สังฆาณัติระเบียบคณะวินัยธร
พุทธศักราช ๒๔๘๕[1]
—————-
สมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก
บัญญัติไว้ ณ วันที่ ๑ เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘*
—————
โดยที่สังฆสภาลงมติว่า สมควรกำหนดระเบียบการแต่งตั้งคณะวินัยธร ตามความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
จึงมีพระบัญชาให้บัญญัติสังฆาณัติไว้ โดยคำแนะนำของสังฆสภา ดังต่อไปนี้
บททั่วไป
มาตรา ๑ สังฆาณัตินี้ให้เรียกว่า “สังฆาณัติระเบียบการแต่งตั้งคณะวินัยธร พุทธศักราช ๒๔๘๕”
มาตรา ๒ ให้ใช้สังฆาณัตินี้ตั้งแต่งวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้สังฆนายกรักษาการตามสังฆาณัตินี้
หมวดที่ ๑
คณะวินัยธร
มาตรา ๔ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งคณะวินัยธรโดยบทบัญญัติแห่งสังฆาณัตินี้
มาตรา ๕ คณะวินัยธรตามสังฆาณัตินี้ มี ๓ ชั้น คือ
(๑) คณะวินัยธรชั้นต้น
(๒) คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์
(๓) คณะวินัยธรชั้นฎีกา
มาตรา ๖ คณะวินัยธรชั้นต้น ได้แก่ คณะวินัยธรจังหวัด โดยปกติให้มีจังหวัดละหนึ่งคณะ แต่ถ้าจำเป็นจะให้มีมากกว่านั้น หรือจะรวมหลายจังหวัดให้มีหนึ่งคณะก็ได้
มาตรา ๗ คณะวินัยธรชั้นต้น ให้อยู่ในสังกัดสมเด็จพระสังฆราช
มาตรา ๘ คณะวินัยธรทุกคณะต้องประกอบด้วยหัวหน้าคณะหนึ่งรูป และพระวินัยธรอีกอย่างน้อยสามรูป
มาตรา ๙ ให้มีประธานคณะวินัยธรหนึ่งรูป บริหารงานในคณะวินัยธรทั่วไป และเป็นหัวหน้าคณะวินัยธรชั้นฎีกาโดยตำแหน่ง
มาตรา ๑๐ องค์คุณสำหรับพิจารณาแต่งตั้งคณะวินัยธร มีดังนี้
(๑) คณะวินัยธรชั้นต้น
(ก) เป็นเปรียญ นักธรรมชั้นโท หรือเป็นนักธรรมชั้นเอก
(ข) มีพรรษาพ้น ๕
(ค) โดยความเห็นชอบของคณะสังฆมนตรี
(ง) มีสำนักอยู่ในเขตอำนาจแห่งคณะของตน
(๒) คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์
(ก) เป็นเปรียญไม่ต่ำกว่า ๖ ประโยค และเป็นนักธรรมชั้นเอก
(ข) มีพรรษาพ้น ๕
(ค) โดยความเห็นชอบของคณะสังฆมนตรี
(ง) มีสำนักอยู่ในจังหวัดพระนครหรือธนบุรี
(๓) ประธานคณะวินัยธรกับคณะวินัยธรชั้นฎีกา
(ก) เป็นสมาชิกสังฆสภา แต่มิได้ดำรงตำแหน่งสังฆมนตรี หรือเคยเป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์มาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี
(ข) มีพรรษาพ้น ๕
(ค) โดยความเห็นชอบของสังฆสภา
มาตรา ๑๑ ประธานคณะวินัยธร หรือหัวหน้าคณะวินัยธร หรือพระวินัยธรย่อมพ้นจากหน้าที่ เมื่อ
(๑) ถึงมรณภาพ
(๒) พ้นจากความเป็นภิกษุ
(๓) ลาออก
(๔) ให้ออก
(๕) ขาดองค์คุณตามมาตรา ๑๐
หมวดที่ ๒
เขตอำนาจของคณะวินัยธร
มาตรา ๑๒ คณะวินัยธรชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์อันเกิดขึ้นในเขตที่กำหนดตามประกาศแต่งตั้ง
มาตรา ๑๓ คณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ ที่อุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะวินัยธรชั้นต้น ทั่วราชอาณาจักร ตามบทบัญญัติแห่งสังฆาณัติว่าด้วยระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์
มาตรา ๑๔ คณะวินัยธรชั้นฎีกา มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ที่ฎีกาคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะวินัยธรชั้นอุทธรณ์ ตามบทบัญญัติแห่งสังฆาณัติว่าด้วยระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์
คำวินิจฉัยของคณะวินัยธรชั้นฎีกา เป็นอันถึงที่สุด ผู้ใดจะคัดค้านมิได้
