บทนำเรื่อง

        “ตำรากวีนิพนธ์” เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้ผู้ศึกษาได้ทราบชัดเจนและถูกต้อง จึงอธิบายชื่อเป็นสำคัญ โดยจะแยกคำออกให้มองเห็น

        คำว่า “ตำรา” หมายถึง แบบแผนที่มีผู้กำหนดไว้ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า เป็นนาม หมายความว่า แบบแผนที่ว่าด้วยวิชาการต่าง ๆ

        คำว่า กวีนิพนธ์ หมายถึง คำประพันธ์หรือคำร้อยกรอง ที่กวีแต่งขึ้น ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า คำประพันธ์ คำกวี คำกานท์ หรือ บทกลอน โดยความได้แก่ วรรณกรรมหรือวรรณคดีที่เรียบเรียงขึ้นโดยวิธีร้อยกรอง ถือกันว่า เป็นคำประพันธ์ชั้นสูงกว่าคำประพันธ์ที่เรียบเรียงขึ้นโดยวิธีร้อยแก้ว ผู้เรียบเรียงวรรณกรรมโดยวิธีร้อยกรอง ได้รับการยกย่องว่า “กวี” หรือ “นักกวี”  ส่วนผู้เรียบเรียงวรรณกรรมโดยวิธีร้อยแก้ว ได้รับการยกย่องว่า “นักประพันธ์”         ดังนั้น เมื่อรวมคำว่า “ตำรา” กับคำว่า “กวีนิพนธ์” เข้าด้วยกัน จึงเป็น “ตำรากวีนิพนธ์” อันเป็นหนังสือบรรจุแบบแผนหลักวิชาว่าด้วยกวีนิพนธ์ ทั้งส่วนที่เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการ พร้อมทั้งวิธีใช้ และอื่น ๆ

ประเภทแห่งกวี

        คำว่า “กวี” เป็นคำกลาง ๆ เป็นชื่อคนผู้เป็นกวีก็ได้ เป็นชื่อวรรณกรรมก็ได้ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า เป็นนาม กล่าวคือเป็นชื่อของคน หมายถึงผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทกลอน จำแนกเป็น ๔ คือ จินตกวี แต่งโดยความคิด สุตกวี แต่งโดยฟังมา อรรถกวี แต่งตามความจริง ปฏิภาณกวี แต่งกลอนสด เมื่อแยกถือเอาความให้ชัด ย่อมได้ทั้งเป็นชื่อประเภทนักกวี ทั้งเป็นชื่อของคำกวี โดยกำหนดได้ดังนี้

        ๑) จินตกวี เป็นชื่อคน หมายถึง ผู้แต่งกวีตามเรื่องที่ตนคิดขึ้นเอง เป็นชื่อคำกวี หมายถึง คำกวีที่แต่งโดยความคิดของจินตกวีนั้น

        ๒) สุตกวี เป็นชื่อคน หมายถึง ผู้แต่งกวีตามเรื่องที่ฟังมา หรือจำมา เป็นชื่อคำกวี หมายถึง คำกวีที่แต่งตามเรื่องที่ฟังมา

        ๓) อรรถกวี เป็นชื่อคน หมายถึง ผู้แต่งกวีโดยยึดหลักความเป็นจริง เป็นชื่อคำกวี หมายถึง คำกวีที่แต่งตามความเป็นจริง

        ๔) ปฏิภาณกวี เป็นชื่อคน หมายถึง ผู้แต่งหรือว่ากลอนสด เป็นชื่อคำกวี หมายถึง กลอนสดตามที่ปฏิภาณกวีได้กล่าวไว้

รสกวีแบบไทย

        กวีทุกประเภทที่จะไพเราะเพราะพริ้งนั้น เพราะลีลาของการแต่งดีงาม เพราะลีลาดีงามเป็นเหตุให้กวีมีรสอันไพเราะเพราะพริ้ง นักปราชญ์ท่านบัญญัติรสกวีไทยไว้ ๔ รส คือ

        ๑) เสาวรจนี ลีลาการประพันธ์แบบยึดความสัตย์จริง ความดีงาม เป็นหลัก เสาว
รจนีรส
จึงจัดเป็นรสสำคัญของกวี

        ๒) นารีปราโมทย์ ลีลาการประพันธ์แบบพรอดรัก โอดครวญ ห่วงใย คิดถึง สมานใจ นารีปราโมทย์รส จึงเป็นรสที่สำคัญและชวนอ่านฟังมาก

        ๓) พิโรธวาทัง ลีลาการประพันธ์แบบโกรธขึ้ง หึงหวง เคียดแค้น ห้าวหาญ ขบขัน ตลกคะนอง โลดโผน พิโรธวาทังรส จึงจัดเป็นรสที่สำคัญ

