ลักษณะ ๒ ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรม

ลักษณะ ๒

ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรม

—————-

    ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ ได้กำหนดผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมไว้เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติ พร้อมกับได้กำหนดพระภิกษุผู้ทำความผิดและกำหนดอำนาจไว้รวมกันในลักษณะ ๒ นี้ คือ บทบัญญัติในลักษณะนี้ จึงสลับซับซ้อนยากต่อการศึกษา อยู่พอสมควร แต่จะยากง่ายอย่างไร ก็จะปฏิเสธเสียมิได้ เพราะถ้าไม่เข้าใจในข้อปฏิบัติอันเป็นหลักเกณฑ์แล้ว ก็ไม่สามารถจะเรียนลักษณะอื่นให้เข้าใจได้ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาจะรวมข้อ ๕-๑๑ เข้าเป็น ๕ ประเด็น  คือ

     ๑. อำนาจลงนิคหกรรม

    ๒. ประเภทของพระภิกษุผู้กระทำความผิด

     ๓. เขตกระทำความผิด

     ๔. การลงนิคหกรรม

     ๕. ในกรณีพิเศษ

๑. อำนาจลงนิคหกรรม

    อันอำนาจลงนิคหกรรมตามที่กล่าวไว้ในลักษณะ ๒ นี้ เป็นอำนาจตุลาการ หรืออำนาจลงโทษแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิด หรืออำนาจดำเนินการเพื่อสั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิด ว่าโดยลักษณะมี ๒ ชั้นคือ อำนาจผู้ปกครอง ๑ อำนาจคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ๑

     อำนาจผู้ปกครอง  เป็นอำนาจปฏิบัติการในชั้นต้น เริ่มตั้งแต่รับคำฟ้อง คำกล่าวหา คำแจ้งความผิด หรือบันทึกพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัย จนถึงสั่งลงนิคหกรรมตามคำสารภาพซึ่งไม่มีเงื่อนไข หรือสั่งลงนิคหกรรมตามที่ได้พบเห็นการกระทำความผิดอย่างประจักษ์ชัด แต่ในกรณีที่ไม่ยุติในชั้นปกครอง ให้มีอำนาจรวบรวมคำฟ้องเป็นต้น ส่งคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ดังเช่น การสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ ท่านบัญญัติตำแหน่งผู้ใช้อำนาจชั้นปกครองว่า “ผู้พิจารณา” อันผู้พิจารณานั้น เป็นตำแหน่งในชั้นปกครองเป็นตำแหน่งพิเศษ ซึ่งในเบื้องต้นปฏิบัติการรูปเดียว ไม่มีใครประกอบเป็นคณะ แต่มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมได้ คือใช้อำนาจตุลาการในชั้นผู้ปกครอง เมื่อส่งเรื่องราวไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นต้นแล้ว ไปร่วมในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นอีกตำแหน่งหนึ่ง แยกเป็น ๒ ประเภทคือ

           (๑) ผู้พิจารณาเจ้าสังกัด ได้แก่พระภิกษุผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดกับพระภิกษุผู้กระทำความผิดในเขตสังกัด ผู้พิจารณาเจ้าสังกัดนี้ ใช้อำนาจหน้าที่ของผู้พิจารณาได้ ๒ กรณี คือ

                (ก) กรณีที่ผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดกระทำความผิดในเขตสังกัด

               (ข) กรณีที่ผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดทำความผิดนอกราชอาณาจักรแล้วกลับเข้ามาอยู่ในเขตสังกัด

           (๒) ผู้พิจารณาเจ้าของเขต  ได้แก่เจ้าคณะผู้ปกครองเขตที่พระภิกษุสังกัดอื่นมากระทำความผิดในเขตที่ตนปกครอง  ผู้พิจารณาเจ้าของเขตนี้ใช้อำนาจของผู้พิจารณาได้ ๒ กรณี คือ

