กฎมหาเถรสมาคม
ฉบับที่
๑๘ (พ.ศ.๒๕๓๖)
ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร *
——————–
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคม ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ.๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร”
ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิกกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร บรรดากฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ หรือประกาศอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในกฎมหาเถรสมาคมนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับกฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้แทน
ข้อ ๔ ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ “ไวยาวัจกร” หมายถึง คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่ เบิกจ่ายนิตยภัต และจะมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ
ข้อ ๕ ไวยาวัจกรผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ก่อนวันใช้กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ถือว่าเป็นไวยาวัจกรตามกฎมหาเถรสมาคมนี้ต่อไป
หมวด ๑
การแต่งตั้งไวยาวัจกร
ข้อ ๖ คฤหัสถ์ผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกร ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นชาย มีสัญชาติไทย นับถือพระพุทธศาสนา
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์
(๓) เป็นผู้มีหลักฐานมั่นคง
(๔) เป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ไวยาวัจกรได้
(๕) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ
(๖) ไม่เป็นผู้ที่มีร่างกายทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือมีโรคเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
(๗) ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี เช่น มีความประพฤติเสเพล เป็นนักเลงการพนัน เสพสุราเป็นอาจิณ หรือติดยาเสพติดให้โทษ
(๘) ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(๙) ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกลงโทษให้ออกจากราชการ หรือองค์การของรัฐบาล หรือบริษัทห้างร้านเอกชน ในความผิดหรือมีมลทินมัวหมองในความผิดเกี่ยวกับการเงิน
(๑๐) ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกลงโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
ข้อ ๗ ในการแต่งตั้งไวยาวัจกรของวัดใด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสวัดนั้น ปรึกษาสงฆ์ในวัดพิจารณาคัดเลือกคฤหัสถ์ผู้มีคุณสมบัติตามความในข้อ ๖ เมื่อมีมติเห็นชอบในคฤหัสถ์ผู้ใดก็ให้เจ้าอาวาสแต่งตั้งคฤหัสถ์ผู้นั้นเป็นไวยาวัจกร โดยอนุมัติของเจ้าคณะอำเภอ
ในการแต่งตั้งไวยาวัจกรตามความในวรรคต้น เพื่อความเหมาะสมจะแต่งตั้งไวยาวัจกรคนเดียวหรือหลายคนก็ได้
ในกรณีที่มีไวยาวัจกรหลายคน ให้เจ้าอาวาสมอบหมายหน้าที่การงานตามข้อ ๔ แก่ไวยาวัจกรแต่ละคนเป็นหนังสือ
หมวด ๒
การพ้นจากหน้าที่ไวยาวัจกร
ข้อ ๘ ไวยาวัจกรย่อมพ้นจากหน้าที่ เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) พ้นจากความเป็นคฤหัสถ์
(๔) เจ้าอาวาสผู้แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่
(๕) ขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามความในข้อ ๖
(๖) ให้ออกจากหน้าที่
(๗) ถูกถอดถอนออกจากหน้าที่
ข้อ ๙ ไวยาวัจกรผู้ใดประสงค์จะลาออกจากหน้าที่ก็ย่อมทำได้ เมื่อเจ้าอาวาสสั่งอนุญาตแล้ว จึงเป็นอันพ้นจากหน้าที่ และให้เจ้าอาวาสรายงานเจ้าคณะอำเภอทราบ
ข้อ ๑๐ ไวยาวัจกรผู้พ้นจากหน้าที่ตามความในข้อ ๘ (๔) ให้รักษาการในหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่
ข้อ ๑๑ ไวยาวัจกรผู้ขาดแคลนคุณสมบัติตามความในข้อ ๘ (๕) ให้เจ้าอาวาสสั่งให้พ้นจากหน้าที่แล้วรายงานเจ้าคณะอำเภอทราบ
ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ไวยาวัจกรหย่อนความสามารถด้วยเหตุใดๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเจ้าอาวาสเห็นสมควรให้ออกจากหน้าที่ก็สั่งให้ออกได้ โดยอนุมัติของเจ้าคณะอำเภอ
ข้อ ๑๓ การถอดถอนไวยาวัจกรออกจากหน้าที่ จะทำได้เมื่อไวยาวัจกรประพฤติมิชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ทุจริตต่อหน้าที่
(๒) ไม่ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
(๓) ขัดคำสั่งของเจ้าอาวาส ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่วัดอย่างร้ายแรง
(๔) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่วัดอย่างร้ายแรง
(๕) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าอาวาสสั่งถอดถอนไวยาวัจกรผู้นั้นออกจากหน้าที่ โดยอนุมัติของเจ้าคณะอำเภอ
ข้อ ๑๔ ในกรณีที่ไวยาวัจกรพ้นจากหน้าที่ตามความในข้อ ๘ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) หรือ (๗) ไวยาวัจกรผู้นั้นจะพ้นจากความรับผิดชอบในหน้าที่ต่อเมื่อได้มอบหมาย หน้าที่การงานพร้อมด้วยทรัพย์สินและหลักฐานต่างๆ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของตน แก่ผู้รับหน้าที่แทนตนเรียบร้อยแล้ว
การมอบหมายตามความในวรรคแรก ให้กระทำภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่พ้นจากหน้าที่ ถ้ามิได้มอบหมายภายในกำหนดให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบตามความในประมวลกฎหมายอาญา
ข้อ ๑๕ ในกรณีที่ไวยาวัจกรว่างลง และจะแต่งตั้งทันทีมิได้ ให้เจ้าอาวาสแต่งตั้งผู้รักษาการแทนไวยาวัจกร และให้ดำเนินการเพื่อให้มีการแต่งตั้งไวยาวัจกรภายในเวลาไม่เกิน ๙๐ วัน
ผู้รักษาการแทนไวยาวัจกร ให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับไวยาวัจกร
หมวด ๓
เบ็ดเตล็ด
ข้อ ๑๖ เมื่อมีการแต่งตั้งไวยาวัจกร หรือผู้รักษาการแทนไวยาวัจกร หรือเมื่อไวยาวัจกรพ้นจากหน้าที่ตามความในข้อ ๘
(๑) ในกรุงเทพมหานคร ให้เจ้าอาวาสแจ้งไปยังกรมการศาสนา
(๒) ในจังหวัดอื่น ให้เจ้าอาวาสแจ้งแก่นายอำเภอ เพื่อรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและกรมการศาสนา
ข้อ ๑๗ คำสั่งของเจ้าอาวาสในการแต่งตั้งไวยาวัจกร หรือผู้รักษาการแทนไวยาวัจกรก็ดี ในการให้ไวยาวัจกรหรือผู้รักษาการแทนไวยาวัจกร พ้นจากหน้าที่ก็ดีให้กระทำเป็นหนังสือ
ตราไว้ ณ วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
* จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๔ : ๒๘ เมษายน ๒๕๓๖