ส่วนที่ ๔
วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นฎีกา
———–
อันวิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นฎีกา
ซึ่งเป็นวิธีการใช้อำนาจ
ตุลาการชั้นสูงสุด
เป็นวิธีการปฏิบัติงานสำหรับตรวจสอบการปฏิบัติของชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ เป็นวิธีที่ไม่มีวิธีใดลบล้างหรือคัดค้านได้ไม่ว่ากรณีใด
ทั้งนี้ นับเป็นวิธีการอันประณีตที่สุด เพื่อให้พระสังฆาธิการได้ศึกษาวิธีการชั้นนี้
ขอกำหนดสาระในชั้นนี้เป็น ๕ ประเด็น คือ
๑. ข้อที่ควรทราบเกี่ยวกับการฎีกา
๒. การดำเนินการในชั้นต้น
๓. วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นฎีกา
๔. คำวินิจฉัยชั้นฎีกา
๕. ข้อพิเศษ
๑. ข้อที่ควรทราบเกี่ยวกับการฎีกา
พระสังฆาธิการทุกระดับย่อมทราบดีกว่า วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นฎีกาที่กำลังศึกษาอยู่ เป็นวิธีการปฏิบัติชั้นสูงสุด และเป็นวิธีที่สังฆมณฑลต้องยอมรับ เพื่อให้ได้ศึกษาเรื่องนี้โดยละเอียด จึงขอกำหนดข้อควรทราบดังนี้
๑. ผู้มีอำนาจพิจารณา ตามความในข้อ ๒๖ กำหนดให้การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นฎีกา เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม และในข้อ ๒๗ กำหนดให้คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคม ในกรณีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม ไม่ว่ากรณีใดให้เป็นอันถึงที่สุด โดยนัยนี้ แสดงชัดว่า มหาเถรสมาคมนั่นเองเป็น “คณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา” และคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมให้เป็นอันถึงที่สุดในทุกกรณี นอกจากนั้น มหาเถรสมาคมยังเป็นคณะผู้พิจารณาชั้นต้นอันดับ ๖-๗ ตามข้อ ๒๔ และชั้นอุทธรณ์อันดับ ๔ ตามข้อ ๒๕ ในชั้นต้นอันดับ ๖-๗ และในชั้นอุทธรณ์อันดับ ๔ นั้น มหาเถรสมาคมจะมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยใด ๆ ก็ให้เป็นอันถึงที่สุด เช่นเดียวกับคำสั่งหรือคำวินิจฉัยในชั้นฎีกา จะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มหาเถรสมาคมเป็นชั้นฎีกาในชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์ก็ย่อมได้ แต่ผู้มีอำนาจพิจารณาในส่วนที่ ๔ นี้ หมายเอาเฉพาะ “มหาเถรสมาคม” ในฐานะชั้นฎีกาเต็มรูปเท่านั้น
๒. ผู้มีสิทธิฎีกา
(๑) โจทก์หรือจำเลย
(๒) ผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมตามข้อ ๑๖ (๒) ข.
ใน (๑) ได้แก่กรณีที่โจทก์หรือจำเลยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าคำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์นั้น ยังมีข้อที่คัดค้านได้
ใน (๒) ได้แก่พระภิกษุผู้ถูกสั่งลงโทษฐานครุกาบัติตามข้อ ๑๖ (๒) ข. ซึ่งเห็นว่าคำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์นั้น มีข้อที่คัดค้านได้
๓. ปัญหาที่ให้ฎีกา ตามข้อ ๔๙ วรรค ๑ กำหนดไว้ ๒ คือ
(๑) ปัญหาข้อเท็จจริง
(๒) ปัญหาพระวินัย
ใน (๑) (๒) มีอธิบายดังกล่าวแล้วในชั้นอุทธรณ์
๔. หลักคำฎีกา ตามข้อ ๔๙ วรรค ๑ กำหนดไว้ ๓ ข้อ คือ
(๑) ระบุข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างอิงโดยย่อ
(๒) ข้อพระวินัยที่ยกขึ้นอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจน
(๓) ข้อพระวินัยนั้น ต้องเป็นข้อพระวินัยที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นต้น
ใน ๔. นี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในชั้นอุทธรณ์
๕. ข้อเท็จจริงที่ห้ามฎีกา[1] ตามข้อ ๔๙ วรรค ๒ กำหนดข้อเท็จจริงที่ห้ามฎีกาไว้ ๓ คือ