        ๔) สัลลาปังคพิไสย ลีลาการประพันธ์เป็นไปแบบเจรจา สานสัมพันธ์ แบบเล่าความ แบบปฏิสัณฐาร สัลลาปังคพิไสยรส เป็นรสไม่โลดโผน แต่เป็นรสที่สำคัญเช่นรสอื่น

        การแต่งกวีไทยมักใช้ลีลารสทั้ง ๔ นี้สลับกันตามเหมาะควร ส่วนรสใดจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับเรื่องที่แต่ง

รสกวีแบบสันสกฤต

        อนึ่ง รสกวีหรือรสวรรณคดีแบบสันสกฤต ท่านพระภรตมุนีกล่าวไว้ในตำรานาฏยศาสตร์ไว้ ๙ อย่าง คือ

        ๑) ศฤงคารรส รสแห่งความรัก ได้แก่ การพรรณนาที่โน้มน้าวให้เกิดความรัก แบบหมายชิดพิสมัย แบบผู้ใหญ่กับผู้น้อย

        ๒) หาสยรส รสแห่งความขบขัน ได้แก่ การพรรณนาแบบจะให้เกิดความขบขัน ยั่วยุให้สนุกสนาน ตลกคะนอง

        ๓) กรุณารส รสแห่งความกรุณา ได้แก่ การพรรณนาแบบให้เกิดความเอ็นดู ความสงสาร อยากเกื้อหนุนจุนเจือ

        ๔) รุทธรส รสแห่งความโกรธ ได้แก่ การพรรณนาแบบยั่วยุให้เกิดโทสะ ให้เกิดความขัดเคือง

        ๕) วีรรส รสแห่งความกล้าหาญ ได้แก่ การพรรณนาแบบปลุกใจให้เกิดความฮึกหาญ ไม่เกรงกลัว

        ๖) ภยานกรส รสแห่งความกลัว ได้แก่ การพรรณนาแบบให้เกิดความขยาด หวั่นหวาด หดหู่

        ๗) พีภัตรส รสแห่งความรังเกียจ ได้แก่ การพรรณนาแบบให้เกิดความรังเกียจ ความหวาดระแวง

        ๘) อัพภูตรส รสแห่งความพิศวง ได้แก่ การพรรณนาแบบให้เกิดความพิศวง งงงวย น่าอัศจรรย์

        ๙) ศานติรส รสแห่งความสงบ ได้แก่ การพรรณาแบบให้เกิดความเย็นใจ ความสงบสุข

โวหาร

        ถ้อยคำที่ใช้ในการประพันธ์นั้นจัดตามลักษณะการใช้เพื่อให้เกิดอารมณ์แก่ผู้อ่านและผู้ฟัง ท่านเรียกว่า “โวหาร” แยกตามลักษณะที่ใช้เป็น ๑๐ คือ

        ๑) บรรยายโวหาร ได้แก่ การบรรยายความอย่างละเอียดลออ เช่น การเล่าประวัติหรือตำนาน หรือเล่าเรื่องที่พบเห็น

        ๒) พรรณนาโวหาร ได้แก่ การแยกยกประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เพื่อสอดแทรก หรือเพื่อให้เห็นส่วนที่เด่นชัดเจน เช่น การกล่าวสดุดี การชมความงามความดี

        ๓) เทศนาโวหาร ได้แก่ การบรรยายในหลักธรรม หรือการให้โอวาท หรือการบรรยาย แบบขยายความ

        ๔) สาธกโวหาร ได้แก่ การบรรยายแบบมีตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อให้ความชัดเจน

       ๕) อุปลักษณโวหาร ได้แก่ การพรรณนาที่ยกสิ่งนี้เทียบกับสิ่งนั้น

        ๖) อุปมาโวหาร ได้แก่ การพรรณนาเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนกันให้เห็นชัดเจน เรียกว่าอุปมาอุปไมย

        ๗) บุคคลวัต ได้แก่ การพรรณนาแบบยกบุคคลเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีชีวิต เรียกว่า บุคคลาธิษฐาน

        ๘) อธิพจน์ ได้แก่ การพรรณนาเกินความจริง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อติพจน์

        ๙) ปฏิพากย์ ได้แก่ การพรรณนาที่ใช้ถ้อยคำสำนวนที่มีความตรงกันข้าม หรือขัดกัน เพื่อให้มองอีกมุม

        ๑๐) สัญลักษณ์ ได้แก่ การพรรณนาที่ใช้ศัพท์หรือคำหนึ่งแทนอีกศัพท์หรือคำหนึ่ง

ประเภทกวีนิพนธ์

        ตำรากวีนิพนธ์ ซึ่งว่าด้วยแบบแผน ว่าด้วยหลักวิชา ว่าด้วยการแต่งกวี ทั้งที่เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการ คำกวีนิพนธ์นั้น มีทั้งในภาษามคธและในภาษาไทย ภาษามคธนั้นมีมานมนาน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา ทรงแสดงธรรมด้วยคาถาที่เป็นภาษามคธ ก็เป็นคำกวีนั่นเอง เพียงแต่มีคัมภีร์วุตโตทัยกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นภายหลังเท่านั้น และในภาษาไทย เห็นจะเกิดมีขึ้นในสมัยต้นกรุงสุโขทัย กวีในภาษาไทยนั้น เห็นจะเป็นร่ายที่เกิดก่อนอย่างอื่น เพราะในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ทำให้มองเห็นชัดว่ามีร่ายเกิดขึ้นแล้ว ชนิดอื่น ๆ ตามมาภายหลัง และเห็นจะมีมากและเกือบสมบูรณ์แต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในการจัดประเภทกวีในภาษาไทยนั้น เพียงจัดของเดิมเข้าที่ กวีนิพนธ์ในภาษาไทยนั้น บางอย่างได้แบบจากภาษามคธ คือฉันท์และกาพย์ แม้จะแยกกล่าวเฉพาะของไทย ก็จำเป็นต้องพูดถึงภาษามคธบ้างเป็นธรรมดา คำประพันธ์แบบร้อยกรองเป็นภาษาไทยนั้น ไทยได้แบบจากภาษามคธ ซึ่งมี ๒ แบบ คือ คาถาหรือฉันท์ และกาพย์ โดยมีคัมภีร์วุตโตทัย คัมภีร์กาพย์สารวิลาสินี และคัมภีร์กาพย์คันถะ เป็นหลัก ในปัจจุบันนี้ ไทยคงเรียนฉันท์ภาษามคธเฉพาะที่ใช้เป็นหลักสูตรบาลีชั้นประโยค ป.ธ.๘ เท่านั้น

        ส่วนคำกวีในภาษาไทย หรือคำร้อยกรองในภาษาไทยนั้น มี ๕ ประเภท คือ ร่ายกาพย์กลอนโคลงฉันท์ ๑ และทั้ง ๕ ประเภทนี้ มีฉันทลักษณ์แตกต่างกัน บางประเภทยึดฉันทลักษณ์ของคาถาและของกาพย์ภาษามคธเป็นหลัก แต่ปรับปรุงเพิ่มเติมฉันทลักษณ์อื่น ให้เหมาะสมกับภูมิปัญญาไทย บางประเภทได้กำหนดขึ้นใหม่ ทั้ง ๕ ประเภทนี้เป็นคำประพันธ์ที่มีสุนทรียรสหรือสุนทรียารมณ์มากกว่าวรรณกรรมแบบร้อยแก้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใคร่ต่อการศึกษา จะขอแนะนำตำรากวีนิพนธ์ดังต่อไปนี้

ฉันทลักษณ์

        ฉันทลักษณ์ แปลตามรูปวิเคราะห์เดิมว่า ข้อบังคับที่ปิดเสียซึ่งโทษ กล่าวคือ ข้อบังคับที่ทำให้ถ้อยคำหรือพากย์นั้น ๆ ไม่มีข้อบกพร่อง หมายถึงข้อบังคับการแต่งกวีนิพนธ์ทั้ง ๕ ประเภทที่กล่าวมา ถ้านับเป็นชนิดคงมี ๙ คือ พยางค์ ๑ สัมผัส ๑ คณะฉันท์ ๑ วรรณยุกต์ ๑ เสียงของอักษร ๑ ครุลหุ ๑ คำนำ ๑ คำสร้อย ๑ คำเป็นคำตาย ๑ คำกวีแต่ละประเภทมีฉันทลักษณ์ไม่เท่ากัน ขอชี้แจงแบบรวม ๆ ดังนี้

        ๑) พยางค์ หมายถึงคำพูดที่ใช้ในบทประพันธ์นั้น ๆ ต้องกำหนดไว้ว่าชนิดไหนมีคำพูดกี่คำ จะแยกบอกในประเภทนั้น และคำพูดนั้น หลักใหญ่มี ๒ คือ คำโดด ๑ คำผสม ๑ คำโดดเป็นคำเดียว เช่น ฉัน, กิน, ข้าว คำผสม คือคำรวม เช่น บำรุง, ผดุง, ประชา

        ๒) สัมผัส ได้แก่ คำที่มีเสียงคล้องจองกัน ซึ่งส่งจากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง จักกล่าวรายละเอียดในบทที่ ๓

