ข้าพเจ้าได้สนใจและใฝ่รู้วิชากวีนิพนธ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อเป็นนักเรียนบาลีชั้นประโยค ป.ธ.๓ เพราะวิชาบุรพภาคชั้นประโยค ป.ธ.๓ กำหนดเอาหนังสือราชการและกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ เป็นหลักสูตร โดยกำหนดให้แก้ถ้อยคำ จัดวางรูปเรื่อง และจัดวรรคตอนให้ถูกต้องกับชนิดหนังสือนั้น ๆ จึงต้องเรียนแบบแผนของวิชาเหล่านี้ตามควรแก่ภูมิปัญญา ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าเกิดความรักและใฝ่รู้วิชากวีนิพนธ์ และเรื่องหนังสือราชการแต่นั้นมา
ครั้น พ.ศ. ๒๕๐๑ ซึ่งสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยคแล้ว ได้เข้ามาอยู่
ณ วัดมหาธาตุ จึงได้โอกาสศึกษาและฝึกแต่งกาพย์ กลอน และโคลง ครั้นสอบได้ประโยค
ป.ธ.๖ แล้ว ได้ฝากตัวเป็นศิษย์วิชากวีนิพนธ์ ในพระเดชพระคุณพระพิมลธรรม
(ชอบ อนุจารีเถร) เจ้าอาวาสวัดราษฎร์บำรุง เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี เจ้าคณะตรวจการภาค
๒ สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา แม่กองธรรมสนามหลวง และราชบัณฑิต
(เมื่อยังเป็นพระธรรม
โกศาจารย์) พระเดชพระคุณให้ความเมตตาเป็นล้นพ้น เคยแต่งนิราศบางคล้า นิราศอรัญประเทศ
และนิราศนครสวรรค์ เป็นกลอนถวายเพื่อตรวจแก้ ก็ได้รับอนุเคราะห์ด้วยดี ครั้น พ.ศ.
๒๕๐๓ เมื่อเรียนชั้นประโยค ป.ธ.๘ จึงได้เรียนวิชาฉันท์ทั้งภาษามคธและภาษาไทย
โดยฝึกแต่งเองและขอความรู้จากท่านผู้รู้หลายท่าน และต่อมาได้สอนวิชากลอนแก่พระภิกษุสามเณรเป็นพิเศษ
จนมีนักเรียนพอแต่งกลอนได้หลายรูป
ครั้น พ.ศ. ๒๕๐๖ เมื่อสอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยคแล้ว ได้แต่งนิราศถ้ำมังกรเป็นโคลง ๔ สุภาพ ถวายพระเดชพระคุณเพื่อตรวจแก้ เมื่อพระเดชพระคุณตรวจแล้ว ให้คำชมเชยและขอให้ทำงานกวีนิพนธ์ต่อไป ข้าพเจ้าน้อมรับโอวาทนั้น และตั้งใจทำงานนี้ต่อมาตามลำดับ ขาดคราวไปบ้างในบางกาล ทั้งนี้ เพราะงานในหน้าที่อื่นบังคับ ต่อมาได้โอกาสเขียนกวีนิพนธ์ต่อเนื่องบ้าง โดยได้แต่งกวีออกเผยแพร่หลายเรื่อง ทั้งที่แต่งเป็นกลอน โคลง ฉันท์ กาพย์ และร่าย เป็นการแต่งอย่างครบวงจร ในปีนี้พิจารณาเห็นว่า การแต่งเพื่อให้ผู้อื่นอ่านอย่างเดียวก็ดีอยู่ แต่ถ้าเขียนแบบแผนการแต่งไว้เพื่อให้คนอื่นศึกษาและแต่งตามได้ จะเกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาล จึงตัดสินใจเรียบเรียงตำรากวีนิพนธ์ขึ้น โดยจัดเรียบเรียงอย่างครบถ้วน คือ ทั้งร่าย กาพย์ กลอน โคลง และฉันท์