(๑) ชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยลงนิคหกรรมยืน เว้นแต่ความผิดอันติมวัตถุ
(๒) ชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยลงนิคหกรรมยืน ความผิดเกินกว่าคำฟ้องของโจทก์ เว้นแต่ความผิดอันติมวัตถุ
(๓) ชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยยืนให้ยกคำฟ้องของโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง
ใน (๑) ได้แก่ กรณีที่คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยลงนิคหกรรม ยืนตามคำวินิจฉัยของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น เฉพาะความผิดอื่นเว้นจากความผิดอันติมวัตถุ ห้ามมิให้ฎีกา เพราะถือว่าทั้งสองชั้นเห็นตรงกันแล้ว ควรแก่การยุติ แต่ในกรณีความผิดอันติมวัตถุ คือตัดสินเป็นอาบัติปาราชิก แม้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นและคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ จะเห็นตรงกันแล้ว ก็ให้สิทธิฎีกาได้ กล่าวคือมีข้อยกเว้นในข้อห้าม เพราะอาบัติปาราชิกเป็นอาบัติหนักชั้นอเตกิจฉา ไม่สามารถจะทำคืนได้ เสมือนหนึ่งโทษอาญาโทษประหารชีวิต จึงให้สิทธิฎีกา เพื่อให้ชั้นฎีกาเป็นผู้ชี้ขาดอีกชั้นหนึ่ง
ใน (๒) ได้แก่กรณีที่คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยลงนิคหกรรมแก่จำเลย ยืนตามคำวินิจฉัยลงนิคหกรรมของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ซึ่งเกินกว่าคำฟ้องของโจทก์ตามข้อ ๓๗ (๓) เช่น โจทก์ฟ้องจำเลยเพียงกระทงเดียว คณะผู้พิจารณาชั้นต้นวินิจฉัยให้ลงนิคหกรรม ๒-๓ กระทง ตามความผิดที่สืบได้จากหลักฐานพยาน หรือโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดอาบัติเบากว่า แต่เมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้นรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ได้ข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่า จำเลยได้กระทำความผิดหนักกว่า จึงวินิจฉัยลงนิคหกรรมหนักกว่า เช่น ฟ้องว่าละเมิดปาจิตตีย์ แต่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นวินิจฉัยลงนิคหกรรมปรับอาบัติสังฆาทิเสส คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์พิจารณาสำนวนตลอดแล้ว เห็นตามด้วยจึงวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของชั้นต้น ในกรณีเช่นนี้ ห้ามมิให้ฎีกา เพราะถือว่าคณะผู้พิจารณาทั้ง ๒ ชั้น เห็นตรงกันแล้วควรแก่การยุติ แต่ถ้าเป็นกรณีความผิดอันติมวัตถุ แม้จะเห็นตรงกันแล้วทั้ง ๒ ชั้น ก็ให้สิทธิฎีกาได้ กล่าวคือ อนุญาตซ้อนข้อห้าม
ใน (๓) ได้แก่กรณีที่คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ให้ยกฟ้องของโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง หมายความว่า คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ให้ยกฟ้องของโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยนั้น คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ พิจารณาวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยชั้นต้น (วินิจฉัยทับสัตย์) ในกรณีเช่นนี้ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกา ไม่ว่ากรณีใด ๆ
๒. การดำเนินการในชั้นต้น[2]
การดำเนินงานในชั้นต้นแห่งชั้นฎีกานี้ ตามบทบัญญัติข้อ ๕๐ กำหนดวิธีปฏิบัติไว้พอกำหนดได้ว่า เป็นหน้าที่ของผู้ยื่นฎีกา คณะผู้พิจารณาชั้นต้น และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งพอจัดแนวปฏิบัติได้ดังนี้
