หมวด ๖ เบ็ดเตล็ด

หมวด ๖

เบ็ดเตล็ด

————–

    หมวดเบ็ดเตล็ด เป็นหมวดที่มีความกว้าง ๆ  และโดยลักษณะจะจัดลงในหมวดใด ๆ โดยเฉพาะมิได้ เพราะมีลักษณะเกี่ยวพันอยู่ในหลายหมวด ท่านบัญญัติรวมไว้เป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า “หมวดเบ็ดเตล็ด” มีบทบัญญัติ ๓ ข้อ ขอกำหนดประเด็นเป็น ๓ คือ

     ๑. ห้ามแต่งตั้งผู้ว่าต่างหรือแก้ต่าง

     ๒. เอกสารสำนวน

     ๓. หน้าที่พิเศษของผู้ปกครองสงฆ์

    ๑. ห้ามแต่งตั้งผู้ว่าและแก้ต่าง

     การดำเนินคดีในศาลยุติธรรมทางราชอาณาจักร ให้คู่ความแต่งตั้งทนายเป็นผู้ว่าต่างและเป็นผู้แก้ต่างได้โดยตลอด กล่าวคือทนายฝ่ายโจทก์เป็นผู้ว่าคดีต่างโจทก์ และทนายฝ่ายจำเลยแก้คดีต่างจำเลย เว้นแต่อยู่ในภาวะใช้กฎอัยการศึก คดีทั้งหลายขึ้นต่อศาลทหารซึ่งห้ามมิให้มีทนาย แต่ในการดำเนินการฟ้องกรณีใด ๆ ในทางคณะสงฆ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ ไม่ประสงค์ให้บุคคลภายนอกมาเกี่ยวข้องกับกรณีของสังฆมณฑล ต้องการให้คู่กรณีดำเนินการด้วยตนเองโดยตลอด เพียงแต่อาศัยพยานหลักฐานประกอบรูปกรณีเท่านั้น โดยความก็คือไม่ประสงค์ให้
ใคร ๆ เข้ามาชักนำให้พระภิกษุหรือทายกทายิกาต่อสู้กับพระภิกษุ จึงได้มีบทบัญญัติข้อ ๖๓ กำหนดเป็นหลักฐานไว้ ในข้อนั้นแยกกล่าวสาระได้เป็น ๒ คือ

           ๑) ผู้ถูกห้ามมิให้แต่งตั้งผู้ว่าต่างหรือแก้ต่าง

                (๑) โจทก์

               (๒) จำเลย

           ๒) กรณีที่ห้าม

                (๑) ในกรณีไต่สวนมูลฟ้อง

                (๒) ในกรณีพิจารณาวินิฉัยการลงนิคหกรรม

           ใน ๑), ๒) ได้แก่ห้ามมิให้โจทก์แต่งตั้งพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ใด ๆ เป็นผู้ว่าคดีต่างตน และห้ามมิให้จำเลยแต่งตั้งพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ใด ๆ เป็นผู้แก้คดีต่างตน ทั้งในกรณีไต่สวนมูลฟ้อง ทั้งในกรณีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม สรุปว่า กรณีทางคณะสงฆ์ ให้ดำเนินการเองทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย

    ๒. เอกสารสำนวน

     ตามความในข้อ  ๖๔  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเอกสารสำนวนไว้เป็นข้อหนึ่ง เพราะเอกสารเกี่ยวกับกรณีฟ้องพระภิกษุถือว่าเป็นเอกสารสำคัญ จึงกำหนดข้อควรศึกษาเป็น ๗ คือ

          ๑) เอกสารสำนวนที่จัดเป็นเอกสารลับ

               (๑) เอกสารสำนวนเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้อง

               (๒) เอกสารสำนวนเกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม

          ๒) เอกสารที่ให้คัดสำเนาได้

                (๑) คำสั่งของผู้พิจารณาหรือของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น

                (๒) คำวินิจฉัยชั้นต้นหรือคำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์

