หมวดที่ ๓
ว่าด้วยวัด
————
มาตรา ๕ กำหนดเรื่องวัดว่า :- วัดมี ๓ อย่างคือ พระอารามหลวง ๑ อารามราษฎร์ ๑ ที่สำนักสงฆ์ ๑ พร้อมขยายความให้ชัดเจนขึ้น ดังนี้:
๑. พระอารามหลวง คือวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง หรือทรงพระกรุณาโปรดให้รับเข้าบัญชีเป็นพระอารามหลวง
๒. อารามราษฎร์ คือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา แต่มิได้เข้าบัญชีพระอารามหลวง
๓. ที่สำนักสงฆ์ คือ วัดซึ่งยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
มาตรา ๖ กำหนดที่วัดและที่ขึ้นวัดนั้นไว้ ๓ อย่าง คือ ที่วัด ๑ ที่ธรณีสงฆ์ ๑ ที่กัลปนา ๑ แล้วขยายความไว้ว่า
๑) ที่วัด คือ ที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตวัดนั้น
๒) ที่ธรณีสงฆ์ คือ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด
๓) ที่กัลปนา คือ
(๑) ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอุทิศเงินอากรค่าที่แห่งนั้นให้แก่วัด หรือ
(๒) ที่ซึ่งเจ้าของถวายอุทิศประโยชน์อันเกิดแต่ที่ดินให้แก่วัด
มาตรา ๗ กำหนดการดูแลรักษาที่วัดและที่ธรณีสงฆ์
๑) ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ เป็นสมบัติของพระศาสนา
๒) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงปกครองรักษาโดยพระบรมเดชานุภาพ
๓) ผู้ใดผู้หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์นั้นไม่ได้
อนึ่ง มีพระนิพนธ์เป็นเชิงอรรถว่า “มิใช่ห้ามเด็ดขาด ที่เคยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โอนได้ก็มี แปลว่าทำตามลำพังไม่ได้ ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต”
มาตรา ๘ กำหนดเรื่องวัดร้าง
๑) วัดร้างคือวัดที่สงฆ์ไม่อาศัย
๒) ให้เจ้าพนักงานของพระราชอาณาจักร เป็นผู้ปกครองรักษาวัดนั้นพร้อมทั้งที่ธรณีสงฆ์
มีพระนิพนธ์เป็นเชิงอรรถว่า “ร้างตามลำพัง หรือมีรูปเดียวหรือน้อยรูป เจ้าคณะไม่เห็นสมควรจะตั้งสั่งถอนไปเข้ากับวัดอื่นเสีย” โดยนัยนี้เจ้าคณะจัดการได้เอง
มาตรา ๙ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสร้างวัดว่า ต้องขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ก่อนจึงจะสร้างวัดได้ โดยจะพระราชทาน ดังนี้
ข้อ ๑ การสร้างวัดใหม่ ให้มีจดหมายขอต่อนายอำเภอท้องที่ ให้นายอำเภอปรึกษากับเจ้าคณะแขวง โดยให้ตรวจและวิเคราะห์ข้อความนี้ก่อน
๑) ที่ดินแห่งนั้น ผู้ขอมีอำนาจที่จะยกให้หรือไม่
๒) จะเป็นความขัดข้องอันใดในทางพระราชอาณาจักรหรือไม่
๓) จะเป็นที่สงฆ์ควรอาศัยหรือไม่
๔) จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในท้องที่หรือไม่
๕) จะเสื่อมประโยชน์แก่พระศาสนาด้วยประการใดหรือไม่
ถ้าเห็นพร้อมกันว่าไม่ขัดข้องอย่างใดอย่างหนึ่ง มีพระบรมราชานุญาตให้เจ้าคณะแขวงทำหนังสืออนุญาตให้สร้างที่สำนักสงฆ์นั้นได้ โดยให้นายอำเภอประทับตรากำกับในหนังสืออนุญาต และเจ้าของที่ดินต้องโอนโฉนดที่ดินตามกฎหมายก่อนจึงจะสร้างที่สำนักสงฆ์ได้
ข้อ ๒ การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ทั้งวัดเดิม ทั้งที่สร้างใหม่ เมื่อพร้อมขอ ให้ผู้ขอทำจดหมายยื่นต่อผู้ว่าราชการเมือง เพื่อมีใบบอกกราบทูล ถ้าจังหวัดกรุงเทพฯ ให้ยื่นต่อกระทรวงธรรมการ เพื่อให้นำกราบบังคมทูล เพื่อจะได้พระราชทานใบพระบรมราชานุญาต
ข้อ ๓ ถ้าจะสร้างอารามขึ้นใหม่ ต้องขออนุญาตสร้างที่สำนักสงฆ์ก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาได้
ในมาตรา ๙ นี้ มีพระนิพนธ์เป็นเชิงอรรถกำกับไว้อธิบายข้อความที่ต้องตรวจและพิเคราะห์ไว้ พึงศึกษาให้ชัดเจน พึงตรวจดูประกอบได้
Views: 29