หมวด ๒ สังฆสภา

หมวด  ๒

สังฆสภา

————

      สังฆสภา คือสภาของสงฆ์ ซึ่งทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ เทียบด้วยรัฐสภาของทางราชอาณาจักร ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรก มีบทบัญญัติ ๑๖ มาตรา คือ

      มาตรา ๑๑ กำหนดองค์ประกอบของสังฆสภา มีจำนวนไม่เกินสี่สิบห้ารูป คือ

            ๑) พระเถระชั้นธรรมขึ้นไป

            ๒) พระคณาจารย์เอก

            ๓) พระเปรียญเอก

      ทั้งนี้ ถ้ามีจำนวนเกินกว่าที่กำหนด ให้เป็นสมาชิกตามลำดับ (๑), (๒), (๓) และตามลำดับอาวุโส

      จำนวนสมาชิกสังฆสภาไม่เกิน ๔๕ รูปเป็นจำนวนสูง แต่จำนวนต่ำมิได้กำหนด โดยการจัดลำดับการคัดเลือก ต้องคัดเลือกพระเถระชั้นธรรมขึ้นไปก่อน แล้วคัดเลือกพระคณาจารย์เอก แล้วจึงคัดเลือกจากพระเปรียญเอก ตามลำดับอาวุโสของประเภทนั้น ๆ

      เงื่อนไขการตั้งไม่มี เพียงแต่เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนามสมาชิกโดยถือหลักตามเงื่อนไข สังฆสภาก็เป็นอันตั้งขึ้น

      มาตรา ๑๒ การตั้งประธานและรองประธานสังฆสภา.- มีข้อกำหนดว่าทุกคราวประชุมสมัยสามัญ สมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งสมาชิกสังฆสภาในสังฆสภาตามมติสังฆสภา

      ๑) ให้เป็นประธานสภา ๑ รูป

      ๒) ให้เป็นรองประธานสภา ๑ รูป หรือหลายรูปก็ได้

      ๓) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามรับสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

      โดยนัยนี้ มีการทรงตั้งประธานสังฆสภาและรองประธานสังฆสภาทุกปี มิได้ตั้งคราวเดียวแล้วอยู่ตลอดไปเหมือนตำแหน่งอื่น แต่กำหนดให้มีการเลือกและตั้งทุก ๆ คราวประชุมสามัญ

      มาตรา ๑๓ กำหนดหน้าที่ประธานและรองประธานสังฆสภา โดยกำหนดว่า

             ๑) ประธานสังฆสภามีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับ

             ๒) รองประธานมีหน้าที่กระทำกิจการการแทนประธานในเมื่อประธานไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

      ในขณะที่ยังมิได้ตั้งประธานและรองประธาน หรือในเมื่อประธานและรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกเลือกตั้งกันเองขึ้นเป็นประธานการประชุมในคราวประชุมนั้น

      มาตรา ๑๔ กำหนดเกี่ยวกับการประชุมว่า

      ในการประชุมสังฆสภาทุกคราว สมาชิกต้องมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุมได้

      ในการประชุมสังฆสภาทุกคราว ถ้าไม่ขัดข้องทางพระวินัย นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือผู้แทน จะเข้าฟังการประชุมด้วยก็ได้ และจะเสนอคำชี้แจงอย่างใดในที่ประชุมนั้นก็ได้

      โดยนัยนี้ เป็นข้อยุติว่า การประชุมสังฆสภาเปิดกว้างให้โอกาสรัฐบาลหรือผู้แทน เข้าประชุมด้วยได้ แม้มิได้เป็นองค์ประชุม แต่มีข้อยกเว้น หากมีข้อขัดข้องทางพระวินัย

      มาตรา ๑๕ กำหนดความสิ้นสุดแห่งสมาชิกภาพ เมื่อ

           ๑) ถึงมรณภาพ

           ๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

           ๓) ลาออก

           ๔) สังฆสภาวินิจฉัยให้ออกโดยความเห็นเกินกว่าสองในสามของสมาชิกที่มาประชุม

      ในมาตรา ๑๕ นี้ แม้จะมิได้บัญญัติไว้เลยก็ตาม แต่เมื่อสมเด็จพระราชาคณะรูปใดได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ย่อมพ้นจากความเป็นสมาชิกสังฆสภา