        ๓) คณะฉันท์ เรื่องคณะฉันท์และการกำหนดครุลหุ จักกล่าวในเรื่องฉันท์ในบทที่ ๕

        ๔) วรรณยุกต์ จักกล่าวในเรื่องเครื่องประกอบอื่น

        ๕) เสียงของอักษร เสียงของอักษร เป็นเครื่องบ่งบอกถึงคำพูดในภาษาไทย มี ๕ เสียง คือ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา ควรได้ศึกษาให้เข้าใจ

              (๑) เสียงสามัญ ได้แก่ เสียงที่เกิดจากอักษรกลาง หรืออักษรต่ำ ที่ผสมกับสระเสียงยาว ๑๘ ตัว มี อา อี เป็นต้น และที่ผสมกับแม่ กง กน กม เกย เกอว ซึ่งยังมิได้ลงวรรณยุกต์ ตัวอย่างเช่น

                อักษรกลาง กา จัน ไป กัง จาน ดัน ตน เปรย ปลิว

                อักษรต่ำ คา งา ชา ญาณ ทัน นม มาน เลย วิว ฟิว

              (๒) เสียงเอก ได้แก่เสียงที่เกิดจากอักษรทุกตัว ที่ผสมกับสระเสียงสั้น หรือที่ผสมกับแม่ กก กด กบ และอักษรกลางและอักษรสูง ที่ผสมกับสระเสียงยาว หรือแม่ กง กน กม เกย เกอว แล้วลงวรรณยุกต์เอก ( ่ ) และอักษรต่ำที่ ห นำ ลงวรรณยุกต์เอก ( ่ ) หรืออักษรอื่นนำก็มี

        (๓) เสียงโท ได้แก่ เสียงที่เกิดจากอักษรกลาง อักษรสูง ที่ลงสระเสียงยาว และแม่ กง กน กม เกย เกอว แล้วลงวรรณยุกต์โท (  ้) และอักษรต่ำที่ลงสระเสียงยาว และลงวรรณยุกต์เอก ( ่ )

        (๔) เสียงตรี ได้แก่ เสียงที่เกิดจากอักษรกลาง ที่ลงสระเสียงยาวและแม่ กง กน เป็นต้น แล้วลงวรรณยุกต์ตรี (  ๊ ) และอักษรสูงที่ลงสระเสียงยาว และแม่ กง กน เป็นต้น ที่ลงวรรณยุกต์โท (   ้ )

        (๕) เสียงจัตวา ได้แก่ เสียงที่เกิดจากอักษรสูงและอักษรต่ำที่มี ห หรือ อ นำ ซึ่งลงสระเสียงยาว และแม่ กง กน เป็นต้น แล้วลงวรรณยุกต์จัตวา ( ๋ ) และที่เกิดจากอักษรต่ำที่ถูกนำด้วยอักษรสูงบางตัวแล้วลงสระเสียงยาว

        ๖) ครุลหุ จักกล่าวในเรื่องฉันท์

        ๗) คำนำและคำสร้อย จักกล่าวในเรื่องกลอนและโคลง๘) คำเป็นคำตายคำเป็น ได้แก่ คำที่เสียงยาวลงวรรณยุกต์ผันได้
คำตาย ได้แก่ คำที่ลงด้วยสระเสียงสั้น และคำที่สะกดด้วยแม่ กก กด กบ

ข้อแนะนำทั่วไป

        การเรียบเรียงคำประพันธ์นั้น คือการร้อยกรองคำพูดที่กลั่นกรองดีแล้ว เข้าเป็นชุดตามลักษณะของคำกวีแต่ละประเภท เหตุนั้น จึงจำเป็นต้องทบทวนหลักภาษาไทยอันเป็นพื้นฐาน ภาษาไทยที่จะออกมาเป็นคำพูดนั้น มีองค์ประกอบ ๒ คือ อักษร และเครื่องประกอบอื่น อักษรนั้น คือ สระ และพยัญชนะ

สระ

        สระ คือ ตัวอักษรที่เปล่งเสียงได้เอง ใช้ประกอบกับพยัญชนะ แล้วทำให้ปรากฏเสียงได้ชัดเจน ภาษาไทยมีสระ ๓๒ ตัว คือ อะ อา อิ อี อึ อือ อุ อู เอะ เอ แอะ แอ โอะ โอ เอาะ ออ เออะ เออ เอียะ เอีย เอือะ เอือ อัวะ อัว ฤ ฤา ฦ ฦา อำ ใอ ไอ เอา แยกเป็น ๒ ประเภทคือ ที่มีเสียงสั้น เรียกว่า รัสสสระ ๑ ที่มีเสียงยาว เรียกว่า ทีฆสระ ๑

