เอกสารประกอบคำบรรยาย เรื่อง เจ้าอาวาส

เอกสารประกอบคำบรรยาย

เรื่อง เจ้าอาวาส

โดย พระเทพปริยัติสุธี

วัดโมลีโลกยาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

———————–

     ก่อนแต่จะเรียนถวายเรื่องเจ้าอาวาส จำต้องเรียนถวายถึงวัด เพราะวัดเป็นหลักให้มีเจ้าอาวาส

     วัดเป็นหน่วยงานปกครองและหน่วยงานดำเนินกิจการคณะสงฆ์และกิจการศาสนาที่สำคัญ และเป็นฐานอันสำคัญยิ่งของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา เป็นองค์หลักในการปกครองคณะสงฆ์ หลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ เกี่ยวกับการวัด ทรงตราไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับบทบัญญัติว่าด้วยมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นสถาบันหรือองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุด วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลคือบุคคลตามกฎหมายตามความในมาตรา ๓๑ วรรคสอง และมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ วัดจึงได้รับความคุ้มครองจากบทบัญญัติแห่งประมลกฎหมายแพ่งและพาณิชและกฎหมายอื่น ๆ วัดทั้งหลายย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังเช่นบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมิได้เฉพาะบุคคลธรรมดา แต่เพราะวัดมิใช่บุคคลธรรมดาโดยตรง จะแสดงเจตนาแสดงสิทธิและหน้าที่ในการต่าง ๆ เองมิได้ จึงจำเป็นต้องมีผู้แทน เพื่อใช้สิทธิและหน้าที่หรือแสดงเจตนาแทน ดังเช่นบทบัญญัติในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์มาตรา ๓๑ วรรคสาม ว่า “เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป” ดังนั้น เจ้าอาวาสจึงเป็นทั้งผู้ปกครองวัดตามความในมาตรา ๓๖ และเป็นผู้แทนวัดตามความในมาตรา ๓๑ วรรคสาม ทั้งมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ดังความแห่งมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ว่า “ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา” เพราะเหตุนี้ ตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง เมื่อมีความสำคัญเช่นนี้ จึงควรศึกษาเรื่องเจ้าอาวาสตามลำดับ คือ หลักเกณฑ์ให้มีเจ้าอาวาส ๑ หน้าที่เจ้าอาวาส ๑ อำนาจเจ้าอาวาส ๑ หน้าที่และอำนาจอื่น ๑ ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ๑

๑.หลักเกณฑ์ให้มีเจ้าอาวาส

     “มาตรา ๓๖ วัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง และถ้าเป็นการสมควรจะให้มีรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วยก็ได้”

     ตามความในมาตรา ๓๖ นี้ ชี้โดยชัดเจนว่า วัดหนึ่งต้องมีเจ้าอาวาสเพียงรูปเดียวคือ แต่งตั้งได้เพียงรูปเดียว จะมีเกินกว่ารูปเดียวมิได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การปกครองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีงาม แม้ตำแหน่งองค์พระประมุขสงฆ์ ก็มีบทบัญญัติกำหนดจำนวนไว้ชัดเจนเช่นกัน ดังในมาตรา ๗ วรรคแรกบัญญัติว่า “มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง” แต่วัดในพระศาสนามีฐานะแตกต่างกัน บางวัดใหญ่เป็นวัดใหญ่โต กว้างขวาง มีกิจการในวัดมาก กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้มีรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสได้อีก แต่มิได้กำหนดจำนวน ทั้งนี้ เพื่อให้อยู่ในดุลยพินิจของมหาเถรสมาคม อันตำแหน่งรองเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาส ก็เป็นตำแหน่งสำคัญในการปกครองวัด และเป็นตำแหน่งปฏิบัติงานช่วยเจ้าอาวาส หน้าที่และอำนาจอยู่ที่การมอบหมายให้ช่วยปฏิบัติงานเป็นสำคัญ เฉพาะรองเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง มีข้อบัญญัติเกี่ยวกับการมอบหมายงานให้ปฏิบัติชัดเจนในข้อ ๓๑ แห่งกฏมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑)  ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ “ข้อ ๓๒ ในการแต่งตั้งรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ให้เจ้าอาวาสพระอารามหลวงนั้น พิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามความในข้อ ๖ และข้อ ๒๖ และระบุหน้าที่ที่ตนจะมอบหมายให้ปฏิบัติ แล้วรายงานเจ้าคณะจังหวัดเพื่อพิจารณาเสนอตามลำดับจนถึงมหาเถรสมาคม” ดังนั้น รองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เมื่อได้มอบหมายจากเจ้าอาวาสแล้ว ย่อมปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกกรณีทั้งในวัดและการประสานนอกวัด ส่วนรองเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาสนอกจากพระอารามหลวง ได้กำหนดไว้ในข้อ ๒๘ จึงควรช่วยปฏิบัติงานในวัดทั่วไปตามที่ได้รับมอบหมาย แต่ไม่ควรทำงานที่จะก่อนิติสัมพันธ์และการประสานงานภายนอก

