พระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๕๐๕
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
—————————–
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรด เกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (๑)
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช ๒๔๘๔ (๒)
มาตรา ๔ ภายในระยะเวลาหนึ่งปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับบรรดากฎกระทรวง สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา ให้คงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับหรือระเบียบของมหาเถรสมาคม ยกเลิก หรือมีความอย่างเดียวกัน หรือขัดหรือแย้งกัน หรือกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๕ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา ๔ บรรดาอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใดหรือคณะกรรมการสงฆ์ใด ซึ่งไม่มีในพระราชบัญญัตินี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจกำหนดโดยกฎมหาเถรสมาคม (๓) ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใด รูปใดหรือหลายรูปร่วมกันเป็นคณะตามที่เห็นสมควรได้
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (๔)
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
สมเด็จพระสังฆราช
มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
มาตรา ๘ สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายพระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม (๕)
มาตรา ๙ สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
มาตรา ๑๐ ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษาปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชจะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระสังฆราชจะได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้ามิได้ทรงแต่งตั้งไว้ ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษาปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ให้สมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษาปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้อาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสรองลงมาโดยพรรษาตามลำดับปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศนามสมเด็จพระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามมาตรานี้ ในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) มรณภาพ
(๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
(๓) ลาออก
(๔) ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก
หมวด ๒
มหาเถรสมาคม
มาตรา ๑๒ มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง (๖) และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสี่รูป และไม่เกินแปดรูปเป็นกรรมการ
มาตรา ๑๓ ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
มาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
มาตรา ๑๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง (๗) เมื่อ
(๑) มรณภาพ
(๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
(๓) ลาออก
(๔) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก
ในกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้งพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง เป็นกรรมการแทน
กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคก่อนอยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๑๖ ในเมื่อประธานกรรมการมหาเถรสมาคมไม่อาจมาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุมมหาเถรสมาคม และมิได้มอบหมายให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน (๘) ให้มหาเถรสมาคมแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน การประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อการแต่งตั้งนี้ ให้กรรมการซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษาเป็นประธานแห่งที่ประชุม
มาตรา ๑๗ การประชุมมหาเถรสมาคม ต้องมีกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยการแต่งตั้งรวมกันมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม
ระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม ให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม (๙)
มาตรา ๑๘ มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย เพื่อการนี้ให้มีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ หรือออกคำสั่ง โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้ (๑๐)
มาตรา ๑๙ การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมและการให้กรรมการมหาเถรสมาคมออกจากตำแหน่ง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
หมวด ๓
การปกครองคณะสงฆ์
มาตรา ๒๐ การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม (๑๑)
มาตรา ๒๑ การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้จัดแบ่งเขตปกครองดังนี้
(๑) ภาค
(๒) จังหวัด
(๓) อำเภอ
(๔) ตำบล
จำนวนและเขตปกครองดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม (๑๒)
มาตรา ๒๒ การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้มีพระภิกษุเป็นผู้ปกครองตามชั้นตามลำดับ ดังต่อไปนี้
(๑) เจ้าคณะภาค
(๒) เจ้าคณะจังหวัด
(๓) เจ้าคณะอำเภอ
(๔) เจ้าคณะตำบล
เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นสมควร จะจัดให้มีรองเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะอำเภอ และรองเจ้าคณะตำบล เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะนั้น ๆ ก็ได้
มาตรา ๒๓ การแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ (๑๓) และไวยาวัจกร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม (๑๔)
หมวด ๔
นิคหกรรมและการสละสมณเพศ
มาตรา ๒๔ พระภิกษุจะต้องรับนิคหกรรม ก็ต่อเมื่อกระทำการล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และนิคหกรรมที่จะลงแก่พระภิกษุ ก็ต้องเป็นนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย (๑๕)
มาตรา ๒๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๔ มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคมกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้การลงนิคหกรรมเป็นไปโดยถูกต้องสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม และให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายที่มหาเถรสมาคมจะกำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ให้มหาเถรสมาคมหรือพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งใดเป็นผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย กับทั้งการกำหนดให้การวินิจฉัยการลงนิคหกรรมให้เป็นอันยุติในชั้นใด ๆ นั้นด้วย (๑๖)
มาตรา ๒๖ พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุด ให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น
มาตรา ๒๗ พระภิกษุรูปใดต้องคำวินิจฉัยให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น หรือประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ หรือไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งกับทั้งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง (๑๗) มหาเถรสมาคมมีอำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้
พระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามความในวรรคก่อน ต้องสึกภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น
มาตรา ๒๘ พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย (๑๘) ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
มาตรา ๒๙ พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว (๑๙) และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้
มาตรา ๓๐ เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขัง (๒๐) พระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น
หมวด ๕
วัด
มาตรา ๓๑ วัดมีสองอย่าง
(๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
(๒) สำนักสงฆ์
มาตรา ๓๒ การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย การยุบเลิกวัด และการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณียุบเลิกวัด ทรัพย์สินของวัดที่ถูกยุบเลิก ให้ตกเป็นศาสนสมบัติกลาง
มาตรา ๓๓ ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัด มีดังนี้
(๑) ที่วัด คือที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น
(๒) ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด
(๓) ที่กัลปนา คือที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัด หรือพระศาสนา
มาตรา ๓๔ ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ ก็แต่โดยพระราชบัญญัติและห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความ (๒๑) ขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์
มาตรา ๓๕ ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี (๒๒)
มาตรา ๓๖ วัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง และถ้าเป็นการสมควร จะให้มีรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วยก็ได้
มาตรา ๓๗ เจ้าอาวาสมีหน้าที่ ดังนี้
(๑) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี (๒๓)
(๒) ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิต และคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือ คำสั่งของมหาเถรสมาคม
(๓) เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิต และคฤหัสถ์
(๔) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล
มาตรา ๓๘ เจ้าอาวาสมีอำนาจ ดังนี้
(๑) ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด
(๒) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด
(๓) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัดทำงานภายในวัด หรือให้ทำทัณฑ์บน หรือให้ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาส ซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม (๒๔)
มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ไม่มีเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส
การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม (๒๕)
หมวด ๖
ศาสนสมบัติ
มาตรา ๔๐ ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท
(๑) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของพระศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง
(๒) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง
การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติกลาง ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการศาสนา เพื่อการนี้ให้ถือว่ากรมการศาสนาเป็นเจ้าของศาสนสมบัติกลางนั้นด้วย
การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๑ ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำงบประมาณประจำปีของศาสนสมบัติกลาง ด้วยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้งบประมาณนั้นได้
หมวด ๗
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๔๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ วรรคสอง หรือมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน (๒๖)
มาตรา ๔๓ ผู้ใด
(๑) หมดสิทธิที่จะได้รับบรรพชาอุปสมบท โดยต้องปาราชิกมาแล้ว แต่มารับบรรพชาอุปสมบทโดยปิดบังความจริง (๒๗)
(๒) ต้องปาราชิกแล้ว ไม่ละการแต่งกายอย่างเพศบรรพชิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน
มาตรา ๔๔ ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์ไทย อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือความแตกแยก ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ (๒๘)
หมวด ๘
เบ็ดเตล็ด
มาตรา ๔๕ ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร (๒๙) เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๔๖ การปกครองคณะสงฆ์อื่น (๓๐) นอกจากคณะสงฆ์ไทย ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การจัดดำเนินกิจการคณะสงฆ์ มิใช่เป็นกิจการอันพึงแบ่งแยกอำนาจดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการถ่วงดุลแห่งอำนาจเช่นที่เป็นอยู่ตามกฎหมายในปัจจุบัน และโดยที่ระบบเช่นว่านั้นเป็นผลบั่นทอนประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการ จึงสมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ ให้สมเด็จพระสังฆราช องค์สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคม ตามอำนาจกฎหมายและพระธรรมวินัย ทั้งนี้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา
………………………………..
จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๙ ตอนที่
๑๑๕ วันที่ ๓๑ ธันวาคม
พ.ศ. ๒๕๐๕ ลงในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕๑
ภาค ๑ ตอนที่
๑ วันที่ ๕
มกราคม ๒๕๐๖
(๑) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ จึงเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ และในแถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๕๑ ภาค ๑ ตอนที่ ๑ วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๖
(๒) เรื่องต่าง ๆ ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ถ้าเรื่องใดได้นำมาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้อีก ก็เป็นอันไม่เลิก
(๓) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๖) เป็นบทเฉพาะกาลใช้บังคับได้ภายในระยะเวลา ๑ ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔
(๔) นอกจากหน้าที่ตามมาตรานี้ ยังมีหน้าที่พิเศษตามมาตรา ๑๐ วรรคท้ายและมาตรา ๑๙
(๕) บัญญัติไว้เฉพาะเรื่อง “กฎมหาเถรสมาคม” ส่วนเรื่องข้อบังคับและระเบียบมหาเถรสมาคม มิได้บัญญัติไว้ แต่ถ้าข้อบังคับหรือระเบียบมหาเถรสมาคมเรื่องใด ได้กำหนดขึ้นตามกฎมหาเถรสมาคม ก็เข้าอยู่ในหลักเกณฑ์ตามมาตรานี้ด้วยเหมือนกัน
(๖) “กรรมการโดยตำแหน่ง” นี้ กฎหมายมิได้กำหนดจำนวนมิได้กำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่ง และมิได้กำหนดเรื่องการพ้นจากตำแหน่ง ฉะนั้น จะลาออกหรือสมเด็จพระสังฆราชจะมีพระบัญชาให้ออกหาได้ไม่ ต้องอยู่ในตำแหน่งตลอดไปจนกว่าจะพ้นจากสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ
(๗) กรณีพ้นจากตำแหน่ง ยังมีอยู่อีกกรณีหนึ่ง ในเมื่อกรรมการโดยการแต่งตั้งได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะย่อมพ้นจากกรรมการโดยการแต่งตั้ง เป็นกรรมการโดยตำแหน่งตามมาตรา ๑๒ จัดเป็นกรณีพ้นจากตำแหน่งโดยกฎหมาย
(๘) โดยบทบัญญัติ ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม จึงมีอำนาจมอบหมายผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุมแทนได้ แต่จะมอบหมายผู้อื่นนอกจากสมเด็จพระราชาคณะไม่ได้
(๙) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเยียบการประชุมหาเถรสมาคม
(๑๐) หลักเกณฑ์ในการตรากฎมหาเถรสมาคม ตามมาตรานี้เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไป แต่ยังมีหลักเกณฑ์พิเศษเป็นข้อยกเว้นอยู่อีกส่วนหนึ่งในมาตรา ๒๕
(๑๑) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์
(๑๒) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์
(๑๓) “ตำแหน่งอื่น ๆ” หมายถึงตำแหน่งที่บัญญัตินี้ เช่นในมาตรา ๒๒ และรวมถึงตำแหน่งที่ตราไว้ในกฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ หรือระเบียบมหาเถรสมาคมด้วย
(๑๔) ดูกฎและระเบียบดังต่อไปนี้.-
๑) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ และ
ระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดวิธีปฏิบัติในหน้าที่พระอุปัชฌาย์ พ.ศ. ๒๕๐๗
๒) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ และ
ระเบียบมหาเถระสมาคม ว่าด้วยการร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๐๖
๓) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร
(๑๕) มาตรานี้เป็นหลักการลงนิคหกรรม มีผลเท่ากับ:-
๑) ห้ามมิให้ลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้มิได้กระทำผิดพระธรรมวินัย
๒) ห้ามมิให้ลงนิคหกรรมอย่างอื่น นอกจากนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย
(๑๖) กฎมหาเถรสมาคมตามมาตรานี้ มีหลักเกณฑ์เป็นพิเศษแยกได้เป็น ๒ ส่วน คือ
๑. ในตอนต้น บัญญัติหลักเกณฑ์ “เพิ่มขึ้น” คือนอกจากไม่ขัดกับมาตรา ๑๘ แล้วยังต้องไม่ขัดกับมาตรา ๒๔ และต้องเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมด้วย
๒. ในตอนท้ายบัญญัติหลักเกณฑ์ “ลดลง” กล่าวคือถึงแม้จะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๑๘ ก็ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมาย
ดูกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุ
(๑๗) ภิกษุผู้ไม่มีสังกัดในมาตรานี้ ต่างกับในมาตรา ๒๙ คือ ต้องไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งด้วย
(๑๘) “บุคคลล้มละลาย” ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งถูกฟ้องในกรณีมีหนี้สินล้นพ้นตัว และมีหนี้สินไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันบาท
(๑๙) “ไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว” ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตั้งแต่มาตรา ๑๐๖ ถึงมาตรา ๑๐๙
(๒๐) “กักขัง” เพราะไม่ชำระค่าปรับ หรือไม่ส่งทรัพย์ที่ถูกริบ ตามคำพิพากษาของศาล “ขัง” หมายถึงถูกขังในระหว่างพิจารณาของศาล
(๒๑) “อายุความ ในมาตรานี้ หมายถึง อายุความได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น โดยการครอบครองอย่างสงบและเปิดเผย โดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายความว่า ผู้ที่ครอบครองที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกัน เป็นเวลาสิบปี หรือนานเท่าใด ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
(๒๒) “การบังคับคดี” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๕ (๒) หมายความว่า เจ้าหนี้ของวัดจะร้องขอให้ยึดที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ขายทอดตลาด เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้
(๒๓) การจัดศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี คือให้เป็นไปตามพระวินัยและกฎกระทรวงในมาตรา ๔๐ วรรคท้าย
(๒๔) โทษตาม (๒) และ(๓) คล้ายกับโทษปัพพาชนียกรรมและทัณฑกรรม แต่ไม่จัดเป็นนิคหกรรมตามมาตรา ๒๔ เพราะเป็นโทษตามกฎหมาย ส่วนปัพพาชนียกรรมและทัณฑกรรมเป็นโทษตามพระวินัย จัดเป็นนิคหกรรมตามมาตรา ๒๔
(๒๕) กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๖ พ.ศ. (๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส
(๒๖) ผู้กระทำผิดตามมาตรานี้ประกอบด้วยมาตรา ๒๖ ฐานฝ่าฝืนคำวินิจฉัยลงนิคหกรรมให้สึกยังมีความผิดตามมาตรา ๔๓ (๒) อีกกระทงหนึ่ง เพราะต้องปาราชิกแล้วไม่สละสมณเพศ
(๒๗) ผู้หมดสิทธิ์ที่จะได้รับบรรพชาอุปสมบท คือ ผู้ที่ถูกห้ามอุปสมบทอย่างเด็ดขาดเรียกว่า “อภัพพบุคคล” ตามพระวินัยได้บัญญัติไว้หลายประเภทและหลายกรณี ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๕๕ (๒) บัญญัติไว้กว้างขวาง มีความหมายคลุมถึงอภัพพบุคคลทุกประเภท แต่ในมาตรา ๔๓ (๑) นี้ บัญญัติไว้เฉพาะอภัพพบุคคลในกรณีต้องปาราชิกเท่านั้น
(๒๘) ลักษณะความผิดตามมาตรานี้ เทียบได้รับความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญา การใส่ความคณะสงฆ์ไทยโดยวิธีการโฆษณาโดยเอกสารหรือวัตถุอย่างใด ๆ ย่อมมีโทษหนักกว่าการกระทำโดยวาจา
(๒๙) “ไวยาวัจกร” ตามมาตรานี้ หมายถึงไวยาวัจกรตามมาตรา ๒๓ และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวงในมาตรา ๔๐ วรรคท้าย
(๓๐) “คณะสงฆ์อื่น” ที่มีอยู่ในขณะนี้ เช่น คณะสงฆ์อานัมนิกาย และคณะสงฆ์จีนนิกาย
Views: 52