กฎมหาเถรสมาคม
ฉบับที่
๒๔
(พ.ศ.๒๕๔๑)
ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ *
——————–
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี มาตรา ๒๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมครากฎมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ”
ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิก
(๑) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ
(๒) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ.๒๕๓๖) แก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ
บรรดากฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ หรือประกาศอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในกฎมหาเถรสมาคมนี้ หรือซึ่งขัดแย้งหรือแย้งกับกฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้แทน
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๔ ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ พระสังฆาธิการ หมายถึงพระภิกษุ ผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ดังต่อไปนี้
๑. เจ้าคณะใหญ่
๒. เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค
๓. เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด
๔. เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ
๕. เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล
๖. เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
ส่วนตำแหน่งอื่นที่เรียกชื่ออย่างอื่น จะได้มีระเบียบมหาเถรสมาคมกำหนดเทียบกับตำแหน่งที่กล่าวแล้ว
ข้อ ๕ พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการตามข้อ ๔ อยู่ก่อน วันใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ถือว่าเป็นพระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนั้น ตามกฎมหาเถรสมาคมนี้
ผู้รักษาการแทนในตำแหน่งดังกล่าวในวรรคต้น ก่อนวันใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ถือว่าเป็นผู้รักษาการแทนในตำแหน่งนั้นๆ ตามกฎมหาเถรสมาคมนี้ด้วย
หมวด ๒
การแต่งตั้งพระสังฆาธิการ
ข้อ ๖ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งตามข้อ ๔ ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ดังต่อไปนี้
(๑) มีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง
(๒) มีความรู้สมควรแก่ตำแหน่ง
(๓) มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย
(๔) เป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองคณะสงฆ์
(๕) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ
หรือมีจิตฟั่นเฟือน
ไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคเรื้อน หรือเป็นวัณโรคในระยะอันตรายจนเป็นที่น่ารังเกียจ
(๖) ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน
(๗) ไม่เคยถูกถอดถอนหรือถูกปลดจากตำแหน่งใด เพราะความผิดมาก่อน
ส่วนที่ ๑
เจ้าคณะใหญ่
ข้อ ๗ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๓๐ และ
(๒) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่ารองสมเด็จพระราชาคณะ
ข้อ ๘ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๗ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
ข้อ ๙ พระภิกษุผู้จะเป็นเลขานุการเจ้าคณะใหญ่ ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ โดยอนุโลม ในการแต่งตั้งเลขานุการเจ้าคณะใหญ่ ให้เจ้าคณะใหญ่พิจารณาแต่งตั้งเลขานุการเจ้าคณะใหญ่พ้นจากหน้าที่ ในเมื่อผู้แต่งตั้งให้พ้นจากหน้าที่หรือผู้แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีการแต่งตั้งหรือพ้นจากหน้าที่แล้ว ให้เจ้งกรมการศาสนา เพื่อรายงานมหาเถรสมาคมทราบ
ส่วนที่ ๒
เจ้าคณะภาค
ข้อ ๑๐ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๒๐ และ
(๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาคนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒ ปี หรือ
(๓) กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดในภาคนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔ ปี หรือ
(๔) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นเทพ หรือ
(๕) เป็นพระราชาคณะซึ่งเป็นพระคณาจารย์เอก หรือเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค
ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม มหาเถรสมาคมอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี
ข้อ ๑๑ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะภาค เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่ พิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๑๐ เสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งตามมติมหาเถรสมาคมซึ่งได้รับแต่งตั้งแทน อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
ข้อ ๑๒ ในการแต่งตั้งรองเจ้าคณะภาค ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๑๑ วรรคแรก มาใช้บังคับโดยอนุโลมรองเจ้าคณะภาค อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
ในกรณีที่รองเจ้าคณะภาคพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รองเจ้าคณะภาค ซึ่งได้รับแต่งตั้งแทน อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
ข้อ ๑๓ พระภิกษุผู้จะเป็นเลขานุการเจ้าคณะภาคหรือเลขานุการ รองเจ้าคณะภาค ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ โดยอนุโลมในการแต่งตั้งเลขานุการดังกล่าวในวรรคแรก ให้เจ้าคณะภาคหรือรองเจ้าคณะภาคแล้วแต่กรณี พิจารณาแต่งตั้ง เมื่อมีการแต่งตั้งหรือพ้นจากหน้าที่แล้ว ให้แจ้งกรมการศาสนาและรายงานเจ้าคณะใหญ่เพื่อทราบ
ส่วนที่ ๓
เจ้าคณะจังหวัด
ข้อ ๑๔ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๑๐ กับมีสำนักอยู่ในเขตจังหวัดนั้น และ
(๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒ ปี หรือ
(๓) กำลังตำรงตำแหน่งเจ้าคระอำเภอในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔ ปี หรือ
(๔) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ หรือเป็นพระคณาจารย์โทขึ้นไป หรือเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า ๖ ประโยค
ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ไม่ได้หรือได้แต่ไม่เหมาะสม มหาเถรสมาคมอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี
ข้อ ๑๕ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดในภาคใด ให้เจ้าคณะภาคนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๑๔ เสนอเจ้าคณะใหญ่พิจารณา เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งตามมติมหาเถรสมาคม
ข้อ ๑๖ ในการแต่งตั้งรองเจ้าคณะจังหวัด ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๑๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๗ พระภิกษุผู้จะเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดหรือเลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัด ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ โดยอนุโลม
ในการแต่งตั้งเลขานุการดังกล่าวในวรรคแรก ให้เจ้าคณะจังหวัดหรือรองเจ้าคณะจังหวัดแล้วแต่กรณี พิจารณาแต่งตั้ง เลขานุการดังกล่าวในวรรคสอง พ้นจากหน้าที่ ในเมื่อผู้แต่งตั้งให้พ้นจากหน้าที่ หรือผู้แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อมีการแต่งตั้งหรือพ้นจากหน้าที่แล้ว ให้แจ้งกรมการศาสนาและรายงานเจ้าคณะภาคเพื่อทราบ
ส่วนที่ ๔
เจ้าคณะอำเภอ
ข้อ ๑๘ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๑๐ กับมีสำนักอยู่ในเขตจังหวัดนั้น และ
(๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒ ปี หรือ
(๓) กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลในอำเภอนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔ ปี หรือ
(๔) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตรหรือเป็นพระคณาจารย์ตรีขึ้นไป หรือเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า ๔ ประโยค
ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม เจ้าคณะภาคอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี โดยอนุมัติของเจ้าคณะใหญ่
ข้อ ๑๙ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดใด ให้เจ้าคณะจังหวัดนั้นคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๑๘ เสนอเจ้าคณะภาค เพื่อพิจารณาแต่งตั้งโดยอนุมัติของเจ้าคณะใหญ่
ข้อ ๒๐ ในการแต่งตั้งรองเจ้าคณะอำเภอ ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๑๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๒๑ พระภิกษุผู้จะเป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอหรือเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอ ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ โดยอนุโลม
