ตอนที่ ๕
เปรียญ
————-
“เปรียญ” เป็นคำที่ใช้อยู่ในวงการคณะสงฆ์ในปัจจุบันซึ่งเป็นคู่กับว่า “พระมหา” ขอขยายความเพื่อเป็นแนวทางการศึกษาดังนี้
๑. “เปรียญ” เป็นชื่อประเภทแห่งสมณศักดิ์ซึ่งโปรดพระราชทานแก่ผู้สอบความ รู้บาลีได้ แต่มิใช่เป็นเครื่องหมายสมณศักดิ์ ดังคำว่า ”พระราชาคณะ” เป็นชื่อแห่งประเภทสมณศักดิ์ชั้นสูง มิใช่คำที่จะนำไปใช้นำหน้าราชทินนาม คำนำหน้าเปรียญใช้ว่า “พระมหา” เหมือนคำนำหน้าราชทินนามของพระราชาคณะว่า “พระ” เปรียญตามนัยนี้มีขึ้นเพราะการทรงตั้ง
๒. “เปรียญ” เป็นชื่อของวิทยฐานะทางปริยัติธรรมดังปริญญาเป็นชื่อของวุฒิทางโลก เปรียญตามนัยนี้มี ๒ แบบคือ แบบเดิม เป็นวิทยฐานะของผู้สอบได้บาลีอย่างเดียว มิได้สอบนักธรรมด้วย ไดัแก่ เปรียญสมัยก่อนเรียกกันว่า “เปรียญ” (ป.) หรือ “เปรียญบาลี” (ปบ.) แบบปัจจุบัน เป็นวิทยฐานะของผู้สอบนักธรรมเป็นพื้นฐานแล้วจึงสอบได้บาลี เรียกว่า“เปรียญธรรม” (ป.ธ.) เปรียญธรรมตามความหมายนี้ ใช้ลงต่อท้ายราชทินนามหรือนามเดิมของผู้สอบได้เพื่อแสดงวิทยฐานะ เช่น พระศรีกิตติเวที ป.ธ.๙ อ่านเต็มว่า “พระศรีกิตติเวที เปรียญธรรม ๙ ประโยค” หรือ “พระมหาอุดม อุตฺตโม ป.ธ.๘“ อ่านเต็มว่า “พระมหาอุดม อุตฺตโม เปรียญธรรม ๘ ประโยค” และเปรียญธรรมตามนัยนี้มาพร้อมกับการสอบได้บาลี ๓ ประโยคขึ้นไป
๓. “พระมหา” เป็นคำที่พระราชทานให้ใช้นำหน้านามเดิมของผู้สอบได้บาลี ๓ ประโยคขึ้นไป ซึ่งได้รับการทรงตั้งเปรียญแล้ว จึงเป็นเครื่องหมายของเปรียญที่ทรงตั้งแล้วนั่นเอง เวลาทรงตั้งเรียกว่า “ทรงตั้งเปรียญ” พัศยศเรียกว่า “พัดยศเปรียญ” คำเป็นเครื่องหมายสมณศักดิ์ใช้ว่า “พระมหา” และคำว่า “พระมหา” โบราณเคยใช้นำหน้า ผู้ที่ทรงโปรดพิเศษก็มี เช่น “พระมหาโต พฺรหฺมรํสี” วัดระฆังโฆสิตาราม โปรดในรัชกาลที่ ๑ เพราะเทศน์ได้ไพเราะและโปรดให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง แต่ในปัจจุบันนี้ โปรดพระราชทานเฉพาะผู้สอบบาลีได้ ๓ ประโยคขึ้นไปอย่างเดียว รูปใดได้รับการทรงตั้งเปรียญเป็น “พระมหา” แล้ว ถ้าได้รับการตั้งเป็นดำรงสมณศักดิ์อื่น ความเป็นพระมหาย่อมสิ้นสภาพไป ถ้าลาออกจากสมณศักดิ์แล้ว จะใช้คำว่า “พระมหา” อีกมิได้ หรือลาสิกขาแล้วกลับอุปสมบทใหม่ จะใช้คำว่า “พระมหา”อีกก็มิได้ แต่เพราะเปรียญธรรมซึ่งเป็นวิทยฐานะยังคงอยู่ มีสิทธิสอบบาลีประโยคสูงต่อได้
๔. คำว่า “เปรียญ” นั้น ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นลำดับมา เรียกว่า “บาเรียน” แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ บาเรียนตรี บาเรียนโท บาเรียนเอก ในรัชกาลที่ ๒ ทรงปรับปรุงเป็น “บาเรียน ๓ ประโยค” ถึง “บาเรียน ๙ ประโยค” และเทียบกันได้ บาเรียน ๓ เทียบกับบาเรียนตรี บาเรียน ๔-๕-๖ เทียบกับบาเรียนโท บาเรียน ๗-๘-๙ เทียบกับบาเรียนเอก ต่อมาถึงปลายรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนคำว่า “บาเรียน” เป็น “เปรียญ” คงจัดชั้นดังที่ปรับปรุงในรัชกาลที่ ๒ และได้ใช้สืบมาจนถึงในปัจจุบัน
บาเรียน เป็นชื่อคน หมายถึงผู้สามารถเป็นครูสอน เป็นชื่อวิทยฐานะ หมาย ถึงความรู้ชั้นครูสอน เป็นชื่อสมณศักดิ์ หมายถึงสมณศักดิ์ชั้นผู้เป็นครูสอน คำนี้มี ความหมายถึงความรู้และความสามารถ
เปรียญ เป็นชื่อคน หมายถึงผู้รู้รอบ เป็นชื่อวิทยฐานะหมายถึงความรู้รอบ เป็นชื่อสมณศักดิ์ หมายถึงสมณศักดิ์ชั้นผู้มีความรู้รอบ คำนี้หมายถึง “รู้ดีอย่างเดียว” มิได้หมายถึงความสามารถด้วย ๕. การทรงตั้งเปรียญ ในปัจจุบันนี้ เฉพาะผู้สอบได้บาลี ๓ ประโยค ทรงพระราชทานให้สมเด็จพระสังฆราชทรงตั้ง โดยประทานประกาศนียบัตรพัดยศชื่อว่าทรงตั้งแล้ว ผู้ได้รับการทรงตั้งเปรียญแล้วใช้คำว่า “พระมหา” นำหน้านามเดิม เคยทรงตั้งในวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๖ แต่มิได้กำหนดแน่นอน ส่วนผู้สอบได้บาลี ๖ ประโยค และ ๙ ประโยค ทรงเสด็จพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศและไตรจีวรเอง โดยปกติกำหนดวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
Views: 50