              (๑) อะ อิ อึ อุ เอะ แอะ โอะ เอาะ เออะ เอียะ เอือะ อัวะ ฤ และ ฦ รวม ๑๔ ตัว จัดเป็นรัสสสระ เพราะมีเสียงสั้น

              (๒) อา อี อื อู เอ แอ โอ ออ เออ เอีย เอือ อัว ฤา ฦา อำ ใอ ไอ และ เอา รวม ๑๘ ตัว จัดเป็นทีฆสระ เพราะมีเสียงยาว

        อนึ่ง ฦ ฦา บัดนี้เลิกใช้แล้ว ส่วน อำ ใอ ไอ และ เอา บางท่านเห็นว่า เป็นรัสสสระ  ส่วนข้าพเจ้าเห็นเป็นทีฆสระเพราะมีเสียงยาว โดยมาตราเท่ากับ อี อื เมื่อเข้ากับอักษรกลาง ผันได้ครบ ๕ เสียง เช่น ไป = ไป ไป่ ไป้ ไป๊ ไป๋ ดังนั้น จึงจัดเป็นทีฆสระ แม้ในมูลบทบรรพกิจ ก็จัดเป็นทีฆสระโดยแท้

พยัญชนะ

        พยัญชนะ คือ อักษรที่ทำเสียงและเนื้อความให้ปรากฏชัดเจน ใช้เป็นหลักยืนและนำสระมาประกอบ ในภาษาไทยมีพยัญชนะ ๔๔ ตัว คือ ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง, จ ฉ ช ซ ฌ ญ, ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ, ด ต ถ ท ธ น, บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม, ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ อ ฮ เฉพาะตัว ฃ และ ฅ เลิกใช้แล้ว

        พยัญชนะทั้งหมดนี้ แยกตามเสียงตามปกติได้ ๓ ซึ่งเรียกว่า
ไตรยางค์
คือ เสียงสูง เสียงกลาง และเสียงต่ำ ตามลำดับหมู่ ดังนี้

              ๑) อักษรสูง พื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา มี ๑๑ ตัว คือ ข ฃ ฉ ฐ ถ  ผ ฝ ศ ษ ส ห

              ๒) อักษรกลาง พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ มี ๙ ตัว คือ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ

              ๓) อักษรต่ำ พื้นเสียงเป็นเสียงต่ำ แต่จัดเป็นเสียงสามัญ มี ๒๔ ตัว คือ ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ

        นอกจากพยัญชนะทั้งหมดนี้ที่ออกเสียงทั้ง ๓ แล้ว ยังมีมาตราหรือแม่บทบังคับเสียงอีก ซึ่งแยกเป็น ๙ มาตรา คือ

              (๑) แม่ ก กา ได้แก่ สระทั้งหมด เริ่มแต่ อะ – เอา

              (๒) แม่ กก ได้แก่มาตราที่ใช้ ก ข ค ฆ เป็นตัวสระกด ทั้ง ๔ ตัว สะกดเพียงตัวเดียว และทั้งที่ใช้ตามสระ

              (๓) แม่ กด ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว ด สะกด และตัวอื่นที่สะกดแล้วออกเสียงเหมือนตัว ด สระกด คือ จ ฉ ช ซ ฎ ฏ ฑ ฌ ต ถ ท ธ ศ ษ ส

              (๔)  แม่ กบ ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว บ สะกด และตัวอื่นที่สะกดแล้ว ออกเสียงเหมือนตัว บ สะกด คือ ป พ ฟ ภ

              (๕)  แม่ กง ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว ง สะกด

              (๖) แม่ กน ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว น สะกด และตัวอื่นที่สะกดแล้ว ออกเสียงเหมือนตัว น สะกด คือ ญ ณ ร ล ฬ

              (๗) แม่ กม ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว ม สะกด

              (๘) แม่ เกย ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว ย สะกด

              (๙) แม่ เกอว ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว ว สะกด

        อักษรคู่กัน อักษรต่ำกับอักษรสูง ใช้เป็นคู่กัน เปลี่ยนเสียงที่ลง วรรณยุกต์  กันได้ คือ

              (๑) ค คู่กับ ข                            (๒) ช ฌ คู่กับ ฉ     

              (๓) ซ คู่กับ ศ ษ ส                      (๔) ฑ ฒ ท ธ คู่กับ ฐ ถ

              (๕) พ ภ คู่กับ ผ                         (๖) ฟ คู่กับ ฝ

              (๗) ฮ คู่กับ ห

        ทั้ง ๗ คู่นี้ เปลี่ยนเสียงเอก เป็น โท หรือเสียง โท เป็น เอก กันได้ ที่เรียกกันว่า เอกโทษ และโทโทษ สำหรับใช้ในร่าย และโคลง ในเมื่อต้องการเสียงเอกหรือโท ที่หายาก ใช้แทนกัน มีใช้มากคือ โทโทษ

