หมวดที่ ๕
ว่าด้วยคณะแขวง
—————————-
มาตรา ๒๐ ในท้องที่อำเภอหนึ่ง ให้กำหนดเป็นแขวงหนึ่ง ในจังหวัดกรุงเทพฯ จะโปรดให้มีพระราชาคณะกำกับคณะแขวง ๆ ละ ๑ รูป
ส่วนในหัวเมือง ให้มีเจ้าคณะแขวง ๆ ละ ๑ รูป แขวงใดมีวัดน้อย จะรวมหลายแขวงเป็น ๑ แขวงก็ได้ สุดแต่เจ้าคณะมณฑลจะเห็นสมควร
ในมาตรา ๒ วรรค ๒ แขวงที่มีวัดน้อย ให้อำนาจสิทธิ์ขาดแก่เจ้าคณะมณฑล ที่จะรวมหลายแขวงเป็นแขวงหนึ่ง หรือไม่รวมก็ได้
มาตรา ๒๑ ในจังหวัดกรุงเทพ ฯ จะโปรดให้พระราชาคณะรูปใด เป็นผู้กำกับแขวงใด สุดแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร
ส่วนการตั้งเจ้าคณะแขวงในหัวเมือง ให้เจ้าคณะเมืองเลือกสรรเจ้าอาวาสในแขวงนั้น เสนอต่อเจ้าคณะมณฑล ให้เจ้าคณะมณฑลมีอำนาจตั้ง และการตั้งนั้น ให้ข้าหลวงใหญ่ซึ่งสำเร็จราชการมณฑลประทับตรากำกับเป็นสำคัญด้วย
อนึ่ง เจ้าคณะแขวง ถ้าไม่ได้อยู่ในสมณศักดิ์ที่สูงกว่า ให้มีสมณศักดิ์เป็น “พระครู” ถ้าทรงพระราชดำริเห็นสมควร จะทรงเลือกสรร หรือตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรก็ได้
ในมาตรา ๒๑ นี้ บังคับชัดว่า ผู้เป็นเจ้าคณะแขวง ต้องมีสมณศักดิ์เป็น “พระครู” ที่ยังไม่มีราชทินนาม คือ “พระครูประทวน” เพราะการตั้งของเจ้าคณะมณฑลนั้น ต่อมีความชอบ หรือทำการมานานโดยเรียบร้อย จึงทรงพระกรุณาตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร มีราชทินนาม
มาตรา ๒๒ กำหนดชัดเจน
๑) ในจังหวัดกรุงเทพฯ วัดอยู่ในแขวงใดให้ขึ้นอยู่ในพระราชาคณะผู้กำกับแขวงนั้น
๒) ในหัวเมือง วัดอยู่ในแขวงใด ให้ขึ้นในเจ้าคณะแขวงนั้น
๓) เว้นแต่ทั้งในจังหวัดกรุงเทพฯ และในหัวเมือง ที่โปรดให้ขึ้นในคณะหรือเฉพาะพระราชาคณะรูปใด ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นสมควร
ในมาตรา ๒๒ นี้ กำหนดข้อยกเว้นไว้ ให้
๑) คณะธรรมยุติกนิกาย จะอยู่ที่ใดก็ตาม ขึ้นตรงต่อคณะของตน
๒) ในคณะมหานิกาย ก็มีวัดขึ้นสับคณะกันได้
๓) มีบางวัดขึ้นต่อพระราชาคณะบางรูปได้
มาตรา ๒๓ กำหนดฐานานุศักดิ์ ให้พระราชาคณะผู้กำกับแขวง ตั้งฐานานุกรมตำแหน่งพระสังฆรักษ์ได้อีก ๑ รูป เว้นแต่มีฐานานุกรมเกิน ๓ รูปอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องตั้ง
มาตรา ๒๔ กำหนดหน้าที่พระราชาคณะผู้กำกับแขวงไว้
๑) ที่จะตรวจตราอำนวยการวัดและการสงฆ์ในปกครอง ให้เรียบร้อยตามพระวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ
๒) ที่จะเลือกและตั้งรองเจ้าคณะแขวง เจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสได้ตามพระราชบัญญัตินี้
๓) ที่จะตรวจตราทำนุบำรุงการสั่งสอนพระศาสนา และการศึกษาในวัด ซึ่งอยู่ในความปกครอง
๔) ที่จะไปดูแลตรวจตราตามวัดขึ้นในแขวงนั้นเป็นครั้งคราว
