แผนงานสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม
พุทธศักราช ๒๕๔๒
โดยที่ได้กำหนดนโยบายสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม พุทธศักราช ๒๕๔๐ ขึ้นเป็นหลักในการบริหารสำนักเรียน ดังนั้น เพื่อให้การบริหารสำนักเรียนเป็นไปตามนโยบาย จึงกำหนดแผนงานสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม พุทธศักราช ๒๕๔๒ ไว้ ดังต่อไปนี้
บุคลากร
๑. สำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม มีเจ้าอาวาสเป็นเจ้าสำนักเรียนโดยตำแหน่ง และมีบุคลาการอื่นที่เจ้าสำนักเรียนแต่งตั้ง ดังนี้
๑.๑ ผู้ช่วยเจ้าสำนักเรียน
๑.๒ ผู้บริหาร
๑) อาจารย์ใหญ่สำนักเรียน ๒) เลขานุการสำนักเรียน
๓) รองอาจารย์ใหญ่ ๔) ผู้จัดการสาขา
๕) ผู้ช่วยเลขานุการ
๑.๓ ผู้สนองงาน
๑) ครู ๒) หัวหน้าฝ่าย
๓) เจ้าหน้าที่อื่น
๑.๔ ครูอาวุโส
ตำแหน่งดังกล่าวนี้ จะแต่งตั้งครบหรือไม่ก็ได้
๒. บุคลากรมีหน้าที่ ดังนี้
๒.๑ ผู้ช่วยเจ้าสำนักเรียน มีหน้าที่ตามที่เจ้าสำนักเรียนมอบหมายหรือสั่งการ
๒.๒ อาจารย์ใหญ่สำนักเรียน มีหน้าที่บริหารสำนักเรียนตามนโยบายและแผนงาน และตามที่เจ้าสำนักเรียนมอบหมายหรือสั่งการ
๒.๓ เลขานุการสำนักเรียน มีหน้าที่บริหารงานเลขานุการของสำนักเรียน
๒.๔ ผู้จัดการสาขา มีหน้าที่บริหารงานในสาขา และตามที่ได้รับมอบหมายหรือสั่งการ
๒.๕ ครู มีหน้าที่ทำการสอนและการอื่นที่รับมอบหมาย
๒.๖ หัวหน้าฝ่าย มีหน้าที่ปฏิบัติงานในฝ่าย และตามที่ได้รับมอบหมาย
๒.๗ เจ้าหน้าที่ มีหน้าที่ตามที่ได้กำหนดหรือสั่งการ
๒.๘ รองอาจารย์ใหญ่และผู้ช่วยเลขานุการ มีหน้าที่ช่วยแบ่งเบาภาระของอาจารย์ใหญ่หรือเลขานุการสำนักเรียน แล้วแต่กรณี
๓. คุณสมบัติบุคลากร
๓.๑ ผู้ช่วยเจ้าสำนักเรียน ต้องเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเป็นอาจารย์ใหญ่หรือเลขานุการสำนักเรียนมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๓ ปี หรือเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค
๓.๒ อาจารย์ใหญ่และเลขานุการสำนักเรียน ต้องเป็นครูสอนในสำนักเรียน หรือเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค
๓.๓ รองอาจารย์ใหญ่ และผู้ช่วยเลขานุการ ต้องเป็นครูสอนในสำนักเรียน
๓.๔ ผู้จัดการสาขา ต้องเป็นครูสอนในสำนักเรียน หรือเป็นเปรียญและเป็นหัวหน้าฝ่ายมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔ ปี
๓.๕ ครูสอนพระปริยัติธรรม ต้องเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า ๕ ประโยค และนักธรรมชั้นเอก สำหรับครูสอนในสาขาและครูสอนนักธรรมในสำนักเรียน ต้องเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า ๗ ประโยค หรือเป็นครูสอนในสาขามาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒ ปี สำหรับครูสอนบาลีในสำนักเรียน
๓.๖ ตำแหน่งอื่น แต่งตั้งตามความเหมาะสม
นิตยภัต
๔. สำนักเรียนกำหนดจัดตั้งนิตยภัตเป็นรายเดือน ดังนี้
๔.๑ ผู้ช่วยเจ้าสำนักเรียนและอาจารย์ใหญ่ เริ่มต้นเดือนละ ๗๐๐ บาท
๔.๒ เลขานุการ รองอาจารย์ใหญ่ และผู้จัดการสาขา เริ่มต้นเดือนละ ๖๐๐ บาท
๔.๓ ผู้ช่วยเลขานุการและครู เริ่มต้นเดือนละ ๕๐๐ บาท
๔.๔ ครูอาวุโส หัวหน้าฝ่าย และเจ้าหน้าที่อื่น อัตราคงที่เดือนละ ๕๐๐ บาท
ตำแหน่งตาม ๔.๑, ๔.๒, ๔.๓ ให้เพิ่มขึ้นปีละขั้น ๆ ละ ๑๐๐ บาท จนกว่าเจ้าสำนักเรียนจะสั่งเป็นอย่างอื่น การเพิ่มปีละเกิน ๑ ขั้น การงดเพิ่ม และการเพิ่มให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งตาม ๔.๔ ให้เป็นเจ้าหน้าที่ของเจ้าสำนักเรียน
