หมวด ๗ บทกำหนดโทษ

หมวด  ๗

บทกำหนดโทษ

————————

     โทษในหมวด ๗ นี้ เป็นโทษอาญาที่เกิดขึ้นเพราะละเมิดบทบัญญัติบางมาตราที่บัญญัติไว้ และละเมิดกติกาตามพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นโทษทางอาญาทั้งสิ้น มี ๔ มาตรา คือ

     มาตรา ๕๓ บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในมาตรา ๒๗ มีความผิดต้องระวางจำคุกไม่เกินสามเดือน”

     ซึ่งมาตรา ๒๗ ละเมิดเพราะการโฆษณาข้อความเกี่ยวกับการประชุมซึ่งมิได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ

     มาตรา ๕๔ มีบทบัญญัติไว้ว่า ผู้ใด

           ๑) มิได้รับบรรพชาอุปสมบทโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย แต่บังอาจแต่งกายเลียนแบบบรรพชิต

           ๒) หมดสิทธิที่จะได้รับบรรพชาอุปสมบท  แต่มารับบรรพชาอุปสมบทโดยปิดบังความจริง

           ๓) ต้องปาราชิกแล้วไม่สละการแต่งกายอย่างเพศบรรพชิต

           ๔) ต้องคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้สึกแล้วไม่สึก มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน

     มาตรา ๕๕ บทบัญญัติว่า “ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์ไทย หรือพระภิกษุสงฆ์คณะใดคณะหนึ่ง อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี”

     มาตรา ๕๖ บัญญัติว่า “ไวยาวัจกรผู้ใด กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ มีความผิดต้องระวางโทษฐานเจ้าพนักงานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริตตามกฎหมายลักษณะอาญา”        ในมาตรา ๕๖ นี้ เป็นที่สังเกตว่าบัญญัติแต่โทษไวยาวัจกรไว้ โดยฐานเจ้าพนักงานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในการทุจริต ตามกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งยอมรับว่าไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงาน แต่มิได้ให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งไวยาวัจกรไว้ ดังเช่นในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ การได้มาซึ่งไวยาวัจกรจะมีได้ด้วยวิธีใด