คำว่า ร่าย เป็นคำโบราณ อาจหมายถึงการร่ายเวทมนต์ การเสกเป่า การร่ายรำ ร่ายเป็นคำประพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นก่อนกวีประเภทอื่น เพราะลักษณะคำเป็นแบบธรรมชาติของคำพูด แต่มีสัมผัสกันบ้างเพียงเล็กน้อย เพราะชาวไทยทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคอีสาน พูดจากันมักจะมีรูปคำสัมผัสแบบร่ายอยู่ จึงเห็นว่าร่ายน่าจะมีมาก่อนกวีประเภทอื่น
กาพย์ แปลเอาความว่า “คำของกวี” กล่าวคือคำของนักปราชญ์ ซึ่งแต่เดิมครอบคลุมถึงคำประพันธ์ทุกชนิดโดยแท้ เฉพาะกาพย์เราได้แบบจากคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินีและกาพย์คันถะ ซึ่งคัมภีร์นี้จะแต่งที่ลังกาหรืออินเดีย หรือลานนาไทยก็ตาม ถือว่าเป็นแบบได้อย่างดี ดูเหมือนว่าแบบกาพย์ในคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินี ใช้เป็นแบบโคลงโบราณอยู่ ในปัจจุบันคำว่า “กาพย์” หมายเอาเฉพาะกาพย์เท่านั้น
กลอน เป็นคำกวีประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความนิยมมากในปัจจุบัน น่าจะดัดแปลงมาจากปัฐยาวัตรฉันท์ ซึ่งมี ๔ บาท ๆ ละ ๘ คำ รวมเป็น ๓๒ คำ ซึ่งนำมาปรับปรุงเป็นกลอน ๘ โดยตรง เพิ่มคำอีกวรรคละ ๑ คำ ก็เป็นกลอน ๙ ลดลงวรรคละ ๑ คำ ก็เป็นกลอน ๗ ลดลงวรรคละ ๒ คำ ก็เป็นกลอน ๖ และปรับให้มีสัมผัสนอกและสัมผัสใน และกลอนอื่น ๆ ก็ปรับปรุงจากกลอนทั้ง ๔ ชนิดนี้
โคลง เป็นคำประพันธ์ที่ได้แบบมาจากกาพย์อย่างชัดเจน แม้แต่โคลงโบราณก็กำหนดเอากาพย์เป็นโครงสร้าง ส่วนโคลงในปัจจุบันทั้งโคลงสุภาพและโคลงดั้น เข้าใจว่าปรับปรุงมาจากกาพย์ เพียงแต่เพิ่มวรรณยุกต์ เอก โท เข้า และปรับปรุงสัมผัสให้เหมาะสมเท่านั้น
ฉันท์ เป็นคำประพันธ์ที่ยึดแบบตายตัว ซึ่ง “ฉันท์” แปลตามรูปศัพท์ว่า คำที่ปิดเสียซึ่งโทษ หมายความว่า คำที่ไม่มีข้อบกพร่อง จะเพิ่มเติมใด ๆ มิได้เหมือนคำกวีประเภทอื่น ไทยเราได้แบบจากคัมภีร์วุตโตทัย ซึ่งต้นแบบเรียกว่า “คาถา” กำหนดเป็นวรรณพฤติและมาตราพฤติ ท่านบัญญัติหลักเกณฑ์เพื่อตรวจคาถาในพระไตรปิฎกและอื่น ๆ ว่าบทใดเป็นคาถาประเภทไหน เราได้นำคาถาดังกล่าวมาวางเป็นหลักเกณฑ์การประพันธ์ และเรียกใหม่ว่า “ฉันท์” ยึดสูตรเดิมแต่ละสูตรเป็นหลัก และกำหนดสัมผัสเพิ่มเข้า มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในการเรียบเรียงตำรากวีนิพนธ์เล่มนี้ ต้องใช้ความอุตสาหะวิริยะอย่างสูง เพราะต้องศึกษาทบทวนเรื่องนี้จากตำรับตำราเกี่ยวกับการกวีนิพนธ์ ทั้งในพากย์ภาษามคธและพากย์ภาษาไทยหลายเล่ม เพื่อประกอบความรู้ความเข้าใจเดิมที่ได้ศึกษาและค้นคว้ามาตามลำดับ ตั้งแต่เป็นนักเรียนบาลีชั้นประโยค ป.