๑. หน้าที่ผู้ยื่นฎีกา ผู้ประสงค์จะยื่นฎีกา จะต้องขอคัดสำเนาคำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์แล้ว เรียบเรียงคำฎีกาเป็นลายลักษณ์อักษร พิมพ์คำฎีกาโดยให้มีต้นฉบับ ๑ ฉบับและสำเนาคู่ฉบับเท่ากับจำนวนของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ยื่นฎีกานั้นต่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้น
(๒) ยื่นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันรับทราบคำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์
(๓) ส่งสำเนาฎีกานั้นตามจำนวนที่จะส่งให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง
๒. หน้าที่ผู้พิจารณาชั้นต้น จะต้องรับคำฎีกานั้นโดยออกใบรับฎีกาไว้เป็นหลักฐานและบันทึกรายงานประจำวันติดไว้กับสำนวน แล้วดำเนินการ ดังนี้
(๑) ให้ส่งสำเนาฎีกาให้แก้อีกฝ่ายหนึ่ง ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันรับ
(๒) ให้รีบส่งฎีกาไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา ในเมื่อ
(ก) ส่งสำเนาให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้เพราะหาตัวไม่พบหรือหลบหนีหรือจงใจจะไม่รับ
(ข) ได้รับคำแก้ฎีกาแล้ว
(ค) พ้นเขตกำหนดแก้ฎีกาแล้ว
๓. หน้าที่ผู้ยื่นฎีกา
(๑) ต้องรีบเขียนคำแก้ฎีกา
(๒) ต้องรีบส่งคำแก้ฎีกาไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นต้นภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับสำเนาฎีกา
ใน ๑.,๒.,๓ พึงทราบรายละเอียดตามนัยที่กล่าวแล้วในชั้นอุทธรณ์
๓. วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นฎีกา
ในการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นฎีกานั้น ได้มีบทบัญญัติข้อ ๕๑ เป็นแนวปฏิบัติโดยกำหนดให้นำข้อ ๔๓ และข้อ ๔๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยนำวิธีปฏิบัติของข้อที่อนุโลมนั้นมาเป็นแนวปฏิบัติ จึงกำหนดวิธีปฏิบัติเป็น ๒ คือ คือ อำนาจพิเศษของคณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา ๑ การปฏิบัติเมื่อมีอุปสรรค ๑
๑. อำนาจพิเศษของคณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา
(๑) ถ้าฎีกาอยู่ในลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๔๙ วรรค ๒ ให้วินิจฉัยยกเสีย
(๒) ถ้าเห็นว่ามิได้ยื่นฎีกาตามกำหนด ให้วินิจฉัยยกฎีกานั้นเสีย
(๓) ถ้าเห็นสมควรสืบพยานเพิ่มเติมในปัญหาใดหรือในกรณีใด ให้
(ก) เรียกพยานมาสืบเอง
(ข) สั่งให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นสืบให้
(๔) ถ้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้อง ให้
(ก) สั่งให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นปฏิบัติให้ถูกต้อง
(ข) แล้วส่งสำนวนคืน
(๕) ในกรณีที่จำเลยหลายรูป ถูกวินิจฉัยลงนิคหกรรมในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน แต่จำเลยฎีการูปเดียว
(ก) ถ้าวินิจฉัยกลับหรือแก้โดยไม่ลงหรือลดนิคหกรรม
(ข) ให้อำนาจวินิจฉัยถึงจำเลยรูปที่มิได้ฎีกาด้วย
ใน (๑) ได้แก่ฎีกาซึ่งอยู่ในลักษณะต้องห้าม ซึ่งกล่าวแล้วในข้อ ๔๙ วรรค ๑ ให้วินิจฉัยยกเสีย ฎีกาชนิดนี้ เรียกว่า ฎีกาต้องห้าม
ใน (๒) ได้แก่ฎีกาที่มิได้ยื่นภายใน ๓๐ วัน เรียกว่า ฎีกาขาดอายุความ ให้วินิจฉัยยกเสีย
ใน (๓) (๔) (๕) พึงทราบโดยนัยที่กล่าวในอุทธรณ์
๒. การปฏิบัติเมื่อมีอุปสรรค ในระหว่างที่กำลังพิจารณาวินิจฉัยชั้นฎีกา หากมีอุปสรรคเกิดขึ้น มีวิธีการปฏิบัติดังที่กล่าวแล้วในอุทธรณ์ คือ
(๑) จำเลยถึงมรณภาพ ให้ยุติการพิจารณา
(๒) จำเลยพ้นจากความเป็นพระภิกษุ ให้ยุติการพิจารณา เว้นแต่ความผิดครุกาบัติ
๔. คำวินิจฉัยชั้นฎีกา