        เช่น  ที่ ต้องการวรรณยุกต์โท เปลี่ยนเป็น ถี้

              ค่า ต้องการวรรณยุกต์โท เปลี่ยนเป็น ข้า

              ฝ้า ต้องการวรรณยุกต์เอก เปลี่ยนเป็น ฟ่า

              ถ้า ต้องการวรรณยุกต์เอก เปลี่ยนเป็น ท่า

        ที่เปลี่ยนกันได้เช่นนี้ เพราะอักษรต่ำและอักษรสูง มีฐานะรวมกันแล้ว ลงสระเสียงยาว ผันได้ครบ ๕ เสียง เช่นเดียวกับอักษรกลาง เช่น

              ค ข ลงสระอา คา ข่า ค่า ค้า ขา –  เสียงจัตวาลดรูป

              ท ถ ลงสระอี  ที ถี่ ที่ ที้ ถี       –  เสียงจัตวาลดรูป

        อนึ่ง  อักษรต่ำบางตัว ไม่มีคู่ดังที่กล่าวข้างต้น แต่ปรับไม้เอกเป็นไม้โทได้ โดยใช้ ห นำ เพื่อให้เป็นเสียงจัตวา แล้วจึงลงวรรณยุกต์โท เช่น

              แน่  ต้องการวรรณยุกต์ โท      เปลี่ยนเป็น  แหน้  

              เล่า  ต้องการวรรณยุกต์โท       เปลี่ยนเป็น  เหล้า

              หม้อ ต้องการวรรณยุกต์เอก ตัด ห ออกเสียง ลงวรรณยุกต์เอก เป็น ม่อ แต่เสียงคงเป็นเสียงโท

เครื่องประกอบอื่น

        นอกจากจะเข้าใจเรื่องสระและพยัญชนะดีแล้ว ควรได้รู้เครื่องประกอบอื่น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการประพันธ์ ขอนำมากล่าวแบบเกร็ดความรู้ ดังนี้

        ๑. วรรณยุกต์ วรรณยุกต์นั้น เป็นเครื่องหมายสำหรับบังคับเสียงภาษาไทยให้ครบทั้ง ๕ เสียง เพราะเสียงภาษาไทยมีถึง ๕ เสียงคือ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา ลำพังพยัญชนะและสระหรือมาตรา ผสมกันแล้ว จะมีได้เพียง ๓ เสียงคือ เสียงสามัญ เสียงเอก และเสียงจัตวา เสียงโทและเสียงตรี หายไป วรรณยุกต์ก็ใช้ลงบนอักษรคือ ่ ้ ๊ ๋ เรียกสั้น ๆ ว่า ไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี ไม้จัตวา อักษรกลางลงได้ทั้ง ๔ ไม้ เช่น กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า เฉพาะไม้จัตวา (+) เรียกว่า กากบาท บ้าง ไม้ตีนกา ใช้บังคับเสียงให้เป็นเสียงจัตวาบ้าง แต่ในที่อื่นใช้เป็นเครื่องหมายผิด + คู่กับเครื่องหมายถูก   ✓ บ้าง ให้เป็นเครื่องหมายว่าใช้ได้คือใช้ในการเลือกตั้งบ้าง

        ๒. ทัณฑฆาด รูป  ์ เป็นเครื่องฆ่าอักษรมิให้อ่าน อยู่บนอักษรตัวใด ตัวนั้นจะไม่ต้องอ่าน ลงในกลางพยางค์หรือคำสุดท้ายก็ได้ เช่น สาส์น ธรรม์ ฐาน์ คำที่จะลงนั้นต้องเป็นสระเสียงสั้น ถ้าเป็นสระเสียงยาว ต้องรัสสะให้เป็นสระเสียงสั้นก่อน เช่น กตัญญู ต้องรัสสะ อู เป็น อุ เป็น กตัญญุ์ ทัณฑฆาตกับการันต์ โดยรูปศัพท์และความกว้างแคบกว่ากัน

        ๓. วิสรรชนีย์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นมนางทั้งคู่ ได้แก่สระอะที่มีรูปเป็น ะ สำหรับลงต่อท้ายพญัชนะ เรียกว่าลงประวิสรรชนีย์ เช่น กะจะ ปะทะ เพราะสระอะ ในภาษาไทยมีทั้งรูป ะ  ทั้งลดรูป เช่น กรณียะ ภารกิจ ธุรการ จึงควรศึกษาคำนี้และให้เข้าใจชัดแจ้ง

