หมวด ๑
สมเด็จพระสังฆราช
——————————–
สมเด็จพระสังฆราชตามพระราชบัญญัตินี้
ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆ
ปริณายก ทรงเป็นพระประมุขของพุทธจักร
ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ต่างจากสมเด็จพระสังฆราชตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. ๒๕๐๕ มีบทบัญญัติ ๖ มาตรา คือ
มาตรา ๕ กำหนดหลักเกณฑ์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
๑) ผู้ทรงสถาปนา.- องค์พระมหากษัตริย์
๒) ผู้รับสถาปนา.- มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ เทียบเคียงกับที่ทรงสถาปนาที่ผ่านมาแน่ชัดว่าผู้จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะเท่านั้น
๓) วิธีปฏิบัติ.- มิได้กำหนดไว้แน่ชัด แต่ทางราชการเป็นฝ่ายดำเนินการเพื่อนำความกราบบังคมทูล
มาตรา ๖ – ๙ กำหนดให้สมเด็จพระสังฆราช
๑) ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก
๒) ทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ โดยได้บัญญัติไว้ใน มาตรา ๗, ๘ และ ๙ ดังนี้
(๑) ทรงบัญญัติสังฆาณัติโดยคำแนะนำของสังฆสภา (ม.๗)
(๒) ทรงบริหารการคณะสงฆ์ทางคณะสังฆมนตรี (ม.๘)
(๓) ทรงวินิจฉัยอธิกรณ์ทางคณะวินัยธร (ม.๙)
ในมาตรา ทั้ง ๔ นี้ เป็นอันกำหนดชัดให้สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกตำแหน่งเดียว ซึ่งเป็นตำแหน่งลอยเหนือการใช้อำนาจ เพราะบัญญัติให้บัญชาการคณะสงฆ์ ๓ ทาง เพื่อให้เกิดความถ่วงดุลแห่งอำนาจ มิได้ทรงใช้พระปรีชาสามารถด้วยพระองค์เอง เหมือนกับการปกครองราชอาณาจักรแบบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
มาตรา ๑๐ กำหนดถึงการบัญชาการคณะสงฆ์แทน ในกรณี
๑) เมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช หรือ
๒) มี แต่ไม่ทรงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ชั่วคราว
ให้สังฆนายก หรือสังฆมนตรีซึ่งรักษาการแทนสังฆนายก ทำหน้าที่บัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราช
อันหน้าที่บัญชาการคณะสงฆ์ถือเป็นหน้าที่สำคัญสุด เพราะการบัญชาการคณะสงฆ์จะต้องมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จึงต้องกำหนดมาตรานี้ไว้ การตั้งผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราชที่เคยมีมาแต่ก่อน เป็นอันยกเลิกไป
Hits: 14