      มาตรา ๑๖ กำหนดญัตติที่จะเสนอเข้าในที่ประชุม กำหนดเป็น ๓ ทาง

             ๑) ทางคณะสังฆมนตรี

             ๒) ทางกระทรวงศึกษาธิการ

             ๓) ทางสมาชิกสังฆสภา ซึ่งสังฆนายกรับรอง

      ในมาตรา ๑๖ นี้ เปิดทางการเสนอญัตติเข้าสู่ที่ประชุมสังฆสภาไว้กว้างขวาง โดยเฉพาะทางกระทรวงศึกษาธิการนั้น เพราะเป็นสายงานรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

     มาตรา ๑๗ กำหนดการลงมติข้อปรึกษา กำหนดว่า

           ๑) ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้ หรือในพระธรรมวินัย

           ๒) ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

           ๓) สิทธิการลงคะแนน

                (๑) สมาชิกรูปหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน

                 (๒) ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมใช้สิทธิ

                      (ก.) ชี้ขาดให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่ง หรือ

                      (ข.) จะให้ระงับเรื่องนั้นไว้ก็ได้

           ๔) การตีความตามพระธรรมวินัย ถ้ามีข้อสงสัย ให้ตีความทางรักษาพระธรรมวินัยให้เคร่งครัด โดยไม่ต้องลงมติ

      มาตรา ๑๘ การประชุมสมัยสามัญ .- ข้อกำหนดว่า ในปีหนึ่ง

           ๑) ให้มีสมัยการประชุมสมัยสามัญ ๑ สมัย หรือ

           ๒) หลายสมัยแล้วแต่สภาจะกำหนด

           ๓) สมัยหนึ่งไม่เกินสามสิบวัน

           ๔) แต่สมเด็จพระสังฆราชจะโปรดขยายเวลาออกไปอีกได้

      มาตรา ๑๙ กำหนด .- ให้สมเด็จพระสังฆราช

           ๑) ทรงเรียกประชุมตามสมัยประชุม

           ๒) ทรงเปิดและปิดประชุม

           ๓) การเปิดและปิดประชุม

                  (๑) จะเสด็จทรงกระทำเอง หรือ

                  (๒) จะโปรดให้สังฆนายกทำแทนก็ได้

      ในมาตรา ๑๙ การทรงเรียกเปิด ปิดประชุม ทรงทำเป็นพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

      มาตรา ๒๐ กำหนดการประชุมวิสามัญ กำหนดให้.- สมเด็จพระสังฆราช

           ๑) ทรงเรียกประชุมวิสามัญสังฆสภาได้

           ๒) จะทรงเรียกประชุมวิสามัญในเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการร้องขอ

           ๓) ในการนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามรับสนอง

      มาตรา ๒๑ กำหนดให้บัญญัติสังฆาณัติได้ ในกรณี

           (๑) กำหนดวิธีปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

           (๒) กิจการที่มีกฎหมายกำหนดให้ทำเป็นสังฆาณัติ

      ในมาตรา ๒๑ นี้ เป็นการล้อมกรอบการบัญญัติสังฆาณัติไว้อย่างชัดเจน สังฆสภาจะถวายคำแนะนำให้สมเด็จพระสังฆราชทรงบัญญัติสังฆาณัติได้ เฉพาะที่กำหนดวิธีปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและกิจการที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าให้ทำเป็นสังฆาณัติเท่านั้น กิจการอื่นจะแนะให้สมเด็จพระสังฆราชบัญญัติเป็นสังฆาณัติมิได้ ดังนั้น เมื่อทรงบัญญัติสังฆาณัติครบตามมาตรา ๒๑ (๒) แล้ว สังฆสภาก็เกือบไม่มีงานอันเป็นหลักชัดเจน

      มาตรา ๒๒ สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช กฎกระทรวง ข้อบังคับและระเบียบ ต้องไม่ขัดกับพระธรรมวินัย

      หลักการบัญญัติสังฆาณัติ สังฆาณัติจะบัญญัติความผิดและกำหนดทัณฑกรรม แก่บรรพชิตผู้ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและสังฆาณัติไว้ ให้เป็นโสดหนึ่งต่างหากจากโทษตามพระราชบัญญัติก็ได้

      มาตรา ๒๓ กำหนดทัณฑกรรม .- ทัณฑกรรมที่จะบัญญัติไว้ในสังฆาณัติเกี่ยวกับการปฏิบัติล่วงละเมิดพระวินัยและสังฆาณัตินั้น ให้กำหนดไว้ ๗ สถาน ดังนี้.-

           ๑) ให้สึกและห้ามอุปสมบท

           ๒) ให้สึก

           ๓) ให้ปัพพาชนียกรรม

           ๔) ให้พ้นหรือเวนคืนตำแหน่ง

           ๕) ให้กักบริเวณ

           ๖) ให้ทำงานภายในวัด

           ๗) ให้ทำทัณฑ์บนหรือให้ขอขมาโทษ

      มาตรา ๒๔ กำหนดนำร่างสังฆาณัติขึ้นถวาย 

      หลักการวรรคแรก .-

           ๑) เมื่อสังฆสภาได้ร่างสังฆาณัติขึ้นสำเร็จแล้ว

           ๒) ให้สังฆนายกนำขึ้นถวายสมเด็จพระสังฆราช เพื่อทรงลงพระนาม

           ๓) เพื่อประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้วให้ใช้บังคับได้

      หลักการวรรคสอง.- ถ้าสมเด็จพระสังฆราชไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างนั้น

           ๑) จะได้ประทานคืนมายังสังฆสภา ภายในสิบห้าวันนับแต่วันนำขึ้นถวาย

           ๒) หรือมิได้ประทานคืนมาภายในสิบห้าวันก็ดี

           ๓) สังฆสภาจะต้องปรึกษากันใหม่และออกเสียงลงคะแนนลับ

           ๔) ถ้าสังฆสภาลงมติตามเดิม ให้นำขึ้นถวายอีกครั้งหนึ่ง

           ๕) เมื่อมิได้ลงพระนามภายในเจ็ดวัน

           ๖) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาดู

           ๗) ถ้าเห็นสมควร ก็ได้นำร่างนั้นเสนอประธานสังฆสภาภายในเจ็ดวัน

           ๘) ให้ประธานสังฆสภาลงนามประกาศสังฆาณัติใช้บังคับได้

     ในมาตรา ๒๔ วรรคนี้ กำหนดอย่างชัดเจน เพื่อให้ถ่วงดุลอำนาจสมเด็จพระสังฆราชไว้ด้วย เพราะในกรณีที่อาจมีปัญหาเช่นนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและประธานสังฆสภาปฏิบัติการ

      มาตรา ๒๕ กำหนดให้มีกรรมาธิการ กำหนดหลักการให้สังฆสภา

     ๑) มีอำนาจเลือกสมาชิกสังฆสภาตั้งเป็น คณะกรรมาธิการสังฆสภา ได้

     ๒) มีอำนาจเลือกพระภิกษุซึ่งเป็นสมาชิกสังฆสภาหรือมิได้เป็นสมาชิกสังฆสภา ตั้งเป็น คณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้

      ทั้งนี้ เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนข้อความอันอยู่ในวงงานของสังฆสภาหรือที่เกี่ยวกับการคณะสงฆ์

      การประชุมคณะกรรมาธิการ จะต้องมีกรรมาธิการเข้าประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวน จึงเป็นองค์ประชุมได้

      มาตรา ๒๖ ข้อบังคับการประชุม.- กำหนดให้สังฆสภามีอำนาจตั้งข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสังฆสภา เพื่อดำเนินการตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

      ในมาตรานี้ กำหนดให้สังฆสภา ต้องตั้งข้อบังคับการประชุมเป็นเบื้องต้นเพื่อให้การดำเนินการการเป็นตามพระราชบัญญัติ ได้มีข้อบังคับของสังฆสภาออกตามมาตรานี้

      มาตรา ๒๗ กำหนดการโฆษณาข้อความ.- การโฆษณาข้อความเกี่ยวกับการประชุมสังฆสภา คณะกรรมาธิการสังฆสภา คณะสังฆมนตรี หรือคณะกรรมการที่คณะสังฆมนตรีตั้งขึ้นให้พิจารณาทางลับ จะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

      ในมาตรา ๒๗ นี้ การรักษาความลับของคณะสงฆ์ในการใช้อำนาจทางนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร โดยให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นภาระ