หมวด ๒ มหาเถรสมาคม

หมวด ๒

มหาเถรสมาคม

——————

     มหาเถรสมาคม เป็นสถาบันสูงสุดของคณะสงฆ์ เป็นองค์กรบัญชาการคณะสงฆ์ เริ่มมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ มหาเถรสมาคมตามพระราชบัญญัติเดิมนั้น เป็นที่ปรึกษาขององค์พระมหากษัตริย์ในการพระศาสนา และการปกครองบำรุงสังฆมณฑลทั่วไป มิใช่สถาบันบัญชาการคณะสงฆ์ และถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ครั้น พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้มีมหาเถรสมาคมใหม่ขึ้น มหาเถรสมาคมใหม่นี้ เป็นสถาบันอันมั่นคง เป็นองค์กรสูงสุดในการบัญชาการคณะสงฆ์ ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้บัญชาการ มี ๘ มาตรา คือ.-

     ๑๑. มาตรา ๑๒ องค์ประกอบแห่งมหาเถรสมาคม

           ๑) องค์ประกอบโดยตำแหน่ง

                (๑) ประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่สมเด็จพระสังฆราช หรือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

                (๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ สมเด็จพระราชาคณะ

           ๒) กรรมการโดยแต่งตั้ง ได้แก่ พระราชาคณะที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง ไม่ต่ำกว่าสี่รูป และไม่เกิน ๘ รูป

     ๑๒. มาตรา  ๑๓

           ๑)  เลขาธิการมหาเถรสมาคม ได้แก่ อธิบดีกรมการศาสนา

           ๒)  สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ให้กรมการศาสนาทำหน้าที่

           ให้อธิบดีกรมการศาสนา ซึ่งเป็นข้าราชการประจำเป็นเลขาธิการ เพราะการดำเนินกิจการคณะสงฆ์มีความผูกพันกับการบริหารราชการแผ่นดิน อธิบดีกรมการศาสนาจะได้เป็นผู้ประสานงานระหว่างรัฐบาลกับคณะสงฆ์ จำเป็นต้องให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมด้วย เทียบได้กับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ ซึ่งบัญญัติว่า มาตรา ๔๐ เป็นหน้าที่ของเจ้ากระทรวงธรรมการ  และเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ จะอุดหนุนเจ้าคณะให้ได้กำลังและอำนาจ พอที่จะจัดการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ได้ และเทียบได้กับ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๕๙ ซึ่งให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสังฆสภาและสำนักงานเลขาธิการคณะสังฆมนตรี

     ๑๓. มาตรา ๑๔ ภาวะแห่งกรรมการโดยแต่งตั้ง

           ๑) ดำรงตำแห่งคราวละ ๒ ปี

           ๒) อาจได้รับแต่งตั้งอีก

     ๑๔. มาตรา ๑๕ กรรมการโดยแต่งตั้ง

          ๑) พ้นจากตำแห่งเฉพาะรูป เมื่อ

                (๑) มรณภาพ

                (๒) พ้นจากความเป็นภิกษุ

                (๓) ลาออก

                (๔) มีพระบัญชาโปรดให้ออก

           ๒) เมื่อพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ

                (๑) อาจทรงแต่งตั้งพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งแทน

                (๒) ให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของรูปที่ตนแทน

     ทางปฏิบัติ ถ้ากรรมการโดยแต่งตั้งยังเหลืออยู่ไม่ต่ำกว่า ๔ รูป จะทรงแต่งตั้งหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้ายังเหลืออยู่ต่ำกว่า ๔ รูป ต้องทรงแต่งตั้งแทน

     ๑๕. มาตรา ๑๖ การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

           ๑) กรณีที่ต้องแต่งตั้ง

                (๑) ประธานกรรมการไม่อาจมาประชุมและมิได้มอบหมาย

                (๒) ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมและมิได้มอบหมาย

           ๒) การปฏิบัติ

                (๑) ให้มหาเถรสมาคมแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง  ปฏิบัติหน้าที่แทน

                (๒) การประชุมเพื่อแต่งตั้ง ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้อาวุโสสูงสุดโดยพรรษา เป็นประธานแห่งที่ประชุม

     ๑๖. มาตรา ๑๗  การประชุมมหาเถรสมาคม

           ๑) ประธานที่ประชุม

                (๑) โดยตำแหน่ง ได้แก่สมเด็จพระสังฆราชหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่

                (๒) โดยมอบหมาย ได้แก่สมเด็จพระราชาคณะที่ทรงมอบหมาย

                (๓) โดยแต่งตั้ง ได้แก่สมเด็จพระราชาคณะที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้ง

           ๒) องค์ประชุมมหาเถรสมาคม

                (๑) ต้องมีกรรมการโดยตำแหน่ง และโดยแต่งตั้งเข้าประชุมร่วมกัน

                (๒) ต้องเข้าประชุม ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด

           ๓) ระเบียบการประชุม กำหนดเป็นกฎมหาเถรสมาคม (กฎ ๑)

         ๑๗. มาตรา ๑๘ อำนาจหน้าที่มหาเถรสมาคม

           ๑) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย

           ๒) เพื่อการปกครองคณะสงฆ์  ให้มีอำนาจ

                (๑) ตรากฎมหาเถรสมาคม

                (๒) ออกข้อบังคับมหาเถรสมาคม

                (๓) วางระเบียบมหาเถรสมาคม

                (๔) ออกคำสั่งมหาเถรสมาคม

            โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย ใช้บังคับได้

     คำว่า การปกครองคณะสงฆ์ ในพระราชบัญญัตินี้ หมายถึงการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ กล่าวให้สั้นหมายถึงการดำเนินกิจการคณะสงฆ์ส่วนกลางทั้งหมด แต่เฉพาะในมาตรา ๑๘ นี้ หมายถึงการใช้อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ ส่วนการตรากฎมหาเถรสมาคมเป็นต้น หมายถึงการใช้อำนาจนิติบัญญัติและการใช้อำนาจนิติบัญญัตินั้น ต้องเพื่อการปกครองคณะสงฆ์ จะใช้เพื่อการอื่นมิได้

     ๑๘. มาตรา ๑๙ การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม และการให้ออกจากตำแหน่ง

           ๑) โดยพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

           ๒) รัฐมนตรีว่าการการทรวงศึกษาธิการรับสนองพระบัญชา

Views: 12