                (ก)  พระภิกษุในเขตสังกัดอื่นระดับผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดมากระทำความผิดในเขตที่ตนปกครอง

                (ข)  พระภิกษุดังกล่าวใน (ก) กระทำความผิดในราชอาณาจักร แล้วกลับมาพำนักในเขตที่ตนปกครอง

           เมื่อว่าโดยตำแหน่งผู้พิจารณานั้น มิใช่ตำแหน่งโดยการแต่งตั้ง แต่เป็นตำแหน่งทางการปกครองสงฆ์ ได้แก่ตำแหน่งผู้ปกครองสงฆ์ ๗ อันดับ เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่ และสมเด็จพระสังฆราช หากตำแหน่งดังกล่าวไม่มีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ผู้รักษาการแทนซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎมหาเถรสมาคม[1]หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนซึ่งชอบด้วยกฎหมาย[2]  ย่อมเป็น “ผู้พิจารณา” ในอันดับนั้น ๆ ตามบทบัญญัตินี้

           ผู้พิจารณาดังกล่าว นอกจากจะมีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมโดยฐานะผู้ปกครองของพระภิกษุผู้กระทำความผิดในเขตสังกัด หรือในฐานะผู้ปกครองเขตซึ่งพระภิกษุต่างสังกัดกระทำความผิดแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติเบื้องต้นและเข้าร่วมในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นในฐานะที่เป็นผู้ปกครองเจ้าสังกัด หรือในฐานะผู้ปกครองเจ้าของเขตอีกชั้นหนึ่ง เฉพาะผู้พิจารณาเจ้าของเขตเมื่อได้สั่งลงนิคหกรรมหรือเมื่อผู้กระทำความผิดภาคเสธหรือปฏิเสธและได้ส่งเรื่องราวไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นต้นแล้ว ให้แจ้งไปยังเจ้าคณะเจ้าสังกัดของพระภิกษุนั้น เพื่อแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดของพระภิกษุรูปนั้นได้ทราบ โดยถ้าผู้พิจารณาเจ้าของเขตตำแหน่งเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะจังหวัด ให้แจ้งแก่เจ้าคณะจังหวัดเจ้าสังกัด ส่วนผู้พิจารณาเจ้าของเขตที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ให้แจ้งแก่เจ้าคณะภาคเจ้าสังกัด ตามปกตินั้น ในกรณีหนึ่งจะมีผู้พิจารณาเพียง ๑ รูป   แต่ในบางกรณีอาจมีผู้พิจารณาหลายรูป เช่น

           (๑)  ในกรณีที่พระลูกวัดหลายวัดกระทำความผิดร่วมกันในเขตสังกัด

           (๒)  ในกรณีกระทำความผิดร่วมกันตามข้อ ๑๐ แต่ข้อนี้กำหนดให้มีเพียงรูปเดียว

           อำนาจคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ได้แก่  อำนาจไต่สวนมูลฟ้องจนถึงอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น โดยความก็คืออำนาจตุลาการในชั้นต้น ท่านบัญญัติตำแหน่งผู้ใช้อำนาจว่า “คณะผู้พิจารณาชั้นต้น” กำหนดด้วยตำแหน่งผู้ปกครองสงฆ์ ๓ ตำแหน่ง ประกอบเข้าเป็นตำแหน่ง คือคณะผู้พิจารณาชั้นต้นคณะหนึ่ง จะมี ๓-๔ รูป บางกรณีอาจมี ๒ รูป บางกรณีอาจมีมากกว่า เฉพาะอันดับ ๖-๗ มีจำนวนเท่ากับจำนวนกรรมการมหาเถรสมาคม คณะผู้พิจารณาชั้นต้น มี ๗ อันดับ คือ