        ๔. ยมก (ไม้ยมก) รูปแบบ ๆ เป็นเครื่องหมายบอกข้อความที่ต้องอ่านช้ำ เช่น ดี ๆ, เรื่องนั้น ๆ ในภาษาธรรมดาใช้ได้ ในภาษากวีห้ามใช้ ต้องเขียนให้เต็ม เช่น ดีดี, เรื่องนั้นนั้น

        ๕. ยัติภังค์ เครื่องหมาย – ทั่วไปใช้สำหรับแยกคำพูดจากปลายบรรทัดหนึ่งไปอีกต้นบรรทัดหนึ่ง แต่ในคำประพันธ์ ให้แยกได้ ถ้าเป็นร่ายจากวรรคหนึ่งไปอีกวรรคหนึ่งซึ่งต่อกัน กาพย์ กลอน โคลง และฉันท์ แยกได้ในบทเดียวกัน จากวรรคหนึ่งไปอีกวรรคหนึ่ง ห้ามแยกไปต่างบท

        ๖. ไปยาล มีเครื่องหมายดังนี้ ฯ  สำหรับไปยาลน้อย ใช้นำคำที่ต่อคำนั้น ซึ่งเป็นคำที่รู้กันโดยทั่วไป เช่น กรุงเทพฯ ใครก็ต้องรู้คำเต็มว่า กรุงเทพมหานคร, ฯลฯ หรือ ฯเปฯ สำหรับไปยาลใหญ่ นำข้อความที่ยืดยาว ซึ่งเคยมีมาก่อนแล้ว ไปยาลทั้ง ๒ ชนิด ห้ามใช้ในบทประพันธ์ทุกประเภท

        ๗. ไม้ไต่คู้ หรือไม้ตายคู้ เครื่องหมายคือ   ็ อยู่บนอักษรที่มีเสียงยาว บังคับให้มีเสียงสั้น มีเสียงพอกับไม้โท เช่น แขง เป็น แข็ง, เหมง เป็น เหม็ง มีใช้มากโดยทั่วไป ต้องเข้าใจให้ชัดแจ้ง

        ๘. โคมูตร เครื่องหมาย ๛ ใช้สำหรับขั้นประโยคเมื่อจบลง

        ๙. ฟองมัน หรือตาไก่ เครื่องหมาย ๐ สำหรับขึ้นประโยคใหม่ หรือขึ้นต้นคำประพันธ์

        ๑๐. มหัพภาค เครื่องหมายภาคใหญ่ รูปเครื่องหมาย . เป็นคู่กับ จุลภาค (จุดลูกน้ำ) เป็นเครื่องหมายวรรคตอนของข้อความ รูปเครื่องหมาย ,

        ๑๑. ฤ ซึ่งเป็นสระในสายสันสกฤต ใช้เป็นสระ อิ อึ เอิ ได้ เช่น สัมฤทธิ์, ดาวฤกษ์, ชัยพฤกษ์, ดวงฤกษ์

        ๑๒. ฤ ฤา สระในสายสันสฤต ใช้เป็นคำถามในบทประพันธ์ได้

        ๑๓. ไม้หันอากาศ หรือไม้ผัด หรือหางกังหัน รูปแบบ   ั  ใช้วางบนอักษรแทน  ะ  ได้ เช่น กัน กัง บัง จัง

        ๑๔. สระไอ มี ๔ รูปแบบ คือ สระใอไม้ม้วน สระไอไม้มลาย สระไอย และสระอัย การใช้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เฉพาะไม้ม้วนมี ๒๐ คำ ต้องศึกษาไว้ ขอผูกเป็นคำกลอนเพื่อจำง่ายว่า

ใช้ให้ถูกลูกสะใภ้ในการกิจ         ใจใคร่ชิดชมงามดุจน้ำใส

การของเราใครเล่าจะเอาใด       ทั้งเหนือใต้ใฝ่ฝันอันใหม่มา

ทั้งเล็กใหญ่อยู่ใกล้ใส่ความคิด     หลงใหลผิดติดใบ้ใช่กล่าวหา

ดูยองใยใบโพธิ์ช่างโสภา           หลักภาษาหนังสือชื่อสูตรใอ

การอ่านคำประพันธ์

      คำประพันธ์ที่แต่งขึ้นตามฉันทลักษณ์ที่จะกล่าวต่อไป คือ ร่าย กาพย์ กลอน โคลง และ ฉันท์ มีระเบียบการอ่านต่างจากคำร้อยแก้ว นักปราชญ์กำหนดการอ่านไว้ ๓ ชนิด คือ อ่านทำนองสามัญ อ่านทำนองเจรจา และอ่านทำนองเสนาะ

