หมวด ๓
คณะสังฆมนตรี
——————–
มาตรา ๒๘ คณะสังฆมนตรี.- สมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งสังฆมนตรีขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วย
๑) สังฆนายกรูปหนึ่ง
๒) สังฆมนตรีอีกไม่เกิน ๙ รูป
ในการตั้งสังฆมนตรี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามรับสนอง
การตั้งคณะสังฆมนตรี ตั้งพร้อมกันทั้งคณะในพระบัญชาเดียวกัน หรือพร้อมกันแต่แยกพระบัญชา มิได้ตั้งสังฆนายกก่อนแล้วให้โอกาสคัดเลือกสังฆมนตรี จึงอยู่ที่สมเด็จพระสังฆราชและผู้รับสนองพระบัญชาเป็นสำคัญ
มาตรา ๒๙ คุณสมบัติคณะสังฆมนตรี.- ต้องเลือกจากสมาชิกสังฆสภา เฉพาะสังฆนายกและสังฆมนตรีอย่างน้อยสี่รูป ส่วนสังฆมนตรีนอกนั้น เลือกจากผู้มีความรู้และความชำนาญพิเศษแม้มิได้เป็นสมาชิกสังฆสภาก็ได้ สังฆมนตรีผู้มิได้เป็นสมาชิกสังฆสภามีสิทธิ
(๑) เข้าประชุมและแสดงความเห็นในสังฆสภาได้
(๒) แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
มาตรา ๓๐ ความรับผิดชอบ.-
๑) สังฆนายกต้องรับผิดชอบในการบริหารการคณะสงฆ์ทั้งมวล
๒) สังฆมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งให้บริหารองค์การใด ก็ต้องรับผิดชอบในหน้าที่องค์การนั้น
๓) สังฆมนตรีทุกรูป จะได้รับแต่งตั้งให้บริหารองค์การใดหรือไม่ก็ตาม ต้องรับผิดชอบร่วมกันในกิจการทั่วไปของคณะสังฆมนตรี
มาตรา ๓๑ กำหนดให้คณะสังมนตรีต้องออกจากหน้าที่ เมื่อ.-
๑) ได้รับหน้าที่บริหารการคณะสงฆ์เป็นเวลาครบ ๔ ปี หรือ
๒) ลาออกทั้งคณะ หรือ
๓) ความเป็นสังฆนายกสิ้นสุดลง
คณะสังฆมนตรีที่ออกนั้น ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อไป จนกว่าคณะสังฆมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
นอกจากนี้ ความเป็นสังฆมนตรีจะสิ้นสุดลงเฉพาะรูป เมื่อ
๑) ถึงมรณภาพ
๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
๓) ลาออก
๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถวายความเห็นให้ลาออก
มาตรา ๓๒ กำหนดสิทธิ.- สมเด็จพระสังฆราชทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะทรงตรากติกาสงฆ์ตามที่ระบุไว้ในสังฆาณัติ
ในมาตรา ๓๒ เป็นอันเปิดโอกาสให้สมเด็จพระสังฆราชทรงตรากติกาสงฆ์ได้ เท่าที่จะมีสังฆาณัติระบุไว้ ให้กำหนดไว้ในสังฆาณัติ ซึ่งมิได้ให้โอกาสตราสังฆาณัติที่ไม่ผ่านสภา เช่น วิธีออกพระราชกำหนดทางราชอาณาจักร การเปิดปิดสภาต้องทำเป็นพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
มาตรา ๓๓ กำหนดระเบียบการบริหารการคณะสงฆ์ส่วนกลาง.- ให้จัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางเป็นองค์การต่าง ๆ คือ
๑) องค์การปกครอง
๒) องค์การศึกษา
๓) องค์การเผยแผ่
๔) องค์การสาธารณูปการ
นอกจากนี้ ให้โอกาสให้มีสังฆาณัติกำหนดองค์การอื่นเพิ่มขึ้นอีกได้
ทุกองค์การต้องมีสังฆมนตรีรูปหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหรือรับผิดชอบ ถ้าจำเป็นจะมีสังฆมนตรีช่วยว่าการก็ได้