          ๓) ผู้มีสิทธิขอคัดสำเนา

               (๑) โจทก์

                (๒) จำเลยหรือผู้ถูกสั่งนิคหกรรม

           ๔) เงื่อนไขของการขอคัด

               (๑) เพื่อประโยชน์แก่การอุทธรณ์

                (๒) เพิ่อประโยชน์แก่การฎีกา

           ๕) ผู้มีสิทธิอนุญาต

                (๑) ผู้พิจารณา

                (๒) คณะผู้พิจารณาชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์

           ๖) เงื่อนไขของผู้อนุญาต

                (๑) ให้อยู่ในความควบคุมของผู้อนุญาต

               (๒) ผู้อนุญาตต้องลงนามกำกับ

           ๗) การโฆษณา

               (๑) ห้ามโฆษณา

               (๒) จะโฆษณาได้โดยอนุมัติของมหาเถรสมาคม

           ใน ๑) ได้แก่เอกสารทุกชิ้นบรรดามี รวมทั้งบันทึกประจำวันการปฏิบัติด้วย เรียกว่า “สำนวน” เริ่มแต่ในกรณีไต่ส่วนมูลฟ้องเป็นต้นไป จัดเป็นเอกสารลับ ทั้งนี้ให้ถือว่า เอกสารสำนวนทั้งหมด จัดเป็นเอกสารลับทั้งหมด จัดเป็นเอกสารลับอยู่ตลอดไป ไม่ว่ากาลใด ๆ ให้ถือเป็นเอกสารลับอยู่อย่างนั้น

           ใน ๒) ได้แก่ถึงจะเป็นเอกสารลับ แต่เมื่อมีความจำเป็นจะต้องคัดสำเนา ให้คัดสำเนาได้ แต่ให้คัดได้เฉพาะคำสั่งลงนิคหกรรมของผู้พิจารณา ซึ่งสั่งลงนิคหกรรมตามความในข้อ ๑๖ (๒) ข. หรือคำสั่งยกฟ้องของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ตามข้อ ๒๑ (๒) หรือคำวินิจฉัยชั้นต้นของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ตามข้อ ๓๘ หรือคำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์ ของคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์เท่านั้น ส่วนเอกสารอื่นนอกจากนี้ ห้ามมิให้คัดสำเนาโดยเด็จขาด ผู้ใดอนุญาตให้คัดสำเนา ย่อมฝ่าฝืนข้อ ๔๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๕ ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ หรือ อาจฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญาก็ได้

           ใน ๓) ได้แก่กำหนดให้เฉพาะโจทก์ หรือจำเลย หรือพระภิกษุผู้ถูกสั่งลงนิคหกรรมโทษครุกาบัติ ตามข้อ ๑๖ (๒) ข. เท่านั้น ส่วนบุคคลอื่นไม่มีสิทธิขออนุญาตคัดสำเนา หากจะพึงมีผู้อื่นเสนอขอ ก็ห้ามอนุญาต การขออนุญาตนั้น ให้ผู้ขออนุญาตยื่นเรื่องราวขอเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ผู้อนุญาตบันทึกรายละเอียดรวมไว้ในสำนวนด้วย

           ใน ๔) ได้แก่การขออนุญาตคัดสำเนานั้น จะต้องขอคัดไปเพื่อประโยชน์แก่การอุทธรณ์หรือเพื่อประโยชน์แก่การฎีกา ดังนั้น การทำหนังสือขออนุญาตต้องให้ระบุให้ชัดว่าขอคัดสำเนาเพื่อประโยชน์อะไร ถ้าขออนุญาตเพื่อการอื่น ห้ามอนุญาต ดังนั้นผู้อนุญาตจะต้องพิจารณาโดยรอบคอบ

           ใน ๕) ได้แก่ผู้พิจารณาในกรณีที่สั่งลงนิคหกรรม ตามข้อ ๑๖ (๒) ข. หรือคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ในกรณีขอคัดเพื่อการอุทธรณ์ หรือคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ ในกรณีที่ขอคัดเพื่อการฎีกา

           ใน ๖) ได้แก่ การอนุญาตนั้น ให้อยู่ในความควบคุมของผู้อนุญาต ผู้อนุญาตจะปฏิเสธมิให้การควบคุมมิได้ และสำเนานั้น ผู้อนุญาตจะต้องลงนามกำกับไว้ด้วย

           ใน ๗) ได้แก่ห้ามโจทก์จำเลยหรือผู้ใด นำเอกสารสำนวนทั้งหมดหรือบางส่วนไปโฆษณา ไม่ว่ากรณีใด ๆ หรือแม้คำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่ได้รับอนุญาตคัดสำเนาแล้ว ก็จะนำไปโฆษณาใด ๆ มิได้ แต่กรณีที่ได้รับอนุญาตจากมหาเถรสมาคมแล้ว ย่อมโฆษณาได้