        การอ่านทำนอนสามัญ ได้แก่ การอ่านออกเสียงตามปกติ แบบอ่านทำนองร้อยแก้ว แต่มีจังหวะหยุดเป็นวรรคเป็นตอนตามข้อกำหนด หรืออาจเน้นเอื้อนเสียงตามที่สัมผัสบ้าง

        การอ่านทำนองเจรจา ได้แก่ การอ่านทำนองพากย์บทแบบเจรจาโขน หรืออ่านแบบโต้ตอบกัน มีจังหวะหยุดตามข้อกำหนดอย่างอ่านทำนองสามัญ อ่านเน้นเสียงและเอื้อนให้หนักเบาตามจังหวะ

        การอ่านทำนองเสนาะ ได้แก่ การอ่านให้มีสำเนียงเสียงสูง ต่ำ หนัก เบา ยาว สั้น เอื้อนเสียงเน้นตัวสัมผัสให้จัดเจนเพื่อให้ไพเราะ และให้มีจังหวะหยุดตามข้อกำหนด อาจทำเสียงให้เหมาะสมกับรส เช่น เล้าโลมชมชื่น เกี้ยวพาราสี ตัดพ้อ ต่อว่า รักโศก ครวญถึง ทำเสียงให้เหมาะสมกับตอนนั้น ๆ ทำนองเสนาะนี้ต้องศึกษาและฝึกหัดจริงจังกับผู้ชำนาญการ

        การอ่านคำประพันธ์ทุกชนิดนั้น ผู้อ่านต้องรู้ฉันทลักษณ์ของบทประพันธ์นั้น ๆ ว่าบังคับอะไร เช่น เอก โท ครุ ลหุ พยางค์ และสัมผัส ให้ชัดเจน

        ต้องรู้จังหวะหยุดของบทประพันธ์นั้น ๆ เฉพาะพยางค์ต้องทำความเข้าใจถูกต้อง เพราะคำประพันธ์บางประเภทที่กำหนดว่า กลุ่มนี้ ๒ คำ แต่อาจเป็น ๓ คำ เพราะบรรจุคำผสมลงไป หรือคำโดด ๆ แต่เป็นคำที่เสียงสั้น คือว่ามีพยางค์เกิน ต้องอ่านให้เร็วกว่าปกติ

        ในฉันท์ซึ่งกำหนดลหุต่อกัน ๒ คำ บางทีผู้แต่งลงครุเพียงคำเดียว เช่น ดุจ ต้องอ่านให้ถูกต้อง ต้องอ่าน ดุจะ

        เสียงจัตวาทุกเสียง ต้องอ่านเปิดเสียงและให้เสียงก้องอย่างเอิบอิ่ม ตัว และตัวออกเสียงให้ชัด อย่าให้ปนกัน จะทำให้เข้าใจผิด

จังหวะหยุด

        คำประพันธ์ทุกประเภทมีจังหวะหยุดและการเอื้อนเสียงแตกต่างกัน โดยจะกำหนดจังหวะหยุดไว้รวมกับแผนผังและตัวอย่างในเรื่องนั้น ๆ ในชั้นต้นนี้ จะขอแนะเครื่องหมายให้เห็นเป็นตัวอย่างเพื่อนำเทียบ

        ๑. เครื่องหมาย + คู่กับตัวเลข เป็นการแสดงจังหวะหยุดกี่พยางค์ เช่น ๒+๓  ๓+๓ เอาความว่า วรรคที่ ๑ จังหวะหยุด ๒ คำ และ ๓ คำ, วรรคที่ ๒ จังหวะหยุด ๓ คำ และ ๓ คำ

        ๒. เครื่องหมายที่ต้องเอื้อนเสียง ~ เช่น ๑~๒+๓ หมายความว่า คำที่ ๑ ต้องเอื้อนเสียง แล้วจึงต่อ ๒ คำ และ ๓ คำ

        ฉันท์มคธมียติคือจังหวะหยุดน้อย และไม่หยุดระหว่างลหุต่อกับลหุ เว้นแต่บางฉันท์ที่ยาวเกิน ส่วนฉันท์ไทยกำหนดจังหวะหยุดไว้เหมือนฉันท์มคธบ้าง ต่างจากฉันท์มคธบ้าง และมีจังหวะหยุดระหว่างลหุต่อลหุก็มีมาก         จะอ่านคำประพันธ์ชนิดใด ต้องตรวจดูจังหวะหยุดของคำประพันธ์ชนิดนั้น ๆ ให้ถูกต้องชัดเจน จะอ่านทำนองใดก็ตาม ต้องมีจังหวะอย่างเดียวกันโดยแท้