หมวด ๒
วิธีไต่สวนมูลฟ้อง
——————–
วิธีไต่สวนมูลฟ้อง เป็นวิธีเริ่มแรกในคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ซึ่งวิธีปฏิบัติในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นนั้น แยกเป็น ๒ วิธี คือ “วิธีไต่สวนมูลฟ้อง” และ “วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น” ซึ่งผู้ศึกษาควรทราบความหมายและขั้นตอนแห่งวิธีทั้งสองนี้ ดังนี้.-
๑. วิธีไต่สวนมูลฟ้อง หมายถึง “วิธีไต่สวนของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นเพื่อวินิจฉัยถึงมูลกรณีซึ่งจำเลยถูกฟ้อง” ขั้นตอนแห่งวิธีปฏิบัติ.-เริ่มตั้งแต่หัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นรับเรื่องราวจากผู้พิจารณาจนถึง “สั่งประทับฟ้อง” หรือ “สั่งยกฟ้อง”
๒. วิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นตั้น
ก. วิธิพิจารณา หมายถึง “การพิจารณาใด ๆ อันเกี่ยวกับกรณีในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นก่อนที่จะตัดสินชี้ขาดโดยคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง” ขั้นตอนแห่งการปฏิบัติ.-เริ่มตั้งแต่การนัดวัน เวลา สถานที่ ที่จะพิจารณาหรือการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ ในกรณีที่ยังไม่มีโจทก์ หลังจากประทับฟ้องแล้วเป็นต้นไปจนถึงการทำคำวินิจฉัย
ข. วินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น หมายถึง การวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งคือ “ยกฟ้องของโจทก์” หรือ “ลงโทษจำเลย” ของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ขั้นตอนแห่งการปฏิบัติ.-เริ่มตั้งแต่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นลงนามในคำวินิจฉัยเป็นต้นไป จนถึงให้โจทก์และจำเลยลงชื่อรับทราบคำวินิจฉัยนั้น
ดังนั้น เพื่อให้พระสังฆาธิการได้ศึกษาวิธีไต่สวนมูลฟ้อง ได้กำหนดประเด็นเป็น ๗ คือ.-
๑. ผู้ไต่สวนมูลฟ้อง
๒. มูลฟ้องคืออะไร
๓. หลักและข้อพิสูจน์มูลฟ้อง
๔. หลักปฏิบัติในการไต่สวนมูลฟ้อง
๕. การดำเนินการเมื่อมีอุปสรรค
๖. ผลการไต่สวนมูลฟ้อง
๗. การอุทธรณ์คำสั่งยกฟ้อง
๑. ผู้ไต่สวนมูลฟ้อง
วิธีไต่สวนมูลฟ้องในทางราชอาณาจักร เป็นวิธีปฏิบัติในศาลยุติธรรม และตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ กำหนดให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ๗ อันดับ ทั้งที่เป็นเจ้าสังกัด ทั้งที่เป็นเจ้าของเขตแล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการ ซึ่งเทียบกับวิธีไต่สวนฟ้องในศาลยุติธรรม
๒. มูลฟ้องคืออะไร
ตามความในข้อ ๑๗ มูลฟ้อง หมายถึง มูลเหตุแห่งการฟ้องของโจทก์ซึ่งฟ้องจำเลยด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งคือ “ได้เห็น” “ได้ยินได้ฟัง” “รังเกียจสงสัย”
การที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น จะสั่งยกฟ้องกรณีใด หรือสั่งประทับฟ้องกรณีใด จะต้องไต่สวนมูลกรณีนั้น ๆ ก่อน โดยที่มาของกรณีซึ่งมาจากผู้พิจารณานั้น ย่อมมาจากการโจทก์ฟ้อง การกล่าวหา การแจ้งความผิด และจากการสงสัยในพฤติการณ์ ดังนั้น มูลฟ้องที่จะต้องไต่สวนจึงมี ๔ คือ.-
