เอกสารประกอบคำบรรยาย เรื่อง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๔ ฉบับ

เอกสารประกอบคำบรรยาย

เรื่อง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๔ ฉบับ

โดยพระเทพปริยัติสุธี (วรวิทย์) วัดโมลีโลกยาราม กรุงเทพมหานคร

———————–

ความเป็นมาของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

     การปกครองคณะสงฆ์นั้น แก่นแท้คือการปกครองตามพระธรรมวินัย กล่าวคือยึดพระธรรมวินัยเป็นธรรมนูญการปกครอง ตามหลักพระพุทธดำรัสว่า “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา” และได้อาศัยอำนาจรัฐและจารีตเป็นหลักอุดหนุน คราวใดเกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นในคณะสงฆ์แรงจนเป็นเหตุขัดข้องและจำเป็นต้องพึ่งรัฐ ก็ได้อาศัยอำนาจรัฐเข้าช่วยจัดการแก้ไขข้อขัดข้องนั้น ดังเช่นรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช  การพระสงฆ์และการพระศาสนาดำเนินมาได้ด้วยดี ด้วยลักษณะอย่างนี้ ครั้นพระพุทธศาสนาตั้งมั่นในประเทศไทยแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีเป็นลำดับมา ราชอาณาจักรเข้ามาอุดหนุนการปกครองเป็นพิเศษ โดยให้มีสมณศักดิ์ควบคู่กับชั้นการปกครองคณะสงฆ์ โดยเป็นไปตามพระบรมราชโองการ

     ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จประจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงถวายอำนาจรัฐอุดหนุนคณะสงฆ์ให้จัดระบบการปกครองขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์อันสอดคล้องกับการปกครองทางราชอาณาจักรนั้น

     ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทรงตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช ๒๔๘๔ ขึ้น เพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับแรก จัดระบบการปกครองคณะสงฆ์ ให้มีรูปแบบคล้ายกับการปกครองราชอาณาจักรในสมัยนั้น

     ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ขึ้น เพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ จัดระบบการปกครองคณะสงฆ์ในรูปแบบใหม่ และครั้น พ.ศ.๒๕๓๕ ได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ เพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕  บางมาตราและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ รวมกันเป็นหลักในการจัดระบบการปกครองคณะสงฆ์อยู่ในปัจจุบัน

ความสำคัญของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

     พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ทั้ง ๔ ฉบับที่ตราขึ้นนี้ ล้วนแต่มีความสำคัญต่อคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างยิ่ง แต่ขอประมวลมากล่าวเพียง ๔ ประการ คือ

     (๑)  ให้พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์มีฐานรับรองอันมั่งคง

     (๒)  ให้คณะสงฆ์ได้อำนาจรัฐมาจัดระบบการปกครอง

     (๓)  ให้คณะสงฆ์ และพระพุทธศาสนาได้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองจากรัฐ

     (๔)  ให้พระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์ได้รับการยกย่องเชิดชูจากรัฐ

พระราชบัญญัติลักษณะปกครอง ฯ ร.ศ ๑๒๑

     พระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรก ที่คณะสงฆ์ได้นำให้จัดระบบการปกครองคณะสงฆ์ ตราขึ้นในสมัยที่อาณาจักรปกครองโดยระบอบราชธิปไตย แต่เข้าในยุคที่ได้ปฏิรูปการปกครองแผ่นดินแล้ว เหตุผลและพระราชประสงค์ในการตรานั้น มีดังนี้

     “ทุกวันนี้ การปกครองข้างฝ่ายพระราชอาณาจักร ก็ได้ทรงพระราชดำริแก้ไขและจัดตั้งแบบแผนการปกครองให้เรียบร้อยเจริญดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นหลายประการแล้ว

     และฝ่ายพระพุทธศาสนานั้น การปกครองสังฆมณฑล ย่อมเป็นการสำคัญทั้งในประโยชน์แห่งพระพุทธศาสนา และในประโยชน์ความเจริญของพระราชอาณาจักรด้วย ถ้าการปกครองสังฆมณฑลเป็นไปตามแบบแผนอันเรียบร้อย พระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองถาวร และจะชักนำประชาชนทั้งหลายให้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสโนวาท ประพฤติสัมมาปฏิบัติและร่ำเรียนวิชาคุณ ในสังฆสำนักยิ่งขึ้นเป็นอันมาก

     มีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงสังฆมณฑลให้เจริญคุณสมบัติมั่งคงสืบไปในพระศาสนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้สืบไปดังนี้ว่า…”

เนื้อหาของพระราชบัญญัติ

          พระราชบัญญัติฉบับนี้ ตราขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) มีเนื้อหาเรียงตามมาตราแบ่งเป็น ๘ หมวด คือ

           (๑)  หมวดที่ ๑ ว่าด้วยนามและกำหนดใช้พระราชบัญญัติ (ม.๑-๒)

           (๒)  หมวดที่ ๒ ว่าด้วยคณะใหญ่ (ม.๓-๔)

           (๓)  หมวดที่ ๓ ว่าด้วยวัด (ม.๕-๙)

           (๔)  หมวดที่ ๔ ว่าด้วยเจ้าอาวาส (ม.๑๐-๑๙)

           (๕)  หมวดที่ ๕ ว่าด้วยคณะแขวง (ม.๒๐-๒๙)

           (๖)  หมวดที่ ๖ ว่าด้วยคณะเมือง (ม.๓๐-๓๔)

           (๗)  หมวดที่ ๗ ว่าด้วยคณะมณฑล (ม.๓๔-๓๙)

           (๘)  หมวดที่ ๘ ว่าด้วยอำนาจ (ม.๔๐-๔๕)

     แต่เมื่อกล่าวโดยภาพการบริหารหรือโครงสร้างองค์กรปกครองคณะสงฆ์แล้ว แบ่งเป็น ๓ คือ

     ๑) ในส่วนกลาง มีมหาเถรสมาคม เป็นที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนา และการปกครองทำนุบำรุงสังฆมณฑล ซึ่งประกอบด้วยสมเด็จคณะใหญ่ และพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ๔ คณะ คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะธรรมยุติกา คณะกลาง ไม่ปรากฎมีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช หรือตำแหน่งมหาสังฆปริณายกเลย แม้ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ก็ไม่ได้มีปรากฎ แต่ปรากฏว่ามีประธานกรรมการมหาเถรสมาคมขึ้นภายหลัง ทั้งอำนาจหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ ก็มิได้กำหนดไว้

     ๒) ในส่วนภูมิภาค มีคณะมณฑล คณะเมือง คณะแขวง ซึ่งมีเจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง เป็นผู้ปกครอง และมีรองเจ้าคณะชั้นนั้น ๆ เป็นผู้ช่วย

     ๓) ในส่วนวัด กำหนดเป็น ๓ คือ พระอารามหลวง ๑ อารามราษฏร์ ๑ ที่สำนักสงฆ์ ๑ และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอื่น ๆ

     ซึ่งรูปแบบการปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นรูปแบบอัตตาธิปไตย คล้ายกับการปกครององค์ทางราชอาณาจักร ตามแบบราชาธิปไตย การคณะมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอยู่หลายประการ แม้จะใช้ไม่คล่อง  ก็เป็นระบบผูกขาดคล้ายกับเผด็จการ นับเป็นเหตุหนึ่งที่ให้มี “คณะปฏิสังขรณ์การพระพุทธศาสนา” เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๗ อันเป็นเหตุหนึ่งที่ให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับนี้ในปี ๒๔๘๔ ซึ่งใช้มาได้ ๓๙ ปี

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

     พระราชบัญญัติฉบับนี้ ตราขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๘๔ ในสมัยที่ทางราชอาณาจักรได้จัดการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และความมุ่งหมายในการตราตามแถลงการณ์ของรัฐบาลเรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พอสรุปได้เป็น ๓ คือ ต้องการให้คณะสงฆ์จัดการปกครองอนุโลมตาระบอบการปกครองบ้านเมืองเท่าที่ไม่ขัดพระธรรมวินัย ๑ เพื่อเปิดทางให้ได้ทำสังคายนาพระไตรปิฏกเป็นการใหญ่ ๑ ต้องการจะยุบรวมนิกายสงฆ์เข้าเป็นอันหึ่งอันเดียวกัน ๑

