หมวด ๒ มหาเถรสมาคม

หมวด ๒

มหาเถรสมาคม

——————–

     มหาเถรสมาคม เป็นสถาบันปกครองคณะสงฆ์สูงสุด เป็นองค์กรบัญชาการคณะสงฆ์สูงสุด มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้มีขึ้นใหม่ และมหาเถรสมาคมตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุด มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้บัญชาการ มี ๘ มาตรา คือ

     ๑๒. มาตรา ๑๒ เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดให้มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย

           ๑) สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง

           ๒) สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

           ๓) พระราชาคณะที่ทรงแต่งตั้งไม่เกิน ๑๒ รูป เป็นกรรมการ

     ๑๓. มาตรา ๑๓ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดผู้สนองงาน

           ๑) อธิบดีกรมการศาสนา เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง

           ๒) กรมการศาสนา ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

     ปัจจุบัน “ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” เป็นเลขาธิการโดยตำแหน่ง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

     การกำหนดให้ข้าราชการประจำเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมและให้หน่วยงานราชการทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม เพราะการดำเนินกิจการคณะสงฆ์มีความผูกพันกับการบริหารราชการแผ่นดิน เทียบได้กับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ มาตรา ๔๒ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๕๙ ก็ได้กำหนดไว้ในลักษณะนี้

     ๑๔. มาตรา ๑๔ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดให้กรรมการที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีก

     ๑๕. มาตรา ๑๕ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดให้กรรมการที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง พ้นจากตำแหน่งเฉพาะรูป เมื่อ

           ๑) มรณภาพ

           ๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

           ๓) ลาออก

           ๔) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก

     ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ อาจทรงแต่งตั้งรูปใดรูปหนึ่งแทน

     กรรมการที่ทรงแต่งตั้งแทน อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน

     ๑๖. มาตรา ๑๕ ทวิ เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดผู้ลงนามสนองพระบัญชาในการแต่งตั้งและให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๕ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามรับสนอง ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “นายกรัฐมนตรี”

     ๑๗ มาตรา ๑๕ ตรี เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดอำนาจหน้าที่มหาเถรสมาคมแทนมาตรา ๑๘ โดยระบุอย่างชัดเจน ดังนี้

           ๑) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม

           ๒) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร

           ๓) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ของคณะสงฆ์

           ๔) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

           ๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ  ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้  หรือกฎหมายอื่น

                   เพื่อประโยชน์แก่การใช้อำนาจดังกล่าว กำหนด

           ๑) ให้มีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้

           ๒) จะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๙ เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้

     ๑๘. มาตรา ๑๕ จัตวา เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดหลักการไว้ เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัย และเพื่อความเรียบร้อยดีงามของสงฆ์ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม

           ๑) เพื่อกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษ

           ๒) สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์

           ๓) ผู้ได้รับโทษถึงให้สละสมณเพศ ต้องสึกภายในสามวัน นับแต่วันทราบคำสั่ง

     ๑๙. มาตรา ๑๖ เป็นบทบัญญัติใหม่ มีสาระสำคัญ

           ๑) เมื่อประธานกรรมการมหาเถรสมาคมไม่อาจมาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม และมิได้มอบให้สมเด็จพระราชาคณะปฏิบัติหน้าที่แทน

           ๒) ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ปฏิบัติหน้าที่แทน

     ๒๐. มาตรา ๑๗ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนด

           ๑) ประธานที่ประชุม

                (๑) โดยตำแหน่ง ได้แก่สมเด็จพระสังฆราชหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่

                (๒) โดยมอบหมาย ได้แก่สมเด็จพระราชาคณะที่ทรงมอบหมาย

                (๓) โดยแต่งตั้ง ได้แก่สมเด็จพระราชาคณะที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้ง

           ๒) องค์ประชุมมหาเถรสมาคม

                (๑) ทั้งกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยการแต่งตั้งต้องประชุมร่วมกัน

                (๒) รวมแล้วต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด

           ๓) ระเบียบการประชุมให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม (กฎ ๑๒)

     ๒๑. มาตรา ๑๘ เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดจำนวนกรรมการมหาเถรสมาคม

           ๑) ในกรณีที่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างตามมาตรา ๑๕

           ๒) ให้ถือว่ามหาเถรสมาคมมีกรรมการเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น

     ๒๒. มาตรา ๑๙ บทบัญญัติใหม่ กำหนดเรื่องคณะกรรมการ

           ๑) สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ตามมติมหาเถรสมาคม

           ๒) ประกอบด้วยพระภิกษุหรือบุคคลอื่น

           ๓) เพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องที่จะเสนอต่อมหาเถรสมาคม

           ๔) เพื่อปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

           ๕) ขึ้นตรงต่อมหาเถรสมาคม

           ๖) การจัดให้มีคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่ง และระเบียบการประชุม ให้เป็นไปตามระเบียบมหาเถรสมาคม

     ๒๓. มาตรา ๒๐ เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดให้

           ๑) คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม

           ๒) การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม

     บทบัญญัติเดิม เพียงให้อำนาจจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ มิได้กำหนดให้คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม

     ๒๔. มาตรา ๒๐ ทวิ เป็นบทบัญญัติใหม่ เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กำหนด

           ๑) ให้มีเจ้าคณะใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์

           ๒) การแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ การกำหนดอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม

     ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ แรกกำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ มิได้จัดเป็นพระสังฆาธิการ บัดนี้ บัญญัติไว้ในกฎหมาย จึงเป็นพระสังฆาธิการอย่างสมบูรณ์

     ๒๕. มาตรา ๒๑ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคไว้ ๔ คือ

           ๑) ภาค        

           ๒) จังหวัด

           ๓) อำเภอ           

           ๔) ตำบล

     จำนวนและเขตปกครองดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม

     ๒๖. มาตรา ๒๒ เป็นบทบัญญัติเดิม ให้มีพระภิกษุผู้ปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคไว้ ๔ คือ

           ๑) เจ้าคณะภาค

           ๒) เจ้าคณะจังหวัด

           ๓) เจ้าคณะอำเภอ     

           ๔) เจ้าคณะตำบล

     เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นสมควร จะให้มีรองเจ้าคณะ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะชั้น
นั้น ๆ ก็ได้ การให้มีรองเจ้าคณะนั้น มิได้กำหนดให้ตราเป็นกฎมหาเถรสมาคม

     ๒๗. มาตรา ๒๓ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งถอดถอน

           ๑) พระอุปัชฌาย์

           ๒) เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส

           ๓) พระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ

           ๔) ไวยาวัจกร

           ๕) ให้กำหนดเป็นกฎมหาเถรสมาคม

     พระภิกษุอันเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ ให้ความหมายกว้างมาก โดยตรงหมายถึงเจ้าคณะ รองเจ้าคณะตามมาตรา ๒๒ และหมายถึงตำแหน่งผู้ปกครองคณะสงฆ์ ตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓  อีกส่วนหนึ่ง มาตรานี้ กำหนดให้แต่งตั้งถอดถอนเท่านั้น มิได้ให้โยกย้ายด้วย ดังมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

     มาตรานี้ เทียบได้กับมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ กฎมหาเถรสมาคมที่ตราขึ้นตามมาตรานี้ ถือเป็นกฎที่สำคัญยิ่ง และมีถึง ๓ ฉบับ ผู้ศึกษาควรจำใส่ใจ

Hits: 24