หมวดที่ ๒ ว่าด้วยเจ้าคณะใหญ่

หมวดที่ ๒

ว่าด้วยเจ้าคณะใหญ่

——————————-

      มาตรา ๓ เป็นข้อกำหนดพิเศษว่า พระราชบัญญัตินี้ ไม่เกี่ยวด้วยนิกายสงฆ์ กิจและลัทธิเฉพาะในนิกายนั้น ๆ ชึ่งเจ้าคณะหรือสังฆนายกในนิกายนั้น ได้เคยมีอำนาจได้เคยบังคับมาแต่ก่อนประการใด ก็ให้คงเป็นไปตามเคยทุกประการ แต่การปกครองอันเป็นสามัญทั่วไปในนิกายทั้งปวง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

       คำว่า “ไม่เกี่ยวด้วยนิกายสงฆ์ กิจและลัทธิเฉพาะในนิกายนั้น ๆ ซึ่งเจ้าคณะ หรือสังฆนายกในนิกายนั้นได้เคยมีอำนาจว่ากล่าวบังคับมาแต่ก่อนประการใด ก็ให้คงเป็นไปตามเคยทุกประการ”พอแยกเอาความตามที่ปฏิบัติกันมาได้ ๔ คือ

             ๑) คณะธรรมยุติกนิกายเคยได้รับพระบรมราชานุญาตให้ปกครองกันเองตามลำพัง ทั้งในกรุงและหัวเมือง ก็ได้ปกครองกันเองต่อไป คณะอื่นหรือนิกายอื่นจะปกครองคณะนี้มิได้

             ๒) เจ้าคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกายได้เคยปกครองมหานิกายมาอย่างใด ก็ได้สิทธิปกครองไปอย่างนั้นได้

             ๓) วัดในกรุงที่ยังขึ้นปกครองก้าวก่ายกันในคณะต่างๆ ก็ให้ขึ้นต่อไปได้

             ๔) บังคับเฉพาะการปกครองอันเป็นสามัญ เช่น หน้าที่และอำนาจเจ้าอาวาสให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

      มาตรา ๔ กำหนด :- ยกเจ้าสมเด็จเจ้าคณะใหญ่ทั้ง ๔ คณะ และเจ้าคณะรองทั้ง ๔ คณะ ขึ้นเป็นพระมหาเถระที่ทรงปรึกษา ในการพระศาสนาและการปกครองบำรุงสังฆมลฑลทั่วไป กล่าวคือโปรดให้เป็นองค์ประกอบของมหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมนั้นประชุมตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป คำตัดสินเป็นสิทธิ์ขาด ผู้ใดจะอุทธรณ์โต้แย้งมิได้

      สมเด็จเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะรองทั้ง ๔ คณะ ยกขึ้นเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น มิได้ให้อำนาจหน้าที่ผู้บัญชาการคณะสงฆ์แต่อย่างใด ทั้งมิได้กำหนดให้มีสมเด็จพระสังฆราชและประธานกรรมการมหาเถรสมาคมไว้ การบัญชาการคณะสงฆ์ในระยะแรก คงอาศัยพระบรมราชโองการ โดยเสนาบดีกระทรวงธรรมการเป็นผู้บัญชาการ เมื่อได้โปรดสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชขึ้นแล้ว จึงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชทรงบัญชาการคณะสงฆ์ได้ทั่วไปตามพระราชบัญญัตินี้

      อนึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบันทึกเป็นเชิงอรรถท้ายมาตรา ๔ นี้ว่า “ในเวลาตั้งพระราชบัญญัตินี้ว่างสมเด็จพระมหาสมณะ หรือสมเด็จพระสังฆราช มีแต่เจ้าคณะใหญ่ ๔ รูป เจ้าคณะรอง ๔ รูป คณะใหญ่ทั้ง ๔ คณะนั้น ต่างมิได้ขึ้นแก่กัน เมื่อมีกิจอันจะพึงทำร่วมกัน เสนาบดีกรมธรรมการรับพระบรมราชโองการสั่ง เจ้าคณะรูปใดมีสมณศักดิ์สูง เสนาบดีก็พูดทางเจ้าคณะรูปนั้น ๆ เป็นการก ในการประชุมในครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นการก ในแผ่นดินปัตยุบัน โปรดให้ข้าพเจ้าเป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์ได้ทั่วไป การประชุมตามพระราชบัญญัตินี้ ก็ชื่อว่าเป็นอันงดโดยนัย หรือกล่าวอีกโวหารหนึ่งว่า ยังไม่ถึงคราวเรียกประชุมตามพระราชบัญญัติ ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้ายังบัญชาการอยู่ ข้าพเจ้าปรารถนาให้มหาเถรสมาคมยืนอยู่ด้วยประการหนึ่ง จึงยังคงเรียกการประชุมและบัญชาการอันจะพึงทำเป็นการสงฆ์ในที่ประชุมนั้น ๆ เจ้าคณะใหญ่ชราโดยมาก มาได้บ้าง มาไม่ได้บ้าง เจ้าคณะรองเป็นผู้บัญชาการมณฑลทั้งนั้น ว่างบ้างก็มี บางคราวไม่ครบกำหนดสงฆ์ปัญจวรรคที่เป็นองค์ของสมาคมในพระราชบัญญัติ จึงเรียกพระราชาคณะชั้นธรรมเข้าเพิ่มด้วย นี้ประชุมโดยปกติอย่าง ๑ เรียกเจ้าคณะมณฑลหรือคณาจารย์เอกเข้าประชุมด้วยก็มี นี้ประชุมพิเศษอย่าง ๑

Views: 27