ในการแต่งตั้งเลขานุการดังกล่าวในวรรคแรก ให้เจ้าคณะอำเภอหรือรองเจ้าคณะอำเภอแล้วแต่กรณี พิจารณาแต่งตั้งเลขานุการดังกล่าวในวรรคสอง พ้นจากหน้าที่ ในเมื่อผู้แต่งตั้งให้พ้นจากหน้าที่ หรือผู้แต่งตั้งพ้นจากหน้าที่ เมื่อมีการแต่งตั้งหรือพ้นจากหน้าที่แล้ว ให้แจ้งกรมการศาสนาและรายงานเจ้าคณะจังหวัดเพื่อทราบ
ส่วนที่ ๕
เจ้าคณะตำบล
ข้อ ๒๒ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๕ กับมีสำนักอยู่ในเขตอำเภอนั้น และ
(๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะตำบลนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒ ปี หรือ
(๓) กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในตำบลนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔ ปี หรือ
(๔) เป็นพระภิกษุมีสมณศักดิ์ หรือเป็นพระคณาจารย์ หรือเป็นเปรียญธรรม หรือเป็นนักธรรมชั้นเอก
ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ไม่ได้หรือได้แต่ไม่เหมาะสม เจ้าคณะจังหวัดอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี โดยอนุมัติของเจ้าคณะภาค
ข้อ ๒๓ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลในอำเภอใด ให้เจ้าคณะอำเภอนั้นคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๒๒ เสนอเจ้าคณะจังหวัดพิจารณาแต่งตั้ง เมื่อได้แต่งตั้งแล้ว ให้แจ้งกรมการศาสนาและรายงานเจ้าคณะภาคเพื่อทราบ
ข้อ ๒๔ ในการแต่งตั้งรองเจ้าคณะตำบล ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๒๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๒๕ พระภิกษุผู้จะเป็นเลขานุการเจ้าคณะตำบล ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ โดยอนุโลม
ในการแต่งตั้งเลขานุการเจ้าคณะตำบล ให้เจ้าคณะตำบลพิจารณาแต่งตั้ง
เลขานุการเจ้าคณะตำบล พ้นจากหน้าที่ ในเมื่อผู้แต่งตั้งให้พ้นจากหน้าที่ หรือผู้แต่งตั้งพ้นจากหน้าที่
เมื่อมีการแต่งตั้งหรือพ้นจากหน้าที่แล้ว ให้แจ้งกรมการศาสนาและรายงานเจ้าคณะอำเภอเพื่อทราบ
ส่วนที่ ๖
เจ้าอาวาส
ข้อ ๒๖ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๕ และ
(๒) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในถิ่นนั้น
ข้อ ๒๗ ในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสนอกจากพระอารามหลวงในตำบลใด ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล เจ้าสังกัด ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะอำเภอ ไม่มีรองเจ้าคณะตำบล ให้เจ้าคณะอำเภอเลือกเจ้าอาวาสในตำบลนั้น รวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๓ รูป ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๒๖ แล้ว ให้เจ้าคณะอำเภอรายงานเสนอเจ้าคณะจังหวัดเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง
ถ้าพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอยู่ด้วย ให้เจ้าคณะอำเภอรายงานเสนอเจ้าคณะจังหวัด เพื่อเจ้าคณะภาคพิจารณาแต่งตั้ง
ข้อ ๒๘ ในการแต่งตั้งรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส นอกจากพระอารามหลวง ให้เจ้าอาวาสวัดนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๒๖ และระบุหน้าที่ที่ตนจะมอบหมายให้ปฏิบัติ แล้วเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อเจ้าคณะจังหวัดพิจารณาแต่งตั้ง
ข้อ ๒๙ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๑๐
(๒) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ และ
(๓) มีสมณศักดิ์
(ก) ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะขั้นราช สำหรับพระอารามหลวงชั้นเอก
(ข) ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ สำหรับพระอารามหลวงชั้นโท
(ค) ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นเอก สำหรับพระอารามหลวงชั้นตรี
ข้อ ๓๐ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๑๐
(๒) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ และ
(๓) มีสมณศักดิ์
(ก) ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะขั้นสามัญ สำหรับพระอารามหลวงชั้นเอก
(ข) ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นเอก สำหรับพระอารามหลวงชั้นโท
(ค) ไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นโท หรือพระครูสัญญาบัตรที่มีนิตย-ภัตไม่ต่ำกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสชั้นโท สำหรับพระอารามหลวงชั้นตรี
