พระราชกำหนด
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
พ.ศ. ๒๕๔๗
————————
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
เป็นปีที่ ๕๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
————————————-
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ พ.ศ. ๒๕๔๗”
มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคห้าของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ในการแต่งตั้งผู้ปฏิบัตหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามมาตรานี้ ถ้าสมเด็จพระสังฆราชทรงเห็นเป็นสมควรสำหรับกรณีที่มีเหตุตามวรรคสาม หรือกรรมการมหาเถรสมาคมที่เหลืออยู่เห็นเป็นการสมควรสำหรับกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสี่ อาจพิจารณาเลือกสมเด็จพระราชาคณะหลายรูปที่สามารถปฏิบ้ติหน้าที่ได้ เพื่อให้เป็นคณะผู้ปฏิบ้ติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแทนผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง หรือแทนการดำเนินการตามวรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณีได้ และจะให้มีผู้ช่วยหรือที่ปรึกษาในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยก็ได้ วิธีดำเนินการของคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชให้เป็นไปตามที่คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชกำหนด
เมื่อมีการแต่งตั้งหรือเลือกผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามมาตรานี้แล้ว ให้นายกรัฐานตรีนำความกราบบังคมทูลฝ่าละอองธุลีพระบาท”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำราจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในกรณ๊ไม่มีสมเด็จพระสังฆราช หรือสมเด็จพระสังฆราชไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ ตามกฏหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ได้กำหนดให้แต่งตั้ง หรือเลือกสมเด็จพระราชาคณะเพียงรูปเดียว ซึ่งปรากฏเป็นเหตุขัดข้องจนเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในการปกครองคณะสงฆ์และวงการพุทธศาสนิกชนและอาจถึงขั้นนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้จากความแตกแยกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่คณะสงฆ์ จึงสมควรกำหนดให้มีผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในรูปองค์คณะ ซึ่งแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะหลายรูปเพื่อใช้อำนาจร่วมกันในการบัญชาคณะสงฆ์ เพื่อความสงบเรียบร้อยยิ่งขี้นและสร้างสมานฉันท์เพิ่มขึ้นอีกวิธีการหนึ่ง และโดยที่ขณะนี้สมเด็จพระสังฆราชมีพระชนมายุสูง อีกทั้งอยู่ระหว่างประทับเพื่อรักษาสุขภาพ คณะแพทย์เห็นว่า ควรประทับรักษาพระองค์และอยู่ในความดูแลของคณะแพทย์ จำเป็นต้องมีผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชโดยด่วน จึงสมควรแก้ไขเหตุขัดข้องเพื่อให้มีความสงบเรียบร้อยในประเทศขึ้นโดยเร็ว นับเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๓๔ ก ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ หน้า ๑-๖