บทที่ ๔
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
——————–
นำเรื่อง
—————–
ต่อไปนี้ จะนำศึกษาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่จัดระบบการปกครองคณะสงฆ์ ฉบับที่ ๓ และเป็นฉบับที่บังคับอยู่ในปัจจุบัน นับเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับปฏิรูป เพราะมีลักษณะผสมผสานระหว่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช ๒๕๔๘ ก่อนที่จะเรียนถวายตามลำดับมาตรานั้น ใคร่ขอเรียนถวายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดในขณะใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๘ ที่เห็นว่าควรจะทราบแต่ย่อ ๆ พอเชื่อมโยงกัน
เหตุการณ์สำคัญที่ ๑ คือการที่คัดค้านการแต่งตั้งสังฆนายกรูปที่ ๓ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๔๙๔ ของคณะพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย เพราะการแต่งตั้งสังฆนายกแต่งตั้งแต่พระเถระในฝ่ายธรรมยุติติดต่อกันมาแต่เริ่มใช้พระราชบัญญัติถึง ๒ รูป และความขัดแย้งในการใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของคณะธรรมยุต ยกเอามาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ มาใช้อีกอย่างชัดเจน จนเป็นเหตุให้มีการประชุมตกลงเงื่อนไขที่ตำหนักเพชร ๓ ประการ คือ
๑) การปกครองส่วนกลาง คณะสังฆมนตรีคงบริหารร่วมกัน แต่การปกครองบังคับบัญชาให้เป็นไปตามนิกาย
๒) การปกครองส่วนภูมิภาค ให้แยกนิกาย
๓) ส่วนระเบียบปลีกย่อย จะได้ปรึกษาภายหลัง
เมื่อตกลงในเงื่อนไขนี้ สังฆนายกก็ลาออก เปิดให้พระเถระฝ่ายมหานิกายเป็นสังฆนายก อันนี้เป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง
เหตุการณ์สำคัญที่ ๒ คือกรณีที่เกิดแก่พระเถระผู้ใหญ่ ๒ ท่าน ที่เคยดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง และสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง ในปี ๒๕๐๓ เหตุการณ์รุนแรงถึงถอดจากตำแหน่งเจ้าอาวาสและถอดสมณศักดิ์ทั้ง ๒ ท่าน ต่อมาในปี ๒๕๐๕ อีกท่านหนึ่งต้องถูกจับไปคุมขัง ณ สันติบาล ต้องสู้คดีในข้อหาอย่างร้ายแรงในศาลยุติธรรม แต่ก็ชนะคดีในที่สุด
พอกล่าวสรุปได้ว่า เหตุการณ์ทั้ง ๒ กรณีนี้ เป็นมูลเหตุสำคัญที่มีให้บัญญัติพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งจะกล่าวต่อไป
พระราชบัญญัติ
การตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติบันทึกเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติไว้ ซึ่งพอเก็บความได้ ๓ คือ.-
๑. การดำเนินในกิจการคณะสงฆ์ มิใช่กิจการอันพึงแบ่งแยกอำนาจดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อการถ่วงดุลแห่งอำนาจ
๒. ระบบแบ่งอำนาจดำเนินการนั้น เป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการ
๓. แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ใหม่ โดยมีหลักการ
๑) ให้สมเด็จพระสังฆราชองค์สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการ
คณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคม
๒) ให้ทรงบัญชาการตามอำนาจแห่งกฎหมายและพระธรรมวินัย
๓) ให้ทรงบัญชาการเพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา
บทบัญญัติในพระราชบัญญัติฉบับนี้ มี ๔๖ มาตรา แบ่งเป็น ๘ ส่วน คือ.-
๑. หมวดความเบื้องต้น มี ๖ มาตรา
๒. หมวด ๑ สมเด็จพระสังฆราช มี ๕ มาตรา
๓. หมวด ๒ มหาเถรสมาคม มี ๘ มาตรา
๔. หมวด ๓ การปกครองคณะสงฆ์ มี ๔ มาตรา
๕. หมวด ๕ วัด มี ๙ มาตรา
๖. หมวด ๖ ศาสนสมบัติ มี ๒ มาตรา
๗. หมวด ๗ บทกำหนดโทษ มี ๓ มาตรา
๘. หมวด ๘ เบ็ดเตล็ด มี ๒ มาตรา
ขอนำศึกษาความตามลำดับดังต่อไปนี้.-
ความเบื้องต้น
ตั้งแต่พระราชปรารถถึงมาตรา ๖ แม้มิได้บัญญัติว่าเป็นหมวดก็ตาม แต่โดยลักษณะควรจัดเป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า “ความเบื้องต้น” ในส่วนนี้มี ๖ มาตรา มีข้อความควรศึกษาดังนี้.-
๑. พระราชปรารภ.- “โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภาดังต่อไปนี้” โดยนัยนี้แสดงว่า
๑) พระราชบัญญัติฉบับเดิม ยังไม่เหมาะสมหรือมีความเหมาะสมน้อย
๒) ปรับปรุงใหม่เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
๓) ตราขึ้นในสมัยรัฐบาลคณะปฏิวัติ ในขณะที่สภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่รัฐสภา
๒. มาตรา ๑ นามพระราชบัญญัติ
๑) พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
๒) คำว่า “คณะสงฆ์” ในมาตรานี้ หมายถึงพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ๒ คณะ คือ คณะสงฆ์ไทย ซึ่งเรียกว่า “เถรวาท” บ้าง “หีนยาน” บ้าง เรียก “ทักษิณนิกาย” บ้าง ซึ่งได้แก่ คณะมหานิกาย และคณะธรรมยุต และว่าด้วยคณะสงฆ์อื่น คือ จีนนิกาย และอนัมนิกาย ซึ่งเรียกว่า “อาจริยวาท” บ้าง “มหายาน” บ้าง “อุตตรนิกาย” บ้าง ซึ่งแขวนอยู่ด้วย
๓. มาตรา ๒ วันใช้บังคับ
๑) ให้ไว้ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๐๕
๒) ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
๓) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๕
๔) คงใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๖ เป็นต้นไป
๔. มาตรา ๓ มีผลบังคับให้
๑) ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๘
๒) ยกเลิกบทบัญญัติที่ตราขึ้น เพราะอาศัยพระราชบัญญัติดังกล่าว เช่น สังฆาณัติ กติกาสงฆ์
๓) ยกเลิกตำแหน่งและวิธีปฏิบัติตามสังฆาณัติ เป็นต้น
ตำแหน่งที่ถูกยกเลิก คือ สังฆสภา คณะสังฆมนตรี กรรมการสังฆาณัติระเบียบ พระคณาธิการ คณะวินัยธร พระธรรมธร เจ้าคณะตรวจการ คณะกรรมการสงฆ์จังหวัด คณะกรรมการสงฆ์อำเภอ เลขานุการทุกชั้น ตำแหน่งอื่นมีบทเฉพาะกาลคุ้มครอง
๕. มาตรา ๔-๕ บทเฉพาะกาล
๑) บทบัญญัติที่ใช้บังคับต่อไป คือ กฎกระทรวง สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับ และระเบียบ เกี่ยวกับคณะสงฆ์ ซึ่งใช้อยู่ก่อนวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ ในราชกิจจานุเบกษา ให้ใช้บังคับต่อไปได้ โดยมีเงื่อนไข ๓ อย่าง คือ
(๑) ภายในระยะเวลาหนึ่งปี
(๒) เฉพาะที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
(๓) จนกว่าจะได้ตราบทบัญญัติขึ้นใหม่
๒) ให้ตรากฎมหาเถรสมาคมมอบอำนาจหน้าที่ใด ๆ ซึ่งกำหนดไว้ในสังฆาณัติเป็นต้น ซึ่งตำแหน่งนั้น ๆ ไม่มีในพระราชบัญญัตินี้ และมหาเถรสมาคมได้ตรากฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๒ กำหนดให้อำนาจหน้าที่ตามสังฆาณัติเป็นต้น ในส่วนที่เป็น
(๑) ของคณะสังฆมนตรีและของ ก.ส.พ. เป็นของมหาเถรสมาคม
(๒) ของสังฆนายก และประธาน ก.ส.พ. เป็นของสมเด็จพระสังฆราช
(๓) ของสังฆมนตรีว่าการและสังฆมนตรีช่วยว่าการ เป็นของสมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระราชาคณะ หรือพระราชาคณะ ที่ทรงมอบหมายโดยการเสนอของมหาเถรสมาคม
(๔) ของเจ้าคณะตรวจการ เป็นของเจ้าคณะภาค
(๕) ของคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด เป็นของเจ้าคณะจังหวัด
(๖) ของคณะกรรมการสงฆ์อำเภอ เป็นของเจ้าคณะอำเภอ
(๗) ของคณะวินัยธร แยกเป็น
อธิกรณ์ที่ค้างปฏิบัติอยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ เป็นของมหาเถรสมาคม
นอกจากอธิกรณ์ที่ค้างปฏิบัติอยู่
(ก) อธิกรณ์ชั้นฏีกา เป็นของมหาเถรสมาคม
(ข) อธิกรณ์ชั้นอุทธรณ์ เป็นของคณะอนุกรรมการที่มหาเถรสมาคมตั้งขึ้น
(ค) อธิกรณ์ชั้นต้น เป็นของเจ้าอาวาส ถ้าพระสังฆาธิการถูกฟ้อง เป็นของผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด
๖. มาตรา ๖ ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ
๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๒) ให้อำนาจออกกฎกระทรวง
๓) กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
เหตุที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ เพราะการคณะสงฆ์และการพระศาสนาตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นกิจการอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน
- หมวด ๑ สมเด็จพระสังฆราช
- หมวด ๒ มหาเถรสมาคม
- หมวด ๓ การปกครองคณะสงฆ์
- หมวด ๔ นิคหกรรมและการสละสมณเพศ
- หมวด ๕ วัด
- หมวด ๖ ศาสนสมบัติ
- หมวด ๗ บทกำหนดโทษ
- หมวด ๘ เบ็ดเตล็ด
Hits: 26