เนื้อหาของพระราชบัญญัติ

     พระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยเนื้อหาเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบพลิกแผ่นดิน รวมทั้งสิ้นมี ๖๐ มาตรา แยกเป็นบททั่วไป และหมวดคือ

     (๑)  บททั่วไป (ม.๑-๔)

     (๒)  หมวด ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ม.๖-๑๐)

     (๓)  หมวด ๒ สังฆสภา (ม.๑๑-๒๗)

     (๔)  หมวด ๓ คณะสังฆมนตรี (ม.๒๘-๓๗)

     (๕)  หมวด ๔ วัด (ม.๓๘-๔๕)

     (๖)  หมวด ๕ ศาสนสมบัติ (ม.๔๖-๔๙)

     (๗)  หมวด ๖ คณะวินัยธร (ม.๕๐-๕๒)

     (๘)  หมวด ๗ บทกำหนดโทษ (ม.๕๓-๕๖)

     (๙)  หมวด ๘ บทเบ็ดเตล็ด (ม.๕๗-๕๙)

     (๑๐) บทเฉพาะกาล (ม.๖๐)

     สาระสำคัญแห่งระบบการปกครองหรือโครงสร้างองค์กรบริหารการคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ แยกเป็น ๓ ส่วนคือ

     ๑)   ในส่วนกลาง มีสมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆ
ปริณายก และทรงบัญชาการคณะสงฆ์ ๓ ทางคือ ทางสังฆสภา ๑ ทางคณะสังฆมนตรี ๑ ทางคณะวินัยธร ๑ โดยเฉพาะการบริหารคณะสงฆ์แยกเป็น ๔ องค์การคือ องค์การปกครอง ๑ องค์การศึกษา ๑ องค์การเผยแผ่ ๑ องค์การสาธารณูปการ ๑ โดยให้กรมการศาสนาทำหน้าที่ สำนักเลขาธิการสังฆสภาและสำนักงานเลขาธิการคณะสังฆมนตรี

     ๒)   ในส่วนภูมิภาค แบ่งการปกครองเป็นภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล มีเจ้าคณะตรวจการ คณะกรรมการสงฆ์จังหวัด คณะกรรมการอำเภอ คณะกรรมการตำบล เป็นผู้บริหาร

     ๓)   ในส่วนวัด กำหนดวัดเป็น ๒ คือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว ๑ สำนักสงฆ์ ๑ และกำหนดหลักเกณฑ์อื่น ๆ คือ

     การปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นระบบกระจายอำนาจ คือ อำนาจบัญญัติสังฆาณัติ (อำนาจนิติบัญญัติ) เป็นหน้าที่สังฆสภา แต่บัญญัติจะบัญญัติโดยอิสระมิได้เพราะมีมาตรา ๒๒ ล้อมกรอบไว้ อำนาจบริหารการคณะสงฆ์ (อำนาจบริหาร) เป็นหน้าที่ของคณะสังฆมนตรี อำนาจวินิจฉัยอธิกรณ์  (อำนาจ
ตุลการ) เป็นหน้าที่คณะวินัยธร (ซึ่งอยู่ในสังกัดสมเด็จพระสังฆราช) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลแห่งอำนาจ ดังเช่นการปกครองราชอาณาจักรในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้พระราชบัญญัติฉบับนี้มาจนถึงพุทธศักราช ๒๕๐๕ รวม ๒๑ ปี เพราะระบบดังกล่าวนั้น เป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจ คณะสงฆ์จึงประสบอุปสรรคในการบริหารนานัปประการ ทั้งไม่อาจดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและของรัฐได้ อาทิ ไม่อาจทำสังคายนาพระธรรมวินัยตามมาตรา ๖๐ และไม่สามารถรวมนิกายสงฆ์เข้าเป็นอันเดียวกัน ดังที่รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ไว้และความขัดแย้งและความวุ่นวายเกิดขึ้นในวงการคณะสงฆ์ ทั้งในระดับผู้บริหารสูงสุดและทั่วไปอย่างมากยิ่ง ในที่สุดได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งใช้มาได้ ๒๑ ปี

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕

     พระราชบัญญัติฉบับนี้ ตราขึ้นในสมัยที่ทางราชอาณาจักรปกครองโดยคณะปฏิบัติ และในระยะที่ได้ใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์มาแล้ว ๒ ฉบับ คงเปรียบเทียบทั้ง ๒ ฉบับแล้ว ได้นำโครงสร้างฉบับแรกมาเป็นหลักและปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ตราเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๕ โดยบันทึกเหตุผลประกอบในการตราไว้ดังนี้

     “โดยที่การจัดดำเนินกิจการคณะสงฆ์ มิใช่กิจการที่พึงแบ่งแยกอำนาจดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อการถ่วงดุลแห่งอำนาจ เช่นที่เป็นอยู่ตามกฎหมายในปัจจุบัน และโดยที่ระบบเช่นว่านั้นเป็นผลบั่นทอนประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการ จึงสมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ให้สมเด็จพระสังฆราช องค์สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคม ตามอำนาจกฎหมาย และพระธรรมวินัย ทั้งนี้ เพื่อความรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา”

เนื้อหาของพระราชบัญญัติ

     พระราชบัญญัติฉบับนี้ ประกอบด้วยเนื้อหาที่กำหนดไว้ ส่วนเบื้องต้น ๖ มาตราคือ มาตรา ๑-๖ จากนั้นประกอบด้วยมาตราต่าง ๆ รวม ๖ หมวด คือ

     (๑)  หมวด ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ม.๗-๑๑)

     (๒)  หมวด ๒ มหาเถรสมาคม (ม.๑๒-๑๙)

     (๓)  หมวด ๓ การปกครองคณะสงฆ์ (ม.๒๑-๒๒๓)

     (๔)  หมวด ๔ นิคหกรรมและการสละสมณเพศ (ม.๒๔-๓๐)

     (๕)  หมวด ๕ วัด (ม.๓๑-๓๙)

     (๖)  หมวด ๖ ศาสนสมบัติ (ม.๔๐-๔๐)

     (๗)  หมวด ๗ บทกำหนดโทษ (ม.๔๒-๔๔)

     (๘)  หมวด ๘ เบ็ดเตล็ด (ม.๔๕-๔๖)

     แต่โดยภาพแห่งเนื้อหา รูปแบบการบริหารและโครงสร้างองค์กรปกครองตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ พอกล่าวโดยรวมได้ ๓ ส่วน คือ

      ๑) ในส่วนกลาง มีสมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมนั้น คือสถาบันหรือองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุด มีอธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการ กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมคือศูนย์รวมอำนาจ กล่าวคืออำนาจตราบทบัญญัติ (อำนาจนิติบัญญัติ)   อำนาจการปกครอง (อำนาจบริหาร)    และอำนาจตุลาการ (การลงนิคหกรรม) รวมอยู่ในมหาเถรสมาคม และเขตการปกครองส่วนกลาง แยกเป็น “หน” และ“คณะ” มีเจ้าคณะใหญ่เป็นผู้ปกครอง

     ๒) ในส่วนภูมิภาค มี ภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล โดยมีเจ้าคณะในชั้นนั้น ๆ เป็นผู้ปกครอง และมีรองเจ้าคณะเป็นผู้ช่วย

     ๓) ในส่วนวัด  กำหนดวัดเป็น ๒ คือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ๑ สำนักสงฆ์ ๑ มีเจ้าอาวาสเป็นผู้ปกครอง มีรองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาสเป็นผู้ช่วย และมีข้อกำหนดอื่น ๆ อีก

     พระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้บังคับมาแต่ พ.ศ.๒๕๐๖ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๕ รวม ๓๐ ปี เพราะใช้มานาน สถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปรไป ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ขึ้น เพื่อยกเลิกฉบับก่อนบางมาตรา ปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและในปัจจุบันใช้ พระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับนี้ เป็นหลักจัดระบบการปกครองคณะสงฆ์ เริ่มแต่ใช้มารวมเป็นเวลา ๓๙ ปี (๒๕๔๔) การคณะดำเนินมาด้วยดี แม้จะมีความวุ่นวานเกิดขึ้นบ้าง ก็มิใช่เพราะตัวระบบปกครอง

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

     พระราชบัญญัติฉบับนี้ ตราขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์  ๒๕๓๕ และตราขึ้นเพื่อแก้ไขปรับปรุงฉบับเดิม มิได้ยกเลิกหรือล้มโครงสร้างการปกครองแต่อย่างใด มีเหตุบางอย่างในการประกาศใช้ ดังนี้

     “โดยที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว สมควรได้ปรับปรุงว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช การแต่งตั้งถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุ อำนาจหน้าที่ และการปฏิบัติหน้าที่ของมหาเถรสมาคมการปกครอง การสละสมณเพศของคณะสงฆ์ และคณะสงฆ์อื่น วัด การดูแลรักษาวัด ทรัพย์สินของวัด และศาสนสมบัติกลาง ตลอดปรับปรุงบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับสภาพการปัจจุบัน”

เนื้อหาของพระราชบัญญัติ

     โดยโครงสร้างองค์กรปกครองคณะสงฆ์คงไว้ตามฉบับแรก เพียงแต่ตราบทบัญญัติเพิ่มเติมใหม่และยกเลิกบทบัญญัติเดิมบางมาตรา แล้วปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนี้

     (๑)  มาตรา ๓ เพิ่มความในมาตรา ๕ ให้มีมาตรา ๕ ทวิ และมาตรา ๕ ตรี

     (๒)  มาตรา ๔ ยกเลิกมาตรา ๗ แล้วปรับปรุงใหม่

     (๓)  มาตรา ๕ ยกเลิกมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ แล้วปรับปรุงใหม่ทั้ง ๒ มาตรา

     (๔)  มาตรา ๖ ยกเลิกมาตรา ๑๒ แล้วปรับปรุงใหม่

     (๕)  มาตรา ๗ เพิ่มความในมาตรา ๑๕ เป็นมาตรา ๑๕ ทวิ มาตรา ๑๕ ตรี มาตรา ๑๕ จัตวา

     (๖)  มาตรา ๘ ยกเลิกมาตรา ๑๖ แล้วปรับปรุงใหม่

     (๗)  มาตรา ๙ ยกเลิกมาตรา ๑๘,๑๙ และ ๒๐ แล้วปรับปรุงใหม่

     (๘)  มาตรา ๑๐ เพิ่มความในมาตรา ๒๐ เป็นมาตรา ๒๐ ทวิ

      (๙)  มาตรา ๑๑ ยกเลิกมาตรา ๒๗ แล้วปรับปรุงใหม่

     (๑๐) มาตรา ๑๒ ยกเลิกมาตรา ๓๑ แล้วปรับปรุงใหม่

      (๑๑) มาตรา ๑๓ เพิ่มความในมาตรา ๓๒ เป็นมาตรา ๓๒ ทวิ

     (๑๒) มาตรา ๑๔ ยกเลิกมาตรา ๓๔ และ ๓๕ แล้ว   ปรับปรุงใหม่

     (๑๓) มาตรา ๑๕ ยกเลิกมาตรา ๔๒,๔๓,และ ๔๔ แล้วปรับปรุงใหม่

      (๑๔) มาตรา ๑๖ เพิ่มความในมาตรา ๔๔ เป็นมาตรา ๔๔ ทวิ มาตรา ๔๔ ตรี

     (๑๕) มาตรา ๑๗ ยกเลิกมาตรา ๔๖ แล้วปรับปรุงใหม่

     (๑๖) มาตรา ๑๘ กำหนดให้ บรรดากฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม ที่ออกตาม พ.ร.บ. ฉบับก่อน ยังคงใช้บังคับต่อเท่าที่ไม่ขัดแย้ง พ.ร.บ. นี้

     (๑๗) มาตรา ๑๙ กำหนดให้ วัดที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์  พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ้งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้

     (๑๘) มาตรา ๒๐ กำหนดไว้ ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่กรรมการหรืออนุกรรมการ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ หรือกฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม  ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ยังคงดำรงตำแหน่ง หรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระการดำรงตำแหน่ง หรือจนกว่ามหาเถรสมาคมจะสั่งโดยประการอื่น

     (๑๙) มาตรา ๒๑ กำหนดผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ

**********

มาตราที่ควรให้ความสนใจพิเศษ
ฉบับ ร.ศ ๑๒๑

……………………………..

     มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ไม่เกี่ยวด้วยนิกายสงฆ์ กิจและลัทธิเฉพาะในนิกายนั้น ๆ ซึ่งเจ้าคณะหรือสังฆนายกในนิกายนั้นได้เคยมีอำนาจว่ากล่าวบังคับมาแต่ก่อนประการใด ก็ให้คงเป็นไปตามเคยทุกประการ แต่การปกครองอันเป็นสามัญทั่วไปในนิกายทั้งปวง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

     มาตรา ๔ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่ทั้ง ๔ ตำแหน่ง คือ เจ้าคณะใหญ่คณะเหนือ ๑ เจ้าคณะใหญ่คณะใต้ ๑ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกา ๑ เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง ๑ ทั้งพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะเหนือ คณะใต้ คณะธรรมยุติกา คณะกลาง ทั้ง ๔ ตำแหน่งนั้น ยกเป็นพระมหาเถระที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนาและการปกครองบำรุงสังฆมณฑลทั่วไป ข้อภาระในพระศาสนาหรือในสังฆมณฑล ซึ่งได้โปรดให้พระมหาเถระ ทั้งนี้ประชุมวินิจฉัยในที่มหาเถรสมาคม ตั้งแต่ ๕ พระองค์ขึ้นไป คำตัดสินของมหาเถรสมาคมนั้น ให้เป็นสิทธิ์ขาด ผู้ใดจะอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปอีกไม่ได้

     มาตรา ๒๒ บรรดาวัดในจังหวัดกรุงเทพ ฯ อยู่ในแขวงใด ให้ขึ้นอยู่ในพระราชาคณะผู้กำกับแขวงนั้น ส่วนวัดในเมืองวัดอยู่ในแขวงใด ก็ให้ขึ้นอยู่ในเจ้าคณะแขวงนั้น เว้นแต่วัดทั้งในกรุงเทพ ฯ และในหัวเมือง ที่โปรดให้ขึ้นอยู่เฉพาะพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นสมควร

     มาตรา ๔๐ เป็นหน้าที่ของเจ้ากระทรวงธรรมการ และเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ จะช่วยอุดหนุนเจ้าคณะให้ได้กำลังและอำนาจพอที่จะจัดการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

     มาตรา ๔๒  ถ้าเจ้าคณะกระทำการตามหน้าที่ในพระราชบัญญัติ และคฤหัสถ์ผู้ใดลบล้างขัดขืนต่ออำนาจเจ้าคณะ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษฐานขัดอำนาจเจ้าพนักงาน

********

ฉบับพุทธศักราช ๒๔๘๔

………………………………………..

     มาตรา ๒๑ สังฆาณัติย่อมบัญญัติได้ในกรณี ดังต่อไปนี้

           (๑)  กำหนดวิธีการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

           (๒)  กิจการที่มีกฎหมายกำหนดว่าให้เป็นสังฆาณัติ

     มาตรา ๓๗ การแต่งตั้งถอดถอนหรือโยกย้ายพระอุปัชฌาย์ และพระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งการบริหารการคณะสงฆ์ ให้กระทำการที่กำหนดไว้ในสังฆาณัติ

     มาตรา ๖๑ ก่อนที่จะได้ทำสังคายนพระธรรมวินัยให้ครบถ้วน แต่อย่างช้าต้องไม่เกินแปดปี นับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้ออกสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช กฎกระทรวงหรือระเบียบใด ที่จะบังคับให้ต้องเปลี่ยนลัทธิอื่นได้นิยมนับถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว