห็นสมควร ก็อนุญาตให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม เพื่อต่อสู้คดีไปจนกว่าจะถึงที่สุดได้ ถ้าชั้นตำรวจและชั้นอัยการเขายอมให้ ถ้าเขาเห็นว่าไม่ควรรับตัวไปควบคุม ในชั้นตำรวจเห็นว่าไม่ควรหรือในชั้นอัยการเห็นว่าไม่สมควร หรือทั้งตำรวจและอัยการเขาเห็นควรและยินยอม แต่เจ้าอาวาสไม่ยอมรับควบคุม เจ้าพนักงานเขามีอำนาจบังคับให้สละเพศได้ พูดให้สั้นว่า
(๑) ตำรวจหรืออัยการไม่ยอมให้ เขามีอำนาจให้สละสมณะเพศ
(๒) เขายอมให้ แต่เจ้าอาวาสไม่ยอมรับ เขาก็มีอำนาจให้สละสมณเพศได้
อีกอย่างหนึ่ง ถ้าพระภิกษุรูปนั้น ไม่มีสังกัดเป็นหลักแหล่ง เขามีอำนาจให้สละสมณเพศได้ทันที เพราะเป็นพระภิกษุไม่มีผู้ปกครอง ไม่มีผู้ใดรับรอง ต้องให้สละสมณเพศ
ถ้าพระภิกษุมีสังกัดวัด เจ้าอาวาสวัดที่สังกัดนั่แหละที่กฎหมายให้อำนาจ และมีข้อคิดที่คุณมนูพูดไว้คำหนึ่ง และมีคนพูดกันมาก ที่ว่า ทำไมคุ้มกันแต่พระลูกวัด เพราะถ้าพระลูกวัดต้องคดีอาญา ยอมให้เจ้าอาวาสควบคุมตัวเพื่อต่อสู้คดีเป็นพระได้ ถ้าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเห็นสมควร แต่พระสังฆาธิการตั้งแต่ชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไปมิได้บอกไว้เลยแสดงว่าพระสังฆาธิการชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไป ถ้าถูกคดีอาญาแล้วมีอย่างเดียว ต้องถูกให้สละสมณเพศ ท่านจะตีความอย่างนั้นหรือไม่ก็ตาม แต่ผมคิดว่า ในทางปฏิบัติ ชั้นอื่นนั้นควบคุมยากมาก ถ้าพระลูกวัดนั้น อยู่วัดเดียวกัน การควบคุมนั้นพอควบคุมได้เพราะอยู่ในวัดเดียวกัน แต่ถ้าเจ้าอาวาสเจ้าคณะตำบลควบคุมลำบากมากเพราะอยู่ต่างวัดกัน ถ้าเจ้าอาวาสต้องอยู่คนละวัดกับเจ้าคณะตำบล ก็คงควบคุมไม่ไหวแน่ ถ้าเจ้าคณะตำบลต้องคดี ในเจ้าคณะอำเภอควบคุม ถ้าอยู่คนละวัด ก็ลำบากต่อการปฏิบัติ ผู้ยกร่างกฎหมายคงนึกถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ ให้ทราบว่าชั้นเจ้าคณะไม่มีอำนาจนะครับ ถ้ามีเรื่องราวเกิดขึ้น อย่าได้รับควบคุมใครนะครับ สมมติว่า เจ้าอาวาสถูกจับ เจ้าคณะตำบลรอรับควบคุมตัว ถ้าตำรวจเขายอมให้ ต่อมาเจ้าอาวาสหลบหนี เจ้าคณะตำบลแย่นะครับ เพราะเขาไม่ให้อำนาจ ยังขืนทำ อาจโดน ๒ กระทงนะครับ คือ อาจผิดกฎหมายในฐานะปล่อยผู้ต้องหาและละเมิดจริยาเพราะฝ่ายฝืนกฎหมาย เจ้าคณะชั้นอื่นๆ ก็เหมือนกัน แต่เจ้าอาวาสเขารับควบคุมได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจสมมติว่า พระที่เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุมหลบหนี เจ้าอาวาสอาจผิดเพียงการปล่อยผู้ต้องหา ส่วนจริยาไม่ชื่อว่าละเมิดเพราะรับควบคุมตามอำนาจหน้าที่ ขอให้ทำความเข้าใจตามนี้นะครับ
ต่อไปเป็นเรื่องวัด ในหมวด ๕ ว่าด้วยเรื่องวัด จะให้โอกาสคุณมนูพักสักเล็กน้อย ผมจะถวายความรู้ในเรื่องนี้ในส่วนต้นเสียก่อน
คำว่า “วัด” ในกฎหมายนี้ หมายเอาเฉพาะวัดที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นนะครับ สถานที่สร้างวัดใหม่ๆ มิได้หมายถึงด้วย มีปัญหาว่า วัดเช่นใดชอบด้วยกฎหมาย ขอเฉลยว่า วัดที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น คือวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว นี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ “สำนักสงฆ์” สำนักสงฆ์ได้แก่วัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา แต่ได้ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยลักษณะการตั้งวัดแต่ละสมัยมีข้อกำหนดแตกต่างกัน คือ
เมื่อใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รศ. ๑๒๑ มีข้อกำหนดตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติฉบับนั้น ให้เจ้าคณะแขวง และนายอำเภอมีหนังสืออนุญาต วัดใดตั้งขึ้นโดยได้รับหนังสืออนุญาตจากเจ้าคณะแขวงและนายอำเภอแล้ว ย่อมเป็นวัดที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ โดยกระทรวงกำหนดให้นายอำเภอเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตให้สร้างวัด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เป็นผู้ประกาศตั้งสำนักสงฆ์ ดังนั้น ในสมัยนั้น ถ้ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงได้ประกาศตั้งสำนักสงฆ์แล้ว ย่อมเป็นวัดที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยกฎกระทรวงกำหนดให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นผู้มมีอำนาจอนุญาตให้สร้างวัด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ประกาศตั้งวัดในพระพุทธศาสนา ดังนั้น วัดใด ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประการตั้งวัดแล้ว ย่อมเป็นวัดที่ชอบด้วยกฎหมาย
นี้ลักษณะวัดที่ชอบด้วยกฎหมาย วัดที่สร้างหลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มานี้ ถ้าเจ้ากระทรวงยังมิได้ประกาศตั้งวัด ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นอารามตามพระวินัยนั้นได้ โดยพระวินัยมีพระภิกษุอยูที่ใด ก็ถือเป็นอาราม เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ แต่ในทางกฎหมาย ที่บ้านเมืองยอมรับอยู่เดี๋ยวนี้ เราพูดกันด้วยกฎหมาย กฎหมายให้อำนาจการตั้งวัด เมื่อมีกฎหมายให้อำนาจการตั้งวัด และวัดที่ได้จัดตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีฐานเป็น “นิติบุคคล” ตามมาตรา ๗๒ แห่งประมวลกฎหมมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้ท่านมีความเข้าใจมากขึ้น ขอขยายคำว่า “นิติบุคคล” อีกสักเล็กน้อย
คำว่า “บุคคล” โดยปกติ หมายถึงบุคคลธรรมดา หรือ บุคคลโดยกำเนิดคือเกิดมาเป็นคนอย่างผมก็บุคคลคนหนึ่ง ท่านก็บุคคลคนหนึ่ง เป็นบุคคลโดยกำเนิด
และยังมีอีกสิ่งหนึ่ง ที่ถูกบังคับให้เป็นบุคคล โดยกำเนิดมิได้เป็นคนดอกครับ แต่กฎหมายบังคับให้เป็นบุคคลเรียกว่า “นิติบุคคล” คือเป็นบุคคลตามกฎหมาย หรือกฎหมายบังคับให้เป็นบุคคล ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดสิ่งที่ถูกบังคับให้เป็นนิติบุคคลว่า
“มาตรา ๗๒ จำพวกที่กล่าวต่อไปนี้ ย่อมเป็นนิติบุคคล คือ
(๑) ทบวงการเมือง
(๒) วัดวาอาราม
(๓) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่จดทะเบียนแล้ว
(๔) บริษัทจำกัด
(๕) สมาคม
(๖) มูลนิธิได้อำนาจแล้ว
อาศัยอำนาจมาตรา ๗๒ (๒) วัดจึงเป็นนิติบุคคล เพราะกฎหมายให้วัดเป็นนิติบุคคลนี้ วัดจึงได้รับการคุ้มครองตามประมวมลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่น ดังบุคคลธรรมดา และเพราะเป็นนิติบุคคลนี้ วัดจึงมีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา บุคคลธรรมดามีสิทธิและหน้าที่อันใด วัดก็มีสิทธิอันนั้น เว้นแต่สิทธิและหน้าที่อันนั้น
(๑) ขัดต่อสภาพของวัด เช่น บุคคลธรรมดา มีสิทธิแต่งงานและจดทะเบียนสมรส หรือมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิทธิดังว่านี้ วัดมีไม่ได้ เพราะขัดต่อสภาพของวัดเอง
(๒) ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เช่น บุคคลธรรมมีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนให้แก่คนอื่นได้ วัดไม่มีสิทธิดังว่านี้ เพราะขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
