หมวด ๑ สมเด็จพระสังฆราช

หมวด ๑

สมเด็จพระสังฆราช

——————

     สมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งสูงสุดในทางพุทธจักร เพราะสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประมุขในการปกครองคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชน และทรงเป็นพระสังฆบิดร มีมาแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน แต่ในสมัยกรุงสุโขทัย เรียกว่า “พระสังฆราช” เมื่อถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงเพิ่มคำว่า “สมเด็จ” นำหน้า เป็น “สมเด็จพระสังฆราช” และใช้เรียกชื่อตำแหน่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน เพราะคำว่า “สมเด็จ” เป็นคำถวายการยกย่องชั้นสูง หมวดนี้มี ๕ มาตรา คือ

         ๗. มาตรา ๗ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

           ๑ ผู้สถาปนา.- องค์พระมหากษัตริย์

            ๒ ผู้รับสถาปนา.- มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ในมาตรานี้ แต่เทียบเคียงกับมาตรา ๑๐ และที่ทรงสถาปนาผ่านมา ย่อมแน่ชัดว่าผู้จะได้รับการสถาปนาต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะ

           ๓ การปฏิบัติ.- เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบทูลพระกรุณา และการสถาปนานั้น จัดเป็นพระราชพิธี

         ๘. มาตรา ๘-๙ ตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช

          ๑) ทรงดำรงตำแหน่ง

              (๑) สกลมหาสังฆปริณายก

              (๒) ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

     อันตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก เป็นตำแหน่งที่ทรงปกครองทั้งคณะสงฆ์ไทยและคณะสงฆ์อื่น เทียบกับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชตามกฎหมายฉบับที่ยกเลิก

         ส่วนตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ทรงใช้ในคณะสงฆ์ไทย เทียบได้กับตำแหน่งสังฆนายก ประธานสังฆสภา ประธานคณะวินัยธร ตามพระราชบัญญัติฉบับเดิม และตำแหน่งประธาน ก.ส.พ  ตามสังฆาณัติ

               ๒) อำนาจหน้าที่

                   (๑) ทรงบัญชาการคณะสงฆ์

                   (๒) ทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

               การใช้อำนาจหน้าที่ทั้ง ๒ นี้ ต้อง

                   (๑) ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย

                   (๒) ไม่ขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัย

                   (๓) ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎมหาเถรสมาคม

     อันอำนาจหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแต่ละสมัย ย่อมมีลักษณะแตกต่างกัน ตามลักษณะกฏหมายหรือตามพระบรมราชโองการ พอสรุปได้ดังนี้

     (๑) สมัยใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ โดยอาศัยพระบรมราชโองการ ทรงใช้อำนาจโดยสิทธิ์ขาด

     (๒) สมัยใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ทรงใช้อำนาจ ๓ ทาง คือ ทางสังฆสภา ทางคณะสังฆมนตรี และทางคณะวินัยธร

     (๓) สมัยใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ  ๒๕๐๕ ทรงใช้อำนาจทางมหาเถรสมาคมทางเดียว

     ๙. มาตรา ๑๐ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

          ๑) กรณีที่ให้มีผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

              (๑) ไม่มีสมเด็จพระสังฆราช

              (๒) สมเด็จพระสังฆราชไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร

              (๓) สมเด็จพระสังฆราช ไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้

              (๔) สมเด็จพระราชาคณะที่ทรงตั้ง ไม่อาจจะปฏิบัติหน้าที่ได้

                  (๕)  สมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้

           ๒) การปฏิบัติ

                (๑) ในกรณีที่ ๑ ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

                (๒) ในกรณีที่ ๒-๓ จะทรงแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้ามิได้ทรงแต่งตั้ง ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

                (๓)  ในกรณีที่ ๔ ให้สมเด็จพระราชชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษาปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

                (๔) ในกรณีที่ ๕ ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสรองลงมาปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

           ๓) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศนามสมเด็จพระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในราชกิจจานุเบกษา

     อนึ่ง คำว่า “ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช” และว่า “ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช” ใช้ในกรณีต่างกัน

         ๑๐. มาตรา ๑๑ การพ้นจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

         ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มิได้บัญญัติหลักเกณฑ์ให้สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่ง แต่ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กำหนดให้สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุที่พระองค์ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ในฐานะสกลมหาสังฆปริณายก และในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งการบัญชาการคณะสงฆ์ด้วยพระองค์เองนี้ ในบางคราวอาจเกิดความผิดพลาดอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ จึงบัญญัติการพ้นจากตำแหน่งไว้ ๔ กรณี คือ.

    ๑) มรณภาพ

     ๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

     ๓) ลาออก

     ๔) ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก

Hits: 1