ในกรณีที่ผู้มีตำแหน่งต่ำ แต่ได้รับนิตยภัตสูง ได้รับตำแหน่งสูงขึ้น ให้ปรับนิตยภัตตามไป และในกรณีที่รูปเดียวดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง ให้รับนิตยภัตเพียงตำแหน่งเดียว
ให้เลขานุการสำนักเรียนจัดทำบัญชีและเบิกจ่ายประจำทุกเดือนตามที่กำหนด โดยถือเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นเดือนปรับนิตยภัตใหม่
ภาคเรียนและเวลาเรียน
๕. สำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม กำหนดภาคเรียนเป็น ๒ ภาค คือ
๕.๑ แผนกธรรม
๑) ภาคปกติ
ก. ภาควิสาขะ เริ่มวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ ถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘
ข. ภาคเข้าพรรษา เริ่มวันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๘ ถึง วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑
๒) ภาคพิเศษ เริ่มวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นภาคอบรมนักธรรมก่อนธรรมสนามหลวง
๕.๒ แผนกบาลี
๑) ภาคปกติ
ก. ภาควิสาขะ เริ่มวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘
ข. ภาคเข้าพรรษา เริ่มวันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๘ ถึง วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑
ค. ภาคปวารณา เริ่มวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ในภาคนี้ แผนกบาลีบางชั้นอาจหยุดเรียน เพื่อเอื้อเฟื้อต่อการอบรมนักธรรมก่อนสอบธรรมสนามหลวง
๒) ภาคพิเศษ
(๑) เริ่มวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ถึงวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ภาคนี้เป็นภาคเตรียมรับนักเรียนใหม่และซักซ้อมหลักบาลีไวยากรณ์ และชั้นประโยค ๑-๒ ชั้นประโยค ป.ธ.๓-๕ ก่อนเปิดภาควิสาขะ
(๒) เริ่มวันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ หยุดสอนชั้นประโยค ป.ธ.๘-๙ ให้ไปเรียน ณ โรงเรียนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ณ วัดสามพระยา ชั้นประโยค ป.ธ.๖-๗ ให้พิจารณาตามความเหมาะสม ในภาคนี้สับเปลี่ยนครูสอนในชั้นที่คงสอนอยู่ เพื่อเร่งรัดการเรียนเป็นการภายใน โดยไม่ต้องออกคำสั่ง
(๓) ชั้นประโยค ๑-๒ ชั้นประโยค ป.ธ.๓-๕ คงสอนแบบเร่งรัด ตั้งแต่วันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ ไปถึงวันแรม ๗ ค่ำ เดือนยี่ ตั้งแต่วันแรม ๙ ค่ำ เดือน ยี่ ไปถึงวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๓ เป็นภาคอบรมบาลีก่อนสอนสนามหลวง
๖. สำนักเรียนกำหนดเวลาเรียนคิดเป็นปักษ์ เดือนเต็ม ปักษ์ละ ๑๑ วัน เดือนขาด ปักษ์ละ ๑๑ วัน ปักษ์หลัง ๑๐ วัน ๆ ละ คาบเดียวหรือ ๒ คาบ ๆ ละ ๓ ชั่วโมง ในภาคปกติให้หยุดเรียนเฉพาะวันโกนและวันพระ ในภาคพิเศษให้หยุดเรียนเฉพาะวันสังฆอุโบสถ หากจะหยุดวันอาทิตย์แทนวันโกนก็ได้ โดยข้อกำหนดหลัก ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี แต่ละชั้น ต้องมีเวลาเรียนไม่ต่ำกว่าวันละ ๓ ชั่วโมง
เพื่อควบคุมเวลาเรียนให้ได้มาตรฐาน และเพื่อเป็นข้อมูลประเมินผลเมื่อทราบผลการสอบแล้ว ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๔ เป็นต้นไป ให้เจ้าหน้าที่งานปกครองนักเรียนสำรวจเวลาเรียนทุกวันสิ้นสัปดาห์ โดยถือวันทางจันทรคติ เสนอผู้บริหารหรือเจ้าสำนักเรียนเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน และรายปี พร้อมทั้งปฏิบัติการอื่น ตามที่ผู้บริหารหรือเจ้าสำนักเรียนสั่งการ
สาขาของสำนักเรียน
