หมวด ๔ วัด

หมวด  ๔

วัด

————-

     คำว่า “วัด” ในพระราชบัญญัตินี้ หมายถึงวัดที่ชอบด้วยกฎหมาย มิได้หมายถึงสถานที่ซึ่งสร้างวัดโดยพลการ วัดเป็นหน่วยงานชั้นต้นแห่งพุทธจักรและเป็นศูนย์กลางประดิษฐานพระพุทธศาสนา แต่เดิมวัดเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒ (๒) แต่ปัจจุบันวัดเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๓๑ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

     วัดเป็นนิติบุคคลที่มีกฎหมายให้อำนาจจัดตั้งและการดำเนินการเป็นเอกเทศ  จึงมีข้อควรศึกษาดังนี้

     ๑) ฐานะเป็นนิติบุคคล

           (๑) กฎหมายให้วัดเป็นนิติบุคคล กล่าวคือเป็นบุคคลโดยกฎหมาย

           (๒) วัดได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่น

     ๒) สิทธิและหน้าที่ของวัด

           (๑) วัดมีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา

           (๒) แต่สิทธิและหน้าที่ดังว่านั้น จะต้องไม่ขัด

                (ก) กับสภาพของวัด

                (ข) กับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

                (ค) กับวัตถุประสงค์ของวัด

           ๓) ภูมิลำเนาของวัด

                (๑) วัดต้องมีภูมิลำเนา คือที่ตั้งวัดเหมือนบุคคลธรรมดา

                (๒) วัดต้องมีทะเบียนบ้านเช่นเดียวกับครอบครัวหนึ่ง ๆ

           ๔) การแสดงความประสงค์ ของวัด

                (๑) วัดแสดงความประสงค์เองมิได้

                (๒) วัดแสดงความประสงค์ได้โดยอาศัยผู้แทน

                      (ก) ผู้แทนโดยตำแหน่ง

                      (ข) ผู้แทนโดยการแต่งตั้ง

     ๓๕ มาตรา ๓๑ เป็นบทบัญญัติใหม่ มีสาระสำคัญ

           ๑) แยกวัดไว้ ๒ อย่าง

                (๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

                (๒) สำนักสงฆ์

           ๒) ฐานะวัดและผู้แทนวัด

                (๑) ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล

                (๒) ให้เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนวัดในกิจการทั่วไป

     ๓๖. มาตรา ๓๒ เป็นบทบัญญัติเดิม มีข้อควรศึกษาดังนี้

           ๑) ให้ออกกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติ การสร้างวัด การตั้งวัด การรวมวัด การย้ายวัด การยุบเลิกวัด และการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา

           ๒) ให้ทรัพย์สินของวัดที่ยุบเลิกเป็นศาสนสมบัติกลาง

           ๓) ต้องศึกษากฎกระทรวงฉบับที่ ๑ ประกอบอย่างละเอียด

     ๓๗. มาตรา ๓๒ ทวิ เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดเรื่องวัดร้าง คือวัดที่ไม่มีพระภิกษุอยู่อาศัย

     แนวปฏิบัติ

           ๑) ระหว่างที่ยังไม่มีการยุบเลิกวัด

                (ก) ให้กรมการศาสนาปกครองดูแลวัดนั้น

                (ข) ให้รวมถึงที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และทรัพย์สินของวัดนั้นด้วย

           ๒) การขอยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง (กฎ ๕)

     ๓๘. มาตรา ๓๓ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดที่วัด และที่ขึ้นตรงต่อวัด

           ๑) ที่วัด คือที่ตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น

           ๒) ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด

           ๓) ที่กัลปนา คือที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา

                   ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดโดยสมบูรณ์ วัดจะต้องมีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน วัดใดครองที่ดินโดยมิได้มีหนังสือดังกล่าว ต้องพยายามเร่งรัดจัดทำไว้เป็นหลักฐาน

     ๓๙. มาตรา ๓๔ เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดการโอนที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง

           ๑) การโอนทั่วไป ให้กระทำได้โดยพระราชบัญญัติ

           ๒) ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ

                (๑) เมื่อมหาเถรสมาคมไม่ขัดข้อง และ

                (๒) ได้รับค่าผาติกรรมแล้ว

                (๓) ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

           ข้อห้ามพิเศษ ห้ามมิให้ผู้ใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับ

                (๑) วัด ในกรณีที่วัด หรือที่ธรณีสงฆ์

                (๒) กรมการศาสนา ในกรณีที่ศาสนสมบัติกลาง

     หมายความว่า ผู้ใดจะครอบครองที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง โดยสงบหรือเปิดเผย โดยมีเจตนาเป็นเจ้าของมานานสักเท่าใดก็ตาม จะยกอายุความครอบครองนั้น ต่อสู้กับวัดหรือกรมการศาสนามิได้ (ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ประกอบ) ข้อห้ามพิเศษนี้ เฉพาะที่ศาสนสมบัติแต่เดิมมิได้บัญญัติไว้ ได้กำหนดขึ้นใหม่ในพระราชบัญญัตินี้

     ๔๐. มาตรา ๓๕ เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดให้ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสน-สมบัติกลาง เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี

     หมายความว่า ผู้ใดจะฟ้องยึดที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสนสมบัติกลาง ขายทอดตลาด เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิได้ เพราะมีข้อยกเว้นตามมาตรา ๒๘๕ เฉพาะที่ศาสนสมบัติกลางแต่เดิมมิได้บัญญัติไว้ ได้กำหนดขึ้นใหม่ในพระราชบัญญัตินี้

     ๔๑. มาตรา ๓๖ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดถึงผู้ปกครองวัด

           ๑) โดยตำแหน่ง ให้วัดหนึ่งมี

                (๑) เจ้าอาวาสรูปหนึ่ง

                (๒) รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสรูปหนึ่งหรือหลายรูปก็ได้

           ๒) โดยฐานะของเจ้าอาวาส เป็น

                (๑) ผู้ปกครองวัดตามกฎหมายและพระธรรมวินัย

                (๒) เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

                (๓) ผู้แทนนิติบุคคลของวัด

                (๔) ผู้แสดงความประสงค์ของวัด

                (๕) ผู้ใช้สิทธิและหน้าที่ของวัด

           ๓) ฐานะของรองเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็น

                (๑) เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

                (๒) ผู้ปฏิบัติการวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมาย

     ๔๒. มาตรา ๓๗ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดหน้าที่เจ้าอาวาสแยกตามลักษณะงาน

           ๑) การสาธารณูปการ และการศาสนสมบัติ

                (๑) บำรุงรักษาวัดให้เป็นไปด้วยดี

                (๒) จัดกิจการของวัดให้เป็นไปด้วยดี

                (๓) จัดศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี

           ๒) การปกครอง

                (๑) ปกครองบรรพชิตในวัด

                (๒) ปกครองคฤหัสถ์ในวัด

                (๓) ควบคุมความประพฤติของคฤหัสถ์ในวัด

           ๓) การศาสนศึกษาและการศึกษาสงเคราะห์

                (๑) เป็นธุระในการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแก่บรรพชิต

                (๒) เป็นธุระในการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแก่คฤหัสถ์

                (๓) เป็นธุระในการอบรมสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิต

                (๔) เป็นธุระในการอบรมสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่คฤหัสถ์

           ๔) การสาธารณสงเคราะห์

                (๑) อำนวยความสะดวกในการบำเพ็ญกุศลตามปกติตามสมควร

                   (๒) อำนวยความสะดวกในการบำเพ็ญกุศลเป็นกรณีพิเศษตามสมควร

           อนึ่ง นอกจากนี้เจ้าอาวาสยังมีหน้าที่เกี่ยวกับการคณะสงฆ์อื่นอีก

     ๔๓. มาตรา ๓๘ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดอำนาจเจ้าอาวาส

           ๑) อำนาจรับคนเข้า

                (๑) สั่งมิให้บรรพชิตซึ่งไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปอยู่อาศัยในวัดนั้น

                (๒) ห้ามมิให้คฤหัสถ์ ซึ่งมิได้รับอนุญาตเข้าไปอยู่อาศัยในวัดนั้น

           ๒) อำนาจเอาคนออก

                (๑) สั่งบรรพชิต ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทให้ออกไปเสียจากวัด

                (๒) สั่งคฤหัสถ์ ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทออกไปเสียจากวัด

           ๓) อำนาจสั่งให้ช่วยทำงานในวัด

                (๑) สั่งให้บรรพชิตผู้อยู่ในวัดทำงานภายในวัด

                (๒) สั่งให้คฤหัสถ์ผู้อยู่ในวัดให้ทำงานภายในวัด

           ๔) อำนาจสั่งลงโทษ

                (๑) สั่งลงโทษบรรพชิต ผู้ประพฤติผิดคำสั่งของเจ้าอาวาสซึ่งสั่งการโดยชอบ

                (๒) สั่งลงโทษคฤหัสถ์ ผู้ประพฤติผิดคำสั่งของเจ้าอาวาสซึ่งสั่งการโดยชอบ

                (๓) โทษที่ลงนั้น ให้อำนาจเฉพาะ

                      (ก) ทัณฑกรรม กล่าวคือ ให้ทำงานภายในวัด

                      (ข) ให้ทำทัณฑ์บน

                      (ค) ให้ขอขมาโทษ

     ๔๔. มาตรา ๓๙ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดเรื่องผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส

           ๑) ให้แต่งตั้งในเมื่อ

                (๑) ไม่มีเจ้าอาวาส และจะแต่งตั้งทันทีมิได้ หรือ

                (๒) เจ้าอาวาสไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้

           ๒) ให้มีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส

                (๑) หน้าที่ตามมาตรา ๓๗

                (๒) อำนาจตามมาตรา ๓๘

           ๓) หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้ง

                (๑) ให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม

                (๒) จะแต่งตั้งขัดกับกฎมหาเถรสมาคมมิได้

           ต้องศึกษากฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๙ ประกอบให้ละเอียด

Views: 273