หมวดที่ ๓
การบริหารในคณะวินัยธร
มาตรา ๑๕ ประธานคณะวินัยธรต้องรับผิดชอบในงานธุรการของคณะวินัยธรทุกชั้น เพื่อการนี้ มีหน้าที่
(๑) วางระเบียบปฏิบัติงานของคณะวินัยธร
(๒) ให้คำแนะนำแก่พระวินัยธรทั่วไป
(๓) ควบคุมดูแลการดำเนินงานของคณะวินัยธรทุกชั้นให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และในการนี้มีอำนาจ
๑) สั่งงานธุรการในคณะวินัยธรทั่วไป
๒) สั่งพักและรายงานความผิดของพระวินัยธรในเรื่องนั้น หรือรายงานเรื่องอื่นไปยังสมเด็จพระสังฆราช
มาตรา ๑๖ หัวหน้าคณะวินัยธรทุกคณะ ต้องรับผิดชอบการงานในคณะของตน เพื่อการนี้มีหน้าที่
(๑) อำนวยการพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ ให้เป็นไปตามหลักพระวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ สังฆาณัติ หรือระเบียบแบบแผนข้อบังคับใด ๆ ของคณะสงฆ์
(๒) ให้คำแนะนำแก่พระวินัยธรประจำคณะของตน
(๓) ควบคุมดูแลการดำเนินงานในคณะของตน ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย
(๔) เสนอรายงานคณะวินัยธรตามระเบียบ และมีอำนาจ
๑) นั่งร่วมพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์อันมาถึงคณะของตน หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนอธิกรณ์ใด ๆ แล้ว มีอำนาจลงชื่อในคำวินิจฉัยนั้น หรือทำความเห็นแย้งได้
๒) สั่งงานธุรการในคณะของตน
๓) สั่งพักหรือรายงานความผิดของพระวินัยธรได้ตามระเบียบ
มาตรา ๑๗ เมื่อตำแหน่งหัวหน้าคณะวินัยธรคณะใดว่างลง ให้พระวินัยธรผู้มีอาวุโสในคณะนั้น รักษาการแทนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่
เฉพาะผู้รักษาการแทนในหน้าที่หัวหน้าคณะวินัยธรชั้นฎีกา ให้รักษาการในหน้าที่ประธานคณะวินัยธรด้วย
มาตรา ๑๘ พระวินัยธรรูปใดรูปหนึ่งมีหน้าที่
(๑) ดำเนินงานอันเกี่ยวกับอธิกรณ์ที่มาถึงคณะของตน
(๒) ขอและฟังคำแนะนำของหัวหน้า
(๓) ปฏิบัติงานธุรการตามคำสั่งของหัวหน้า และมีอำนาจ
๑) นั่งร่วมพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์และลงชื่อ หรือทำความเห็นแย้งในคำวินิจฉัยนั้นได้
๒) สั่งหรือเรียกให้ส่งซึ่งบุคคลหรือวัตถุ ที่เกี่ยวกับอธิกรณ์มาจากหรือไปจากที่นั้น ๆ
๓) ออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นคำวินิจฉัยอธิกรณ์
มาตรา ๑๙ องค์คณะในการพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ ต้องประกอบด้วยพระวินัยธรร่วมกันไม่น้อยกว่าสามรูป
หากพระวินัยธรรูปใดไม่สามารถจะนั่งพิจารณาอธิกรณ์ให้ครบองค์คณะได้ตามบทบัญญัติแห่งสังฆาณัติว่าด้วยระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ไซร้ ให้พระวินัยธรที่นั่งพิจารณาอธิกรณ์นั้น มีอำนาจนิมนต์พระเถระ ผู้ทรงคุณทางพระวินัยเข้าร่วมพิจารณาในฐานะพระวินัยธรสำรองได้เพียง ๑ รูป ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าพระเถระนั้น เป็นพระวินัยธรสำหรับการประชุมพิจารณาอธิกรณ์คราวนั้น และมีสิทธิให้ความเห็นในการวินิจฉัย แต่ถ้าคู่อธิกรณ์ยินยอมจะเข้าประชุมวินิจฉัยร่วมด้วยก็ได้
เมื่อมีเหตุเช่นนั้นเกิดขึ้น ให้หัวหน้าคณะวินัยธรประจำชั้นนั้น ๆ รายงานไปยังประธานคณะวินัยธรทันที
ผู้รับสนองพระบัญชา
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
สังฆนายก
[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓๐ ภาคพิเศษ ฉบับที่ ๓ : ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๕