หมวดที่ ๗ ว่าด้วยคณะมณฑล

หมวดที่  ๗

ว่าด้วยคณะมณฑล

——————————–

     มาตรา ๓๕ กำหนดเจ้าคณะมณฑล :- หัวเมืองมณฑลหนึ่ง จะทรงตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่เป็นเจ้าคณะมณฑล ๑ รูป ตามแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร

      มาตรา ๓๖ กำหนดเจ้าคณะรอง ถ้ามณฑลใดมีวัดมาก จะทรงพระกรุณาโปรดให้มีพระราชาคณะเป็นเจ้าคณะรอง ผู้ช่วยภาระมณฑลนั้นอีก ๑ รูป หรือหลายรูป ตามที่จะทรงพระราชดำริเห็นสมสมควร

      มาตรา ๓๗ กำหนดหน้าที่เจ้าคณะมณฑล

             ๑) ที่จะรับพระราชานุมัติ ไปจัดการทำนุบำรุงพระศาสนา และบำรุงการศึกษาตามวัดในมณฑลนั้น ให้เจริญรุ่งเรืองตามพระราชประสงค์

             ๒) ที่จะออกไปตรวจตราการคณะสงฆ์และการศึกษาในมณฑลนั้น ๆ เป็นครั้งคราว

             ๓) ที่จะตั้งพระครูเป็นเจ้าคณะแขวงตามหัวเมืองในมณฑลนั้น ซึ่งยังมิได้รับพระราชทานสัญญาบัตร

             ๔) ที่จะช่วยแก้ไขข้อขัดข้อง ของเจ้าคณะเมืองในมณฑลนั้น

      มาตรา ๓๘ กำหนดอำนาจเจ้าคณะมณฑล

             ๑) ที่จะบังคับบัญชาพระภิกษุสามเณรทั่วทั้งมณฑลนั้น ในกิจอันชอบด้วยพระวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ

             ๒) ที่จะมอบให้เจ้าคณะรองออกไปตรวจจัดการในมณฑลได้ ตามเห็น

สมควร แต่ไม่เกินอำนาจและฝ่าฝืนอนุมัติของเจ้าคณะมณฑล

             ๓) ผู้มีตำแหน่งสมณศักดิ์ชั้นใด ๆ ในมณฑลนั้น เว้นแต่ที่เป็นพระครูสัญญาบัตรแล้ว ไม่สมควรอยู่ในตำแหน่ง เพราะความประพฤติหรือเพราะขาดความสามารถ มีอำนาจเอาออกจากตำแหน่งได้

             ๔) ที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์ คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของเจ้าคณะเมือง

      มาตรา ๓๙ กำหนดฐานานุศักดิ์ เจ้าคณะมณฑลตั้งฐานานุกรมได้ ๖ คือ พระครูปลัด ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระสังฆรักษ์ ๑ พระสมุห์ ๑  พระใบฎีกา ๑ ถ้าฐานานุกรมเดิมมีตำแหน่งใด ไม่ต้องตั้งตำแหน่งนั้น

Views: 16