หมวดที่ ๘ ว่าด้วยอำนาจ

หมวดที่ ๘

ว่าด้วยอำนาจ

———————–

      มาตรา ๔๐ กำหนดหน้าที่.- เป็นหน้าที่กระทรวงธรรมการ และเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ จะช่วยอุดหนุนเจ้าคณะให้ได้กำลังและอำนาจพอที่จะจัดการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

      มาตรานี้ บังคับให้เจ้ากระทรวงธรรมการและเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ เป็นภาระช่วยอุดหนุนเจ้าคณะชั้นต่าง ๆ ให้มีกำลังและอำนาจพอที่จะอำนวยการกิจการคณะสงฆ์ตามอำนาจหน้าที่ได้ เทียบได้กับมาตรา ๑๓ ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และมาตรา ๕๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

      มาตรา ๔๑ กำหนดให้รับการปกครอง .- พระภิกษุสามเณรต้องฟังบังคับบัญชาเจ้าคณะ ซึ่งตนอยู่ในความปกครอง ถ้าไม่ฟังบังคับบัญชา หรือหมิ่นละเมิดอำนาจเจ้าคณะ มีความผิด เจ้าคณะมีอำนาจที่จะลงทัณฑกรรมได้

      มาตรา ๔๒ กำหนดให้คฤหัสถ์ฟังอำนาจ .- ถ้าเจ้าคณะทำการตามหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ และคฤหัสถ์ผู้ใดลบล้างขัดขืนต่ออำนาจเจ้าคณะ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษ ฐานขัดอำนาจเจ้าพนักงาน

      ในมาตรา ๔๒ นี้ เป็นอันชัดเจนว่า เจ้าคณะตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นเจ้าพนักงาน

      มาตรา ๔๓ กำหนดหลักเกณฑ์การวินิจฉัยคดี 

           ๑) อำนาจวินิจฉัยของเจ้าคณะแขวง .-

                (๑) เจ้าอาวาสเป็นจำเลย หรือ

                (๒) เป็นคดีอุทธรณ์คำตัดสิน หรือคำสั่งของเจ้าอาวาส หรือ

                (๓) รองเจ้าคณะแขวงเป็นจำเลย หรือ

                (๔) ฐานานุกรมของเจ้าคณะแขวงเป็นจำเลย หรือ

                (๕) เป็นคดีอุทธรณ์คำสั่งของรองเจ้าคณะแขวง หรือ

                (๖) เป็นคดีอุทธรณ์คำสั่งของฐานานุกรมเจ้าคณะแขวง

                คดีทั้ง ๖ ลักษณะนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าข้อวินิจฉัยคดีนั้น เป็นเรื่องลำพังพระวินัย หรือเป็นเรื่องในการบังคับบัญชาตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าคณะแขวงนั้น ๆ มีอำนาจตัดสินคดีนั้นได้

           ๒) อำนาจวินิจฉัยของเจ้าคณะเมือง .- คดีในลักษณะเช่นคดีที่กล่าวแล้ว ถ้าจำเลยหรือผู้อุทธรณ์ เป็น

                (๑) เป็นเจ้าคณะแขวง หรือ

                (๒) เป็นรองเจ้าคณะเมือง หรือ

                (๓) เป็นฐานานุกรมของเจ้าคณะเมือง

           ให้เจ้าคณะเมืองมีอำนาจตัดสินได้

           ๓) อำนาจวินิจฉัยของเจ้าคณะมณฑล .-  คดีในลักษณะที่กล่าวมาแล้ว  ถ้าจำเลยหรือผู้อุทธรณ์  เป็น

                (๑) เจ้าคณะเมือง หรือ

                (๒) รองเจ้าคณะมณฑล หรือ

                (๓) ฐานานุกรมของเจ้าคณะมณฑล

                (๔) ฐานานุกรมของรองเจ้าคณะมณฑล

           ให้เจ้าคณะมณฑลมีอำนาจตัดสินได้

          ๔) พระราชอำนาจ.- คดีในลักษณะที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจำเลยหรือผู้อุทธรณ์ เป็น

                (๑) เจ้าคณะมณฑล หรือ

                (๒) พระราชาคณะผู้กำกับแขวง

           ให้โจทก์หรือผู้อุทธรณ์ ทำฎีกายื่นต่อกระทรวงธรรมการ เพื่อนำความถวายบังคมทูลพระกรุณา

           ในมาตรา ๔๓ เป็นการมอบอำนาจตุลาการ ให้เจ้าคณะแขวง พระราชาคณะผู้กำกับแขวง เจ้าคณะเมือง และเจ้าคณะมณฑล อย่างชัดเจน สูงไปกว่านั้น ยังคงเป็นพระราชอำนาจอยู่ และจากการให้อำนาจการวินิจฉัยและการวินิจฉัยตามมาตรา ๔๓ นี้ ให้เห็นชัดว่าพระราชาคณะผู้กำกับแขวง มีฐานะเท่าเจ้าคณะมณฑล

      มาตรา ๔๔ กำหนดให้พระราชาคณะปกครองพิเศษ .- นอกจากที่กล่าวมาในพระราชบัญญัตินี้ ทรงโปรดพระราชาคณะหรือสังฆนายก ปกครองคณะพิเศษมาแต่ก่อนตราพระราชบัญญัตินี้ ยังคงมีอำนาจและหน้าที่ปกครองวัดหลายวัด แต่มิได้เป็นผู้กำกับแขวง มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองวัดที่ขึ้นเหมือนพระราชาคณะผู้กำกับแขวง

      มาตรา ๔๕ กำหนดให้เป็นหน้าที่เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

      เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้จริง แต่มิได้กำหนดให้ออกกฎกระทรวง ดังในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน