หมวดที่ ๔
ว่าด้วยเจ้าอาวาส
—————
มาตรา ๑๐ กำหนดหลักเกณฑ์มีเจ้าอาวาส
๑) วัดหนึ่งให้มีพระภิกษุเป็นเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง
๒) การเลือกสรรและตั้งเจ้าอาวาส
(๑) พระอารามหลวง แล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร
(๒) แม้อารามราษฎร์และที่สำนักสงฆ์แห่งใด ถ้าทรงพระราชดำริเห็นสมควร ก็ทรงเลือกสรรและตั้งเจ้าอาวาสได้
มาตรา ๑๑ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตั้งเจ้าอาวาสวัด ในจังหวัดกรุงเทพ ฯ
๑) วัดหลวงก็ดี วัดราษฎร์ก็ดี ที่ไม่ทรงเลือกสรรและตั้งเจ้าอาวาส
(๑) ให้พระราชาคณะผู้กำกับแขวงปรึกษาสงฆ์และสัปบุรุษทายกวัดนั้น เลือกสรรพระภิกษุผู้สมควรเป็นเจ้าอาวาส
(๒) ถ้าเห็นสมควรในรูปใด ก็ให้ตั้งรูปนั้นเป็นเจ้าอาวาส
(๓) ตราตั้งนั้นต้องให้ผู้บัญชาการกระทรวงธรรมการ ประทับตราเป็นสำคัญทางฝ่ายราชอาณาจักรด้วย
มาตรา ๑๒ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตั้งเจ้าอาวาสวัดในหัวเมือง
๑) วัดซึ่งไม่ทรงเลือกและตั้งเอง
(๑) ให้เจ้าคณะแขวงปรึกษาสงฆ์และสัปบุรุษทายกวัดนั้นเลือกสรร
(๒) ถ้าเห็นพร้อมกันในรูปใดรูปหนึ่ง หรือถ้าเห็นแตกต่างกันในหลายรูป
(๓) ให้เจ้าคณะแขวงนำความเสนอต่อเจ้าคณะเมือง
(๔) เจ้าคณะเมืองเห็นว่ารูปใดสมควร ก็ให้ทำตราตั้งรูปนั้น
(๕) ตราตั้งนั้นต้องให้ผู้ว่าราชการเมืองประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญในฝ่ายราชอาณาจักรด้วย
๒) เจ้าอาวาสทั้งปวง ถ้าไม่มีสมณศักดิ์อื่น ก็ให้มีสมณศักดิ์เป็น “อธิการ”
ในสมัยนั้น กำหนดชัดให้เจ้าอาวาสที่ไม่มีสมณศักดิ์อื่น ให้เป็น “อธิการ” รวมกับคำว่า “พระ” เป็น “พระอธิการ” ใช้เป็นคำเรียกเจ้าอาวาสมาจนบัดนี้
มาตรา ๑๓ กำหนดหน้าที่เจ้าอาวาส ไว้ ๙ อย่าง คือ
๑) ทำนุบำรุงรักษาวัด ตามกำลังความสามารถ
๒) ตรวจตราอย่าให้วัดนั้นเป็นที่พำนักแอบแฝงของโจรผู้ร้าย
๓) ปกครองบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งอาศัยอยู่ในวัดนั้น
๔) รักษาความเรียบร้อยและระงับอธิกรณ์ในหมู่บรรพชิตและคฤหัสถ์ในวัดนั้น
๕) เป็นธุระสั่งสอนพระศาสนาแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ให้เจริญในสัมมาปฏิบัติ
๖) เป็นธุระให้กุลบุตรซึ่งอาศัยเป็นศิษย์อยู่ในวัดให้ได้ร่ำเรียนวิชาคุณ
๗) เป็นธุระแก่สัปบุรุษและทายกผู้มาทำบุญในวัด ได้ทำบุญโดยสะดวก
๘) ทำบัญชีบรรพชิตและคฤหัสถ์ผู้อาศัยวัด รายงานการวัดต่อเจ้าคณะ
๙) ถ้าพระภิกษุสามเณรในวัดจะไปอยู่วัดอื่นหรือเดินทางไกล ต้องให้หนังสือสุทธิเป็นสำคัญ เว้นแต่เห็นว่าจะไปประพฤติอนาจาร แต่ต้องแจ้งเหตุให้รูปนั้นทราบ
มาตรา ๑๔ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของบรรพชิตและคฤหัสถ์ผู้อาศัยวัดจะต้องช่วยเจ้าอาวาสในการทั้งปวงอันเป็นภาระของเจ้าอาวาส
