บทที่ ๗
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
——————-
ในบทนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ พระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับ ซึ่งผลมีใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๖ และ วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๕ และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕, พ.ศ. ๒๕๔๗ รวมไว้ในฉบับที่ ๒ ด้วย ผู้ศึกษาต้องศึกษาให้เข้าใจโดยถูกต้อง โดยจะกล่าวรวมเรียงตามลำดับมาตรา เริ่มแต่มาตรา ๓ เป็นต้นไป
๑. มาตรา ๓ เป็นบทบัญญัติเดิม บัญญัติเพื่อบังคับให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งมีผลให้
๑) ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
๒) ยกเลิกบทบัญญัติที่ตราขึ้น เพราะอาศัยพระราชบัญญัตินั้น เช่น กฎกระทรวง สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ แต่มีบทเฉพาะกาลคุ้มครอง
๓) ยกเลิกตำแหน่งและวิธีปฏิบัติตามสังฆาณัติ เป็นต้น เช่น สังฆสภา คณะสังฆมนตรี คณะวินัยธร ก.ส.พ. พระธรรมธร เจ้าคณะตรวจการ รองเจ้าคณะตรวจการ คณะกรรมการสงฆ์จังหวัด คณะกรรมการสงฆ์อำเภอ เลขานุการทุกชั้น
๔) ตำแหน่งอื่นมีบทเฉพาะกาลคุ้มครอง
๒. มาตรา ๔ เป็นบทบัญญัติเดิม จัดเป็นบทเฉพาะกาล เป็นบทคุ้มครองบทบัญญัติอื่น คือ กฎกระทรวง สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ เป็นต้น ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันประกาศใช้พระราชบัญญัติในราชกิจจานุเบกษา ให้ใช้บังคับต่อไปโดยมีเงื่อนไข ๓ อย่าง
(ก) ภายในระยะเวลา ๑ ปี
(ข) เฉพาะที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
(ค) จนกว่าจะได้ตราบทบัญญัติขึ้นใหม่
๓. มาตรา ๕ เป็นบทบัญญัติเดิม จัดเป็นบทเฉพาะกาล เป็นบทคุ้มครองการใช้อำนาจหน้าที่ กล่าวคือให้กำหนดตำแหน่งผู้ใช้อำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามสังฆาณัติเป็นต้นใหม่ โดยให้ตราเป็นกฎมหาเถรสมาคมรองรับไว้ โดยมหาเถรสมาคมได้ตรากฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒ เพื่อการนี้ กำหนดให้อำนาจหน้าที่ตามสังฆาณัติ เป็นต้น
ในส่วนที่เป็น
(๑) ของคณะสังฆมนตรีและกรรมการสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ (ก.ส.พ.) เป็นของมหาเถรสมาคม
(๒) ของสังฆนายก และประธาน ก.ส.พ. เป็นของสมเด็จพระสังฆราช
(๓) ของสังฆมนตรีว่าการและสังฆมนตรีช่วยว่าการ เป็นของสมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระราชาคณะ หรือพระราชาคณะ ที่ทรงมอบหมายโดยการเสนอของมหาเถรสมาคม
(๔) ของเจ้าคณะตรวจการ เป็นของเจ้าคณะภาค
(๕) ของคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด เป็นของเจ้าคณะจังหวัด
(๖) ของคณะกรรมการสงฆ์อำเภอ เป็นของเจ้าคณะอำเภอ
(๗) ของคณะวินัยธร แยกเป็น
อธิกรณ์ที่ค้างปฏิบัติอยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ เป็นของมหาเถรสมาคม นอกจากอธิกรณ์ที่ค้างปฏิบัติอยู่
(ก) อธิกรณ์ชั้นฎีกา เป็นของมหาเถรสมาคม
(ข) อธิกรณ์ชั้นอุทธรณ์ เป็นของคณะอนุกรรมการที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งขึ้น
(ค) อธิกรณ์ชั้นต้น เป็นของเจ้าอาวาส ถ้าพระสังฆาธิการถูกฟ้อง เป็นของผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด
๔. มาตรา ๕ ทวิ เป็นบทบัญญัติใหม่ เพื่อนิยามถ้อยคำในบทบัญญัติให้ชัดเจน ไม่ให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติ บทที่นิยามไว้มี ๔ คำ คือ:-
๑) “คณะสงฆ์” หมายความว่า บรรดาพระภิกษุที่ได้รับการบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจในหรือนอกราชอาณาจักร
๒) “คณะสงฆ์อื่น” หมายความบรรดาบรรพชิตจีนนิกาย หรืออนัมนิกาย
๓) “พระราชาคณะ” หมายความว่า พระภิกษุสงฆ์ที่ได้รับแต่งตั้งและสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้นสามัญจนถึงชั้นสมเด็จพระราชาคณะ
๔) “สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์” หมายความว่า สมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับสถาปนาก่อนสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ถ้าได้รับสถาปนาในวันเดียวกัน ให้ถือว่ารูปที่ได้รับสถาปนาในลำดับก่อน
๕. มาตรา ๕ ตรี เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดพระราชอำนาจ
๑) ในการแต่งตั้งและสถาปนาสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์
๒) ในการถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์
มีผลให้การตั้งสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ ซึ่งเดิมเป็นมาตามจารีตประเพณี ได้เป็นไปตามกฎหมายอย่างชัดเจน
๖. มาตรา ๖ เป็นบทบัญญัติเดิม ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๑) เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
๒) มีอำนาจออกกฎกระทรวง
๓) กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
เหตุที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการนั้น เพราะการคณะสงฆ์และการพระศาสนาตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นกิจการอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน