ลักษณะ ๑ บทนิยาม

ลักษณะ ๑

บทนิยาม

——————

     อันบทนิยามคือ “บทให้ความหมาย” หรือ “บทให้คำจำกัดความ” เป็นบทที่ต้องศึกษาให้เข้าใจ เพราะเป็นส่วนหลักการ และในข้อ ๔ มีบทนิยาม ๑๘ บท คือ.-

     (๑)  “พระภิกษุ” หมายถึง

           (ก) พระภิกษุซึ่งมิใช่ผู้ปกครองสงฆ์

          (ข) พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์

     (๒)  “ความผิด” หมายถึง การล่วงละเมิดพระธรรมวินัย

     (๓)  “นิคหกรรม” หมายถึง การลงโทษตามพระธรรมวินัย

     (๔)  “ผู้มีส่วนได้เสีย” หมายถึง พระภิกษุปกตัตตะซึ่งสังกัดวัดเดียวกันและมีสังวาสเสมอกันกับพระภิกษุผู้เป็นจำเลย

     (๕)  “ผู้เสียหาย” ได้แก่ ผู้เสียหายเฉพาะตัวและผู้จัดการแทนผู้เสียหาย ซึ่งจัดการแทนผู้เสียหายแยกได้ ๓ คือ.-

           (ก) ผู้จัดการแทนผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ.- คือ ผู้แทนโดยชอบธรรม, ผู้อนุบาลตามกฎหมาย, ผู้ตามที่พระภิกษุผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมเห็นสมควรให้เป็นผู้จัดการแทนผู้เสียหาย

           (ข) ผู้จัดการแทนผู้บรรลุนิติภาวะ.- คือ ผู้บุพการี, ผู้สืบสันดาน, ผู้สัมพันธ์โดยกฎหมาย, ผู้สัมพันธ์โดยสายโลหิต,

           (ค) ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคล

     (๖)  “โจทก์” หมายถึง

           (ก) ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้เสียหาย ซึ่งฟ้องพระภิกษุต่อพระภิกษุผู้พิจารณาในข้อหาว่าได้กระทำความผิด

           (ข) พระภิกษุผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ในชั้นพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม

     (๗)  “จำเลย” หมายถึง

           (ก) พระภิกษุซึ่งถูกโจทก์ฟ้องต่อพระภิกษุผู้พิจารณาในข้อหาว่าได้กระทำความผิด

           (ข) พระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาซึ่งตกเป็นจำเลยในชั้นพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม

     (๘)  “ผู้กล่าวหา” หมายถึง ผู้บอกกล่าวการกระทำความผิดของพระภิกษุต่อพระภิกษุผู้พิจารณาเพราะตนมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียหรือมิใช่ผู้เสียหาย

           (ก) พระภิกษุปกตัตตะหรือสามเณรผู้ถึงพร้อมด้วยศีลและอาจาระและมีสังกัด

           (ข) คฤหัสถ์ผู้นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์

     (๙)  “ผู้แจ้งความผิด” หมายถึง พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ซึ่งไม่มีอำนาจลงนิคหกรรม แจ้งความผิดหรือพฤติการณ์อันน่ารังเกียจสงสัย ต่อพระภิกษุผู้พิจารณา

     (๑๐) “ผู้ถูกกล่าวหา” หมายถึง

           (ก) พระภิกษุซึ่งถูกผู้กล่าวหาบอกกล่าวการกระทำความผิดต่อพระภิกษุผู้พิจารณา

           (ข) พระภิกษุซึ่งถูกผู้แจ้งความผิดแจ้งการกระทำความผิดหรือพฤติการณ์อันน่ารังเกียจสงสัยต่อพระภิกษุผู้พิจารณา

     (๑๑) “ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรม” หมายถึง พระภิกษุผู้พิจารณาและคณะผู้พิจารณา

     (๑๒) “เจ้าสังกัด” หมายถึง พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ชั้นเจ้าอาวาส เจ้าคณะ เจ้าสังกัด

     (๑๓) “เจ้าของเขต” หมายถึง พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ชั้นคณะ เจ้าของเขต

     (๑๔) “ผู้พิจารณา” หมายถึง เจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขต

     (๑๕) “คณะผู้พิจารณา” หมายถึง มหาเถรสมาคมและคณะผู้พิจารณาซึ่งผู้มีตำแหน่งสูงเป็นหัวหน้า

     (๑๖) “คณะผู้พิจารณาชั้นต้น” หมายถึง คณะผู้พิจารณาตามความในข้อความ ๒๔ ซึ่งมี ๗ อันดับตามข้อ ๗

     (๑๗) “คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์” หมายถึง คณะผู้พิจารณาตามความในข้อ ๒๕ ซึ่งมี ๔ อันดับ        (๑๘) “คณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา” หมายถึง คณะผู้พิจารณาตามความในข้อ ๒๖ ซึ่งเป็นชั้นและอันดับสูงสุดตามความในข้อ ๒๗