ในมาตรา ๓ นี้ บัญญัติระเบียบการบริหารการคณะสงฆ์ส่วนกลางไว้ชัดเจน ระบุชัดว่า การบริหารการคณะสงฆ์ หมายถึงการบริหารงานในองค์การทั้ง ๔ หรืออาจเพิ่มอีกได้ ส่วนงานนิติบัญญัติก็ดีและการวินิจฉัยอธิกรณ์ มิได้จัดเป็นการปกครองดังเช่นกฎหมายปัจจุบัน เพราะผู้บริหารมีหน้าที่แตกต่างกันกับผู้ปกครองตามพระราชบัญญัติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จำนวนสังฆมนตรีจำกัดไว้ หากจะมีสังฆาณัติเพิ่มองค์การ สังฆมนตรีก็คงเท่าเดิม
มาตรา ๓๔ กำหนดส่วนภูมิภาค .- ระเบียบการบริหารการคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้เป็นไปตามที่กำหนดในสังฆาณัติ
ในมาตรา ๓๔ นี้ ให้โอกาสตราสังฆาณัติกำหนดเอง แต่ต้องกลมกลืนกับส่วนกลาง ดังปรากฏในสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ พ.ศ. ๒๔๘๖
มาตรา ๓๕ กำหนด .- ให้มีเจ้าคณะตรวจการในภาคต่างๆ ตามที่จะมีสังฆาณัติกำหนดไว้ และกำหนดให้เจ้าคณะตรวจการมีอำนาจหน้าที่ควบคุม สั่งการและแนะนำ ชี้แจงกิจการอันเกี่ยวกับการบริหารการคณะสงฆ์ ให้เป็นตามพระธรรมวินัย สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบ
ในมาตรา ๓๕ นี้ กำหนดให้มีเจ้าคณะตรวจการทำหน้าที่ควบคุม สั่งการ แนะนำ ชี้แจงกิจการอันเกี่ยวกับการบริหารการคณะสงฆ์ คล้ายกับผู้ตรวจการในทางราชอาณาจักร แต่จะมีอำนาจมากกว่า เมื่อตราสังฆาณัติได้กำหนดให้มีเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยเพิ่มขึ้นอีก
มาตรา ๓๖ กำหนดผู้รับสนองพระบัญชา ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๒ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๘ สังฆาณัติ กติกาสงฆ์และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชอันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์นั้น ต้องมีสังฆมนตรีรูปหนึ่งลงนามรับสนอง
ในมาตราทั้ง ๓ ที่กำหนดนี้ ดูตามบทบัญญัติในมาตรานั้นๆ มีกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามรับสนองอยู่แล้ว ที่กำหนดในมาตรานี้อีกดูจะมีอะไรซ่อนอยู่ ทั้งตรวจพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชว่าด้วยการนั้น ๆ เห็นมีแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามรับสนอง ทั้งใน ๓ มาตรานี้ มิได้กำหนดให้บัญญัติสังฆาณัติหรือกติกาสงฆ์แต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีมาตรานี้ไว้เพื่อประโยชน์อะไร
มาตรา ๓๗ บทบัญญัติว่า “การแต่งตั้ง ถอดถอน หรือโยกย้ายพระอุปัชฌายะและพระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งการบริหารการคณะสงฆ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในสังฆาณัติ”
ในมาตรานี้มีคำว่า “หรือโยกย้าย” ให้โอกาสโยกย้ายเพื่อพิจารณา แต่ในสังฆาณัติมิได้กำหนด และในมาตรา ๓๗ นี้ ใช้คำว่า “พระอุปัชฌายะ” ต่างจากคำที่ใช้ในพระราชบัญญัติฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งใช้คำว่า “พระอุปัชฌาย์” โดยความเป็นอันเดียวกัน