๒.หน้าที่เจ้าอาวาส

     “มาตรา ๓๗ เจ้าอาวาสมีหน้าที่” ดังนี้

           (๑)  บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี

           (๒)  ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่ หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหา เถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม

           (๓)  เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์

           (๔)  ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล

     หน้าที่เจ้าอาวาสดังกล่าวในมาตรา ๓๗ นี้ เป็นหน้าที่โดยภาพรวมลักษณะงานอย่างกว้าง ๆ มิได้ชี้ชัดถึงวิธีปฏิบัติแต่อย่างใด เพราะวิธีปฏิบัตินั้น ได้กำหนด หรือจะกำหนดไว้ในกิจการประเภทนั้น ๆ แต่พอกำหนดได้โดยลักษณะงานเป็น ๔ คือ

     ๑)   หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

           (๑)  บำรุงรักษาวัดให้เป็นไปด้วยดี

           (๒)  จัดกิจการของวัดให้เป็นไปด้วยดี

           (๓)  จัดศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี

     การบำรุงรักษาวัด     หมายถึง การก่อสร้าง การบูรณะปฏิสังขรณ์ การปรับปรุงตบแต่ง การกำหนดแบบแปลนแผนผัง ซึ่งล้วนแต่เป็นงานที่ต้องทำด้วยแรงเงินแรงงานและแรงความคิด อันเป็นส่วนสร้างสวรรค์และเสริมสร้างส่วนที่เป็นวัตถุ ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ศาสนสถานและศาสนวัตถุของวัดวาอารามต่าง ๆ จักได้การปรับปรุงพัฒนาให้เป็นไปด้วยดี ด้วยหน้าที่เจ้าอาวาสข้อนี้

     การจัดกิจการของวัด  หมายถึง การจัดกิจการของวัดตามหน้าที่ผู้ปกครองวัดและหน้าที่จัดกิจการแทนวัดในฐานะผู้แทนนิติบุคคล กิจการของวัดซึ่งหมายถึงกิจการ ๕ ประเภท คือ การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งวิธีปฏิบัตินั้น มหาเถรสมาคมได้กำหนดขึ้นหรือที่จะกำหนดขึ้นในกาลต่อไปหรือที่ต้องปฏิบัติตามจารีตประเพณีอันดีงาม ส่วนกิจการที่ต้องจัดการแทนวัดในฐานะผู้แทน เช่น การรับทรัพย์สิน การอรรถคดี กิจการเหล่านี้เจ้าอาวาสจะต้องจัดการให้เป็นไปด้วยดี คือ เป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบแบบแผนหรือจารีตว่าด้วยการนั้น

     การจัดศาสนสมบัติของวัด   หมายถึง การดูแลและรักษา การใช้จ่าย การจัดหาทรัพย์สินของวัด ตลอดจนการบัญชี ทั้งส่วนที่เป็นศาสนวัตถุ ศาสนสถาน และศาสนสมบัติ ของวัดที่ตนเป็นเจ้าอาวาส ให้เป็นไปด้วยดี คือให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

     ๒)   หน้าที่ในการปกครองบรรพชิตและคฤหัสถ์ในวัด

           (๑)  ปกครองบรรพชิตและคฤหัสถ์ในวัด

           (๒)  สอดส่องบรรพชิตและคฤหัสถ์ในวัด

     ปกครอง   หมายถึง การคุ้มครองปกปักรักษาให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ผุ้มีมีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ได้เป็นอยู่ด้วยความผาสุก ให้ความอนุเคราะห์ในส่วนที่อยู่อาศัยและปัจจัยตามสมควร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ช่วยบำบัดทุกข์สุขแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ดังกล่าว ด้วยพรหมวิหารธรรมตามควรแก่เหตุ

     สอดส่อง  หมายถึง การตรวจตราและเอาใจใส่ดูแลการประพฤติปฏิบัติตนของบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีถิ่นที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีงาม รวมถึงควบคุมและบังคับบัญชาบรรพชิตและคฤหัสถ์ดั่งกล่าว ให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งมหาเถรสมาคม และรวมถึงการว่ากล่าวแนะนำชี้แจง เกี่ยวกับการปฏิบัติดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งวัดและพระศาสนาอันเป็นส่วนรวม

     ๓)   หน้าที่เป็นธุระจัดการศึกษาและอบรม

           (๑)  ในการจัดการศาสนศึกษาและอบรม

           (๒)  ในการอบรมสั่งสอนพระธรรมวินัย

     การจัดการศาสนศึกษา      หมายถึง การจัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ได้ศึกษาเล่าเรียน ทั้งแผนกบาลี และแผนกธรรม (รวมถึงธรรมศึกษาอยู่ด้วย) หรือเฉพาะแผนกใดแผนกหนึ่ง ซึ่งยึดแบบแผนตามจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบมา โดยตรง ได้แก่ การจัดตั้งสำนักศาสนศึกษาแผนกบาลีและแผนกธรรม หรือการให้พระภิกษุสามเณรไปเรียนที่วัดใกล้เคียงซึ่งมีสำนักศาสนศึกษาดังกล่าว

     การอบรมสั่งสอนพระธรรมวินัย หมายถึง การจัดให้มีการอบรมสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตตามวิธีการที่กำหนดในคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ให้ภิกษุสามเณรเรียนพระธรรมวินัย พ.ศ.๒๕๒๘ และการจัดให้มีการอบรมสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ในรูปแบบอื่น ๆ รวมถึงการฝึกอบรมระเบียบแบบแผนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ เช่น การทำกิจวัตรประจำวัน การฝึกซ้อมสวดมนต์ ฝึกซ้อมเรื่องสังฆกรรมและพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนฝึกอบรมการปฏิบัติศาสนกิจของคฤหัสถ์ เช่น การทำวัตรสวดมนต์ประจำวันพระ การสมาทานอุโบสถศีล และปฏิบัติศาสนพิธีอื่น ๆ

     ๔)   หน้าที่อำนวยความสะดวกในการบำเพ็ญกุศล

     หน้าที่อำนายความสะดวกในการบำเพ็ญกุศลนั้น เป็นหน้าที่เชื่อมโยงผูกพันกับสังคมทั้งในส่วนวัดและนอกวัด และเป็นหน้าที่อันเกี่ยวกับผลประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งพอแยกได้โดยลักษณะ คือ

           (๑)  การอำนวยความสะดวกแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่ขอให้วัดเป็นที่จัดบำเพ็ญกุศล ทั้งที่เป็นส่วนตัวและส่วนรวม

           (๒)  การอำนวยความสะดวกในการบำเพ็ญกุศลของวัดเอง ทั้งที่เป็นการประจำและเป็นการจร

           (๓)  การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้บำเพ็ญกุศลนอกวัด แต่ขอรับคำปรึกษาและความอุปถัมภ์จากเจ้าอาวาสหรือจากวัด

           (๔)  การสร้างสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการบำเพ็ญกุศล เช่น การสร้างฌาปนสถาน มีเมรุเผาศพ ศาลาพักศพหรือศาลบำเพ็ญกุศล เป็นต้น

     หน้าที่เจ้าอาวาสข้อนี้  มีคำที่ต้องพิเคราะห์ คือคำว่า “ตามสมควร” คือต้องให้การบำเพ็ญกุศลที่เกิดจากการอำนวยความสะดวกนั้น เป็นไปตามระเบียบแบบแผนไม่มีสิ่งที่เป็นพิษภัย เช่น อบายมุข แฝงอยู่

๓.อำนาจเจ้าอาวาส

     อำนาจเจ้าอาวาส หมายถึง สิ่งที่เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติงานของเจ้าอาวาส เพื่อให้งานที่ปฏิบัติเป็นไปด้วยดี เป็นสิ่งที่มีคู่กับหน้าที่เจ้าอาวาส มีไว้เพื่อใช้บังคับบัญชาผู้อยู่ในบังคับบัญชา โดยเฉพาะเกี่ยวกับบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ดังในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา ๓๘

     “มาตรา ๓๘ เจ้าอาวาส มีอำนาจ” ดังนี้

           (๑)  ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด

           (๒)  สั่งให้บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด

           (๓)  สั่งให้บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัด ทำงานภายในวัด หรือให้ทำทัณฑ์บน หรือให้ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาสซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวิวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม

     อำนาจเจ้าอาวาสตามมาตรา ๓๘ นี้ เป็นอำนาจเกี่ยวกับบรรพชิตและคฤหัสถ์หรือผู้จะเข้ามาอยู่ในปกครอง และผู้อยู่ใต้ปกครอง แยกพิจารณาได้ ๓ คือ

           ๑)   อำนาจรับคนเข้า

           ๒)   อำนาจเอาคนออก

           ๓)   อำนาจสั่งให้ช่วยงานและสั่งลงโทษ

           อำนาจ ๑) หมายถึง อำนาจที่เจ้าอาวาสต้องดุลพินิจใช้รับการรับคนเข้าอยู่ในวัดทั้งที่จะมาอยู่ประจำหรือเป็นการชั่วคราว ซึ่งอาจแยกออกเป็น ๒ คือ.-

                (ก) ห้ามมิให้บรรพชิตหรือคฤหัสถ์เข้าไปอยู่ในวัดโดยพลการ

                (ข) อนุญาตให้บรรพชิตหรือคฤหัสถ์เข้าไปอยู่ในวัด

     การห้ามและการอนุญาตดังกล่าวนี้ เป็นอำนาจโดยตรงของเจ้าอาวาส จึงถือว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้คัดเลือกคนเข้าวัดคู่กับตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งรับคนเข้าเป็นพระภิกษุสามเณรอันเป็นสมาชิกชั้นในแห่งพระพุทธศาสนา การรับหรือไม่รับบรรพชิตหรือคฤหัสถ์เข้ามาอยู่ในวัด เป็นอำนาจโดยตรงของเจ้าอาวาส ส่วนการรับหรือไม่รับคนเข้าเป็นบรรพชิต เป็นภาระโดยตรงของเจ้าอาวาส ส่วนการรับหรือไม่คนเข้าเป็นบรรพชิต เป็นภาระโดยตรงของพระอุปัชฌาย์ การที่สังฆมณฑลจะได้คนดีเข้าอยู่วัดหรือจะได้คนดีเข้าเป็นสมาชิกชั้นในของพระพุทธศาสนา เป็นอำนาจและภาระของเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์โดยแท้

            อำนาจ ๒) หมายถึง อำนาจที่เจ้าอาวาสจะต้องใช้ดุลยพินิจในการคัดคนไว้ในวัด หรือให้คนออกไปจากวัด ซึ่งอาจแยกได้เป็น ๒ คือ

                (ก) ให้คนดีอยู่ในวัด

                (ข) ให้คนไม่ดีออกไปจากวัด

     การให้คนดีอยู่ในวัด   เป็นอำนาจโดยตรงของเจ้าอาวาส การเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการปกป้องคุ้มครองคนดีให้มีที่อยู่อาศัย เพื่อให้โอกาสได้พักพิงสร้างคุณงามความดี เป็นการสงเคราะห์คนดีโดยควรแก่ฐานานุรูป ย่อมเป็นอำนาจสำคัญอย่างหนึ่งของเจ้าอาวาส แต่มิได้แสดงให้ปรากฏ ย่อมเป็นไปตามสัจธรรม

     การให้คนไม่ดีออกไปจากวัด ก็เป็นอำนาจโดยตรงอีกอันหนึ่งของเจ้าอาวาสอำนาจนี้ย่อมมีองค์ประกอบอันชัดเจน คือจะสั่งได้เฉพาะผู้ที่ไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสและโอวาทนั้นเป็นโอวาทอันชอบด้วยหน้าที่เจ้าอาวาสตามความในข้อ ๓๗ ถ้าโอวาทนั้นเป็นโอวาทอันชอบด้วยหน้าที่แล้ว ผู้ถูกสั่งไม่อยู่ในโอวาท เจ้าอาวาสจึงจะสั่งให้ออกไปเสียจากวัดได้ และถ้าผู้ถูกสั่งขัดขืน ย่อมเป็นความผิดฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา ๔๕ แต่ถ้าโอวาทหรือคำสั่งไม่ชอบด้วยหน้าที่เจ้าอาวาส โอวาทหรือคำสั่งนั้น ย่อมไม่มีผลให้ผู้ถูกสั่งหรือผู้รับโอวาทต้องปฏิบัติตาม กลับจะเป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบ ซึ่งอาจเป็นเหตุได้รับโทษฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการ และอาจเป็นเหตุให้ต้องรับผิดชอบในฐานเจ้าพนักงานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญาได้ ข้อนี้ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง

          อำนาจ ๓) หมายถึง อำนาจหน้าที่เจ้าอาวาสจะสั่งให้ทำงานในวัดและจะพึงสั่งลงโทษแก่บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัด ผู้ประพฤติผิดคำสั่งของเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นโทษที่เบาลง และประมวลลงได้เป็น ๓ สถาน คือ.

     (๑)  ให้ทำงานภายในวัด

     (๒)  ให้ทำทัณฑ์บน

     (๓)  ให้ขอขมาโทษ

     การลงโทษทั้ง ๓ สถานนี้ เจ้าอาวาสจะสั่งลงโทษได้ เฉพาะในกรณีที่ประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาส และคำสั่งนั้นชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม ถ้าคำสั่งเจ้าอาวาสไม่ชอบด้วยหลักดังกล่าว เจ้าอาวาสจะสั่งลงโทษมิได้เลย ถ้าขืนสั่งลงโทษ ย่อมเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งอาจได้รับโทษฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการ และอาจต้องรับผิดในฐานเจ้าพนักงานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นข้อที่ควรระวังอย่างยิ่ง

๔.หน้าที่และอำนาจอื่น

      นอกจากหน้าที่และอำนาจตามมาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ แล้ว เจ้าอาวาสยังมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการคณะสงฆ์และการพระศาสนาอื่นอีกมาก โดยได้มีบทบัญญัติไว้ในการนั้น ๆ เจ้าอาวาสควรได้ตามศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง

๕.ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส

     โดยที่วัดเป็นองค์กรดำเนินกิจการคณะสงฆ์และกิจการพระศาสนาที่สำคัญ เพราะเป็นองค์กรผู้ปฏิบัติโดยตรง ทั้งมีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนในกิจการทั่วไป วัดจึงต้องมีเจ้าอาวาสอยู่ตลอดไป จะเว้นว่างจากเจ้าอาวาสมิได้ และเจ้าอาวาสที่มีอยู่นั้น จะต้องอาจปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะวัดต้องมีผู้รับผิดชอบอยู่เสมอ ดังนั้น หากไม่มีเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้  ต้องมีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามกฎหมาย เพื่อการนี้ ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ จึงกำหนดให้มีผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ดังในมาตรา ๓๙ ความว่า

     “มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ไม่มีเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส

     การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม”

     ความในมาตรา ๓๙ นี้ บัญญัติเพื่อให้มีการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสและกำหนดผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสให้มีอำนาจและหน้าที่ไว้เช่นเดียวกับเจ้าอาวาสทุกประการ ทั้งนี้ เพื่อให้งานในหน้าที่เจ้าอาวาสได้ดำเนินไปมิยั้งหยุด หรือมิให้งานในหน้าที่เจ้าอาวาสต้องสะดุดหยุดลง

     เพราะการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เป็นเรื่องใหญ่และละเอียดอ่อนจึงให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโดยตราเป็นกฎมหาเถรสมาคม มีรายละเอียดดังความในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ.๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ซึ่งจะกล่าวในโอกาสต่อไป.