           ๑.  คณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับ ๑ ประกอบด้วย

                (๑)  เจ้าคณะอำเภอเจ้าสังกัด เป็นหัวหน้าคณะ

                (๒)  เจ้าคณะตำบลเจ้าสังกัด

                (๓)  เจ้าอาวาสเจ้าสังกัด

           ๒.  คณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับ ๒ ประกอบด้วย

                (๑) เจ้าคณะอำเภอ เป็นหัวหน้าคณะ

                (๒)  รองเจ้าคณะอำเภอ

                (๓)  เจ้าคณะตำบล

           ๓.  คณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับ ๓ ประกอบด้วย

                (๑)  เจ้าคณะจังหวัด เป็นหัวหน้าคณะ

                (๒)  รองเจ้าคณะจังหวัด

                (๓)  เจ้าคณะอำเภอ

           ๔.  คณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับ ๔ ประกอบด้วย

                (๑)  เจ้าคณะภาค เป็นหัวหน้าคณะ

               (๒)  รองเจ้าคณะภาค

               (๓) เจ้าคณะจังหวัด

           ๕.  คณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับ ๕ ประกอบด้วย

               (๑) เจ้าคณะใหญ่ เป็นหัวหน้าคณะ

                (๒) เจ้าคณะภาค

               (๓) เจ้าคณะภาคในหนนั้น ๆ ๑ รูป ซึ่งเจ้าคณะใหญ่คัดเลือก

           ๖.  คณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับ ๖

               – มหาเถรสมาคม

           ๗.  คณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับ ๗

                – มหาเถรสมาคม

           ในอันดับ ๑ เจ้าคณะอำเภอคงเป็นหัวหน้าคณะตลอดไป ส่วนเจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสเปลี่ยนตามแต่กรณี

           ในอันดับ ๒-๕ ตำแหน่งใน (๑) (๒) คงอยู่ตลอด เฉพาะใน (๓) อาจเปลี่ยนตามแต่กรณี

           อันดับ ๑ สำหรับภิกษุผู้กระทำความผิดในเขตสังกัดอย่างเดียว

           ในอันดับ ๖-๗ เป็นเจ้าสังกัดอย่างเดียว

           อันดับ ๒-๕ สำหรับภิษุผู้กระทำความผิดในเขตสังกัด เรียกว่า “เจ้าสังกัด” สำหรับผู้กระทำความผิดนอกเขต เรียกว่า “เจ้าของเขต”

           อันดับ ๒ (๒)  กำหนดตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอ ถ้าอำเภอใดไม่มีรองเจ้าคณะอำเภอ ให้เจ้าคณะอำเภอคัดเลือกเจ้าคณะตำบลในเขตอำเภอนั้น ๑ รูปร่วมด้วย เว้นแต่อำเภอที่มีเจ้าคณะตำบลรูปเดียว

           ในอันดับ ๓-๔ ถ้ารองเจ้าคณะจังหวัดหรือรองเจ้าคณะภาคไม่มี ให้ปฏิบัติตามอันดับ ๒ (๒) โดยอนุโลม

           อันดับ ๔, ๕, ๗, ถ้าในกรณีพระราชาคณะซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสกระทำความผิด ให้เจ้าอาวาสเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นด้วย

๒. ประเภทของพระภิกษุผู้กระทำความผิด

     หลักเกณฑ์การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมที่สำคัญมี ๒ คือ ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรม ๑ ผู้กระทำความผิด ๑ เพราะการจัดอันดับผู้ใช้อำนาจกับการจัดอันดับผู้กระทำความผิดย่อมอาศัยซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะผู้กระทำความผิดซึ่งจัดเป็นหลักเกณฑ์กำหนดผู้ใช้อำนาจนั้นมีหลายฐานะ จำเป็นที่พระสังฆาธิการจะต้องศึกษาโดยละเอียด เมื่อว่าโดยประเภทแห่งพระภิกษุแล้ว แบ่งได้ ๒ ประเภท คือ

     ๑. ประเภทมิใช่ผู้ปกครองสงฆ์

     ๒. ประเภทผู้ปกครองสงฆ์

     ประเภทมิใช่ผู้ปกครองสงฆ์ ได้แก่ พระภิกษุผู้มิได้รับแต่งตั้งให้ดำรงค์ตำแหน่งพระสังฆาธิการ หรือเรียกภาษาตลาดว่า “พระลูกวัด” ดังกล่าวไว้ในบทนิยาม แต่เมื่อว่าโดยลักษณะแห่งการกระทำความผิดตามข้อ ๕-๖ แบ่งเป็น ๒ คือ

     (ก) พระภิกษุรูปเดียวหรือหลายรูปสังกัดวัดเดียวกัน

     (ข)  พระภิกษุหลายรูปสังกัดต่างวัดกัน

     ใน (ก) (ข) นี้ กำหนดให้ขึ้นต่อผู้พิจารณาอันดับเดียวกับผู้ช่วยหรือรองเจ้าอาวาสซึ่งเป็นอันดับ ๑ ในสังกัด หรืออันดับ ๒ นอกเขต

     ประเภทผู้ปกครองสงฆ์   ได้แก่ พระสังฆาธิการหรือประเภทอนุโลมอื่น ตามที่กล่าวไว้ในบทนิยาม เฉพาะพระสังฆาธิการและผู้ปกครองสงฆ์โดยตรง แยกเป็น ๗ อันดับ คือ

           (๑)  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสหรือรองเจ้าอาวาส

           (๒) เจ้าอาวาสหรือรองเจ้าคณะตำบล

           (๓) เจ้าคณะตำบลหรือรองเจ้าคณะอำเภอ

           (๔) เจ้าคณะอำเภอหรือรองเจ้าคณะจังหวัด

           (๕) เจ้าคณะจังหวัดหรือรองเจ้าคณะภาค

           (๖) เจ้าคณะภาค

           (๗) เจ้าคณะใหญ่หรือกรรมการมหาเถรสมาคม

           พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ ๗ อันดับนี้ ท่านกำหนดเป็นหลักเกณฑ์การจัดอันดับผู้พิจารณาและคณะผู้พิจารณาชั้นต้นนั้น ตามความในข้อ ๗ เพราะอันดับตำแหน่งทางปกครองพระสังฆาธิการและผู้ปกครองสงฆ์โดยตรงนี้ เป็นอันดับอันเหมาะสมทุกประการ

           นอกจากพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์โดยตรงทั้ง ๗ อันดับแล้ว ยังมีพระภิกษุซึ่งจัดเข้าประเภทผู้ปกครองสงฆ์อนุโลมอีก ๒ ประเภท คือ

          ๑) ประเภทอนุโลมโดยฐานะ

                (ก) ผู้เป็นกิตติมศักดิ์  ตำแหน่งกิตติมศักดิ์เป็นตำแหน่งที่บัญญัติไว้เพื่อถวายเกียรติแด่พระสังฆาธิการซึ่งปฏิบัติหน้าที่มาโดยความเรียบร้อยจนถึงชราหรือทุพพลภาพ กำหนดให้ผู้แต่งตั้งยกเป็นกิตติมศัดิ์ในตำแหน่งเดิม เช่นเจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ เจ้าคณะตำบลกิตติมศักดิ์[3] เป็นต้น กิตติมศักดิ์นี้จัดเข้าในอันดับของตำแหน่งเดิม

               (ข) ผู้เป็นที่ปรึกษา ตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะเป็นตำแหน่งพิเศษ นับว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูงกว่าตำแหน่งกิตติมศักดิ์ กำหนดให้ยกเจ้าคณะชั้นต่างๆ ขึ้นเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะตามมติมหาเถรสมาคม เช่นที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบล[4]

                (ค) ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบพระสังฆาธิการ ตำแหน่งเทียบพระสังฆาธิการเป็นตำแหน่งทางคณะสงฆ์ แต่มิใช่ตำแหน่งพระสังฆาธิการ ตัวอย่าง ตำแหน่งพระคณาจารย์[5] ซึ่งเป็นตำแหน่งพิเศษมี ๓ คือ พระคณาจารย์ทางเทศนา พระคณาจารย์ทางรจนา และพระคณาจารย์ทางคันถธุระ  แยกเป็น ๓ ชั้นคือ พระคณาจารย์ตรี พระคณาจารย์โท พระคณาจารย์เอก ซึ่งพระคณาจารย์ตรีเทียบเจ้าคณะอำเภอ พระคณาจารย์โทเทียบเจ้าคณะจังหวัด พระคณาจารย์เอกเทียบเจ้าคณะภาค ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทนเจ้าคณะ ผู้รักษาการแทนตำแหน่งใด ๆ เทียบกับตำแหน่งนั้น ๆ

           ๒) ประเภทอนุโลมโดยสมณศักดิ์  ตำแหน่งสมณศักดิ์เป็นตำแหน่งซึ่งมาคู่กับตำแหน่งทางปกครองเกือบจะแยกกันมิได้ ท่านจึงจัดเข้าอันดับพิเศษ โดยให้อยู่ในประเภทผู้ปกครองสงฆ์ เฉพาะชั้นพระราชาคณะขึ้นไป เพราะพระราชาคณะเป็นตำแหน่งที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า “พระสังฆราชาคณะ” ซึ่งแปลว่า “พระผู้ปกครองสงฆ์” ได้มาเปลี่ยนเป็น “พระราชาคณะ” เมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตำแหน่งพระราชาคณะ แม้ไม่ได้เป็นพระสังฆาธิการหรือเป็นพระสังฆาธิการชั้นต่ำ ก็จัดไว้อันดับสูง โดยจัดไว้เพียง ๓ อันดับ คือ

                (ก) ชั้นสามัญหรือชั้นราช จัดเข้าในชั้นต้นอันดับ ๔

                (ข) ชั้นเทพ จัดเข้าในชั้นต้นอันดับ ๕

                (ค) ชั้นธรรมขึ้นไป จัดเข้าในชั้นต้นอันดับ ๗      

๓. เขตกระทำความผิด

           พระภิกษุดังกล่าวมาแล้วนั้น แม้จะจัดประเภทไว้ว่าอยู่ในอันดับใดแล้วก็ตาม ยังมีข้อต้องศึกษาอีก คือสังกัดการกระทำความผิดเพราะการจัดผู้กระทำความผิดขึ้นสู่ผู้พิจารณาและคณะผู้พิจารณาชั้นต้นเจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตนั้น ท่านจัดตามเขตกระทำความผิด โดยมีหลักกำหนดดังนี้

           (๑) ในกรณีที่พระภิกษุซึ่งมิใช่ผู้ปกครองสงฆ์ หรือพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งต่ำกว่าเจ้าคณะจังหวัด กระทำความผิด

                 (ก)ในเขตจังหวัดของตน จัดว่ากระทำความผิดในเขตสังกัด

                (ข) ในเขตจังหวัดอื่น จัดว่ากระทำความผิดนอกเขต

           (๒) ในกรณที่พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ชั้นเจ้าคณะจังหวัดขึ้นไปกระทำความผิด

                 (ก) ในเขตภาคของตน จัดว่ากระทำความผิดในเขตสังกัด

                (ข) ในเขตภาคอื่น จัดว่ากระทำความผิดนอกเขต

           (๓) เจ้าคณะภาคขึ้นไปจะกระทำความผิด ณ ที่ใด ก็จัดเป็นกระทำความผิดในเตสังกัด

           ใน (๑) ตั้งแต่พระลูกวัดจนถึงรองเจ้าคณะจังหวัด ให้ถือจังหวัดของตนเป็นเขตสังกัด ซึ่งถ้าระดับนี้กระทำความผิดในเขตจังหวัดที่ตนสังกัด แม้จะอยู่ต่างอำเภอ ก็ให้เป็นอำนาจของเจ้าสังกัด ทั้งในชั้นผู้พิจารณาและชั้นคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ถ้ากระทำความผิดในเขตจังหวัดอื่น ให้เป็นอำนาจของของเจ้าของเขต ทั้งในชั้นผู้พิจารณาและชั้นคณะผู้พิจารณาชั้นต้น

