หมวด ๗ เบ็ดเตล็ด

หมวด ๗

เบ็ดเตล็ด

———-

     หมวดเบ็ดเตล็ด เป็นหมวดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญต่อคณะสงฆ์และคณะสงฆ์อื่น มีลักษณะไม่อาจจัดเข้าในหมวดใด ๆ ได้ มี ๒ มาตรา คือ

     ๕๒. มาตรา ๔๕ เป็นบทบัญญัติเดิม กำหนดเรื่องเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

           ๑) ผู้ถูกกำหนดให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน

                (๑) พระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองต่อสงฆ์

                (๒) ไวยาวัจกร

           ๒) ประเภทแห่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

                (๑) เจ้าพนักงานเกี่ยวกับการปกครอง

                (๒) เจ้าพนักงานในการยุติธรรม

           ๓) ความคุ้มครองในเมื่อบุคคลอื่นกระทำผิด ฐาน

                (๑) กระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการปกครอง

                (๒) กระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม

           ๔) ความคุ้มครองมิให้กระทำผิด

                (๑) มิให้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวกับการปกครอง

                (๒) มิให้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

     ๕๓. มาตรา ๔๖ เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดเรื่องคณะสงฆ์อื่น พอขยายความได้

           ๑) คณะสงฆ์อื่น มี ๒ คือ

                (๑) คณะสงฆ์จีนนิกาย

                (๒) คณะสงฆ์อนัมนิกาย

           ๒) ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์อื่น

                (๑) ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง

                (๒) จะกำหนดเป็นอย่างอื่นมิได้

                (๓) คณะสงฆ์อื่นขึ้นตรงต่อสมเด็จพระสังฆราช

บทบัญญัติที่เพิ่มเข้า

     บทบัญญัติที่เพิ่มเข้าใหม่ โดยลงลำดับต่อท้าย คือถัดจากมาตรา ๔๖ มี ๔ มาตรา

     ๕๔. มาตรา ๑๘ เป็นบทบัญญัติใหม่ มีเนื้อความดังนี้:- บรรดากฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง ของมหาเถรสมาคม ที่ออกตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้บังคับใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

     เพราะมีมาตรานี้ จึงเป็นเหตุให้ กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๑ และบทบัญญัติอื่นที่มิได้ยกเลิก บังคับใช้ต่อไปได้

     ๕๕. มาตรา ๑๙ เป็นบทบัญญัติใหม่ มีข้อความดังนี้:- วัดที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

     เพราะมาตรานี้ เป็นฐานรองให้บรรดาวัดที่มีอยู่ก่อนวันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ เป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๓๑ วรรคสอง

     ๕๖. มาตรา ๒๐ เป็นบทบัญญัติใหม่ มีข้อความดังนี้:-

           วรรคแรก ให้พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งและสถาปนาให้มีสมณศักดิ์อยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ยังมีสมณศักดิ์นั้นต่อไป

           เพราะวรรคนี้ เป็นการรับสถานะของพระภิกษุผู้มีสมณศักดิ์มาแต่ก่อน ซึ่งตั้งและสถาปนาตามจารีต ให้คงมีสมณศักดิ์และเป็นพระสมณศักดิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไป

           วรรคสอง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ กรรมการ หรืออนุกรรมการใดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ หรือตามกฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ยังคงดำรงตำแหน่ง หรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระดำรงตำแหน่ง หรือจนกว่ามหาเถรสมาคมจะมีมติเป็นประการอื่น

           เพราะวรรคนี้ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ และผู้ดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติเก่า ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปได้

     ๕๗. มาตรา ๒๑ เป็นบทบัญญัติใหม่ กำหนดไว้ดังนี้:- ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

       บัดนี้ เป็นนายกรัฐมนตรี รักษาการตามพระราชบัญญัติ เพราะการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ใหม่.

ข้อควรทราบพิเศษ

     พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ตราขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขทำให้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มีความสมบูรณ์และรัดกุมยิ่งขึ้น โครงสร้างคงไว้เดิมทุกประการ ถ้าจะเปรียบทางพระพุทธศาสนา ฉบับแรกเปรียบพระวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นคราวแรก ซึ่งเรียกว่า พุทธบัญญัติ ฉบับที่ ๒ เปรียบอนุบัญญัติ ดังที่ทุกท่านเคยเรียนมาแล้ว.