ธ.๓ และความรู้ที่ได้จากครูอาจารย์แต่อดีต เมื่อได้ศึกษาเห็นว่าถูกต้องแล้ว จึงวางโครงสร้างตำรากวีนิพนธ์ โดยวางบทนำเรื่องเป็นลำดับแรก แล้วกำหนดรายละเอียดของเรื่องตามประเภทกวีเป็น ๕ บท คือ ร่าย กาพย์ กลอน โคลง และ
ฉันท์ ศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ จนเกิดความมั่นใจ แล้วกำหนดรูปแบบแผนผังของกวีนิพนธ์แต่ละประเภท แล้วแต่งบทประพันธ์นั้น ๆ พอเป็นตัวอย่าง ประเภทละ ๑-๕ บท แล้วเริ่มเขียนตามลำดับ ความเบื้องต้นเป็นบทนำ แล้วกำหนดเขียนเป็นบท คือ บทที่ ๑ ว่าด้วยร่าย บทที่ ๒ ว่าด้วยกาพย์ บทที่ ๓ ว่าด้วยกลอน บทที่ ๔ ว่าด้วยโคลง บทที่ ๕ ว่าด้วยฉันท์ บทที่ ๖ ว่าด้วยปกิณณกะ และบทที่ ๗ ว่าด้วยวิธีการ
เฉพาะความเบื้องต้น ได้เรียบเรียงพอเป็นบทนำ เพื่อให้รู้เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับกวี และรู้ชื่อประเภทกวีทั้ง ๕ ประเภทว่าได้แก่อะไรบ้าง เพื่อจำเป็นหลักในการศึกษา และให้ข้อแนะนำพิเศษ โดยเฉพาะคือเรื่องสระ พยัญชนะ และเครื่องประกอบอื่น เพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องการใช้ศัพท์ภาษาไทย การอ่านคำประพันธ์ และจังหวะแต่พอย่อ ๆ
เรื่องร่าย ได้ขยายให้ทราบความเป็นมาของร่าย ๒ ชนิด คือ ร่ายสุภาพ และร่ายดั้น เพียงแสดงแผนผังและแต่งร่ายเป็นตัวอย่างไว้ มิได้อธิบายกว้างขวาง เพราะเห็นว่าไม่สู้ยาก
เรื่องกาพย์ ได้นำมาขยายความทั้งสิ้น ๒๔ กาพย์ ซึ่งมีมาในคัมภีร์และนอกคัมภีร์ โดยนำแผนผังมาตั้งแสดงและอธิบายประกอบตามลำดับชนิด แล้วลงกาพย์ตัวอย่างซึ่งแต่งใหม่ตามลำดับตั้งแต่ต้นจนจบ กาพย์นั้นแม้จะมีถึง ๒๔ กาพย์ ก็คุ้นหูอยู่เพียง ๔-๕ กาพย์เท่านั้น
เรื่องกลอน เป็นที่ชินหูมากกว่าทุกประเภท แต่ก็คงเป็นบางชนิด ผู้ที่จะเข้าใจทุกชนิดได้ดีคงมีน้อย กลอนนั้นแยกเป็นชนิดได้ ๔ ชนิด คือ กลอนสุภาพ กลอนลำนำ กลอนตลาด และกลอนเพลงปฏิพากย์ แต่ละชนิดยังมีหลายแบบ บางชนิดก็คล้ายกัน ได้แสดงแผนผังและตัวอย่างพร้อมอธิบายประกอบไว้พอควร เฉพาะที่แสดงแผนผังและกลอนตัวอย่างไว้ถึง ๒๕ ชนิด เพราะกลอนเพลงปฏิพากย์หรือเพลงปฏิพาทย์ชนิดเดียวแยกเป็นถึง ๑๕ อย่าง เพราะเป็นประเภทเพลง อนึ่ง ในปัจจุบันนี้มีเพลงใหม่เกิดขึ้น การแต่งเพลงต่าง ๆ ล้วนอยู่ในหลักของกลอนเพลงปฏิพากย์ทั้งนั้น จึงมิอาจนำมากล่าวให้ครบถ้วนได้
