บทที่ ๓ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

บทที่  ๓

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์  พุทธศักราช  ๒๔๘๔

————————

นำเรื่อง

————-

      ต่อไปนี้ เป็นวาระที่จะนำศึกษาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ให้อำนาจจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ฉบับที่ ๒ และให้โดยสมบูรณ์ กล่าวคือ มอบถวายชัดเจน ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ เป็นรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ที่สอดคล้องกับทางราชอาณาจักร แต่ก่อนจะนำศึกษาบทบัญญัติตามลำดับนั้น ใคร่เรียนสรุปถวายเหตุการณ์อันเป็นมูลเหตุที่เกิดขึ้นเพราะการใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รศ. ๑๒๑ พอให้เชื่อมโยงกัน

      พระราชบัญญัติฉบับก่อนได้ประกาศกำหนดใช้ใน ๑๔ มณฑลแรกตามประกาศตั้งมณฑล วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๑ อันชัดเจนว่าได้ใช้เริ่มแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งที่ยังว่างสมเด็จพระสังฆราช ครั้น พ.ศ. ๒๔๕๓ จึงทรงสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ขึ้นเป็น “สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” โปรดให้บัญชาการคณะสงฆ์ทั้งสองนิกายโดยสิทธิ์ขาด ครั้น พ.ศ. ๒๔๖๔ สถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” และในปีนั้นพระองค์ก็ได้สิ้นพระชนม์ ได้ทรงสถาปนา พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์” ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์นั้น ได้มีการตั้งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมขึ้น บางคราวโปรดให้บัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์สมเด็จสังฆราชเจ้า ตอนปลายสมัยเกิดเหตุมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างนิกายมากขึ้น เป็นเหตุให้ฝ่ายมหานิกายน้อยเนื้อต่ำใจมาก และในช่วงเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ มีพระภิกษุสามเณรวัดปทุมวนารามนำโดยพระหล้า โสภิโต รวมตัวก่อการยึดอำนาจการปกครองจากเจ้าอาวาส เป็นเหตุการณ์วุ่นวายในวงการคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายอย่างใหญ่อยู่ ครั้น
พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระหล้า โสภิโต ซึ่งถูกปัพพาชนียกรรมมาอยู่วัดดวงแข ก็ได้รวมสมัครพรรคพวกยึดอำนาจเจ้าอาวาสวัดดวงแขอีก เป็นเหตุวุ่นวายอย่างหนัก แม้จะไม่สำเร็จก็เป็นเหตุให้การปกครองคณะสงฆ์กระเทือนอย่างมาก และในพุทธศักราช ๒๔๗๗ นั้น ได้มีพระภิกษุหนุ่มฝ่ายมหานิกายรวมประมาณ ๓๐๐ รูป จัดตั้งกลุ่ม เพื่อหาทางเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ให้เหมาะสมกับสภาพที่ควรจะเป็น เรียกกลุ่มของตนว่า “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา” ประชุมกำหนดนโยบายและวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน ดำเนินการเพื่อเสนอต่อรัฐบาลและมหาเถรสมาคม พร้อมเตรียมร่างพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ถึงเรื่องจะไม่สำเร็จในระยะนั้น แต่คณะนี้ได้พยายามต่อมาอย่างไม่หยุดยั้ง แม้จะถูกส่งออกไปจำพรรษาในหัวเมืองก็ตาม เหตุการณ์นี้เป็นมูลเหตุหนึ่งที่ให้มีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ในกาลต่อมา นี้คือความเชื่อมโยง จนมีเรื่องราวเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และมีการตั้งคณะกรรมาธิการฝ่ายสงฆ์ร่วมพิจารณา จนมีส่วนได้ผสมผสานกับร่างอื่น ๆ ได้ผ่านสภาและออกมาเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ดังที่จะนำศึกษาต่อไป

พระราชบัญญัติ

      ในการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มีพระราชปรารภเป็นบทนำว่า

      “โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

      จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้”

      พระราชบัญญัติฉบับนี้ ตราขึ้นโดยผ่านสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ โดยความแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่องค์พระมหากษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นผู้ลงนามในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตราไว้ ณ วันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน บทบัญญัตินั้นมีเรียงตามลำดับมาตรา จะนำมาถวายโดยขยายความอย่างย่อ ๆ ดังต่อไปนี้

บททั่วไป

      มาตรา ๑ กำหนดนามพระราชบัญญัติว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ เรียกสั้น ๆ ว่า ... คณะสงฆ์ ๒๔๘๔

      มาตรา ๒ กำหนดวันใช้พระราชบัญญัติ

            ๑) ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

            ๒) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๗๒ หน้า ๑๓๙๑ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๘๔

      มาตรา ๓ กำหนดยกเลิกบทบัญญัติอื่นว่า ตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่น

            ๑) ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้

            ๒) หรือซึ่งแย้งต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

      มาตรา ๔ กำหนดผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

            ๑) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

            ๒) ให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติให้เป็นตามพระราชบัญญัตินี้

            ๓) กฎกระทรวงนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

Views: 36