หมวด ๔
วัด
—————–
มาตรา ๓๘ กำหนดวัด.- ว่าวัดมีสองอย่าง
๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว
๒) สำนักสงฆ์
มาตรา ๓๙ กำหนดว่า การสร้าง การตั้ง การรวม การโอน การย้ายและการยุบเลิกวัดให้เป็นไปตามกฎกระทรวง
การพระราชทานวิสุงคามสีมา ให้กระทำได้โดยพระบรมราชโองการ
ในมาตรา ๓๙ กำหนดการโอนวัดไว้ด้วย แต่การพระราชทานวิสุงคามสีมาได้กระทำโดยพระบรมราชโองการ ลดลงจากเดิมเมื่อใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ มีพระราชบัญญัติกำหนดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ
มาตรา ๔๐ ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัด มีดังนี้
๑) ที่วัด คือที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตวัดนั้น
๒) ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด
๓) ที่กัลปนา คือที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา
มาตรา ๔๑ กำหนดหลักพิทักษ์ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ไว้ชัดเจน.- ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้แต่โดยพระราชบัญญัติ
ในมาตรา ๔๑ นี้ เป็นการสร้างปราการให้ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์เช่นเดียวกับในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ แต่ผ่อนผันให้กระทำได้โดยพระราชบัญญัติ
มาตรา ๔๒ กำหนดผู้ปกครองวัด.- วัดหนึ่งให้ มี
๑) เจ้าอาวาสรูปเดียว
๒) รองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสรูปหนึ่งหรือหลายรูปก็ได้
ในมาตรา ๔๒ นี้ กำหนดให้มีได้ทั้งเจ้าอาวาสทั้งรองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส แต่ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ กำหนดให้มีเฉพาะเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสเท่านั้น
มาตรา ๔๓ กำหนดหน้าที่เจ้าอาวาสไว้ ดังนี้.-
๑) บำรุงรักษา จัดการวัดและสมบัติของวัด ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย ตามสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบ
๒) ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีถิ่นที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบ
๓) เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัย แก่บรรพชิตตลอดจนคฤหัสถ์
๔) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล
ความในมาตรา ๔๓ นี้มีนัยคล้ายกับความในมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
มาตรา ๔๔ กำหนดอำนาจเจ้าอาวาสไว้ดังนี้.-
๑) ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่ในวัดนั้น
๒) ขับไล่บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปจากวัดนั้น
๓) กระทำทัณฑกรรมแก่บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ที่มีถิ่นที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัดนั้น ให้ทำงานภายในวัด หรือให้ทำทัณฑ์บน หรือให้ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งของเจ้าอาวาส ซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบ
ความในมาตรา ๔๔ มีนัยคล้ายกับมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แต่ข้อสุดท้ายกำหนดเฉพาะการลงโทษ
มาตรา ๔๕ บรรพชิตต้องมีสังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งและมีถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
ในมาตรา ๔๕ นี้เป็นอันบังคับให้บรรพชิตต้องมีสังกัดวัดอย่างชัดเจนและอยู่อย่างเป็นหลักแหล่ง นับเป็นบทบัญญัติรัดกุม
Hits: 2