๕) ที่จะไประงับอธิกรณ์แก้ไขความข้องขัดของเจ้าอาวาส และวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของเจ้าอาวาส
มาตรา ๒๕ กำหนดอำนาจพระราชาคณะผู้กำกับแขวง ไว้ดังนี้
๑) รองเจ้าคณะแขวง เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ที่ตั้งได้ตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าไม่สมควรอยู่ในตำแหน่ง เพราะความประพฤติ หรือขาดความสามารถ มีอำนาจที่จะเอาออกจากตำแหน่งได้
๒) ที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์ หรือเกี่ยงแย่งในคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของเจ้าอาวาส
๓) ที่จะบังคับว่ากล่าวพระภิกษุสามเณรในวัดซึ่งอยู่ในแขวงนั้น อันชอบด้วยพระวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ
มาตรา ๒๖ กำหนดหน้าที่พระครูเจ้าคณะแขวง
๑) ที่จะตรวจตราอำนวยการวัดและการสงฆ์ให้เรียบร้อยตามวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ
๒) ที่จะเลือกเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาส เสนอต่อเจ้าคณะเมือง
๓) ที่จะตรวจตรา ทำนุบำรุงการสั่งสอนพระศาสนาและการศึกษาในวัด ซึ่งอยู่ในปกครอง
๔) ที่จะไปดูและตรวจตราตามวัดขึ้นในแขวง เป็นครั้งคราวตามสมควร
๕) ที่จะช่วยแก้ไขความขัดข้องของเจ้าอาวาส และวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ คำสั่งของเจ้าอาวาส
๖) ถ้าเกิดเหตุหรืออธิกรณ์อย่างใดในการวัดหรือการสงฆ์ในแขวงนั้นอันเหลือกำลังที่จะระงับได้ ก็ให้รีบนำความเสนอต่อเจ้าคณะเมือง
มาตรา ๒๗ กำหนดอำนาจเจ้าคณะแขวง ไว้ดังนี้
๑) ที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์ หรือการเกี่ยงแย่งในคำสั่งและคำวินิจฉัยของเจ้า อาวาสวัดขึ้นในแขวงนั้น
๒) ที่จะบังคับว่ากล่าวพระภิกษุสามเณรตลอดท้องที่แขวงนั้น ในกิจที่ชอบด้วยพระวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ
มาตรา ๒๘ กำหนดให้เจ้าคณะแขวง มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๒ รูป คือ พระสมุห์ ๑ พระใบฎีกา ๑ ถ้าเป็นพระครูสัญญาบัตร ตั้ง “พระปลัด” ได้อีก ๑ รูป
มาตรา ๒๙ กำหนดให้แขวงที่มีวัดมาก ตั้งรองเจ้าคณะแขวงเพื่อช่วยตรวจตราอยู่ประจำท้องที่ โดยให้ตั้งเจ้าอาวาสวัดใดวัดหนึ่ง แต่ต้องมีวัดอยู่ในหมวดนั้นไม่น้อยกว่า ๕ วัด จึงควรตั้ง
รองเจ้าคณะแขวงมีหน้าที่ฟังคำสั่งและเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะแขวง ถ้าไม่มีสมณศักดิ์สูงกว่า ให้มีสมณศักดิ์เป็น “เจ้าอธิการ” มิได้รวมกับคำว่า “พระ” ใช้คำว่า ”เจ้าอธิการ” คำนี้ใช้เป็นคำเรียกเจ้าคณะตำบลและพระอุปัชฌาย์ ที่ไม่มีสมณศักดิ์อื่น มาจนทุกวันนี้