กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๓๕)

กฎมหาเถรสมาคม

ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๓๕)

ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ *

————————-

          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี มาตรา ๒๐ ทวิแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้

         ข้อ ๑  กฎมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ว่าด้วยการถอดถอนพระสังฆาธิการ

         ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป

         ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิก

         (๑) กฎมหาเถรมหาสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ

         (๒) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๐๙)

         (๓) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๒๑)

         บรรดากฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ หรือประกาศอื่นใด ในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในกฎมหาเถรสมาคมนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับกฎมหาเถรสมาคมนี้แทน

หมวด ๑
บททั่วไป

         ข้อ ๔ ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ พระสังฆาธิการ หมายถึงพระภิกษุ ผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ดังต่อไปนี้

              ๑. เจ้าคณะใหญ่

              ๒. เจ้าคณะภาค          รองเจ้าคณะภาค

              ๓. เจ้าคณะจังหวัด       รองเจ้าคณะจังหวัด

              ๔. เจ้าคณะอำเภอ        รองเจ้าคณะอำเภอ

              ๕. เจ้าคณะตำบล        รองเจ้าคณะตำบล

              ๖. เจ้าอาวาส            รองเจ้าอาวาส             ผู้ช่วยเจ้าอาวาส

         ส่วนตำแหน่งอื่นที่เรียกชื่ออย่างอื่น จะได้มีระเบียบมหาเถรสมาคมกำหนดเทียบกับตำแหน่งที่กล่าวแล้ว

         ข้อ ๕ พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการตามข้อ ๔ อยู่ก่อน วันใช้พระราชบัญญติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ถือว่า เป็นพระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนั้น ตามกฎมหาเถรสมาคมนี้

         ผู้รักษาการแทนในตำแหน่งดังกล่าวในวรรคต้น ก่อนวันใช้พระราชบัญญติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ถือว่าเป็นผู้รักษาการแทนในตำแหน่งนั้นๆ ตามกฎมหาเถรสมาคมนี้ด้วย

หมวด ๒
การแต่งตั้งพระสังฆาธิการ

         ข้อ ๖ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งตามข้อ ๔ ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ดังต่อไปนี้

              (๑) มีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง
              (๒) มีความรู้สมควรแก่ตำแหน่ง
              (๓) มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย
              (๔) เป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองคณะสงฆ์
              (๕) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคเรื้อนหรือเป็นวัณโรคในระยะอันตรายจนเป็นที่น่ารังเกียจ

              (๖) ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน
              (๗) ไม่เคยถูกถอดถอนหรือถูกปลดจากตำแหน่งใด เพราะความผิดมาก่อน

ส่วนที่ ๑
เจ้าคณะใหญ่

         ข้อ ๗ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

              (๑) มีพรรษาพ้น ๓๐ และ

              (๒) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่ารองสมเด็จพระราชาคณะ

         ข้อ ๘ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๗ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

         ข้อ ๙ พระภิกษุผู้จะเป็นเลขานุการเจ้าคณะใหญ่ ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ โดยอนุโลม

         ในการแต่งตั้งเลขานุการเจ้าคณะใหญ่ ให้เจ้าคณะใหญ่พิจารณาแต่งตั้ง

         เลขานุการเจ้าคณะใหญ่พ้นจากหน้าที่ ในเมื่อผู้แต่งตั้งให้พ้นจากหน้าที่หรือผู้แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง

         เมื่อมีการแต่งตั้งหรือพ้นจากหน้าที่แล้ว ให้เจ้งกรมการศาสนา เพื่อมหาเถรสมาคมทราบ

ส่วนที่ ๒
เจ้าคณะภาค

         ข้อ ๑๐ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

              (๑) มีพรรษาพ้น ๒๐ และ

              (๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาคนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒ ปี หรือ

              (๓) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดในภาคนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔ ปี หรือ

              (๔) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นเทพ หรือ

              (๕) เป็นพระราชาคณะซึ่งเป็นพระคณาจารย์เอก หรือเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค

         ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม มหาเถรสมาคมอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี

