กติกาสงฆ์ กำหนดระเบียบการแต่งตั้งพระธรรมธร พุทธศักราช ๒๔๘๘

กติกาสงฆ์

กำหนดระเบียบการแต่งตั้งพระธรรมธร

พุทธศักราช ๒๔๘๘ [1]

———–

สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์

สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์  พระสังฆราช

สกลมหาสังฆปริณายก

ตราไว้ ณ วันที่ ๑๓  มิถุนายน  พุทธศักราช ๒๔๘๘

——————

        โดยที่เห็นเป็นการสมควรกำหนดระเบียบการแต่งตั้งพระธรรมธร ตามความในมาตรา ๒ (๒) แห่งประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ พุทธศักราช ๒๔๘๖

        จึงมีพระบัญชาให้ตรากติกาสงฆ์ขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

        มาตรา๑ กติกาสงฆ์นี้ ให้เรียกว่า “กติกาสงฆ์กำหนดระเบียบการแต่งตั้งพระธรรมธร พุทธศักราช ๒๔๘๘”

        มาตรา ๒ ให้ใช้กติกาสงฆ์นี้ ตั้งแต่วันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ให้มีพระธรรมธรรูปหนึ่ง เป็นผู้บริหารส่วนรวมของพระธรรมธรจังหวัด เรียกโดยตำแหน่งว่า “หัวหน้าพระธรรมธร” ถ้าเป็นการสมควรจะให้มีผู้ช่วยด้วยก็ได้

        มาตรา ๔ ในจังหวัดหนึ่ง ให้มีพระธรรมธรรูปหนึ่ง เรียกโดยตำแหน่งว่า “พระธรรมธรจังหวัด”

        มาตรา ๕ ให้พระธรรมธรทุกประเภทเป็นพระคณาธิการสังกัดองค์การปกครอง

ส่วนที่ ๑
คุณสมบัติทั่วไปของพระธรรมธร

        มาตรา ๖ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งพระธรรมธร ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติทั่วไป ดังนี้

                  (๑) มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย

                  (๒) เป็นผู้ฉลาดสามารถในการบริหารการคณะสงฆ์ตามระบอบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

                  (๓) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

                  (๔) ไม่เปนผู้อาพาธด้วยโรคอันน่ารังเกียจ มีโรคเรื้อน เป็นต้น หรือวรรณโรคในระยะอันตราย

                  (๕) ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน

                  (๖) ไม่เคยถูกให้ออกจากตำแหน่งใด ๆเพาะความผิดมาก่อน

ส่วนที่ ๒
การแต่งตั้งพระธรรมธร

๑. หัวหน้าพระธรรมธรและผู้ช่วย

        มาตรา ๗ พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพระธรรมธรหรือผู้ช่วย ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติเฉพาะ ดังนี้

             (๑) มีพรรษาพ้น ๑๐

             (๒) เป็นเปรียญไม่ต่ำกว่า ๖ ประโยค และเป็นนักธรรมชั้นเอก

             (๓) มีสำนักอยู่ในจังหวัดพระนครหรือธนบุรี

        มาตรา ๘ ในการแต่งตั้งหัวหน้าพระธรรมธรหรือผู้ช่วย ให้สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง คัดเลือกพระภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติตามมาตรา ๖ และ ๗ แห่งกติกาสงฆ์นี้ มีจำนวน ๓ รูป เสนอคณะสังฆมนตรีพิจารณาเลือก ๑ รูป แล้วให้คณะสังฆมนตรีนำกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้ง

        มาตรา ๙ ถ้าหัวหน้าพระธรรมธรพ้นจากตำแหน่ง ให้สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองสั่งผู้ช่วยหัวหน้าพระธรรมธรให้รักษาการแทนในตำแหน่งหัวหน้าพระธรรมธรไปก่อน แล้วให้รีบดำเนินการตามมาตรา ๘ แห่งกติการสงฆ์นี้

๒. พระธรรมธรจังหวัด

        มาตรา ๑๐ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งพระธรรมธรจังหวัด ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติเฉพาะ ดังนี้

             (๑) มีพรรษาพ้น ๕

             (๒) เป็นเปรียญหรือเป็นนักธรรมชั้นเอก

             (๓) มีสำนักอยู่ในจังหวัดที่ตนจะรับตำแหน่ง

         มาตรา ๑๑ การแต่งตั้งพระธรรมธรจังหวัด ให้หัวหน้าพระธรรมธรคัดเลือกพระภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติตามมาตรา ๖ และมาตรา ๑๐ แห่งกติกาสงฆ์นี้มีจำนวน ๒ รูป เสนอ ก.ส.พ. พิจารณาเลือก ๑ รูป แล้วให้รายงานไปยังสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองเพื่อแต่งตั้ง

         ถ้าหาพระภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเฉพาะตามมาตร ๑๐ แห่งกติการสงฆ์นี้ไม่ได้ ให้หัวหน้าพระธรรมธรสั่งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควรให้รักษาการในตำแหน่งก่อน

         มาตรา ๑๒ ถ้าพระธรรมธรจังหวัดพ้นจากตำแหน่ง ให้หัวหน้าพระธรรมธรสั่งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควรให้รักษาการในตำแหน่งไปก่อน แล้วให้รีบดำเนินการมาตรา ๑๑ แห่งกติกาสงฆ์นี้

