ตอนที่ ๑ สมเด็จพระราชาคณะ

ตอนที่ ๑

สมเด็จพระราชาคณะ

———————-

        คำว่า สมเด็จพระราชาคณะ เป็นชื่อประเภทแห่งสมณศักดิ์ คำว่า สมเด็จพระ  เป็นคำนำหน้าราชทินนาม  คำว่า สมเด็จ  เป็นคำยกย่องชั้นสูง  ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน  ในสมัยสุโขทัยไม่ปรากฏคำนี้เลย  แม้พระนามของพระมหากษัตริย์ก็มิได้มีคำว่า สมเด็จ นำหน้า  ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นลำดับมา  นิยมใช้คำนี้เป็นคำยกย่องชั้นสูง และปรากฏว่ามีสมเด็จพระราชาคณะติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน  เดิมสมเด็จพระราชาคณะเป็นตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ชั้นเจ้าคณะใหญ่มาโดยตลอด  จนถึงสมัยใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช ๒๔๘๔  ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ  จึงแยกจากตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ชั้นสูง  แต่ในปัจจุบันสมเด็จพระราชาคณะ  เป็นตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคมและสกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระราชาคณะแยกโดยประเภทเป็น ๒ คือ.-

        ๑.  สมเด็จพระสังฆราช

        ๒.  สมเด็จพระราชาคณะ

        สมเด็จพระสังฆราช  คือตำแหน่งประมุขสงฆ์หรือตำแหน่งพระสังฆบิดร  มิใช่เป็นพระนามของประมุขสงฆ์  ส่งนามของพระประมุขสงฆ์นั้น  ที่ผ่านมา  ถ้าเป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือราชวงศ์ย่อมมีพระนามต่างกันตามที่ทรงสถาปนา  ถ้ามิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ย่อมมีพระนามอย่างเดียวกันทุกพระองค์คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีพระราชทานพิเศษบางพระองค์ เช่น  “สมเด็จพระญาณสังวร” สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน  สมเด็จพระสังฆราชเป็นสมณศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฏพิเศษ  ผู้ดำรงพระอิสริยยศชั้นนี้  แม้มิได้พระบรมวงศานุวงศาก็ทรงใช้ราชาศัพท์  การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น  ทรงโปรดให้มีพระราชพิธีจารึกพระนามในสุพรรณบัฏ  (แผ่นทอง)  และทรงโปรดให้จัดพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชพิธีพิเศษ  สมเด็จพระสังฆราชตามกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบัน  ย่อมทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก  และตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม  ว่าโดยลักษณะที่โปรดสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชมี ๓ ชั้น  คือ.-

        ๑.  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า

        ๒.  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

        ๓.  สมเด็จพระสังฆราช

        สมเด็จพระสังฆราช      มีฐานานุศักดิ์ทรงตั้งฐานานุกรมได้   ๑๕    รูป    คือ  พระราชาคณะปลัดขวา  ๑  พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑  พระครูฐานานุกรมมีนิตยภัต ๔  พระครูฐานานุกรมไม่มีนิตยภัต ๙ 

        สมเด็จพระราชาคณะ  เป็นตำแหน่งรององค์ประมุขสงฆ์ นับเป็นอิสริยยศชั้นสูง  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สมณศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฏ  การสถาปนานั้นโปรดให้มีพระราชพิธีจารึกราชทินนามในสุพรรณบัฏ (แผ่นทอง) แล้วโปรดพระราชทานสถาปนาพระราชา-คณะชั้นเจ้าคณะรองขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ  สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง  ปัจจุบัน (๕ ต.ค. ๔๒) มี ๘  คือ.-

        ๑.  สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี

        ๒.  สมเด็จพระมหามุนีวงศ์

        ๓.  สมเด็จพระพุฒาจารย์

        ๔.  สมเด็จพระมหาธีราจารย์

        ๕.  สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

        ๖.  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

        ๗.  สมเด็จพระวันรัต

        ๘.  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

        สมเด็จพระราชาคณะทุกตำแหน่ง    มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้  ๑๐  รูป  พระครูปลัดมีราชทินนาม พร้อมทั้งสร้อยนามและนิตยภัต และมีศักดิ์สูงกว่าเปรียญ-ธรรม ๙ ประโยค

Views: 49