         ข้อ ๑๑ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะภาค เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่ พิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๑๐ เสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้ง

         เจ้าคณะภาคอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้

         ข้อ ๑๒ ในการแต่งตั้งรองเจ้าคณะภาค ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๑๑ วรรคแรก มาใช้บังคับโดยอนุโลม

         ข้อ ๑๓ พระภิกษุผู้จะเป็นเลานุการเจ้าคณะภาค หรือเลขานุการรองเจ้าคณะภาคต้องมีคุณสมบัติตามความในข้อ ๖ โดยอนุโลม

         ในการแต่งตั้งเลขานุการดังกล่าวในวรรคแรก ให้เจ้าคณะภาคหรือรองเจ้าคณะภาคแล้วแต่กรณี พิจารณาแต่งตั้ง

         เลขานุการดังกล่าวในวรรคสองพ้นจากหน้าที่ในเมื่อผู้แต่งตั้งให้พ้นจากหน้าที่ หรือผู้แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง

         เมื่อมีการแต่งตั้งหรือพ้นจากหน้าที่แล้ว ให้แจ้งกรมการศาสนาและรายงานเจ้าคณะใหญ่เพื่อทราบ

ส่วนที่ ๓
เจ้าคณะจังหวัด

         ข้อ ๑๔ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

              (๑) มีพรรษาพ้น ๑๐ กับมีสำนักอยู่ในเขตจังหวัดนั้น และ

              (๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒ ปี หรือ

              (๓) ตำรงตำแหน่งเจ้าคระอำเภอในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔ ปี หรือ

              (๔) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ หรือเป็นพระคณาจารย์โทขึ้นไป หรือเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า ๖ ประโยค

         ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ไม่ได้หรือได้แต่ไม่เหมาะสม สมเด็จพระสังฆราชอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี

         ข้อ ๑๕ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดในภาคใด ให้เจ้าคณะภาคนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๑๔ เสนอเจ้าคณะใหญ่พิจารณา เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งตามมติมหาเถรสมาคม

         ข้อ ๑๖ ในการแต่งตั้งรองเจ้าคณะจังหวัด ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๑๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

         ข้อ ๑๗ พระภิกษุผู้จะเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดหรือเลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัด ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ โดยอนุโลม

         ในการแต่งตั้งเลขานุการเจ้าคณะจังหวัด ให้เจ้าคณะจังหวัด  พิจารณาแต่งตั้ง

         เลขานุการเจ้าคณะจังหวัด พ้นจากหน้าที่ ในเมื่อผู้แต่งตั้งให้พ้นจากหน้าที่ หรือผู้แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง

         เมื่อมีการแต่งตั้งหรือพ้นจากหน้าที่แล้ว ให้แจ้งกรมการศาสนาและรายงานเจ้าคณะภาคเพื่อทราบ

ส่วนที่ ๔
เจ้าคณะอำเภอ

         ข้อ ๑๘ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

              (๑) มีพรรษาพ้น ๑๐ กับมีสำนักอยู่ในเขตจังหวัดนั้น และ

              (๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒ ปี หรือ

              (๓) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลในอำเภอนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔ ปี หรือ

              (๔) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตร หรือเป็นพระคณาจารย์ตรีขึ้นไป หรือเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า ๔ ประโยค

         ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม เจ้าคณะภาคอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี โดยอนุมัติของเจ้าคณะใหญ่

         ข้อ ๑๙ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดใด ให้เจ้าคณะจังหวัดพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๑๘ เสนอเจ้าคณะภาค เพื่อพิจารณาแต่งตั้งโดยอนุมัติของเจ้าคณะใหญ่

         ข้อ ๒๐ ในการแต่งตั้งรองเจ้าคณะอำเภอ ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๑๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

         ข้อ ๒๑ พระภิกษุผู้จะเป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอ ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ โดยอนุโลม

         ในการแต่งตั้งเลขานุการเจ้าคณะะอำเภอ ให้เจ้าคณะอำเภอหรือรองเจ้าคณะอำเภอแล้วแต่กรณี พิจารณาแต่งตั้ง

         เลขานุการจ้าคณะอำเภอ พ้นจากหน้าที่ ในเมื่อผู้แต่งตั้งให้พ้นจากหน้าที่ หรือผู้แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง

         เมื่อมีการแต่งตั้งหรือพ้นจากหน้าที่แล้ว ให้แจ้งกรมการศาสนาและรายงานเจ้าคณะจังหวัดเพื่อทราบ

ส่วนที่ ๕
เจ้าคณะตำบล

         ข้อ ๒๒ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

              (๑) มีพรรษาพ้น ๕ กับมีสำนักอยู่ในเขตอำเภอนั้น และ

              (๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะตำบลนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒ ปี หรือ

              (๓) กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในตำบลนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔ ปี หรือ

              (๔) เป็นพระภิกษุมีสมณศักดิ์ หรือเป็นพระคณาจารย์ หรือเป็นเปรียญธรรม หรือเป็นนักธรรมชั้นเอก

         ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ไม่ได้หรือได้แต่ไม่เหมาะสม เจ้าคณะจังหวัดอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี โดยอนุมัติของเจ้าคณะจังหวัด

         ข้อ ๒๓ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลในอำเภอใด ให้เจ้าคณะอำเภอนั้นคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๒๒ เสนอเจ้าคณะจังหวัดพิจารณาแต่งตั้ง เมื่อได้แต่งตั้งแล้ว ให้แจ้งกรมการศาสนาและรายงานเจ้าคณะภาคเพื่อทราบ

         ข้อ ๒๔ ในการแต่งตั้งรองเจ้าคณะตำบล ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๒๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ส่วนที่ ๖
เจ้าอาวาส

         ข้อ ๒๕ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

              (๑) มีพรรษาพ้น ๕ กับมีสำนักอยู่ในเขตอำเภอนั้น และ

              (๒) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในถิ่นนั้น

         ข้อ ๒๖ ในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสนอกจากพระอารามหลวงในตำบลใด ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะอำเภอ ปรึกษาสงฆ์ และทายกทายิกาแห่งวัดนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๒๕ ถ้าปรึกษาเห็นพ้องกันในพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดก็ดี หรือเห็นแตกต่างกันในพระภิกษุหลายรูปก็ดี ให้เจ้าคณะอำเภอรายงานเสนอเจ้าคณะจังหวัดพิจารณา ถ้าเจ้าคณะจังหวัดเห็นสมควรในพระภิกษุรูปใดก็ให้แต่งตั้งพระภิกษุรูปนั้นเป็นเจ้าอาวาส

         ข้อ ๒๗ ในการแต่งตั้งรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส นอกจากพระอารามหลวง ให้เจ้าอาวาสวัดนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๒๖ เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อเจ้าคณะจังหวัดพิจารณาแต่งตั้ง

         ข้อ ๒๘ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

              (๑) มีพรรษาพ้น ๑๐

              (๒) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ และ

              (๓) มีสมณศักดิ์

                   (ก) ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะขั้นราช สำหรับพระอารามหลวงชั้นเอก

                   (ข) ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ สำหรับพระอารามหลวงชั้นโท

                   (ค) ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นเอก สำหรับพระอารามหลวงชั้นตรี

         ข้อ ๒๙ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

              (๑) มีพรรษาพ้น ๑๐

              (๒) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ และ

              (๓) มีสมณศักดิ์

                   (ก) ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะขั้นสามัญ สำหรับพระอารามหลวงชั้นเอก

                   (ข) ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นเอก สำหรับพระอารามหลวงชั้นโท

                   (ค) ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นโท หรือพระครูสัญญาบัตรที่มีนิตยภัต ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นโท สำหรับพระอารามหลวงชั้นตรี

         ข้อ ๓๐ ในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัดพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามความในข้อ ๖ และข้อ ๒๙ แล้วแต่กรณี เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำกับ เพื่อมหาเถรสมาคมพิจารณา