๑. มูลฟ้อง
๒. มูลคำกล่าวหา
๓. มูลคำแจ้งความผิด
๔. มูลพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัย
ซึ่งมาจากข้อ ๑๓ (๒) ข้อ ๑๕ (๑) ข้อ ๑๖ (๑) และข้อ ๑๖ (๒) ตามลำดับ
๓. หลักและข้อพิสูจน์มูลฟ้อง
ตามบทบัญญัติข้อ ๑๘ แยกหลักการเป็น ๒ คือ
๑. หลักพิสูจน์มูลฟ้อง.-ได้แก่พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์
๒. ข้อมูล.-ได้แก่
(๑) บทบัญญัติแห่งพระวินัย
(๒) มูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ ๑๗ ซึ่งโจทก์ยกขึ้นฟ้อง
๔. หลักปฏิบัติในการไต่สวนมูลฟ้อง
ตามบทบัญญัติข้อ ๑๙ แยกหลักปฏิบัติเป็น ๕ คือ.-
๑. ให้ทำเป็นการลับ.-โดยอนุโลมตามข้อ ๓๐ ผู้มีสิทธิอยู่ในที่ไต่สวนได้คือ
(๑) โจทก์จำเลย
(๒) พยานเฉพาะที่กำลังให้การ
(๓) ผู้ที่ได้รับเชิญมาเพื่อปฏิบัติการใด
(๔) พระภิกษุผู้ทำหน้าที่จดบันทึกถ้อยคำสำนวน
๒. อำนาจพิเศษ
(๑) ในกรณีที่มีผู้ก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น
(ก) สั่งให้ผู้นั้นตั้งอยู่ในความสงบเรียบร้อย
(ข) สั่งออกให้ไปจากที่ไต่สวนหรือจากบริเวณ
(๒) ขออารักขาต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักร
๓. การมาฟังการไต่สวน
(๑) โจทก์ต้องมาฟังการไต่สวนทุกครั้ง
(๒) ถ้าโจทก์ไม่มา ๓ ครั้งติดต่อกันให้เรื่องเป็นอันถึงที่สุด
(๓) จำเลยจะมาฟังหรือไม่ก็ได้
๔. ความประสงค์ในการไต่สวนมูลฟ้อง
(๑) เพื่อทราบถึงบทบัญญัติแห่งพระวินัย
(๒) เพื่อทราบถึงมูลเหตุ
๕.การปฏิบัติ
(๑) เบื้องต้น นัดประชุมเพื่อเตรียมแผนงาน
(๒) ขั้นเริ่มการ กำหนดนัดวันเวลาสถานที่และส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย
(๓) ขั้นปฏิบัติการ ปฏิบัติในการไต่สวนจนถึงสั่งประทับฟ้องหรือสั่งยกฟ้อง
๕. การดำเนินการเมื่อมีอุปสรรค
ตามบทบัญญัติข้อ ๒๐ กำหนดไว้ ๒ คือ.-
๑. จำเลยถึงมรณภาพ ให้เรื่องเป็นอันถึงที่สุด
๒. โจทก์เสียชีวิต ให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นโจทก์แทน
๖. ผลการไต่สวนมูลฟ้อง
ตามบทบัญญัติข้อ ๒๑ การไต่สวนมูลฟ้อง ย่อมปรากฏเป็น ๒ คือ.-
๑. คำฟ้องมีมูล ให้สั่งประทับฟ้อง
๒. คำฟ้องไม่มีมูล ให้สั่งยกฟ้อง
๗. การอุทธรณ์คำสั่งยกฟ้อง
ตามบทบัญญัติข้อ ๒๒ กำหนดวิธีปฏิบัติไว้ ดังนี้.-
๑. คำสั่งที่ให้สิทธิอุทธรณ์
(๑) กรณีที่ฟ้องด้วยครุการบัติ
(๒) มิใช่คำสั่งของมหาเถรสมาคม
๒. หน้าที่ผู้อุทธรณ์.-ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้นภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง
๓. หน้าที่คณะผู้พิจารณาชั้นต้น.-ส่งอุทธรณ์ไปยังคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับอุทธรณ์คำสั่ง
๔. หน้าที่คณะพิจารณาชั้นอุทธรณ์
(๑) ให้วินิจฉัยให้เสร็จภายใน ๓๐ วัน
(๒) ให้แจ้งแก่ผู้ออกคำสั่งเพื่อแจ้งแก่โจทก์ภายใน ๑๕ วัน
๕. ผลการวินิจฉัย
(๑) ผลต่อเนื่อง.-ให้ดำเนินการตามข้อ ๒๑ (๑)
(๒) ผลยุติ.-ให้เรื่องถึงที่สุด