(๓) ขัดต่อวัตถุประสงค์ของวัด เช่น บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอื่นมี่สิทธิตั้งโรงงานต้มกลันสุรา ตั้งร้านจำหน่ายสุรา ตามที่ได้รับอนุญาตได้ แต่สิทธิและหน้าที่ดังว่านี้ วัดจะมีมิได้เพราะขัดต่อวัตถุประสงฆ์ของวัด
วัดแม้มิใช่บุคคลธรรมดา แต่ก็ต้องมีภูมิลำเนาคือที่ตั้งเป็นหลักแหล่ง โดยความได้แก่ต้องมีทะเบียนบ้านดังครอบครัวของบุคคลธรรมดา ดังนั้น เมื่อขออนุญาตสร้างวัดจึงกำหนดให้เจ้าของที่ดินอันชอบด้วยกฎหมมายยินยอมจะยกกรรมสิทธิ์ให้
วัดและจำพวกอื่นแม้จะเป็นนิติบุคคล มีสิทธิและหน้าที่ดังบุคคลธรรมดา แต่ก็ไม่สามารถใช้สิทธิและหน้าที่ดังว่านั้นด้วยตนเองได้เลย ต้องมีตัวแทนเป็นผู้ใช้ ดังความในมาตรา ๗๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า “อันความประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ย่อมแสดงปรากฎจากผู้แทนทั้งหลายของนิติบุคคลนั้น” ดังนั้น วัดต้องการอะไร ผู้แสดงความต้องการของวัดให้ปรากฏก็คือตัวแทนของวัด สิทธิและหน้าที่ของวัดบรรดามี ตัวแทนเป็นผู้ใช้สิทธิและหน้าที่นั้น ๆ ทั้งหมด ทั้งในทางดีและไม่ดี เช่น วัดถูกคนบุกรุกที่ดิน หรือแม้จะถูกข่มเหงรังแกเท่าใด ก็แสดงการป้องกันรักษาที่ดิน หรือแสดงความไม่พอใจที่ถูกข่มเหงนั้นมิได้ จำต้องอาศัยผู้แทนเป็นผู้ใช้สิทธิและหน้าที่ในการนี้ ผู้แทนนั้นก็คือเจ้าอาวาส ดังนั้น ในกฎหมายคณะสงฆ์จึงบัญญัติให้วัดมีเจ้าอาวาส ดังในมาตรา ๓๖ ซึ่งจักกล่าวต่อไป
ความทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องวัดขอกล่าวเพียงเท่านี้ ส่วนความในมาตรา ๓๑-๓๒-๓๓-๓๔-๓๕ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวัดทั้งนั้น แต่เพราะเวลาเหลือน้อย และเพราะมีการบรรยายเรื่องกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑-๒ ซึ่งมีความเกี่ยวกับมาตราเหล่านี้อยู่ จึงขอข้ามไปบรรยายมาตรา ๓๖ เลยนะครับ
“มาตรา ๓๖ วัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง และถ้าเป็นการสมควร จะให้มีรองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วยก็ได้”
เจ้าอาวาสตามความในมาตรานี้เป็นใคร? คือตัวแทนของวัด ตัวแทนนิติบุคคลตามความในมาตรา ๗๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น วัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาสได้เพียงรูปเดียว บังคับไว้โดยกฎหมายนะครับ มีสองรูปไม่ได้ วัดเหมือนร่างกายของคน เจ้าอาวาสเหมือนจิตใจที่ครองร่าง เจ้าอาวาสจึงเป็นเหมือนลมหายใจของวัด และเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อวัดมากยิ่ง เพราะบรรดากิจการใด ๆ ของวัด ทั้งสิทธิและหน้าที่ใด ๆ ของวัด เจ้าอาวาสเป็นผู้รับภาระทั้งสิ้น ถ้าขาดเจ้าอาวาสแล้ว วัดก็ขาดผู้แทน กฎหมายจึงบังคับให้มีเจ้าอาวาสและในวัดหนึ่งให้มีเพียงรูปเดียว จะมีเกินกว่าหนึ่งรูปมิได้ แม้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสก็ให้มีวัดละรูปเดียวเช่นกัน แต่บางวัดอาจมีความจำเป็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการวัด เช่น วัดใหญ่มีกิจการมากมาย จำเป็นต้องให้มีรองหรือผู้ช่วยในการดำเนินกิจการในวัด กฎหมายจึงบัญญัติให้มีรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสได้ รองเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาสนั้น ให้มีไว้เพื่อช่วยเจ้าอาวาสในการดำเนินกิจการวัดนั้นเอง
ผมได้บรรยายถึงเรื่องวัดพร้อมทั้งผู้แทนวัดคือเจ้าอาวาสพร้อมทั้งรองและผู้ช่วยเจ้าอาวาสมาพอสมควรแล้ว ต่อไปควรจะได้รู้เรื่องหน้าที่และอำนาจของเจ้าอาวาสและเรื่องอื่น ๆ อันเกี่ยวกับวัดตามสมควร จึงขอเชิญคุณมนูได้บรรยายมาตารา ๓๗-๓๘-๓๙ ต่อไป
Views: 7