           ใน (๒) ชั้นเจ้าคณะจังหวัดขึ้นไป ถือสังกัดของผู้บังคับบัญชา คือกำหนดเอาเขตภาคเป็นเขตสังกัด ดังนั้น ถ้ากระทำความผิดในเขตภาคที่ตนสังกัด แม้จะอยู่ในเขตจังหวัดอื่นก็ชื่อว่ากระทำความผิดในเขตสังกัด ให้เป็นอำนาจของเจ้าสังกัด ทั้งในชั้นผู้พิจารณาและชั้นคณะผู้พิจารณาชั้นต้น

           ใน (๓) เจ้าคณะภาคขึ้นไป จะกระทำความผิด ณ ที่ใด จัดว่ากระทำความผิดในเขตสังกัด ให้เป็นอำนาจเจ้าสังกัด ทั้งในชั้นผู้พิจารณาและในชั้นคณะผู้พิจารณาชั้นต้น

๔. การลงนิคหกรรม

           ผู้พิจารณา ๗ อันดับ และคณะผู้พิจารณา ๗ อันดับ เป็นผู้ใช้อำนาจสั่งลงนิคหกรรมตามฐานะและศักดิ์ ของพระภิกษุผู้กระทำความผิดโดยยึดตำแหน่งทางการปกครองและสมณศักดิ์เป็นหลัก ซึ่งประมวลอำนาจแต่ละอันดับได้ดังนี้

           ๑. อันดับ ๑ มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดในเขตสังกัด คือ

                (ก) พระภิกษุรูปเดียวหรือหลายรูปสังกัดวัดเดียวกัน

                (ข) พระภิกษุหลายรูปสังกัดต่างวัดกัน

                (ค) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสหรือรองเจ้าอาวาส

           ๒.๑ อันดับ ๒ ก. มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดในเขตสังกัด คือ

                (ก) เจ้าอาวาสหรือรองเจ้าคณะตำบล

                (ข) ผู้เป็นกิตติมศักดิ์เทียบตำแหน่งดังกล่าว

           ๒.๒ อันดับ ๒ ข. มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดนอกเขต คือ

               (ก) พระภิกษุรูปเดียวหรือหลายรูปซึ่งสังกัดวัดเดียวกัน

                (ข) พระภิกษุหลายรูปสังกัดต่างวัดกัน

                (ค) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสหรือรองเจ้าอาวาส

                (ง) เจ้าอาวาสหรือรองเจ้าคณะตำบลหรือผู้เป็นกิตติมศักดิ์

                (จ) ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเจ้าอาวาส

           ๓.๑ อันดับ ๓ ก. มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดในเขตสังกัด คือ

                (ก) เจ้าคณะตำบลหรือรองเจ้าคณะอำเภอ

                (ข) ผู้เป็นกิตติมศักดิ์หรือเทียบตำแหน่งดังกล่าว

                (ค) ผู้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบล

           ๓.๒ อันดับ ๓ ข. มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุ ดังกล่าวในข้อ ๓.๑ ซึ่งทำความผิดนอกเขต

           ๔.๑ อันดับ ๔ ก. มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดในเขตสังกัด คือ

                (ก) เจ้าคณะอำเภอหรือรองเจ้าคณะจังหวัด

                (ข) ผู้เป็นกิตติมศักดิ์หรือเทียบพระสังฆาธิการ

                (ค) ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ

                (ง) พระราชาคณะชั้นสามัญหรือชั้นราช

           ๔.๒ อันดับ ๔ ข. มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุดังกล่าวในข้อ ๔.๑ ซึ่งทำความผิดนอกเขต

           ๕.๑ อันดับ ๕ ก. มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดในเขตสังกัด คือ

