บทที่ ๕
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
———————-
ในการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีหมายเหตุบันทึกเหตุผลในการประกาศใช้พระราช บัญญัติฉบับนี้ พอเก็บความได้ดังนี้
๑) คงใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว
๒) สมควรปรับปรุงบทบัญญัติให้เหมาะสม มีบทบัญญัติเรื่อง
(๑) การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชและการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่
(๒) การแต่งตั้งถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุ
(๓) อำนาจหน้าที่และการปฏิบัติหน้าที่ของมหาเถรสมาคม
(๔) การปกครอง
(๕) การสละสมณเพศของคณะสงฆ์และเรื่องคณะสงฆ์อื่น
(๖) วัด การดูแลรักษาวัด
(๗) ทรัพย์สินของวัดและศาสนสมบัติกลาง
(๘) บทกำหนดโทษ
พระราชบัญญัติฉบับนี้ มี ๒๑ มาตรา มีคำปรารภว่า “โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายคณะสงฆ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้” โดยนัยนี้แสดงว่า
(๑) พระราชบัญญัติฉบับเดิม ยังไม่เหมาะสมเต็มที่หรือเหมาะสมน้อย
(๒) ปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
(๓) ตราขึ้นในสมัยรัฐบาลในยามไม่ปกติ ในขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา
พระราชบัญญัติฉบับนี้ มิได้จัดหมวด คงเรียงไปตามลำดับที่มาตราที่ควรยกเลิกและปรับปรุงใหม่ ดังนี้
๑. มาตรา ๑ นามพระราชบัญญัติ
๑) พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕
๒) โดยตรง คำว่า “คณะสงฆ์” หมายถึงคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาท คือ คณะมหานิกาย ๑ คณะธรรมยุต ๑ แต่มีเรื่องคณะสงฆ์อื่นอันแขวนอยู่ด้วย
๒. มาตรา ๒ วันที่ใช้บังคับ
๑) ให้ไว้วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕
๒) บังคับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
๓) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕
๔) มีผลใช้บังคับ วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕
๓. มาตรา ๓ เพิ่มมาตรา ๕ ทวิ และมาตรา ๕ ตรี เข้าในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ทำให้มาตรา ๕ มี ๓ มาตรา โดยความเป็นดังนี้
มาตรา ๕ ทวิ ที่เพิ่มเติมใหม่ เป็นการนิยามคำพูด หรือให้ความหมายศัพท์ให้ชัดเจน แน่นอน คำที่นิยามคือ
(๑) คณะสงฆ์
(๒) คณะสงฆ์อื่น
(๓) พระราชคณะ
(๔) สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์
มาตรา ๕ ตรี กำหนดพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์
๔. มาตรา ๔ ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดิม แล้วปรับปรุงใหม่ คือใช้ความใหม่แทน มีสาระสำคัญดังนี้
๑) พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชได้เพียงองค์เดียว
๒) ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
๓) ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจ
ปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เสนอนามสมเด็จพระราชคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลง
มาและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
๕. มาตรา ๕ ยกเลิกมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดิม แล้วปรับปรุงใหม่ คือใช้ความใหม่แทน มีสาระสำคัญดังนี้
๑) ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงลาออกจากตำแหน่ง หรือทรงพระกรุณาโปรดให้ออกจากตำแหน่ง จะทรงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระสังฆราชหรือตำแหน่งอื่นใดตามพระราชอัธยาศัยก็ได้ (ม.๙)
๒) ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (ม.๑๐/๑)
๓) ถ้าไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมที่เหลืออยู่เลือกสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่งผู้มีอาวุโสรองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (ม.๑๐/๒)
๔) ในกรณีที่ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ จะทรงแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนก็ได้ (ม.๑๐/๓)
๕) ในกรณีที่มิได้ทรงแต่งตั้งหรือผู้ที่ทรงแต่งตั้งไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม (ม.๑๐/๔)
๖) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนามสมเด็จพระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในราชกิจจานุเบกษา (ม.๑๐/๕)
๖. มาตรา ๖ ให้ยกเลิกมาตรา ๑๒ แล้วปรับปรุงใหม่แทน มีสาระสำคัญ ดังนี้