ในการวินิจฉัยชั้นฎีกานั้น ได้มีบทบัญญัติข้อ ๕๓ กำหนดให้นำความในข้อ ๔๕ และข้อ ๔๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม จึงแยกศึกษาเป็น ๓ คือ การทำคำวินิจฉัยชั้นฎีกา ๑ การอ่านคำวินิจฉัยชั้นฎีกา ๑ คำวินิจฉัยชั้นฎีกาถึงที่สุด ๑
๑. การทำคำวินิจฉัยชั้นฎีกา
(๑) ตามแบบคำวินิจฉัยชั้นต้น
(๒) และเพิ่ม
(ก) ชื่อ ฉายา นามสกุล อายุ พรรษา สังกัด และสำนักของผู้ฎีกา
(ข) คำวินิจฉัยให้ ยืน ยก แก้ หรือกลับ คำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์
ใน (๑) ให้ดูรายละเอียดในชั้นต้น ส่วนใน (๒) ให้ดูรายละเอียดในชั้นอุทธรณ์
๒. การอ่านคำวินิจฉัยชั้นฎีกา
(๑) ผู้อ่านคำวินิจฉัย
(ก) คณะผู้พิจารณาชั้นฎีกาอ่านเอง
(ข) ส่งให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นอ่าน
(๒) ให้อ่านคำวินิจฉัยโดยมิชักช้า
(๓) วิธีปฏิบัติอื่นให้นำความในข้อ ๓๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ใน (๑) (๒) การอ่านคำวินิจฉัยชั้นฎีกานั้น คณะผู้พิจารณาชั้นฎีกาจะอ่านเองหรือจะให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นอ่านก็ได้ แต่ต้องอ่านโดยมิชักช้า และต้องอ่านในฐานะคณะผู้พิจารณา
ใน (๓) คณะผู้พิจารณาชั้นใดจะอ่านก็ตาม วิธีปฏิบัติเริ่มแต่การกำหนด วัน เวลา และสถานที่อ่านคำวินิจฉัยและอื่น ๆ ให้นำความในข้อ ๓๙ ซึ่งเป็นวิธีอ่านคำวินิจฉัยชั้นต้น มาใช้บังคับโดยอนุโลม
๓. คำวินิจฉัยชั้นฎีกาถึงที่สุด
(๑) ให้เป็นอันถึงที่สุดทันทีในทุกกรณี
(๒) ให้บังคับตามคำวินิจฉัยลงนิคหกรรมทันทีในทุกกรณี
ใน ๓. ทุกกรณีที่มหาเถรสมาคมในฐานะคณะผู้พิจารณาชั้นฎีกาหรือชั้นใด ๆ มีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยกรณีใด ๆ ให้เรื่องนั้น ๆ เป็นอันถึงที่สุดในทุกกรณี ดังนั้น พออ่านคำวินิจฉัยแล้ว คณะผู้พิจารณาซึ่งอ่านคำวินิจฉัยชั้นนั้น ๆ ต้องรีบแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดของจำเลยหรือพระภิกษุนั้น เพื่อให้บังคับตามคำวินิจฉัยทันที หรือจะนัดให้มาร่วมในการอ่านคำวินิจฉัยนั้นด้วย พออ่านจบได้แจ้งบังคับตามคำวินิจฉัยทันที ยิ่งเป็นการดี
๕. ข้อพิเศษ
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีบทบัญญัติพิเศษซึ่งเกี่ยวกับการฎีกาและวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยชั้นฎีกา กำหนดได้เป็น ๒ กรณี คือ
๑. กรณีที่ฎีกาเฉพาะปัญหาพระวินัย[3] ตามข้อ ๕๒ กำหนดวิธีปฏิบัติในกรณีที่ฎีกาเฉพาะปัญหาพระวินัยอย่างเดียว มิได้ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ให้
(๑) ให้ฟังข้อเท็จจริงตามที่ชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้ว
(๒) ไม่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงใด ๆ อีก
๒. วิธีพิจารณาวินิจฉัยในชั้นฎีกา[4] ตามข้อ ๕๔ กำหนดวิธีการโดยให้ใช้บทบัญญัติ ๒ หลัก คือ
(๑) ตามที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ ๔
(๒) นำความในส่วนที่ ๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ใน ๒.
ได้แก่บทบัญญัติที่ใช้ป็นแนวปฏิบัติในชั้นฎีกา ได้บัญญัติไว้ในส่วนที่ ๔
ซึ่งเป็นวิธีโดยตรง และให้นำส่วนที่ ๓ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในชั้นอุทธรณ์มาใช้อีกส่วนหนึ่งโดยอนุโลมด้วย
[1] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ. มาตรา ๒๑๘-๒๒๑ เทียบเคียง
[2] ดูประมวลกฎหมายความอาญา วิ. มาตรา ๒๑๖ เทียบเคีนง
[3] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ. มาตรา ๒๒๒ เทียบเคียง
[4] ดูประมวลกฎหมายอาญา วิ. มาตรา ๒๒๕ เทียบเคียง
Views: 7