ข้อ ๓๑ ในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัดพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๒๙ หรือข้อ ๓๐ แล้วแต่กรณี เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำกับ เพื่อมหาเถรสมาคมพิจารณา
ถ้าพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ตามข้อ ๒๙ หรือข้อ ๓๐ แล้วแต่กรณี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอยู่ด้วย ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะภาคดำเนินการตามความในวรรคต้น
ข้อ ๓๒ ในการแต่งตั้งรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ให้เจ้าอาวาสพระอารามหลวงนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๒๖ และระบุหน้าที่ที่ตนจะมอบหมายให้ปฏิบัติแล้วรายงานเจ้าคณะจังหวัดเพื่อพิจารณาเสนอตามลำดับจนถึงมหาเถรสมาคม
ข้อ ๓๓ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ตามมติมหาเถรสมาคม
ส่วนที่ ๗
ที่ปรึกษาเจ้าคณะ
ข้อ ๓๔ การแต่งตั้งที่ปรึกษาเจ้าคณะตามข้อ ๒๙ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยระเบียบการปฏครองคณะสงฆ์ ให้เป็นไปดังนี้
พระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และรองเจ้าคณะตำบล ได้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยเรียบร้อยจนมีอายุครบ ๘๐ ปีบริบูรณ์ ให้ยกย่องเชิดชูเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะในชั้นนั้นๆ เว้นแต่ทุพพลภาพ หรือพิการ ถ้ายังมีความเหมาะสม หรือยังหาผู้ดำรงตำแหน่งในชั้นนั้นๆ ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม มหาเถรสมาคมจะพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปอีกไม่เกิน ๓ ปี เฉพาะกรณี
ในการแต่งตั้งที่ปรึกษา ให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเสนอตามลำดับจนถึงมหาเถรสมาคมพิจารณา เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งตามมติมหาเถรสมาคม
ส่วนที่ ๘
เบ็ดเตล็ด
ข้อ ๓๕ เมื่อได้มีการแต่งตั้งพระภิกษุให้ดำรงตำแหน่งตามหมวด ๑ แห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้แล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งแจ้งให้กรมการศาสนาทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่แต่งตั้ง
หมวด ๓
การพ้นจากตำแหน่งหน้าที่พระสังฆาธิการ
ข้อ ๓๖ พระสังฆาธิการย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ เมื่อ
(๑) ถึงมรณภาพ
(๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
(๓) ลาออก
(๔) ย้ายออกไปนอกเขตที่ตนมีสำนักอยู่
(๕) ยกเป็นกิตติมศักดิ์
(๖) รับตำแหน่งหน้าที่เจ้าคณะหรือรองเจ้าคณะอื่น
(๗) ให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่
(๘) ถูกปลดจากตำแหน่งหน้าที่
(๙) ถูกถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
ข้อ ๓๗ พระสังฆาธิการรูปใดประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ก็ย่อมทำได้ เมื่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งได้พิจารณาอนุญาตแล้ว จึงเป็นอันพ้นจากตำแหน่งหน้าที่
ข้อ ๓๘ ในกรณีที่พระสังฆาธิการทุกตำแหน่ง เว้นเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค ย้ายออกไปนอกเขตที่ตนมีสำนักอยู่ คือ เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ ย้ายออกไปจากจังหวัดนั้น เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล ย้ายออกไปจากอำเภอนั้น พระสังฆาธิการรูปนั้นย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่นั้น เว้นแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนในตำแหน่งเดิม
ข้อ ๓๙ พระสังฆาธิการรูปใดดำรงตำแหน่งหน้าที่โดยเรียบร้อยตลอดมาจนถึงชราทุพพลภาพ หรือพิการ สมควรได้รับปลดเปลื้องภาระเพื่อให้พักผ่อนหรือรักษาตัว ก็ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณายกเป็นกิตติมศักดิ์
ข้อ ๔๐ พระสังฆาธิการดำรงตำแหน่งเจ้าคณะ หรือรองเจ้าคณะ ได้เพียงตำแหน่งเดียว
ข้อ ๔๑ การให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งกระทำได้ ในกรณีที่พระสังฆาธิการหย่อยความสามารถไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของตน
ข้อ ๔๒ การปลดและการถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๔ แห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้
