หมวด ๓
นิคหกรรมและการสละสมณเพศ
————————-
นิคหกรรม หมายถึง การลงโทษตามพระธรรมวินัย เรียกว่า ปรับอาบัติ โดยโทษมี ๓ สถาน คือ โทษอย่างหนัก ๑ โทษอย่างกลาง ๑ โทษอย่างเบา ๑ โทษอย่างหนักนั้น ในพระวินัย เรียกว่า “อเตกิจฉา” ในพระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า “นิคหกรรมให้สึก” โทษอย่างกลางและอย่างเบา ในพระวินัย เรียกว่า “สเตกิจฉา” ในพระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า “นิคหกรรมไม่ถึงให้สึก” และหมายถึงการลงโทษตามพระธรรมวินัยอย่างอื่น เช่น อุกเขปนียกรรม ได้ด้วย
การสละสมณเพศ หมายถึง การให้พระภิกษุสละสมณเพศพระภิกษุ เพราะเหตุอื่นจากนิคหกรรมมีโทษให้สึก โดยผู้ปกครองสงฆ์บังคับเองหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักร เป็นผู้บังคับตามแต่กรณี
นิคหกรรมและการสละสมณเพศ เป็นบทบัญญัติเพื่อลงโทษพระภิกษุตามพระธรรมวินัยและกฎหมายแผ่นดิน นับเป็นบทบัญญัติที่เกื้อแก่การปกครองคณะสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะการปกครองคณะสงฆ์ย่อมอาศัยการยกย่องและข่ม เป็นหลักการสำคัญ
๒๘. มาตรา ๒๔ บทบัญญัติเดิม กำหนด
๑) หลักเกณฑ์การลงนิคหกรรม
(๑) พระภิกษุจะต้องรับนิคหกรรมต่อเมื่อล่วงละเมิดพระธรรมวินัย
(๒) มิให้ลงนิคหกรรมแก่ผู้มิได้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย
๒) หลักนิคหกรรม
(๑) ต้องเป็นนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย
(๒) มิให้ลงนิคหกรรมอื่น นอกจากนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย
๒๙. มาตรา ๒๕ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการลงนิคหกรรม ให้ตราเป็นกฎมหาเถรสมาคม โดยมีเงื่อนไข ๔ ประการ คือ
๑) เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม
๒) ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ที่มหาเถรสมาคมกำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
๓) ให้อำนาจกำหนดผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมชั้นใด ๆ ได้
๔) ให้อำนาจกำหนด ให้การวินิจฉัยลงนิคหกรรมเป็นอันยุติในชั้นใด ๆ ได้ด้วย
มาตรานี้ มีเงื่อนไขบังคับให้บทบัญญัติใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎมหาเถรสมาคม เป็นการชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น ซึ่งต่างจากมาตราอื่นที่ให้อำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโดยกฎมหาเถรสมาคม
๓๐ มาตรา ๒๖ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดเฉพาะนิคหกรรมให้สึก มี
๑) หลักเกณฑ์:- พระภิกษุใด
(๑) ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และ
(๒) ได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุด ให้รับนิคหกรรมให้สึก
๒) การบังคับ
(๑) ต้องสึกภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลารับทราบคำวินิจฉัยนั้น
(๒) ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเป็นผู้บังคับตามคำวินิจฉัย
(๓) ถ้าไม่ยอมสึก ให้ขออารักขาทางราชอาณาจักร
๓) คำวินิจฉัยถึงที่สุดในกรณี
(๑) คำวินิจฉัยชั้นฎีกา ถึงที่สุดทันทีที่อ่านคำวินิจฉัยจบ
(๒) คำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์ ถึงที่สุดเมื่อไม่ฎีกาตามกำหนด
(๓) คำวินิจฉัยชั้นต้น ถึงที่สุด เมื่อไม่อุทธรณ์ตามที่กำหนด
(๔) คำสั่งผู้พิจารณา ถึงที่สุดเมื่อไม่อุทธรณ์ตามกำหนด
๓๑. มาตรา ๒๗ เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดการให้สละสมณเพศ
๑) หลักเกณฑ์ที่ต้องให้สละสมณเพศ แม้ข้อใดข้อหนึ่ง
(๑) ต้องคำวินิจฉัยตามมาตรา ๒๕ ให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก แต่ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น
(๒) ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ
(๓) ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง
(๔) ไม่มีวัดที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
๓) ข้อบังคับ
(๑) ให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดในกฎมหาเถรสมาคม (กฎ ๒๑)
(๒) พระภิกษุรูปนั้น ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันรับทราบคำวินิจฉัย
(๓) ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเป็นผู้บังคับ
(๔) ถ้าไม่ยอมสึก ให้ขออารักขาต่อทางราชอาณาจักร
๓๒. มาตรา ๒๘ เป็นบทบัญญัติเดิม บุคคลล้มละลาย ตามมาตรานี้ หมายถึงคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวและศาลได้มีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้
๑) ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย
๒) ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันคดีถึงที่สุด
๓๓. มาตรา ๒๙ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้สละสมณเพศเพราะต้องหาในคดีอาญา สำหรับพระภิกษุผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาไว้ดังนี้
๑) หลักเกณฑ์
(๑) เมื่อพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และ
เจ้าอาวาสวัดนั้นไม่ยอมรับตัวไปควบคุม
(๒) เมื่อพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสวัดนั้นไม่ยอมรับตัวไปควบคุม
(๓) เมื่อพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม
(๔) พระภิกษุนั้นมิได้มีสังกัดวัดใดวัดหนึ่ง
๒) การบังคับ
(๑) ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้
(๒) เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะไม่มีอำนาจดำเนินการ แต่ต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงาน
มาตรานี้ ยอมให้เฉพาะเจ้าอาวาสวัดนั้น รับตัวพระลูกวัดไปควบคุมได้ ถ้าเจ้าอาวาส เจ้าคณะ หรือรองเจ้าคณะต้องหา มิได้บัญญัติให้ผู้ใดผู้หนึ่งรับตัวไปควบคุม
๓๔ มาตรา ๓๐ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดการให้สละสมณเพศตามศาลสั่ง
๑) หลักเกณฑ์ พระภิกษุใด
(๑) จะต้องถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาล
(๒) จะต้องถูกกักขังตามคำพิพากษาของศาล
(๓) จะต้องถูกขังตามคำสั่งของศาล
๒) วิธีการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการ
(๑) ให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสีย
(๒) แล้วรายงานให้ศาลทราบ
เจ้าพนักงานตามมาตรานี้ หมายถึงเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์
Views: 25