เรื่องโคลง เป็นบทประพันธ์ชั้นสูง มีชนิดหลักเพียง ๒ คือ โคลงสุภาพ และโคลงดั้น ได้กำหนดแผนผังและแต่งตัวอย่างประกอบตามชนิดนั้น ๆ โดยอาศัยโคลงที่เคยประพันธ์ไว้เดิมและแต่งเพิ่มขึ้นใหม่
ส่วนฉันท์นั้น เป็นคำประพันธ์ชั้นสูงสุด ซึ่งได้แบบมาจากคัมภีร์วุตโตทัย ในคัมภีร์วุตโตทัย ท่านกำหนดคาถาไว้ ๒ ชนิด คือ คาถาวรรณพฤติ และคาถามาตราพฤติ วรรณพฤติมี ๘๑ คาถา มาตราพฤติมี ๒๗ คาถา กำหนดไว้เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดคาถาในพุทธพจน์ว่าเป็นคาถาอะไร ไทยเรานำสูตรที่กำหนดไว้เป็นแบบแต่งฉันท์ เป็นวรรณพฤติ ๘๑ ฉันท์ และมาตราพฤติ ๒๗ ฉันท์ โดยได้เพิ่มสัมผัสเข้าให้เหมาะสม มีมาแล้วแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ปรากฏว่ามีเรื่องที่แต่งเป็นคำฉันท์หลายเรื่อง มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงกำหนดวางแบบโครงสร้างที่ชัดเจน และแต่งเพิ่มเติมจากเดิม แต่ยังไม่ครบทุกฉันท์ ต่อมานายฉันท์ ขำวิไล เปรียญ สำนักวัดมหาธาตุ ได้ปรับปรุงและบัญญัติเสริมส่วนที่ยังมิได้บัญญัติเป็นภาษาไทย จนครบทั้งวรรณพฤติและมาตราพฤติ และจัดพิมพ์รวมเล่ม เรียกว่า ฉันทศาสตร์ ซึ่งถือเป็นแบบการแต่งฉันท์ไทยต่อมา รวมทั้ง ๒ แบบ เป็นฉันท์ ๑๐๘ พอดี เมื่อข้าพเจ้าเรียบเรียงตำรากวีนิพนธ์ในคราวนี้ จะเรียบเรียงไว้เฉพาะฉันท์วรรณพฤติ และที่เห็นว่าควรได้บัญญัติเพิ่มขึ้น เพราะยังมีช่องว่างในคัมภีร์วุตโตทัยนั้น พอเพิ่มได้ ๑๐ ฉันท์ และมีฉันท์ที่พบในที่บางแห่งไม่ปรากฏชัดอีก ๒ ฉันท์ รวม ๑๒ ฉันท์ จึงเพิ่มเข้าในหนังสือเล่มนี้ เมื่อรวมแล้วจึงมี ๙๓ ฉันท์ อนึ่ง ยังพบในที่อื่นว่ามีผู้บัญญัติฉันท์เพิ่มแล้ว ๑๓ ฉันท์ มีปรากฏผู้บัญญัติชัดเจน แต่มิได้นำมาเพิ่มเข้า ต่อไปอาจมีผู้บัญญัติเพิ่มขึ้นอีก
ในการเรียบเรียงตำรากวีนิพนธ์นี้ ข้าพเจ้าพยายามจะให้เป็นแบบอย่างในการศึกษาและฝึกหัดแต่ง สำหรับผู้ใคร่ต่อการประพันธ์ แต่เวลามีน้อย อาจมีข้อบกพร่องบ้าง ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าก็มั่นใจว่าตำราเล่มนี้ จักอำนวยประโยชน์ให้แก่ท่านผู้สนใจใฝ่รู้ได้เป็นอย่างดี
รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา
ขอให้ฉันปัญญาดีเลิศปรีชา เด่นฐานาสมปรารถน์ทุกชาติเทอญ.
พระธรรมปริยัติโสภณ (วรวิทย์)
วัดโมลีโลกยาราม กรุงเทพมหานคร
๑ ตุลาคม ๒๕๕๑