         ถ้าพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ตามความในข้อ ๒๘ และข้อ ๒๙  แล้วแต่กรณี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอยู่ด้วย ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะภาคดำเนินการตามความในวรรคต้น

         ข้อ ๓๑ ในการแต่งตั้งรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ให้เจ้าอาวาสพระอารามหลวงนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามความในข้อ ๖ และข้อ ๒๕ และระบุหน้าที่ที่ตนจะมอบหมายให้ปฏิบัติแล้วรายงานเจ้าคณะจังหวัดเพื่อพิจารณาเสนอตามลำดับจนถึงมหาเถรสมาคม

         ข้อ ๓๒ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ตามมติมหาเถรสมาคม

ส่วนที่ ๗
ที่ปรึกษาเจ้าคณะ

         ข้อ ๓๓ การแต่งตั้งที่ปรึกษาเจ้าคณะตามความในข้อ ๒๘ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม

ส่วนที่ ๘
เบ็ดเตล็ด

         ข้อ ๓๔  เมื่อได้มีการแต่งตั้งพระภิกษุให้ดำรงตำแหน่งตามหมวด ๑ แห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้แล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งแจ้งให้กรมการศาสนาทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่แต่งตั้ง

หมวด ๓
การพ้นจากตำแหน่งหน้าที่พระสังฆาธิการ

         ข้อ ๓๕ พระสังฆาธิการย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ เมื่อ

              (๑) ถึงมรณภาพ

              (๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

              (๓) ลาออก

              (๔) ย้ายออกไปนอกเขตอำนาจหน้าที่

              (๕) ยกเป็นกิตติมศักดิ์

              (๖) รับตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้น หรือเป็นที่ปรึกษา

              (๗) ให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่

              (๘) ถูกปลดจากตำแหน่งหน้าที่

              (๙) ถูกถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่

         ข้อ ๓๖ พระสังฆาธิการรูปใดประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ก็ย่อมทำได้ เมื่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งได้พิจารณาอนุญาตแล้ว จึงเป็นอันพ้นจากตำแหน่งหน้าที่

         ข้อ ๓๗ ในกรณีที่พระสังฆาธิการทุกตำแหน่ง เว้นเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค ย้ายออกไปนอกเขตอำนาจหน้าที่ของตนโดยได้รับอนุญาต หรือคำสั่งของผู้มีอำนาจแต่งตั้งพระสังฆาธิการรูปนั้นย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่นั้น เว้นแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนในตำแหน่งเดิม

         ข้อ ๓๘ พระสังฆาธิการรูปใดดำรงตำแหน่งหน้าที่โดยเรียบร้อยตลอดมาจนถึงชราทุพพลภาพ หรือพิการ สมควรได้รับปลดเปลื้องภาระเพื่อให้พักผ่อนหรือรักษาตัว ก็ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณายกเป็นกิตติมศักดิ์

         ข้อ ๓๙ ในกรณีที่พระสังฆาธิการ ตั้งแต่ตำแหน่งรองเจ้าคณะตำบลขึ้น ได้รับตำแหน่งให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่พระสังฆาธิการสูงกว่าเดิม พระสังฆาธิการรูปนั้นย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เดิม เว้นแต่ในกรุงเทพมหานคร

         ข้อ ๔๐ การให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งกระทำได้ ในกรณีที่พระสังฆาธิการหย่อยความสามารถไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของตน

         ข้อ ๔๑ การปลดและการถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๔ แห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้

         ข้อ ๔๒ เมื่อพระสังฆาธิการพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามข้อ ๓๕ ให้ผู้บังคับบัญชารายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้งภายใน ๓๐ วัน และให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งแจ้งให้กรมการศาสนาทราบภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน

หมวด ๔
จริยาพระสังฆาธิการ

———–

ส่วนที่ ๑
จริยา

         ข้อ ๔๓ พระสังฆาธิการต้องเอื้อเฟื้อต่อกฏหมาย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช สังวรและปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยโดยเคร่งคัด