           ในการปฏิบัติต่อเอกสารสำนวนเมื่อเสร็จกรณีแล้ว คณะผู้พิจารณาจะต้องเก็บเป็นเอกสารลับ หากเปิดเผยโดยประการใด ๆ อันมิชอบ เพราะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๖๔ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีความว่า

           “มาตรา ๑๖๔ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน รู้หรืออาจรู้ความลับในราชการ กระทำโดยประการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

           ข้อนี้ ต้องระมัดระวังให้มาก

    ๓. หน้าที่พิเศษของผู้ปกครองคณะสงฆ์

    ตามบทบัญญัติในกฎหมายมหาเถรสมาคมฉบับนี้ ในบางกรณีมีความจำเป็นต้องเกี่ยวพันไปถึงผู้ปกครองสงฆ์อื่น ซึ่งมิใช่ผู้ร่วมอยู่ในคณะผู้พิจารณาหรือมิใช่ผู้พิจารณาในกรณีนั้น ๆ เลย แต่มีความเกี่ยวพันในฐานเป็นผู้ปกครองจำเลย หรือเกี่ยวพันโดยประการอื่น ในบางกรณีผู้พิจารณาหรือคณะผู้พิจารณาต้องขอร้องหรือสั่งการเพื่อช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวก ดังนั้น จึงมีบทบัญญัติ ข้อ ๖๔  กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ พอแยกหลักศึกษาได้ ๒ คือ หน้าที่พิเศษของผู้ปกครองคณะสงฆ์ และกรณีที่ต้องปฏิบัติหน้าที่พิเศษ

          ๑) หน้าที่พิเศษของผู้ปกครองคณะสงฆ์

                (๑) ต้องช่วยเหลือผู้พิจารณาหรือคณะผู้พิจารณา

                (๒) ต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิจารณาหรือคณะผู้พิจารณา

           ใน ๑) ได้แก่พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ทุกชั้น แม้จะมิได้เป็นผู้ร่วมในคณะผู้พิจารณาในกรณีนั้นเลย ก็จะต้องถือว่ามีหน้าที่พิเศษอยู่ ๒ คือ ต้องช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิจารณาหรือคณะผู้พิจารณา จะถือว่าไม่มีหน้าที่หรือธุระไม่ใช่นั้นมิได้

          ๒) กรณีที่ต้องปฏิบัติหน้าที่พิเศษ

                (๑) ในกรณีไต่สวนมูลฟ้องตามที่ได้รับคำร้องขอหรือคำสั่งให้ปฏิบัติการใด ๆ

                (๒) ในกรณีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมตามที่ได้รับคำร้อง หรือคำสั่งให้ปฏิบัติการใด ๆ

           ใน ๒) ได้แก่การช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกดังกล่าวนั้น กำหนดไว้ในกรณีไต่สวนมูลฟ้องและในกรณีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม ตามที่ได้รับคำร้องขอหรือคำสั่งให้ปฏิบัติการใด ๆ ตัวอย่าง ในกรณีไต่สวนมูลฟ้อง เช่น โจทก์ถึงมรณภาพหรือตาย ไม่มีผู้จัดการแทน คณะผู้พิจารณาชั้นต้นแต่งตั้งให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นโจทก์แทนตามความในข้อ ๒๐ (๒) ในกรณีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม เช่น ในกรณีที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ ตามข้อ ๒๘ หรือในกรณีที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ขอให้ช่วยรวบรวมข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐาน ซึ่งอยู่ในเขตปกครองของตนตามข้อ ๓๑ วรรค ๒ (๖) หรือในกรณีที่ผู้พิจารณาซึ่งอ่านคำวินิจฉัยอันถึงที่สุดแล้ว แจ้งคำวิจฉัยแก่ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดของจำเลย เพื่อให้บังคับตามคำวินิจฉัย ตามข้อ ๖๑ หรือในกรณีที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นส่งประเด็นไปสืบ ขอให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นในเขตอื่นช่วยสืบประเด็นให้ ตามความในข้อ ๓๔ (๒) และในกรณีอื่น ถ้าพระผู้ปกครองสงฆ์ได้รับคำร้องขอหรือคำสั่งให้ปฏิบัติการใด ๆ แล้ว ไม่รับปฏิบัติการนั้น ย่อมประพฤติฝ่าฝืนกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) [๑]ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ผู้เพิกเฉยมิช่วยอาจได้รับโทษฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการ


[๑]  ปัจจุบันเป็นข้อ ๔๔, ๔๙ และ ๕๐ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ

Views: 25