         มาตรา ๑๓ ในกรณีที่พระธรรมธรไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ ถ้าเป็น

             (๑) หัวหน้าพระธรรมธร ให้ผู้ช่วยหัวหน้าพระธรรมธรรักษาการแทน

             (๒) พระธรรมธรจังหวัด ให้หัวหน้าพระธรรมธรสั่งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควรในจังหวัดนั้น ๆ ให้รักษาการแทน เฉพาะจังหวัดพระนครและธนบุรี หัวหน้าพระธรรมธรจะรักษาการเองก็ได้

ส่วนที่ ๓
หน้าที่และอำนาจของพระธรรมธร

๑. หัวหน้าพระธรรมธร

    มาตรา ๑๔ หัวหน้าพระธรรมธรมีหน้าที่ดังนี้

             (๑) ปฏิบัติการตามที่กำหนดไว้ในกติกาสงฆ์นี้ และตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ

วิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ แทนหรือช่วยพระธรรมธรจังหวัดในชั้นอุธรณ์และฎีกา

             (๒) ให้คำแนะนำหรือคำชี้แจงแก่พระธรรมธรจังหวัด

             (๓) รายงานผลแห่งการปฏิบัตืงานในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินอธิกรณ์ในหน้าที่ของพระธรรมธร ตามระเบียบซึ่งจะได้วางไว้ และมีอำนาจดังนี้

                  ๑) ดำเนินอธิกรณ์ได้ในคณะวินัยธรทุกชั้น

                  ๒) สั่งการในงานธุรการ หรือในการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ อันมิได้กำหนดไว้ว่าเป็นหน้าที่ของผู้ใดจะพึงปฏิบัติโดยเฉพาะ

                  ๓) สั่งพักพระธรรมธรจังหวัดจากตำแหน่งหน้าที่ได้

๒. พระธรรมธรจังหวัด

     มาตรา ๑๕ พระธรรมธรจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

             (๑) มีหน้าที่และอำนาจตามประมวลระเบียบ วิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ซึ่งบัญญัติไว้ว่าเป็นหน้าที่และอำนาจพระธรรมธร

             (๒) มีหน้าที่และอำนาจดำเนินอธิกรณ์ในจังหวัดที่ได้รับแต่งตั้งให้ประจำ เว้นแต่

                  ก. ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าพระธรรมธรให้ช่วยดำเนินอธิกรณ์ในจังหวัด   อื่น เป็นการชั่วคราว

                  ในกรณีเช่นนี้ เมื่อหัวหน้าพระธรรมธรได้รับแจ้งให้คณะวินัยธรชั้นต้นซึ่งเป็นเจ้าของเขตอำนาจในจังหวัดที่ได้ไปช่วยนั้นทราบแล้ว พระธรรมธรจังหวัดรูปนั้นย่อมมีอำนาจดำเนินอธิกรณ์ในคณะวินัยธรชั้นต้นตลอดถึงชั้นอุธรณ์และฎีกา

                  ข. เมื่ออธิกรณ์ใด ที่พระธรรมธรจังหวัดในจังหวัดอื่น นอกจากจังหวัดพระนครและธนบุรี ได้ดำเนินไว้ในคณะวินัยธรชั้นต้นชั้นอุธรณ์หรือชั้นฎีกา พระธรรมธรจังหวัดจะมอบให้หัวหน้าพระธรรมธรดำเนินอธิกรณ์แทนก็ได้ และเมื่อมีการมอบกันแล้ว ให้หัวหน้าพระธรรมธรแจ้งไปยังหัวหน้าคณะวินัยธรชั้นอุธรณ์หรือประธานคณะวินัยธรทราบ

                  ค. ในอธิกรณ์ที่คณะวินัยธรส่งประเด็นไปสืบพยานยังคณะวินัยธรอื่น พระธรรมธรจังหวัดแห่งจังหวัดนั้น หรือพระธรรมธรจังหวัดผู้ดำเนินอธิกรณ์มาแต่ต้น มีอำนาจดำเนินอธิกรณ์ในคณะวินัยธรที่สืบพยานสี้นได้

ส่วนที่ ๔
การพ้นตำแหน่งหน้าที่

      มาตรา ๑๖ พระธรรมธรย่อมพ้นตำแหน่งหน้าที่ เมื่อ

             (๑) ถึงมรณภาพ

             (๒) พ้นจากความเป็นภิกษุ

             (๓) ยกเป็นกิตติมศักดิ์

             (๔) ลาออก และได้รับอนุมัติแล้ว

             (๕) ให้ออก

         มาตรา ๑๗ ให้นำลักษณะ ๔ อันว่าด้วยจริยาพระคณาธิการในสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการมาบังคับใช้โดยอนุโลม

         มาตรา ๑๘ ให้สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง รักษาการตามกติกาสงฆ์นี้ และให้มีอำนาจวางระเบียบเพื่อปฎิบัติการให้เป็นไปตามกติกาสงฆ์นี้

         ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๘

ผู้รับสนองพระบัญชา

พระเทพเวที

สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง

รักษาการแทนสังฆนายก


[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓๓ เดือนกรกฎาคม และเดือนกันยายน ๒๔๘๘ หน้า ๑-๘

Views: 48