ในบทก่อนได้กล่าวถึงประเภทคำกวีและข้อแนะนำบางประการแล้ว ในบทนี้ จะกล่าวถึงกวีประเภทแรกคือร่าย พร้อมด้วยวิธีการประพันธ์และตัวอย่างตามลำดับ
ร่าย เป็นคำประพันธ์หรือคำร้อยกรองประเภทหนึ่ง ในคำประพันธ์ ๕ ประเภท มีฉันทลักษณ์ หรือข้อบังคับเฉพาะตัว แต่ไม่มากเหมือนคำประพันธ์ประเภทอื่น ทั้งการแต่งบทหนึ่ง ๆ ก็ไม่บังคับความยาวสั้นแต่อย่างใด สุดแต่ผู้ประพันธ์จะเห็นควร มีข้อบังคับหลักเพียงว่า ให้ส่งสัมผัสต่อกันแต่วรรคต้นจนวรรคสุดท้าย ท่านจัดไว้ ๔ ชนิด คือ ร่ายสุภาพ ๑ ร่ายโบราณ ๑ ร่ายดั้น ๑ ร่ายยาว ๑ แต่ละชนิดนี้ ฉันทลักษณ์แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ดังจะกล่าวตามลำดับ
๑. ร่ายสุภาพ
ร่ายสุภาพ เห็นจะมีความไพเราะเพราะพริ้งกว่าร่ายอื่น มีข้อกำหนดดังนี้ จำนวนคำที่ใช้ วรรคหนึ่ง ๕ คำ เกินกว่านั้นก็ได้ แต่ไม่ควรเกิน ๗ คำ หากจะเกิน ๗ คำ ควรจะเป็นคำผสม หรืออสาธารณนามที่สำคัญ ความยาวสั้นไม่บังคับ แต่ต้องจบลงด้วยโคลง ๒ สุภาพ การส่งสัมผัส คำสุดท้ายของวรรคแรกส่งไปยังคำที่ ๑, ๒ หรือ ๓ ของวรรคต่อไป โดยถ้าส่งด้วยคำที่ลงวรรณยุกต์ ก็ต้องรับด้วยคำที่ลงวรรณยุกต์ให้ตรงกัน ถ้าส่งด้วยคำหนักหรือเบา ก็ต้องรับโดยคำหนักหรือเบาให้ตรงตามคำส่ง คำสร้อย โดยปกติมีคำสร้อยตามลักษณะของโคลง ๒ สุภาพ จะมีหรือไม่ก็ได้ หรือจะมีสร้อยสลับไปทุกวรรคแต่ต้นจนจบก็ได้ ซึ่งสร้อยแบบนี้ เรียกว่า สร้อยสลับวรรค เห็นปรากฏในลิลิตที่แต่งแต่โบราณอยู่ มีแผนผังและตัวอย่าง ดังนี้

ตัวอย่าง
ฉันทลักษณ์ร่ายสุภาพ บอกให้ทราบงามผ่องภัสร์ ข้อบัญญัติงามล้ำค่า โปรดทราบว่าเกณฑ์มี เป็นของดีเลิศค่านัก ยึดเป็นหลักแต่งแต้ม ความอรรถชัดแฉล้ม เหมาะแท้ควรใจ แท้แล
จังหวะ ๓+๒ ๓+๒ ต่อไปก็ ๓+๒ ตลอด แต่ ๓ วรรคสุดท้ายต้องจังหวะ ๓+๒ ๓+๒ ๒+๒+(๒) ตามแบบโคลง ๒ สุภาพ
๒. ร่ายโบราณ
ร่ายโบราณ เป็นร่ายที่มีมาแต่โบราณ ไม่นิยมส่งคำสัมผัสด้วยคำที่ลงวรรณยุกต์ วรรคหนึ่งกำหนด ๕ คำ อย่างมากไม่เกิน ๗ คำ คำสุดท้ายหรือคำจบ นิยมเป็นคำสามัญ และมีคำสร้อยต่อท้ายไว้ ลักษณะอื่นเหมือนกับร่ายสุภาพ มีแผนผังและตัวอย่าง ดังนี้

ตัวอย่าง
อันร่ายโบราณขำ มีห้าคำทุกวรรค ถือเป็นหลักควรชัด ปฏิบัติงามธม คำผสมจึงมีหก ตกจบเว้นคำตาย บรรยายบอกแจ้งชัด เสริมวัจนะจบลง คงความงามอุไร แท้แล
๓. ร่ายดั้น
ร่ายดั้น เป็นร่ายที่แต่งสั้นยาวตามความต้องการ กำหนดวรรคละ ๕-๗ คำ กติกาทั่วไปเหมือนกับร่ายสุภาพ บังคับให้นำโคลงดั้นวิวิธมาลี เฉพาะบาทที่ ๓ และที่ ๔ มาต่อท้ายตอนจบ มีแผนผังและตัวอย่าง ดังนี้

ตัวอย่าง
ฉันทลักษณ์ร่ายดั้น วรรคหนึ่งนั้นห้าเจ็ดมี จบลงดีตรงโคลงดั้น ตอนนั้นนะห้าสอง สนองกฎ กำหนดชัดแท้แปร้ ร่ายงาม
๔. ร่ายยาว
ร่ายยาว เป็นร่ายที่แต่งข้อความยาว เช่น เทศน์มหาชาติ การส่งสัมผัสและรับสัมผัสไม่บังคับเอก โท หรือคำเป็นคำตาย อย่างต่ำวรรคหนึ่ง ๕ คำ ส่วนสูงอาจถึง ๑๐ คำก็มี คำท้ายวรรคส่งไปยังคำใดคำหนึ่งของวรรคต่อไป คำใดก็ได้ แต่อย่าให้ใกล้ชิดกับคำสุดท้าย คำสุดท้ายมักลงคำว่า ดังนี้ ดังนี้แล
ตัวอย่าง
ร่ายยาวยาวความตามจะแต่ง หรือจะแกล้งให้สั้นนั้นได้แท้ สุดแต่จะเห็นว่าเหมาะ เพราะไม่เพราะก็ไม่เป็นไรมี ตามที่เห็นวรรคยาวสาวคำมาก ทั้งแบบพากย์เทศน์ธรรมงามอยู่ พอจะคู้จะจบลงคงคำมี ว่าดั่งนี้ หรือดั่งนั้น ฉะนั้นแล
จังหวะ ของร่ายโบราณ ร่ายดั้น และร่ายยาว ไม่ตายตัว พึงเทียบกับร่ายสุภาพดูเถิด
Hits: 571