         ข้อ ๔๔ พระสังฆาธิการต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งนั้นให้เสนอความเห็นทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง และเมื่อได้ทัดทานดังกล่าวมาแล้วนั้น แต่ผู้สั่งมิได้ถอนหรือแก้คำสั่งนั้น ถ้าคำสั่งนั้นไม่ผิดพระวินัยต้องปฏิบัติตาม แล้วรายงานจนถึงผู้สั่ง

         ในกรณีที่มีการทัดทานคำสั่งกล่าวในวรรคแรก ให้ผู้สั่งรายงานพฤติการณ์ทั้งหมดไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน เพื่อพิจารณาสั่งการ

         ในการปฏิบัติหน้าที่ ห้ามมิให้ทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษเป็นครั้งคราว

         ข้อ ๔๕ พระสังฆาธิการต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง มิให้เกิดความเสียหายแก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา และห้ามมิให้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร

         ข้อ ๔๖ พระสังฆาธิการ ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ และห้ามมิให้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ไม่สมควร

         ข้อ ๔๗ พระสังฆาธิการต้องสุภาพเรียบร้อยต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนและผู้อยู่ในปกครอง

         ข้อ ๔๘ พระสังฆาธิการต้องรักษาส่งเสริมสามัคคีในหมู่คณะ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่ชอบ

         ข้อ ๔๙ พระสังฆาธิการต้องอำนวยความสะดวกในหน้าที่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา

         ข้อ ๕๐ พระสังฆาธิการต้องรักษาข้อความอันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์ที่ยังไม่ควรเปิดเผย

ส่วนที่ ๒
การรักษาจริยา

         ข้อ ๕๑ ให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น มีหน้าที่ควบคุม ดูแล แนะนำชี้แจง หรือสั่งให้ผู้อยู่ในบังคับบัญชา ปฏิบัติตามจริยาโดยเคร่งครัด

         ถ้าผู้บังคับบัญชารู้อยู่ว่า  ผู้อยู่ในบังคับบัญชาละเมิดจริยา ต้องพิจารณาว่า ความละเมิดของผู้อยู่ในบังคับบัญชารูปนั้น อยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้หรือไม่ ถ้าอยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้  ก็ให้สั่งลงโทษ แล้วรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน  ถ้าเห็นว่าความละเมิดนั้นควรจะลงโทษหนักกว่าที่ตนมีอำนาจจะลงโทษได้ ก็ให้รายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไป เพื่อพิจารณาลงโทษตามควร

         ผู้บังคับบัญชารูปใด ไม่จัดการลงโทษผู้อยู่ในบังคับบัญชาที่ละเมิดจริยาหรือจัดการลงโทษโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชารูปนั้นละเมิดจริยา

         ข้อ ๕๒ พระสังฆาธิการรูปใด ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษฐานละเมิดจริยา ต้องปฏิบัติตามทันที  ถ้าเห็นว่าคำสั่งลงโทษไม่เป็นธรรม ก็มีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการร้องทุกข์ แต่ถ้าปรากฏว่าเป็นการร้องทุขก์เท็จ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง

ส่วนที่ ๓
การละเมิดจริยา

         ข้อ ๕๓ พระสังฆาธิการรูปใดประพฤติละเมิดจริยา ต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

              (๑) ถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่

              (๒) ปลดจากตำแหน่งหน้าที่

              (๓) ตำหนิโทษ

              (๔) ภาคทัณฑ์

         ข้อ ๕๔ การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่นั้น จะทำได้ต่อเมื่อพระสังฆาธิการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง แม้ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

              (๑) ทุจริตต่อหน้าที่

              (๒) ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเกินกว่า ๓๐ วัน

              (๓) ขัดคำสั่งอันชอบด้วยการคณะสงฆ์ และการขัดคำสั่งนั้นเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์

              (๔) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์

              (๕) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

         ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชารายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อได้สอบสวนและได้ความจริงตามรายงานนั้นแล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งสั่งถอดถอนตำแหน่งหน้าที่ได้

