บทที่ ๖ พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ พ.ศ. ๒๕๔๗

บทที่ ๖

พระราชกำหนด

แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

พ.ศ. ๒๕๔๗

——————————

     พระราชกำหนดเป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งตราขึ้นในคราวฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ตราขึ้นโดยไม่ผ่านสภาเพื่อแก้ไขเหตุการณ์ที่จำเป็นนั้น ๆ เมื่อเปิดสภาแล้ว ต้องรีบนำเสนอสภาทันที ถ้าสภามีมติไม่รับ ก็เป็นอันตกไป แต่การที่ได้ปฏิบัติไปแล้วมีผลสมบูรณ์ ถ้าสภารับ ก็ถือเป็นกฎหมาย กลายเป็นพระราชบัญญัติอย่างสมบูรณ์

     พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งขณะที่จะตราขึ้นนั้น มีเหตุจำเป็นต้องเร่งแก้ไข หากไม่แก้ไขโดยเร่งด่วน อาจเสียหายถึงขั้นเป็นภัยสาธารณะ รัฐบาลต้องรีบเร่งตราขึ้น แล้วนำเสนอสภาในภายหลังและสภามีมติรับแล้ว จึงมีฐานะเป็นกฎหมายคณะสงฆ์อย่างสมบูรณ์

     พระราชกำหนดฉบับนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๓๔ ก ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ หน้า ๑-๖ มีหมายเหตุต่อท้ายว่า

     หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในกรณีไม่มีสมเด็จพระสังฆราช หรือสมเด็จพระสังฆราชไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ ตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ ได้กำหนดให้แต่งตั้ง หรือเลือกสมเด็จพระราชาคณะเพียงรูปเดียว ซึ่งปรากฏเป็นเหตุขัดข้องจนเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในการปกครองคณะสงฆ์และวงการพุทธศาสนิกชนและอาจถึงขั้นนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้จากความแตกแยกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่คณะสงฆ์ จึงสมควรกำหนดให้มีผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในรูปองค์คณะ ซึ่งแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะหลายรูปเพื่อใช้อำนาจร่วมกันในการบัญชาการคณะสงฆ์ เพื่อความสงบเรียบร้อยยิ่งขึ้นและสร้างสมานฉันท์เพิ่มขึ้นอีกวิธีการหนึ่ง และโดยที่ขณะนี้ สมเด็จพระสังฆราชมีพระชนมายุสูง อีกทั้งอยู่ระหว่างประทับเพื่อรักษาสุขภาพ คณะแพทย์เห็นว่า ควรประทับรักษาพระองค์และอยู่ในความดูแลของคณะแพทย์ จำเป็นต้องมีผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชโดยด่วน จึงสมควรแก้ไขเหตุขัดข้องเพื่อให้มีความสงบเรียบร้อยในประเทศขึ้นโดยเร็ว นับเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

     ในพระราชกำหนดนี้ มีคำปรารภว่า “โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์”

     อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้:-

ตัวบทพระราชกำหนด

     มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ พ.ศ. ๒๕๔๗”

     มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

     มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคห้าของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

          “ในการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามมาตรานี้ ถ้าสมเด็จพระสังฆราชทรงเห็นเป็นการสมควร สำหรับกรณีที่มีเหตุตามวรรคสาม หรือกรรมการมหาเถรสมาคมที่เหลืออยู่เห็นเป็นการสมควรสำหรับกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสี่ อาจพิจารณาเลือกสมเด็จพระราชาคณะหลายรูปที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพื่อให้เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แทนผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง หรือแทนการดำเนินการตามวรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณีได้ และจะให้มีผู้ช่วยหรือที่ปรึกษาในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยก็ได้ วิธีดำเนินการของคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ให้เป็นไปตามที่คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชกำหนด

     เมื่อมีการแต่งตั้งหรือเลือกผู้ปฏิบัติหน้าที่ หรือคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามมาตรานี้แล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลฝ่าละอองธุลีพระบาท

     มาตรา ๓ แห่งพระราชกำหนดให้ยกเลิกเฉพาะวรรคห้าของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งมีข้อความที่ให้ยกเลิกว่า “ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศนามสมเด็จพระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามมาตรานี้ ในราชกิจจานุเบกษา

     ส่วนความในวรรค ๑, ๒, ๓, ๔ ยังคงอยู่ ใช้ได้อยู่ทั้ง ๔ กรณี บทบัญญัติวรรค ๑, ๒, ๓, ๔ น่าจะใช้ในคราวปกติ กล่าวคือไม่มีเหตุการณ์พิเศษใด ๆ ส่วนความในพระราชกำหนดมาตรา ๓ วรรคแรก ให้ยกเลิกเฉพาะวรรคห้าวรรคเดียว แล้วบัญญัติเพิ่มใหม่ ๒ วรรค

     ในวรรคต้น กำหนดการแต่งตั้งหลายรูปที่ทรงแต่งตั้งเอง และการเลือกสมเด็จพระราชาคณะหลายรูปที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพื่อให้เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แทนผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามแบบเดิมได้ พร้อมกับกำหนดให้มีผู้ช่วยหรือที่ปรึกษาในการปฏิบัติหน้าที่ได้ และให้คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กำหนดวิธีการดำเนินการได้ตามที่เห็นสมควร คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีประธานคณะเป็นหลัก

     ในวรรคท้าย กำหนดให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลฝ่าละอองธุลีพระบาท ในเมื่อมีการแต่งตั้งหรือเลือกผู้ปฏิบัติหน้าที่ หรือคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แต่มิได้บังคับให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

     จึงกล่าวได้ชัดเจนว่า การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงแต่งตั้งเองก็ดี การที่กรรมการมหาเถรสมาคมที่เหลือ เลือกสมเด็จพระราชาคณะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชก็ดี ยังคงใช้ได้อยู่ มิได้ยกเลิกใด ๆ และข้อกำหนดใหม่ตามพระราชกำหนดนี้ ก็คงใช้ได้โดยสมบูรณ์เช่นกัน จึงเป็นอันใช้ได้ทั้งบทบัญญัติทั้ง ๔ กรณีและบทบัญญัติใหม่

Views: 5