กฎมหาเถรสมาคม
ฉบับที่
๒๑
(พ.ศ.๒๕๓๘)
ว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ
*
———————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ.๒๕๓๗) ว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ
ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในกรณีระภิกษุรูปใด
(๑) ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเรื่องเดียวกันหรือหลายเรื่องเป็นอาจิณ ให้เจ้าอาวาสวัดซึ่งพระภิกษุนั้นสังกัดหรือพำนักอาศัยมีอำนาจหน้าที่แนะนำ ชี้แจง ตักเตือนให้พระภิกุรูปนั้นประพฤติตามพระธรรมวินัยเป็นลายลักอักษร โดยกำหนดเวลาให้ปฏิบัติ หากพระภิกษุรูปนั้นไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ ชี้แจง ตักเตือนภายในเวลาที่กำหนด ให้เจ้าอาวาสวัดซึ่งพระภิกษุรูปนั้นสังกัดหรือพำนักอาศัย รายงานโดยลำดับ จนถึงเจ้าคณะอำเภอเจ้าสังกัด เพื่อวินิจฉัยให้สละสมณเพศต่อไป
(๒) ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง หรือไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ให้พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองวัด หรือพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ในเขตท้องที่ที่พบพระภิกษุรูปนั้น มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้
ข้อ ๔ ในกรณีที่มีการฟ้องว่า พระภิกษุรูปใดกระทำความผิดอันเป้นครุกาบัติ เมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรมแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้องเพื่อดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยต่อไปก็ดี คณะผู้พิจารณาชั้นต้นวินิจฉัยแล้ว ไม่ว่าจะลงนิคหกรรมหรือไม่ก็ตาม และเรื่องยังอยู่ภายในกำหนดเวลาอุทธรณ์ก็ดี หรือมีการอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาแล้ว ไม่ว่าคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์จะมีคำสั่งหรือวินิจฉัยอย่างไรก็ดี ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นหรือคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์แล้วแต่กรณี รายงานข้อเท็จจริงขอกฎหมาย และพระธรรมวินัยที่เกี่ยวข้องต่อมหาเถรสมาคม
ในกรณีที่การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมอยู่ในชั้นฎีกา กรรมการมหาเถรสมาคมรูปใดรูปหนึ่งอาจรายงานต่อมหาเถรสมาคมเพื่อให้ดำเนินการตามข้อนี้ นอกเหนือจากการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมก็ได้
ในกรณีที่มหาเถรสมาคมพิจารณาจากรายงานดังกล่าว และพยานหลักฐานอื่นประกอบกันแล้ว เห็นว่าพระภิกษุผู้เป็นจำเลยประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเรื่องเดียวกันหรือหลายเรื่องอันเป็นโลกวัชชะเป็นอาจิณ ทั้งความประพฤตินั้นเมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ที่ล่วงมาแล้ว หากให้ดำรงเพศบรรพชิตต่อไป จ่ะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองของคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคมมีอำนาจวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้ ทั้งนี้ไม่กระทบต่อการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ไม่ว่าในชั้นใดๆ
ข้อ ๕ คำวินิจฉัยให้พระภิกษุสละสมณเพศตามข้อ ๓ หรือ ข้อ ๔ ให้เป็นอันถึงที่สุด
ข้อ ๖ เมื่อมีคำวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปใดสละสมณเพศตามข้อ ๓ หรือข้อ ๔ แล้ว ให้เจ้าอาวาสซึ่งพระภิกษุรูปนั้นสังกัดหรือพำนักอาศัยหรือพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองวัด หรือพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ในเขตท้องที่ที่พบพระภิกษุรูปนั้นแล้วแต่กรณี แจ้งผลคำวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นทราบ และจัดการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศ
ในกรณีที่ไม่อาจพบพระภิกษุรูปนั้น หรือพระภิกษุรูปนั้นไม่ยอมรับทราบคำวินิจฉัย เมื่อปิดประกาศตำวินิจฉัยไว้ ณ ที่พำนักอาศัยของพระภิกษุรูปนั้น ถือว่าพระภิกษุรูปนั้นทราบคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว
ข้อ ๗ พระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศต้องสึกภายในสามวัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยนั้น
ในกรณีที่พระภิกษุรูปนั้นไม่สึกภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้พระภิกษุผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการให้พระรูปนั้นสละสมณเพศขออารักขาต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักร เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย
ข้อ ๘ ใหคณะผู้พิจารณาชั้นต้น หรือชั้นอุทธรณ์แล้วแต่กรณี ซึ่งอยู่ระหว่างพิจาณาคำวินิจฉัยการลงนิคหกรรมตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหรรมและการพิจารณานั้นยังไม่ถึงที่สุด ปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคมนี้ และกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๒๑) ต่อไป
ตราไว้ ณ วันที ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๘
(สมเด็จพระญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานกรรมการมหาเถสมาคม
* ลงในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๖ ฉบับพิเศษ : ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๘