         ข้อ ๕๕ พระสังฆาธิการรูปใดต้องอธิกรณ์ หรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา และอยู่ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัย หรือมีกรณีต้องหากว่าละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง และอยู่ในระหว่างสอบสวน ถ้าผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเห็นว่า จะให้คงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ในระหว่างพิจารณาหรือสอบสวน จะเป็นการเสียหายแก่การคณะสงฆ์ จะสั่งให้พักจากตำแหน่งหน้าที่ก็ได้

         การให้พักจากตำแหน่งหน้าที่นั้น ให้พักตลอดเวลาที่พิจารณาหรือสอบสวน เมื่อพิจารณาหรือสอบสวนเสร็จแล้ว ถ้าปรากฏว่าพระสังฆาธิการที่ถูกสั่งให้พักนั้นไม่มีความผิด และไม่มีมลทินความผิดเลย ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งให้พักต้องสั่งให้พระสังฆาธิการรูปนั้นกลับดำรงตำแหน่งเดิม

         เมื่อได้สั่งพักจากตำแหน่งหน้าที่นั้น หรือสั่งให้กลับดำรงตำแหน่งเดิมแล้ว ให้รายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง และจึงให้กรมการศาสนาทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันสั่ง

         แต่ถ้าปรากฏว่าถึงแม้การพิจารณาหรือสอบสวนจะไม่ได้ความสัตย์ว่าได้กระทำผิด แต่มีมลทินหรือมัวหมอง ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณา ถ้าเห็นว่าจะให้กลับเข้ารับหน้าที่อีก อาจเสียหายแก่การคณะสงฆ์ ก็สั่งปลดจากตำแหน่งหน้าที่ได้

         ข้อ ๕๗ การตำหนิโทษนั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อพระสังฆาธิการรูปใดละเมิดจริยาซึ่งไม่ร้ายแรงถึงกับถอดถอนหรือปลดจากตำแหน่งหน้าที่ มีเหตุที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรปรานี ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งตำหนิโทษ โดยแสดงความผิดของพระสังฆาธิการรูปนั้นให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร และจะทำให้ทัณฑ์บนไว้ด้วยก็ได้

         การตำหนิโทษเช่นนี้ ให้มีการกำหนดไม่เกิน ๓ ปี นับแต่วันสั่งลงโทษ แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่า พระสังฆาธิการรูปนั้นกลับปฏิบัติดีในทางการคณะสงฆ์พอควรแล้ว จะสั่งลบล้างการตำหนิโทษก่อนครบกำหนดก็ได้ หากในระหว่างกำหนดที่สั่งลงโทษไว้ พระสังฆาธิการรูปนั้นละเมิดจริยาในกรณีเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันซ้ำอีก ให้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง

         ข้อ ๕๗ กรณีดังกล่าวแล้วในข้อ ๕๖ ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่ายังไม่ควรลงโทษถึงตำหนิโทษ ควรลงโทษเพียงภาคภัณฑ์  ก็ให้มีอำนาจลงโทษภาคทัณฑ์ได้ โดยแสดงความผิดของพระสังฆาธิการรูปนั้นให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร และจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ด้วยก็ได้

         การลงโทษภาคภัณฑ์นี้ ให้มีกำหนดไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันสั่งลงโทษ แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่าพระสังฆาธิการรูปนั้นกลับปฏิบัติดีในทางการคณะสงฆ์พอควรแล้ว จะสั่งลบล้างการภาคทัณฑ์ก่อนครบกำหนดก็ได้ หากในระหว่างกำหนดสั่งลงโทษไว้ พระสังฆาธิการรูปนั้นละเมิดจริยาอีก ให้ลงโทษสถานอื่นถัดขึ้นไปตามควรแก่กรณี

         ข้อ ๕๘ เมื่อได้มีการลงโทษตามข้อ ๕๖ หรือข้อ ๕๗ แล้ว ให้ผู้สั่งลงโทษรายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนทราบ

              ตราไว้ ณ วันที่ ๒๔  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๓๕

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม


*  จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๐ ฉบับพิเศษ (๒) : ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๕