ลักษณะ ๒
ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรม
——————–
เรื่องผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมตามลักษณะ ๒ รวม ๗ ข้อ เป็นส่วนหลักเกณฑ์อันสำคัญ เพื่อให้สะดวกแก่การศึกษา จะรวมเป็น ๕ ประเด็น คือ.-
๑. อำนาจลงนิคหกรรม
อันอำนาจลงนิคหกรรมในลักษณะ ๒ นี้ ก็คืออำนาจตุลาการ ซึ่งแยกเป็น ๒ คือ อำนาจผู้ปกครอง ๑ อำนาจคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ๑
อำนาจผู้ปกครอง ได้แก่ อำนาจที่ใช้ในวิธีปฏิบัติเบื้องต้น บัญญัตินามผู้ใช้ว่า “ผู้พิจารณา” มี ๒ ประเภท คือ.-
(๑) ผู้พิจารณาเจ้าสังกัด
(๒) ผู้พิจารณาเจ้าของเขต
ว่าโดยอันดับมี ๗ อันดับ คือเจ้าอาวาส ๑ เจ้าคณะตำบล ๑ เจ้าคณะอำเภอ ๑ เจ้าคณะจังหวัด ๑ เจ้าคณะภาค ๑ เจ้าคณะใหญ่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช ๑
อำนาจคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ได้แก่ อำนาจไต่สวนมูลฟ้องและอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม บัญญัตินามผู้ใช้ว่า “คณะผู้พิจารณาชั้นต้น” ผู้ร่วมคณะกำหนด ๓ ตำแหน่ง จัดเป็น ๗ อันดับ ซึ่งผู้มีตำแหน่งสูงเป็นหัวหน้า คือ.-
(๑) อันดับ ๑.-เจ้าคณะอำเภอ เจ้าสังกัด เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส
(๒) อันดับ ๒.-เจ้าคณะอำเภอ และ รจอ., จต.
(๓) อันดับ ๓.-เจ้าคณะจังหวัด และ รจจ., จอ.
(๔) อันดับ ๔.-เจ้าคณะภาค และ รจภ., จจ.
(๕) อันดับ ๕.-เจ้าคณะใหญ่ และ จภ.,จภ.
(๖) อันดับ ๖-๗ เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม
๒. ประเภทแห่งพระภิกษุผู้กระทำความผิด
ที่ท่านกำหนดคณะผู้พิจารณาชั้นต้นไว้ ๗ อันดับก็เพื่อให้สอดคล้องกับพระภิกษุผู้กระทำความผิด มีหลายชั้นหลายฐานะ ซึ่งมี ๔ ประเภท
(๑) พระภิกษุซึ่งมิใช่ผู้ปกครองสงฆ์
(ก) รูปเดียวหรือหลายรูปสังกัดวัดเดียวกัน
(ข) หลายรูปสังกัดต่างกัน
(๒) พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์
(ก) พระสังฆาธิการ
(ข) เจ้าคณะใหญ่ และกรรมการมหาเถรสมาคม
(๓) ประเภทอนุโลม
(ก) ผู้เป็นกิตติมศักดิ์
(ข) ผู้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะ
(ค) ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบพระสังฆาธิการ
(๔) ประเภทอนุโลมโดยสมณศักดิ์ ได้แก่พระราชาคณะ
(ก) ชั้นสามัญหรือชั้นราช
(ข) ชั้นเทพ
(ค) ชั้นธรรมขึ้นไป
๓. เขตกระทำความผิด
พระภิกษุดังกล่าวมานั้น ท่านกำหนดเขตกระทำความผิดไว้ ๒ คือ
๑. กระทำความผิดในเขตสังกัด
๒. กระทำความผิดนอกเขต
(๑).พระลูกวัดหรือพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งต่ำกว่าเจ้าคณะจังหวัด กระทำความผิด