                (ก) เจ้าคณะจังหวัดหรือรองเจ้าคณะภาค

                (ข) ผู้ที่เป็นกิตติมศักดิ์ตำแหน่งดังกล่าวใน (ก)

                (ค) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด

                (ง) ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเจ้าคณะจังหวัด

                (จ) พระราชาคณะชั้นเทพ

           ๕.๒ อันดับ ๕ ข. มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุดังกล่าวในข้อ ๕.๑ ซึ่งทำความผิดนอกเขต

           ๖. อันดับ ๖ มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิด คือ

                (ก) เจ้าคณะภาค

                (ข) เจ้าคณะภาคกิตติมศักดิ์

                (ค) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค

                (ง) ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเจ้าคณะภาค

           ๗. อันดับ ๗ มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิด คือ

               (ก) เจ้าคณะใหญ่

                (ข) กรรมการมหาเถรสมาคม

                (ค) พระราชาคณะชั้นธรรมขึ้นไป

           ตำแหน่งในการจัดเข้าอันดับนั้น ให้ถือตำแหน่งในขณะถูกฟ้องหรือถูกกล่าวหา ถ้าดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง ให้ถือตำแหน่งสูงเป็นหลักดำเนินการ

๕. ในกรณีพิเศษ

           ตามที่กล่าวมานั้น เป็นกรณีที่พระภิกษุประเภทใดประเภทหนึ่งกระทำความผิดซึ่งถือว่าเป็นกรณีตามปกติ แต่ในบางกรณีอาจมีพระภิกษุกระทำความผิดร่วมกัน อันถือเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งไม่อาจใช้หลักปฏิบัติตามแต่ละข้อได้ จึงมีบทบัญญัติพิเศษ ซึ่งพอกล่าวได้เป็น ๒ คือ

           ๑. กรณีที่พระภิกษุ ๒ ประเภทกระทำความผิดร่วมกัน ตามบทบัญญัติข้อ ๑๐ ท่านบัญญัติให้ใช้กรณีที่พระภิกษุกระทำความผิดร่วมกันในราชอาณาจักร ซึ่งพอแยกหลักพิจารณาได้ ๒ คือ

                (๑) หลักเกณฑ์

                     ก. พระภิกษุผู้มิไช่ผู้ปกครองสงฆ์ กับ พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์กระทำความผิดร่วมกัน

                     ข. พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ กับ พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์กระทำความผิดร่วมกัน

                (๒) หลักปฏิบัติ

                      ก. ให้นำความในข้อ ๗ หรือ ๘ หรือ ๙ มาใช้บังคับแล้วแต่กรณีโดยให้ถือผู้กระทำความผิดซึ่งมีตำแหน่งสูงเป็นหลักดำเนินการ

                     ข. ถ้ามีตำแหน่งสูงเสมอกัน ให้เจ้าของเขตเป็นผู้พิจารณา

     ใน (๑) ก. ได้แก่ กรณีที่พระภิกษุในข้อ ๕-๖ กระทำความผิดร่วมกันกับพระภิกษุในข้อ ๗-๘-๙ ระดับใดระดับหนึ่ง

    ใน (๑) ข. ได้แก่ กรณีที่พระภิกษุผู้ปกครองชั้นใด ๆ ซึ่งกระทำความผิดร่วมกัน

    ใน (๒) ก. ได้แก่ จะต้องยึดพระภิกษุผู้กระทำความผิดซึ่งมีตำแหน่งสูงเป็นหลัก เช่น พระ ก. เป็นพระลูกวัด กับเจ้าอธิการ ข. ซึ่งเป็นเจ้าคณะตำบล กระทำความผิดร่วมกันในเขตจังหวัดของตน ต้องยึดเจ้าอธิการ ข. เป็นหลักดำเนินการ

