หมวด ๑ สมเด็จพระสังฆราช

หมวด ๑

สมเด็จพระสังฆราช

——————————

     สมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งสูงสุดในทางพุทธจักร เพราะสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประมุขในการปกครองคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชน และทรงเป็นพระสังฆบิดร มีมาแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน แต่ในสมัยกรุงสุโขทัย เรียกว่า “พระสังฆราช” เมื่อถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงเพิ่มคำว่า “สมเด็จ” นำหน้า เป็น “สมเด็จพระสังฆราช” และใช้เรียกชื่อตำแหน่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน เพราะคำว่า สมเด็จ” เป็นคำถวายการยกย่องชั้นสูง สมเด็จพระสังฆราช แยกลักษณะที่ทรงสถาปนาเป็น ๔ คือ

           ๑) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า

          ๒) สมเด็จพระมหาสมณะ

           ๓) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

           ๔) สมเด็จพระสังฆราช

     ในหมวดนี้ มีบทบัญญัติ ๕ มาตรา คือ

     ๗. มาตรา ๗ เป็นบทบัญญัติใหม่ มี ๓ วรรค

     วรรคแรก เป็นข้อกำหนดให้มีสมเด็จพระสังฆราชเพียงองค์เดียวอย่างชัดเจน วรรคนี้เป็นหลักการอันสำคัญ ในบทบัญญัติเดิมมิได้กำหนดจำนวนไว้

     วรรคสอง กำหนดวิธีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยให้หลักเกณฑ์และวิธีการ

           ๑) ในเมื่อตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง

           ๒) ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

           ๓) เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนา

     วรรคสาม เป็นวิธีปฏิบัติในเมื่อสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ กำหนด

           ๑) ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

           ๒) เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ ซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนา

     ๘. มาตรา ๘ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดฐานะและหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

           ๑) ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก

           ๒) ทรงบัญชาการคณะสงฆ์

           ๓) ทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

     การบัญชาการคณะสงฆ์และการตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม

     อันตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก เป็นตำแหน่งที่ทรงปกครองครองคณะสงฆ์ไทยและคณะสงฆ์อื่น เทียบกับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ฉบับที่ยกเลิกแล้ว ส่วนตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ทรงใช้ในคณะสงฆ์ไทย เทียบได้กับตำแหน่งสังฆนายก ประธานสังฆสภา ประธานคณะวินัยธร ตามกฎหมายฉบับที่ยกเลิก และตำแหน่งประธาน ก.ส.พ. ตามสังฆาณัติ

          อนึ่ง อำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชแต่ละสมัยย่อมมีลักษณะแตกต่างกัน

           ๑) ในสมัยใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑  โดยอาศัยพระบรมราชโองการ ทรงใช้อำนาจสิทธิ์ขาด

           ๒) ในสมัยใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ทรงใช้อำนาจ ๓ ทาง คือ ทางสังฆสภา ทางคณะสังฆมนตรี และทางคณะวินัยธร

           ๓) ในสมัยใช้ พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ทรงใช้อำนาจทางมหาเถรสมาคม

     ๙. มาตรา ๙  เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ

           ๑) ในกรณีที่ทรงลาออกจากตำแหน่ง

           ๒) ในกรณีที่พระกรุณาโปรดให้ออกจากตำแหน่ง

     พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระสังฆราช หรือตำแหน่งอื่นใดตามพระราชอัธยาศัยก็ได้

     ๑๐. มาตรา ๑๐ เป็นบทบัญญัติใหม่ แยกเป็น ๔ กรณี

           ๑) ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช

           ๒) ถ้าสมเด็จพระราชาคณะดังกล่าว ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมที่เหลืออยู่ เลือกสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

           ๓) ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ จะทรงแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน

           ๔) ในกรณีที่มิได้แต่งไว้ หรือผู้ที่ทรงแต่งตั้งไว้ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ปฏิบัติตาม ๑) หรือ ๒) โดยอนุโลม

          ในกรณีทั้ง ๔ นี้ ได้มีพระราชกำหนดให้แนวปฏิบัติการเสริมไว้ ดังนี้.-

     ในกรณีที่ ๓ ถ้าสมเด็จพระสังฆราชทรงเห็นสมควรหรือในกรณีทั้ง ๑, ๒, ๔ ถ้ากรรมการมหาเถรสมาคมที่เหลืออยู่ เห็นเป็นการสมควร จะแต่งตั้งหรือเลือกสมเด็จพระราชาคณะหลายรูป ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชก็ได้ ทั้งจะให้มีผู้ช่วยหรือที่ปรึกษาในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยก็ได้ และวิธีดำเนินการของคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ให้เป็นไปตามที่คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชกำหนด

     ในมาตรา ๑๐ ทั้ง ๔ กรณี แต่เดิมกำหนดในวรรค ๕ ว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศนามสมเด็จพระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในราชกิจจานุเบกษา แต่เมื่อตราพระราชกำหนดให้ยกเลิกความดังกล่าวแล้ว และในวรรคสุดท้ายแห่งพระราชกำหนดว่า “ให้นายกรัฐมนตรีนำกราบบังคมทูลฝ่าละอองธุลีพระบาท ในเมื่อมีการแต่งตั้งหรือเลือกผู้ปฏิบัติหน้าที่ หรือคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช” มิได้กำหนดให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่อย่างใด

     จึงกล่าวได้ชัดเจนว่า  การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงแต่งตั้งเองก็ดี การที่กรรมการที่เหลือเลือกสมเด็จพระราชาคณะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชก็ดี ยังคงใช้ได้อยู่ มิได้ยกเลิกใด ๆ และข้อกำหนดใหม่ตามพระราชกำหนดนี้ คงใช้ได้โดยสมบูรณ์เช่นกัน จึงเป็นใช้ได้ทั้งบทบัญญัติทั้ง ๔ กรณีและบทบัญญัติใหม่

     ๑๑. มาตรา ๑๑ บทบัญญัติเดิม กำหนดให้สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

           (๑) มรณภาพ

           (๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

           (๓) ลาออก

           (๔) ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก

     ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มิได้กำหนดให้สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่ง แต่ในฉบับนี้ ที่กำหนดไว้ชัดเจน คงเพราะสมเด็จพระสังฆราช ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคม และทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ทั้งกำหนดให้บัญชาการคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย และกฎหมาย เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา จึงบัญญัติไว้เพื่อให้สอดคล้องการทรงใช้อำนาจหน้าที่

Views: 16