ตอนที่ ๓
วิธีแต่งตั้งรองและผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์
—————
โดยที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้กำหนดหน้าที่เจ้าอาวาสไว้อย่างกว้างขวาง กล่าวคือครอบคลุมกิจการคณะสงฆ์และกิจการพระศาสนาอย่างทั่วถึง ไม่เพียงแต่เท่านั้น หน้าที่เจ้าอาวาสยังมีบัญญัติไว้ในบทบัญญัติอื่น ทั้งยังมีที่เนื่องด้วยการแผ่นดินและการของสาธารณชนทั่วไป ขอบเขตแห่งงานในหน้าที่เจ้าอาวาสจึงมีมาก และเป็นงานที่ต้องปฏิบัติทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะวัดเป็นฐานแห่งการคณะสงฆ์และการพระศาสนา เจ้าอาวาสต้องรับภาระทุกอย่างในวัด บางวัดเป็นวัดเล็ก เจ้าอาวาสเพียงรูปเดียงก็พอรับภาระได้ดี แต่บางวัดเป็นวัดขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่มาก เจ้าอาวาสเพียงรูปเดียวไม่สามารถรับภาระได้ ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์จึงกำหนดให้มีรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสเพิ่มขึ้นได้ และในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ กำหนดให้ระบุหน้าที่ที่ตนจะมอบหมายให้ปฏิบัติ ไว้ในหนังสือขอแต่งตั้งรองเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาส ข้อนี้ แสดงชัดเจนถึงเจตนารมณ์แห่งกฎมหาเถรสมาคมว่า “ต้องการให้รองเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาสเป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสอย่างแท้จริง มิใช่แต่งตั้งเพื่อประดับเกียรติหรือเพื่อประโยชน์อื่นใด” อันวิธีแต่งตั้งรองเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์นั้น ยึดหลักเกณฑ์และวิธีการตามความในข้อ ๖, ๒๖ และ ๒๘ แห่งกฎมหาเถร-สมาคม ฉบับที่ ๒๔ ดังนี้
๑. หลักเกณฑ์
๑.๑ จำนวน
(๑) รองเจ้าอาวาส วัดหนึ่งควรมีรูปเดียว (เว้นมีความจำเป็นอย่างแท้จริง)
(๒) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ควรมีตามสมควรแก่ปริมาณงาน
๑.๒ คุณสมบัติกำหนดเช่นเดียวกับเจ้าอาวาส
๒. วิธีการ
๒.๑ เจ้าอาวาสเป็นผู้คัดเลือกเสนอตามลำดับ
๒.๒ เจ้าคณะจังหวัดพิจารณาแต่งตั้ง
๒.๓ เมื่อแต่งตั้งแล้วมีการแจ้งและรายงานดังตำแหน่งอื่น
อนึ่ง ในหลักเกณฑ์และวิธีการ มิได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า วัดเช่นใด ควรมีรองเจ้าอาวาส วัดเช่นใด ควรมีผู้ช่วยเจ้าอาวาสและควรมีได้เท่าใด ข้อนี้ ต้องอยู่ในดุลยพินิจของเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดผู้พิจารณาแต่งตั้ง หากจะคิดส่วนเฉลี่ย ควรมีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาย้อนหลัง ๓ พ.ศ. ไม่น้อยกว่า พ.ศ. ละ ๒๐ รูป ต่อ ๑ รูป หากจะต่ำกว่า ๒๐ รูปไปบ้าง ก็ควรเป็นวัดที่มีเนื้อที่กว้างขวาง มีปริมาณงานมากหรือเจ้าอาวาสอยู่ในวัยชรา และยังไม่เคยมีอยู่แม้แต่รูปเดียว ควรให้รายละเอียดในประวัติพระภิกษุที่ขอแต่งตั้ง