คำสั่งมหาเถรสมาคม
เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพ หรือสอบแข่งขัน
หรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์
พ.ศ. ๒๕๓๘[1]
——————–
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมจึงออกคำสั่งไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ คำสังมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า “ห้ามพระภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพ หรือสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ พ.ศ. ๒๕๓๘”
ข้อ ๒ คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยแเลิกคำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพ หรือสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ พ.ศ. ๒๕๒๑
ข้อ ๔ ห้ามภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพอย่างคฤหัสถ์ในโรงเรียนหรือสถานที่ต่าง ๆ ปะปนกับชายหญิง เช่น พิมพ์ดีด ชวเลข คอมพิวเตอร์ การบัญชี ช่างวิทยุ-โทรทัศน์ ช่างไฟฟ้า ช่างเครื่องยนต์ และวิชาชีพอย่างอื่นที่นับว่าเป็นวิชาชีพอย่างคฤหัสถ์
ข้อ ๕ ห้ามภิกษุสามเณรสอบแข่งขัน สอบคัดเลือก เพื่อเข้ารับราชการ หรือการอาชีพอย่างคฤหัสถ์
ข้อ ๖ ห้ามภิกษุสามเณรสอบแข่งขันเพื่อรับทุนรัฐบาล ทุนต่างประเทศและทุนอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในลักษณะเดียวกัน
ข้อ ๗ ภิกษุรูปใดฝ่าฝืนคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้
(๑) ถ้ามิได้เป็นพระสังฆาธิการ
ก. ให้เจ้าอาวาสเจ้าสังกัดตักเตือนภิกษุสามเณรรูปนั้นน ให้เลิกกระทำเช่นนั้นเสีย หากตักเตือนแล้วยังฝ่าฝืนอีก ให้จัดการให้ภิกษุสามเณรรูปนั้นออกไปเสียจากวัด และให้บันทึกเหตุให้ออกนั้นในหนังสือสุทธิ แล้วรายงานตามลำดับชั้น จนถึงเจ้าคณะจังหวัดเจ้าสังกัดทราบ
(๒) ถ้าเป็นพระสังฆาธิการ ให้เจ้าคณะเจ้าสังกัดพิจารณาลงโทษฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการตามควรแก่กรณี แต่ถ้าพระสังฆาธิการได้กระทำความผิดในเขตจังหวัดที่ตนมิได้สังกัดอยู่ ให้เจ้าคณะในเขตที่ความผิดนั้นเกิดขึ้น แจ้งแก่เจ้าสังกัดของผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินการดังกล่าวแล้วโดยแยกการแจ้งดังนี้
(ก) ในกรุงเทพมหานครให้แจ้งแก่เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร
(ข) ในจังหวัดอื่น ให้แจ้งเจ้าคณะจังหวัดผ่านเจ้าคณะภาค
สั่ง ณ วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
(สมเด็จพระญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
[1] ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๓ : ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๘