ข้อ ๔๓ เมื่อพระสังฆาธิการพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามข้อ ๓๖ ให้ผู้บังคับบัญชารายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้งภายใน ๓๐ วัน และให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งแจ้งให้กรมการศาสนาทราบภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน
หมวด ๔
จริยาพระสังฆาธิการ
————-
ส่วนที่ ๑
จริยา
ข้อ ๔๔ พระสังฆาธิการต้องเอื้อเฟื้อต่อกฏหมาย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช สังวรและปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยโดยเคร่งคัด
ข้อ ๔๕ พระสังฆาธิการต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งนั้นให้เสนอความเห็นทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง และเมื่อได้ทัดทานดังกล่าวมาแล้วนั้น แต่ผู้สั่งมิได้ถอนหรือแก้คำสั่งนั้น ถ้าคำสั่งนั้นไม่ผิดพระวินัยต้องปฏิบัติตาม แล้วรายงานจนถึงผู้สั่ง
ในกรณีที่มีการทัดทานคำสั่งดังกล่าวในวรรคแรก ให้ผู้สั่งรายงานเรื่องทั้งหมดไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน เพื่อพิจารณาสั่งการ
ในการปฏิบัติหน้าที่ ห้ามมิให้ทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษเป็นครั้งคราว
ข้อ ๔๖ พระสังฆาธิการต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง มิให้เกิดความเสียหายแก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา และห้ามมิให้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
ข้อ ๔๗ พระสังฆาธิการต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ และห้ามมิให้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ไม่สมควร
ข้อ ๔๘ พระสังฆาธิการต้องสุภาพเรียบร้อยต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนและผู้อยู่ในปกครอง
ข้อ ๔๙ พระสังฆาธิการต้องรักษาส่งเสริมสามัคคีในหมู่คณะ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่ชอบ
ข้อ ๕๐ พระสังฆาธิการต้องอำนวยความสะดวกในหน้าที่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา
ข้อ ๕๑ พระสังฆาธิการต้องรักษาข้อความอันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์ที่ยังไม่ควรเปิดเผย
ส่วนที่ ๒
การรักษาจริยา
ข้อ ๕๒ ให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น มีหน้าที่ควบคุม ดูแล แนะนำชี้แจง หรือสั่งให้ผู้อยู่ในบังคับบัญชา ปฏิบัติตามจริยาโดยเคร่งครัด
ถ้าผู้บังคับบัญชารู้อยู่ว่าผู้อยู่ในบังคับบัญชาละเมิดจริยา ต้องพิจารณาว่าความละเมิดของผู้อยู่ในบังคับบัญชารูปนั้น อยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้หรือไม่ ถ้าอยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้ ก็ให้สั่งลงโทษ แล้วรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน ถ้าเห็นว่าความละเมิดนั้นควรจะลงโทษหนักกว่าที่ตนมีอำนาจจะลงโทษได้ ก็ให้รายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไป เพื่อพิจารณาลงโทษตามควร
ผู้บังคับบัญชารูปใด ไม่จัดการลงโทษผู้อยู่ในบังคับบัญชาที่ละเมิดจริยาหรือจัดการลงโทษโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชารูปนั้นละเมิดจริยา
ข้อ ๕๓ พระสังฆาธิการรูปใด ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษฐานละเมิดจริยา ต้องปฏิบัติตามทันที ถ้าเห็นว่าคำสั่งลงโทษไม่เป็นธรรม ก็มีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการร้องทุกข์ แต่ถ้าปรากฏว่าเป็นการร้องทุกข์เท็จ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง
ส่วนที่ ๓
การละเมิดจริยา
ข้อ ๕๔ พระสังฆาธิการรูปใดประพฤติละเมิดจริยา ต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
(๒) ปลดจากตำแหน่งหน้าที่
(๓) ตำหนิโทษ
(๔) ภาคทัณฑ์
ข้อ ๕๕ การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่นั้น จะทำได้ต่อเมื่อพระสังฆาธิการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง แม้ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ทุจริตต่อหน้าที่
(๒) ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเกินกว่า ๓๐ วัน
(๓) ขัดคำสั่งอันชอบด้วยการคณะสงฆ์ และการขัดคำสั่งนั้นเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
(๔) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