(ก) ในเขตจังหวัดของตน จัดว่า “กระทำความผิดในเขตสังกัด”
(ข) ในเขตจังหวัดอื่น จัดว่า “กระทำความผิดนอกเขต”
(๒) พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ คือเจ้าคณะจังหวัดและรองเจ้าคณะภาค กระทำความผิด
(ก) ในเขตของตน จัดว่า “กระทำความผิดในเขตสังกัด”
(ข) ในเขตภาคอื่น จัดว่า “กระทำความผิดนอกเขต”
(๓) เจ้าคณะภาคขึ้นไป จะกระทำความผิด ณ ที่ใด ก็จัดว่า “กระทำความผิดในเขตสังกัด”
– ในกรณีกระทำความผิดในเขตสังกัดขึ้นต่อผู้พิจารณาและคณะผู้พิจารณาชั้นต้นเจ้าสังกัด
– ในกรณีกระทำความผิดนอกเขตขึ้นต่อผู้พิจารณาและคณะผู้พิจารณาชั้นต้นเจ้าของเขต และ
– ในกรณีที่กระทำความผิดนอกเขต ให้ผู้พิจารณาอันดับ ๒-๓-๔ แจ้งแก่เจ้าคณะจังหวัดเจ้าสังกัดอันดับ ๕ แจ้งเจ้าคณะภาคเจ้าสังกัด
๔. การลงนิคหกรรม
ผู้พิจารณา ๗ อันดับ และคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ๗ อันดับนั้น เป็นผู้มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมตามฐานะและศักดิ์ของพระภิกษุ คือ.-
๑. อันดับ ๑ ลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดในเขต คือ
(๑) พระลูกวัดสังกัดวัดเดียวกัน
(๒) พระลูกวัดสังกัดต่างวัดกัน
(๓) ผจร.,ผจล.,รจร.,รจล.
๒/๑ อันดับ ๒.ก. – จร.,จล.,จรก.,จลก.,ทจร.,ทจล.,รจต.,รจต.ก.
๒/๒ อันดับ ๒.ข. – พระลูกวัด,ผจร.,ผจล.,รจร.,รจล.,จร.,จล.,จรก., จลก.,ทจร.,ทจล.,รจต.,รจต.ก.
๓/๑ อันดับ ๓ ก. – จต.,รจอ.,จตก.,ทป.จต.,ทจต.,รจอ.ก.
๓/๒ อันดับ ๓ ข. – จต.,รจอ.,จตก.,ทป.จต.,ทจต.,รจอ.ก.
๔/๑ อันดับ ๔ ก. – จอ.,รจจ.,จอก.,ทป.จอ.,ทจอ.,รจจ.ก.,รชส.,รชร.
๔/๒ อันดับ ๔ ก. – จอ.,รจจ.,จอก.,ทป.จอ.,ทจอ.,รจจ.ก.,รชส.,รชร.,
๕/๑ อันดับ ๕ ก. – จจ.,รจภ.,จจก.,ทป.จจ.,ทจจ.,รจภ.ก.,รชท.
๕/๒ อันดับ ๕ ข. – จจ.,รจภ.,จจก.,ทป.จจ.,ทจจ.,รจภ.ก.,รชท.
๖ อันดับ ๖. – จภ.,จภก.,ทป.จภ.,ทจภ.
๗ อันดับ ๗. – จญ.,กมส.,จชธ., ขึ้นไป.
ในอันดับ ๒ ก. เป็นผู้ทำความผิดในเขตสังกัดในอันดับ ๒ ข.เป็นผู้ทำความผิดนอกเขตสังกัด
ส่วน ก.,ข.ในอันดับอื่น พึงทราบตามนี้โดยอนุโลม
เฉพาะในกรณีพระราชาคณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสหรือรองเจ้าอาวาส ให้เจ้าอาวาสร่วมในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นด้วย
การจัดอันดับนั้น ให้ถือตำแหน่งในขณะถูกฟ้องหรือถูกกล่าวหาเป็นหลัก ถ้าดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งให้ถือตำแหน่งสูงเป็นหลัก
๕. ในกรณีพิเศษ
(๑) พระภิกษุ ๒ ประเภททำความผิดร่วมกัน ให้ถือผู้มีตำแหน่งสูงเป็นหลัก
(๒) พระภิกษุทำความผิดนอกเขตอาณาจักร ให้ถือเขตที่กลับเข้ามาพักอยู่เป็นหลัก และให้อนุโลมตามประเภทชั้นของผู้ทำความผิด
Views: 3