ปรับปรุงองค์ประกอบแห่งมหาเถรสมาคมใหม่ โดย
๑) องค์ประกอบโดยตำแหน่ง
(๑) ประธานกรรมการโดยตำแหน่ง
(ก) สมเด็จพระสังฆราช หรือ
(ข) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หรือ
(ค) ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง คือ สมเด็จพระราชาคณะ
๒) กรรมการโดยแต่งตั้ง
(๑) พระราชาคณะที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง
(๒) จำนวนไม่เกินสิบสองรูป
๗. มาตรา ๗ เพิ่มมาตรา ๑๕ ทวิ มาตรา ๑๕ ตรี และมาตรา ๑๕ จัตวา เข้าในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ในการแต่งตั้งและการให้กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งตาม ม.๑๒ และ ม.๑๕ (ม.๑๕ ทวิ)
๒) กำหนดอำนาจหน้าที่มหาเถรสมาคมไว้ใหม่ ดังนี้ (ม.๑๕ ตรี)
(๑) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
(๒) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
(๓) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ของคณะสงฆ์
(๔) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
๓) เพื่อประโยชน์แก่การใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าว
(๑) ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย และพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้
(๒) จะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุ –
กรรมการ ตามมาตรา ๑๙ เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้
๔) ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคมกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครองแก่พระภิกษุสามเณรผู้ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนา และการปกครองคณะสงฆ์ได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ และกำหนดให้ผู้ได้รับโทษตามกฎมหาเถรสมาคม ถึงขั้นให้สละสมณ -เพศ ต้องสึกภายในสามวันตั้งแต่วันรับทราบคำสั่งลงโทษ (ม.๑๕ จัตวา)
๘. มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ ปรับปรุงใหม่ มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑) เมื่อประธานกรรมการมหาเถรสมาคมไม่อาจมาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม และมิได้มอบให้สมเด็จพระราชคณะปฏิบัติหน้าที่แทน
๒) ให้สมเด็จพระราชคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ซึ่งอยู่ในทีประชุมปฏิบัติหน้าที่แทน
๙. มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ แล้วปรับปรุงใหม่ มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑) ถ้ายังมิได้แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมแทนที่ว่าง ตามมาตรา ๑๕
๒) ให้ถือว่ามหาเถรสมาคมมีจำนวนกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ (ม.๑๘)
๓) ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการและคุณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ประกอบด้วยพระภิกษุหรือบุคคลอื่น เพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องที่จะเสนอต่อมหาเถรสมาคมและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมายโดยให้ขึ้นตรงต่อมหา เถรสมาคม (ม.๑๙)
๔) การจัดให้มีคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่งและระเบียบการประชุม ให้เป็นไปตามระเบียบมหาเถรสมาคม (ม.๑๙)
๕) มาตรา ๒๐ บังคับ
(๑) ให้คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม
(๒) การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ต้องให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม
๑๐. มาตรา ๑๐ กำหนดเพิ่มมาตรา ๒๐ ทวิ โดยเพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กำหนด
๑) ให้มีเจ้าคณะใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์
๒) การแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ การกำหนดอำนาจหน้าที่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
๑๑. มาตรา ๑๑ ยกเลิกความในมาตรา ๒๗ ปรับปรุงใหม่ ดังนี้
๑) หลักเกณฑ์ที่ต้องให้สละสมณเพศ แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง
(๑) ต้องคำวินิจฉัยตามมาตรา ๒๕ ให้รับนิคหกรรมไม่ถึงสึก แต่ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น
(๒) ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ
(๓) ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง
(๔) ไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
๒) ข้อบังคับ
(๑) ให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