(๕) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดรายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อได้สอบสวนและได้ความจริงตามรายงานนั้นแล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งสั่งถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ได้
ข้อ ๕๖ พระสังฆาธิการรูปใดต้องอธิกรณ์ หรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา และอยู่ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัย หรือมีกรณีต้องหากว่าละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง และอยู่ในระหว่างสอบสวน ถ้าผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเห็นว่า จะให้คงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ในระหว่างพิจารณาหรือสอบสวน จะเป็นการเสียหายแก่การคณะสงฆ์ จะสั่งให้พักจากตำแหน่งหน้าที่ก็ได้
การให้พักจากตำแหน่งหน้าที่นั้น ให้พักตลอดเวลาที่พิจารณาหรือสอบสวน เมื่อพิจารณาหรือสอบสวนเสร็จแล้ว ถ้าปรากฏว่าพระสังฆาธิการที่ถูกสั่งให้พักนั้นไม่มีความผิด และไม่มีมลทินความผิดเลย ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งให้พักต้องสั่งให้พระสังฆาธิการรูปนั้นกลับดำรงตำแหน่งเดิม
เมื่อได้สั่งพักจากตำแหน่งหน้าที่นั้น หรือสั่งให้กลับดำรงตำแหน่งเดิมแล้ว ให้รายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง และจึงให้กรมการศาสนาทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันสั่ง
แต่ถ้าปรากฏว่าถึงแม้การพิจารณาหรือสอบสวนจะไม่ได้ความสัตย์ว่าได้กระทำผิด แต่มีมลทินหรือมัวหมอง ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณา ถ้าเห็นว่าจะให้กลับเข้ารับหน้าที่อีก อาจเสียหายแก่การคณะสงฆ์ ก็สั่งปลดจากตำแหน่งหน้าที่ได้
ข้อ ๕๗ พระสังฆาธิการรูปใด ได้รับโทษฐานละเมิดจริยาตามข้อ ๕๔(๑) หรือ (๒) ต้องพ้นจากตำแหน่งพระสังฆาธิการทุกตำแหน่ง
ข้อ ๕๘ การตำหนิโทษนั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อพระสังฆาธิการรูปใดละเมิดจริยาซึ่งไม่ร้ายแรงถึงกับถอดถอนหรือปลดจากตำแหน่งหน้าที่ มีเหตุที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรปรานี ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งตำหนิโทษ โดยแสดงความผิดของพระสังฆาธิการรูปนั้นให้ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษร และจะทำให้ทัณฑ์บนไว้ด้วยก็ได้
การตำหนิโทษเช่นนี้ ให้มีการกำหนดไม่เกิน ๓ ปี นับแต่วันสั่งลงโทษ แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่าพระสังฆาธิการรูปนั้นกลับปฏิบัติดีในทางการคณะสงฆ์พอควรแล้ว จะสั่งลบล้างการตำหนิโทษก่อนครบกำหนดก็ได้ หากในระหว่างกำหนดที่สั่งลงโทษไว้ พระสังฆาธิการรูปนั้นละเมิดจริยาในกรณีเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันซ้ำอีก ให้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง
ข้อ ๕๙ กรณีดังกล่าวแล้วในข้อ ๕๘ ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่ายังไม่ควรลงโทษถึงตำหนิโทษ ควรลงโทษเพียงภาคภัณฑ์ ก็ให้มีอำนาจลงโทษภาคพัณฑ์ได้ โดยแสดงความผิดของพระสังฆาธิการรูปนั้นให้ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษร และจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ด้วยก็ได้
การลงโทษภาคภัณฑ์นี้ ให้มีกำหนดไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันสั่งลงโทษ แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่าพระสังฆาธิการรูปนั้นกลับปฏิบัติดีในทางการคณะสงฆ์พอควรแล้ว จะสั่งลบล้างการภาคทัณฑ์ก่อนครบกำหนดก็ได้ หากในระหว่างกำหนดสั่งลงโทษไว้ พระสังฆาธิการรูปนั้นละเมิดจริยาอีกให้ลงโทษสถานอื่นถัดขึ้นไปตามควรแก่กรณี
ข้อ ๖๐ เมื่อได้มีการลงโทษตามข้อ ๕๘ หรือข้อ ๕๙ แล้ว ให้ผู้สั่งลงโทษรายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนทราบ
หมวด ๕
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๖๑ เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้พ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศกฎมหาเถรสมาคมในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป
ตราไว้ ณ วันที่ ๑ เดือน
ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑
(สมเด็จพระญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
* จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๖ ฉบับพิเศษ : ๓ ตุลาคม ๒๕๔๑
Views: 2908