๗. สำนักเรียนมีนโยบายจัดจั้งสาขาขึ้นในส่วนภูมิภาค และวิธีจัดตั้งสาขานั้นให้เปิดสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีเพื่อทดลองก่อน เมื่อเห็นว่าพอจะเป็นหลักได้ จึงประกาศตั้งเป็นสาขาของสำนักเรียน
เมื่อได้ประกาศตั้งเป็นสาขาแล้ว ต้องปรับปรุงการบริหารให้เป็นระบบ อย่างช้าต้องไม่เกิน ๓ ปี
การรับนักเรียน
๘. สำนักเรียนยอมรับว่า นักเรียนเป็นทรัพยากรที่สำคัญ และได้กำหนดนโยบายที่จะจัดหาและรับนักเรียนตามความเหมาะสม โดยกำหนดแผนงานในการนี้ไว้ ๓ แผน คือ แผนรอรับ ๑ แผนจัดหา ๑ แผนผสมผสาน ๑
การจัดหาสถานที่
๙. การจัดหาที่พักอาศัยให้นักเรียนนั้น สำนักเรียนถือเป็นภารกิจที่สำคัญ เพราะวัดมีเสนาสนะน้อย จึงมีแผนงานพิเศษ โดยเจ้าอาวาสเป็นเสนาสนคาหาปกะ จัดเสนาสนะให้พระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาเอง โดยยึดความเหมาะสมของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก
ส่วนการจัดหาสถานที่ศึกษาเล่าเรียนนั้น ก็ถือเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง เพราะโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่มีอยู่หลังเล็ก จัดห้องเรียนได้เพียง ๔ ห้อง อาจไม่เพียงพอในกาลต่อไป จึงมีแผนบริหารเวลาเรียน โดยให้เรียนทั้งภาคเช้า ภาคบ่าย และภาคค่ำ และอาจมีแผนงานสร้างอาคารเรียนใหม่ให้โอกาสที่สมควร
การจัดหาอุปกรณ์และทุน
๑๐. สำนักเรียนมีแผนจัดหาอุปกรณ์หลัก เช่น โต๊ะ เก้าอี้ พิมพ์ดีด เครื่องคอมพิวเตอร์ ตู้เอกสาร แบบเรียน รวมถึงห้องสมุด และอุปกรณ์ย่อย เช่น กระดาษ แฟ้มเอกสาร เครื่องใช้อื่น ๆ ให้เหมาะสมแก่การบริหารสำนักเรียนและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยการรับบริจาค หรือโดยวิธีการอื่น ๆ
๑๑. สำนักเรียนมีแผนจัดหาทุนใช้จ่ายประจำปีให้เพียงพอแต่ละปี เช่น ทุนใช้จ่ายประจำสำนักงาน ค่านิตยภัต ทุนจัดงานฉลองเปรียญธรรม ทุนศึกษาสงเคราะห์ และทุนสาธารณสงเคราะห์ โดยการรับบริจาค หรือโดยวิธีการอื่น
๑๒. สำนักเรียนมีแผนจัดตั้ง “กองทุนการศึกษา” เพื่อเป็นหลัก ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มสะสมเป็นการภายในก่อน จะประกาศตั้งกองทุนในปี ๒๕๔๕ เป็นอย่างช้า โดยจะวางระเบียบบริหารกองทุนให้ชัดเจน และอาจมีการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิให้โอกาสต่อไป
งานฉลองเปรียญธรรม
๑๓. งานฉลองเปรียญธรรม สำนักเรียนถือเป็นภารกิจสำคัญยิ่ง จึงกำหนดจัดงานดังกล่าวเป็นประจำทุกปี ในวันอาทิตย์แรกของเดือนกันยายน แต่ถ้าปีใดวันดังกล่าวตรงกับวันสังฆอุโบสถ ให้เลื่อนไปเป็นวันอาทิตย์ที่ ๒ ของเดือน โครงสร้างงานมี.- ตั้งพัศยศเปรียญ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญพระพุทธมนต์ ถวายทักษิณานุประทานแด่อดีตเจ้าอาวาส มอบทุนการศึกษาแก่ผู้สอบบาลีได้ มอบทุนการศึกษาสงเคราะห์ มอบทุนสาธารณสงเคราะห์ และอาจมีการทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อหารายได้เป็นทุนใช้จ่ายประจำปีและสมทบกองทุน
เบ็ดเตล็ด
๑๔. นโยบายใดที่มิได้กำหนดไว้ในแผนงานนี้ ให้เป็นไปตามที่เจ้าสำนักเรียนสั่งการ
๑๕. ให้ใช้แผนงานนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป และนับแต่วันใช้แผนงานนี้ ให้ยกเลิกบรรดาคำสั่ง ประกาศ หรือข้อกำหนดอื่นใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับแผนงานนี้
กำหนดไว้ ณ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๒
(พระเทพปริยัติสุธี)
เจ้าสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม
Views: 3