(๒) พระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยตามวรรคสอง ต้องสึกภายในสามวัน นับแต่วันรับทราบคำวินิจฉัยนั้น
(๓) ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเป็นผู้บังคับ
(๔) ถ้าไม่สึก ให้ขออารักขาต่อทางราชการ
๑๒. มาตรา ๑๒ ยกเลิกความในมาตรา ๓๑ แล้วปรับปรุงใหม่ ดังนี้
มาตรา ๓๑ วัดมีสองอย่าง
(๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
(๒) สำนักสงฆ์
ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล
เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป
๑๓. มาตรา ๑๓ ให้เพิ่มมาตรา ๓๒ ทวิ ดังนี้
มาตรา ๓๒ ทวิ วัดใดเป็นวัดร้างที่ไม่มีพระภิกษุอยู่อาศัย ในระหว่างที่ไม่มีการยุบเลิกวัด ให้กรมการศาสนามีหน้าที่ปกครองดูแลวัดนั้น รวมทั้งที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และทรัพย์สินของวัดนั้นด้วย
การยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
๑๔. มาตรา ๑๔ ยกเลิกความในมาตรา ๓๔ และ ๓๕ ปรับปรุงใหม่ ดังนี้
๑) มาตรา ๓๔ การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง
(๑) การโอนโดยทั่วไป ให้กระทำได้โดยพระราชบัญญัติ
(๒) การโอนให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เมื่อมหาเถรสมาคมไม่ขัดข้องและได้รับค่าผาติกรรมแล้ว ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
๒) ห้ามยกอายุความขึ้นต่อสู้กับ
(๑) วัด ในกรณีที่วัด หรือ ที่ธรณีสงฆ์
(๒) กรมการศาสนา ในกรณีที่ศาสนสมบัติกลาง
๓) มาตรา ๓๕ ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสนสมบัติกลาง เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี
๑๕. มาตรา ๑๕ ยกเลิกความในมาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๔ แล้วปรับปรุงใหม่ ดังนี้
๑) มาตรา ๔๒ ผู้ใดมิได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ หรือถูกถอดถอนจากความเป็นพระอุปัชฌาย์ตามมาตรา ๒๓ แล้ว กระทำการบรรพชาอุปสมบทแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี
๒) มาตรา ๔๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๕ จัตวา วรรคสอง มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ วรรคสาม หรือมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษจำไม่เกินหนึ่งปี
๓) มาตรา ๔๔ ผู้ใดพ้นจากความเป็นพระภิกษุ เพราะต้องปาราชิกมาแล้ว ไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยตามมาตรา ๒๕ หรือไม่ก็ตาม ต่อมารับการบรรพชาอุปสมบทใหม่โดยกล่าวเท็จหรือปิดบังความจริงต่อพระอุปัชฌาย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี
๑๖. มาตรา ๑๖ เพิ่มข้อความใหม่ เป็นมาตรา ๔๔ ทวิ และมาตรา ๔๔ ตรี ดังนี้
๑) มาตรา ๔๔ ทวิ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
๒) มาตรา ๔๔ ตรี ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่นอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือแตกแยก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
๑๗. มาตรา ๑๗ ยกเลิกความในมาตรา ๔๖ แล้วปรับปรุงใหม่ ดังนี้
มาตรา ๔๖ การปกครองคณะสงฆ์อื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตราที่เพิ่มใหม่
๑๘. มาตรา ๑๘ บรรดากฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง ของมหาเถรสมาคม ที่ออกตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้บังคับใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
๑๙. มาตรา ๑๙ วัดที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
๒๐. มาตรา ๒๐ ให้พระภิกษุที่ได้รับการแต่งตั้งและสถาปนาให้มีสมณศักดิ์อยู่ก่อนวันที่ใช้พระราชบัญญัตินี้ยังมีสมณศักดิ์นั้นต่อไป
ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ กรรมการหรืออนุกรรมการใด ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ หรือตามกฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง ของมหาเถรสมาคม ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ยังคงดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระการดำรงตำแหน่ง หรือจนกว่ามหาเถรสมาคมจะมีมติเป็นประการอื่น
๒๑. มาตรา ๒๑ กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ เช่นเดียวกับฉบับก่อน
ข้อควรทราบพิเศษ
พระราชบัญญัติฉบับนี้ ออกมาเพื่อช่วยปรับปรุงตกแต่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ให้เหมาะสมรัดกุมยิ่งขึ้น โครงสร้างหลักคงเดิมทุกประการ
Hits: 4