     ใน (๒) ข. ได้แก่ ในกรณีที่พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งเท่ากันหลายรูป กระทำความผิดร่วมกัน ให้เจ้าของเขตเป็นผู้พิจารณา คือยึดเจ้าของเขตเป็นหลักดำเนินการ เช่น เจ้าอาวาส ๓ รูป จาก ๓ อำเภอ ในจังหวัดเดียวกัน เจ้าคณะตำบล ๓ รูป จาก ๓ อำเภอ ในจังหวัดเดียวกัน กระทำความผิดร่วมกันในจังหวัด ให้เจ้าคณะอำเภอเจ้าของเขตเป็นผู้พิจารณา

     ๒. กรณีที่พระภิกษุกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร ตามความในข้อ ๑๑ บัญญัติไว้เป็นพิเศษ โดยกำหนดให้ใช้หลักการปฏิบัติตามกฎ ๑๑  เฉพาะเมื่อกลับมาอยู่ในราชอาณาจักร เพราะอยู่นอกราชอาณาจักร กฎ ๑๑ นี้ ไม่อาจใช้บังคับได้ มีหลักที่ควรศึกษาเป็น ๓ คือ

           (๑) กลับเข้ามาพำนักในราชอาณาจักร

                ก.กลับเข้ามาพำนักอยู่ในเขตที่ตนสังกัดอยู่

                ข. กลับเข้ามาพำนักอยู่นอกเขตสังกัด

          (๒) ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรม

                ก. เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะเจ้าสังกัด

                ข. เจ้าคณะเจ้าของเขต

          (๓) การจัดเข้าอันดับ ให้นำความในข้อ ๕ ถึงข้อ ๑๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

           ใน (๑)  ก. หมายถึง กรณีที่พระภิกษุกระทำความผิดผิดเป็นพระลูกวัด หรือเป็นผู้ปกครองสงฆ์ตั้งแต่รองเจ้าคณะจังหวัดลงมา กลับมาอยู่ในเขตจังหวัดที่ตนสังกัดอยู่และในกรณีที่เจ้าคณะจังหวัดหรือรองเจ้าคณะภาค กลับมาอยู่ในเขตภาคที่ตนสังกัดอยู่

           ใน (๑)  ข. หมายถึง กรณีที่พระลูกวัดหรือผู้ปกครองสงฆ์ตั้งแต่รองเจ้าคณะจังหวัดลงมา กลับมาอยู่ในเขตจังหวัดอื่น และในกรณีที่เจ้าคณะจังหวัดหรือรองเจ้าคณะภาคกลับมาอยู่ในเขตภาคอื่น

           ใน (๒) ก. หมายถึง เจ้าอาวาสเจ้าสังกัด หรือเจ้าคณะเจ้าสังกัด ซึ่งเป็นผู้พิจารณาและคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ซึ่งมีอำนาจลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักรแล้ว กลับมาพำนักอยู่ในเขต

          ใน (๓) ได้แก่ การที่จะกำหนดให้ผู้กระทำความผิดนั้น ขึ้นต่อผู้พิจารณาหรือคณะผู้พิจารณาหรือคณะผู้พิจารณาอันดับใด ๆ นั้น ให้นำข้อ ๕ ถึง ๑๐ มาเป็นหลักดำเนินการ เช่นถ้าผู้กระทำความผิดเป็นลูกวัดใช้ข้อ ๕ เป็นหลักดำเนิการ ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าอาวาสใช้ข้อ ๗ (๒)


[1] ดูกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ และฉบับที่ ๑๐ ประกอบ. ปัจจุบันเป็นกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๙ และฉบับที่ ๒๓

[2] ดูพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๐ ประกอบ

[3] ดูข้อ ๓๑ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ ปัจจุบันเป็นข้อ ๓๖ และ ๓๙ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔

[4] ดูข้อ ๒๔ แห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๔ และข้อ ๒๖ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ ปัจจุบันเป็นข้อ ๒๙ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔

[5] ดูประกาศสังฆนายก เรื่องระเบียบแต่งตั้งพระคณาจารย์ พ.ศ. ๒๔๘๘ ประกอบ