มาตรา ๑๕ กำหนดให้พระภิกษุสามเณร ต้องมีสังกัดในบัญชีวัดใดวัดหนึ่งทุกรูป
มาตรา ๑๖ กำหนดให้คฤหัสถ์ซึ่งอยู่อาศัยในวัด ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ต่อพระราชกำหนดกฎหมายเหมือนพลเมืองทั้งปวง มิได้รับการยกเว้น เช่น ถูกเรียกเข้ารับราชการทหาร ต้องเสียเงินค่ารัชชูปการ ถูกเรียกเป็นพยานต้องไปเบิกความที่ศาล มิได้รับการยกเว้นดุจพระภิกษุ
มาตรา ๑๗ กำหนดให้เจ้าอาวาสมีอำนาจ ดังนี้
๑) มีอำนาจที่จะบังคับว่ากล่าวบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งอยู่อาศัยในวัดนั้น
๒) อธิกรณ์เกิดขึ้นในวัด ถ้าเป็นความตามลำพังพระวินัย ให้มีอำนาจพิพากษาได้ ถ้าเป็นความแพ่ง คู่ความยินยอมให้เปรียบเทียบก็เปรียบเทียบได้
๓) บรรพชิตก็ดี คฤหัสถ์ก็ดี มิได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาส จะเข้าไปบวช หรือไปอยู่ในวัดนั้นไม่ได้
๔) บรรพชิตก็ดี คฤหัสถ์ก็ดี ที่อยู่ในวัดนั้น ถ้าไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสเจ้าอาวาสจะไม่ให้อยู่ในวัดนั้นก็ได้
๕) ถ้าเจ้าอาวาสบังคับการอันชอบด้วยพระวินัย หรือพระราชบัญญัติ และ พระภิกษุสามเณรในวัด ไม่กระทำตามหรือหมิ่นประมาทเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสมีอำนาจที่จะทำทัณฑกรรมได้
๖) ถ้าเจ้าอาวาสกระทำการตามหน้าที่ โดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายและถ้าคฤหัสถ์ผู้ใดขัดขืน หรือลบล้างอำนาจ หรือหมิ่นประมาทเจ้าอาวาส ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่ง เป็นเงินไม่เกิน ๒๐ บาท หรือจำขังหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา ๑๘ กำหนดการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าอาวาส
๑) ในจังหวัดกรุงเทพ ฯ ให้อุทธรณ์ต่อพระราชาคณะผู้กำกับแขวง
๒) ในหัวเมือง ให้อุทธรณ์ต่อเจ้าคณะแขวง
มาตรา ๑๙ กำหนดให้ตั้งรองเจ้าอาวาสได้ ในกรณีที่
๑) วัดมีสงฆ์จำนวนมาก หรือ
๒) เจ้าอาวาสไม่สามารถทำตามหน้าที่ได้ทุกอย่างเพราะชราภาพ
วัดในจังหวัดกรุงเทพ ฯ ให้พระราชาคณะผู้กำกับแขวง ตั้งพระภิกษุรูปใดรูปใดรูปหนึ่งเป็นรองเจ้าอาวาส รับภาระทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ช่วยเจ้าอาวาส
ให้รองเจ้าอาวาสมีอำนาจหน้าที่เท่าที่ผู้ตั้งมอบ แต่ต้องไม่เกินอำนาจเจ้าอาวาส หรือทำการฝ่าฝืนอนุมัติเจ้าอาวาสมิได้
ถ้าวัดในหัวเมือง ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะเมือง ที่จะตั้งรองเจ้าอาวาสเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส การใช้อำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับรองเจ้าอาวาสในจังหวัดกรุงเทพ ฯ
รองเจ้าอาวาสนี้ ถ้าไม่มีสมณศักดิ์ที่สูงกว่า ให้มีสมณศักดิ์เป็น “รองอธิการ” แต่ในปัจจุบันมิได้ใช้คำนี้